Skip to main content
sharethis

(SHAN 25/03/52) - กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดนไทย ระบุยินดีเจรจารัฐบาลทหารพม่า หากไทยช่วยเป็นสื่อกลางให้ แต่มีข้อแม้จะไม่ขอรับเงื่อนไขของพม่าเพียงฝ่ายเดียวและสถานที่เจรจาจะต้องไม่ใช่ในพม่า


 


ทั้งนี้ หลังข่าวนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนพม่าพบกับ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า และทางฝ่ายพม่าแสดงความประสงค์ที่จะให้ไทยช่วยพูดคุยกับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนายกษิต ภิรมย์ รับปากว่าจะพยายามช่วยไกล่เกลี่ยให้ในเรื่องนี้ได้เผยแพร่ไปนั้น


 


ล่าสุดวันนี้ (25 มีนาคม) สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS-Restoration Council of Shan State อันเป็นองค์การการเมืองของกองทัพรัฐฉาน SSA-Shan State Army ภายใต้การนำของ พ.อ.เจ้ายอดศึก ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า RCSS / SSA มีความยินดีพร้อมที่จะเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า หากทางการไทยจะช่วยเป็นสื่อกลางไกล่เกลี่ยให้


 


"สภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน SSA พร้อมที่จะร่วมเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า หากว่าทางการไทยจะช่วยเป็นกลางไกล่เกลี่ย แต่ขอให้การเจรจาเป็นไปตามขั้นตอนและยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกัน" ข้อความแถลงการณ์ ระบุ


 


ขณะที่กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU-Karen National Union ก็ได้ออกมายืนยันยินดีพร้อมเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าเช่นเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขว่า สถานที่เจรจาจะต้องเป็นประเทศที่สามซึ่งไม่ใช่ในพม่า


 


โดย นายเดวิด ตากะบอ รองประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เปิดเผยกับสำนักข่าวอิรวดีว่า KNU มีความยินดีรับข้อเสนอของไทย ที่จะให้เกิดการเจรจาระหว่าง KNU กับรัฐบาลทหารพม่า แต่การเจรจาจะต้องเกิดขึ้นในประเทศที่สามเท่านั้น


 


"หาก KNU ตกลงเจรจาโดยใช้พื้นที่ของพม่า พม่าจะเป็นผู้ได้เปรียบในการเจรจา แต่อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาเกิดขึ้น คาดว่าพม่าจะยังคงเสนอเงื่อนไขให้ KNU วางอาวุธเช่นเดิม" นายเดวิด ตากะบอ กล่าว


 


ด้านกองกำลังไทใหญ่ SSA ยังได้เสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรวมถึงปัญหายาเสพติดในพม่าไว้ในแถลงการณ์ด้วยว่า พม่าควรประกาศนิรโทษกรรมแก่กลุ่มนักการเมืองทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มหยุดยิงด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเมือง


 


ส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพม่า ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าแก้ที่ปลายเหตุ เพราะยาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในขนาดนี้เกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางการเมืองด้วย โดยได้กล่าวถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดของไทยด้วยว่า ประเทศไทยเป็นทางผ่านของยาเสพติด ไม่ใช่แหล่งผลิต หากต้องการแก้ไขปัญหาควรให้ความสำคัญไปที่ต้นเหตุถึงจะบรรลุผล


 


สำหรับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และกองทัพรัฐฉาน SSA ต่างต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อทวงคืนสิทธิความชอบธรรมมายาวนานกว่า 50 ปี โดยกำลังกะเหรี่ยง KNU เคยเปิดการเจรจากับรัฐบาลทหารพม่ามาแล้ว 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา แต่การเจรจาทุกครั้งล้มเหลว ขณะที่กองกำลังไทใหญ่ ได้นัดเจรจากับรัฐบาลครั้งหนึ่ง เมื่อกลางปี 2550 แต่การเจรจาต้องล้มเลิกหลังจากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องสถานที่นัดพบกันได้


 


 


………………………………………………………………………………………………………………………………………………..


 


สำนักข่าวฉาน (SHAN - Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org และภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net