คำให้การจาก วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คนจุดไฟในสายลม: รวมคำตอบเรื่องนิติรัฐในสังคมไทยในห้วงเวลา 5 ปี

 





หมายเหตุ

1. บทความนี้เป็นคำนำโดยวรเจตน์ ภาคีรัตน์จากหนังสือ จุดไฟสายลม ซึ่งรวบรวมบาทสัมภาษณ์ที่เขาให้สัมภาษณ์แก่ไทยโพสต์แทบลอยด์ และเว็บไซต์ประชาไท ตั้งแต่กลางปี 2547 ถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การให้สัมภาษณ์วิจารณ์ทักษิณเมื่อครั้งจะออกหวยลิเวอร์พูล บทสัมภาษณ์เรื่องมาตรา 7 ที่เป็นทางแยกกับพันธมิตร บทวิพากษ์ "ตุลาการภิวัตน์" ในประชาไท และบทสัมภาษณ์ล่าสุด "ระบบ กม.ลวงคน" หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนรวบรวมโดยสำนักพิมพ์โอเพ่น

 

2.อ่านคำให้การผู้สัมภาษณ์โดย อธึกกิต แสวงสุขได้ที่ http://www.onopen.com/open-book/09-03-18/4672

 

 

 

1

 

ผมถูกสัมภาษณ์ครั้งแรกจากแทบลอยด์ไทยโพสต์เมื่อราวกลางปี พ.ศ.2547 นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักกับคุณอธึกกิต แสวงสุข ซึ่งดูแลส่วนที่เป็นแทบลอยด์ ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันอาทิตย์ วันนั้นคุณอธึกกิตมาพร้อมกับคุณพนารัตน์ พิลึก ผมไม่ได้คิดว่านับจากวันนั้นแล้ว จะมีบทสัมภาษณ์ขนาดยาวตามมาอีกหลายครั้ง จนในที่สุดได้มีการรวมบทสัมภาษณ์ที่ผมได้ให้ไปตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งถึงสิ้นปี พ.ศ. 2551 ป็นหนังสือเล่มนี้

 

การให้สัมภาษณ์ครั้งแรกกับแทบลอยด์ไทยโพสต์เกิดขึ้นในบริบทที่ผมและอาจารย์จำนวนหนึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ติติงรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในเวลานั้นเกี่ยวกับนโยบายการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล บทสัมภาษณ์ครั้งแรกนั้นผมพูดถึงกฎหมายกับการใช้อำนาจของผู้ปกครอง แทบลอยด์ไทยโพสต์ได้ตั้งชื่อบทสัมภาษณ์คราวนั้นจากถ้อยคำที่ผมได้ให้สัมภาษณ์ไปว่า "กฎหมายเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจตามอำเภอใจ" น้ำหนักของบทสัมภาษณ์ครั้งนั้นเน้นไปใน แง่ของหลักการในทางกฎหมาย ซึ่งผมได้วิจารณ์การการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรของรัฐหลายเรื่อง อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของการสัมภาษณ์วันนั้น คุณอธึกกิตได้ถามผมเกี่ยวกับกรณีของการเข้าซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟูฯของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ว่าผิดมาตรา 100 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ หรือไม่ เนื่องจากในเวลานั้นมีผู้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา ผมให้ความเห็นไปว่าโดยที่การซื้อที่ดินกรณีนี้เป็นการซื้อโดยการประมูล ใครให้ราคาสูงสุดก็ได้ทรัพย์สินนั้นไป องค์กรของรัฐไม่มีดุลพินิจในการตัดสินใจเข้าทำสัญญา กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 100 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ผมไม่ได้คาดคิดเลยว่าอีกสี่ปีต่อมา ประเด็นนี้จะกลายเป็นประเด็นฟ้องร้องคดีกันในศาล ในบริบทของการเมืองซึ่งเปลี่ยนไปอย่างมาก และผมต้องมาวิจารณ์คำพิพากษาของศาลดังปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์เมื่อปลายปี 2551 อันเป็นบทสัมภาษณ์สุดท้ายก่อนที่จะรวมบทสัมภาษณ์พิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้

 

การวิพากษ์วิจารณ์ที่ผมมีต่อรัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณ ในประเด็นทางกฎหมายปรากฏอีกครั้งหนึ่งในราวเดือนมีนาคม 2548 คราวนี้เป็นการวิจารณ์การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี อันที่จริงแล้วจะว่าการให้สัมภาษณ์คราวนั้นเป็นการวิจารณ์รัฐบาลก็ไม่เชิงนัก แต่เป็นการวิจารณ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นมากกว่า แต่โดยเหตุที่การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเรื่องนี้เป็นเรื่องการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจึงต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามข้อวิจารณ์ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวบุคคล คงเป็นการวิจารณ์ในแง่ของหลักวิชาเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรของรัฐที่มีลักษณะเป็นองค์กรกลุ่ม (collegial organ) ว่ามีลักษณะอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดองค์ประชุมของคณะรัฐมนตรี บทสัมภาษณ์ในแทบลอยด์ไทยโพสต์เรื่องนี้ทำให้บางท่านซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงไม่พอใจผมอย่างน้อยก็ในห้วงเวลาหนึ่ง

 

2

 

การสัมภาษณ์ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2549 (บทสัมภาษณ์ชื่อ "นายกฯพระราชทานไม่ใช่มาตรา 7") ในห้วงเวลาที่กลุ่มบุคคลซึ่งเรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการจำนวนไม่น้อยทั้งที่แสดงตนโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นในเวลานั้นก็คือการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยผู้ที่เสนอได้อ้างแหล่งอำนาจจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 7 ผมได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไปสั้นๆว่าในทางกฎหมาย เรื่องนี้ไม่สามารถกระทำได้ ต่อมาแทบลอยด์ไทยโพสต์ได้มาสัมภาษณ์ผมเป็นบทสัมภาษณ์ขนาดยาว ซึ่งผมได้ให้ความเห็นโดยอธิบายความหมายของกฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญ ที่มาที่ไปของมาตรา 7 ตลอดจนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามหลักการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนายกรัฐมนตรีพระราชทานของผมในเวลานั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกทางเดินระหว่างผมกับเพื่อนอาจารย์ที่เคยใกล้ชิดกันจำนวนหนึ่ง บางท่านถึงขนาดปราศรัยว่านักกฎหมายที่บอกว่าไม่สามารถใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกฯพระราชทานได้ (ซึ่งในเวลานั้นคงไม่ได้หมายถึงคนอื่นนอกจากผม) เป็นนักกฎหมายที่มองกฎหมายไม่ทะลุ ผมฟังแล้วก็ได้แต่นึกว่าอคติเป็นภัยร้ายแรงสำหรับนักกฎหมายจริงๆ อคติทำให้นักกฎหมายที่ดูเหมือนยังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์อยู่นั้น สูญเสียความสามารถในการให้ความเห็นทางกฎหมายอย่างมีเหตุผลไปได้ นักกฎหมายเหล่านี้พร้อมที่จะทิ้งหลักวิชาที่ร่ำเรียนกันมาเพียงเพื่อให้ได้คำตอบทางกฎหมายที่สามารถตอบสนองความคิดความอ่านและความต้องการทางการเมืองของตนเท่านั้น เวลานั้นแทบจะไม่มีนักกฎหมายที่ออกสื่อเป็นประจำหรือออกสื่ออยู่บ้างอธิบายความในเรื่องนี้ทำนองเดียวกับผมเลย แม้ในเวลาต่อมาองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงของอำนาจจะได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่านักกฎหมายที่มีความเห็นในทางตรงกันข้ามกับผมจะได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบหรืออธิบายความอย่างมีเหตุผลเลย คงปล่อยให้กาลเวลาเป็นผู้ช่วยชำระชะล้างความไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ของตนไปอย่างง่ายๆ เท่านั้น

 

หลังจากให้สัมภาษณ์แทบลอยด์ไทยโพสต์ไปในเดือนมีนาคม 2549 แล้ว สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มตึงเครียดมากขึ้น ในระหว่างที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาล และต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งทั่วไปนั้น ปรากฏว่าบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ปฏิเสธที่จะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 มีพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียว คือ พรรคไทยรักไทย ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองยิ่งยุ่งยากมากขึ้น ในช่วงเวลานี้เองที่ฝ่ายตุลาการก้าวเข้ามามีบทบาทในปัญหาทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เริ่มจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดคูหาเลือกตั้งในลักษณะที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ วันที่มีการเลือกตั้ง ผมได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นกัน แม้ว่าผมจะไม่ชอบการจัดคูหาเลือกตั้งในรูปแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่ผมก็มีความเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจตุลาการทำลายเจตจำนงของปวงชนได้นั้น จะต้องปรากฏว่ามีเหตุอันร้ายแรงที่จะทำให้เจตจำนงของปวงชนใช้ไม่ได้ กล่าวคือระบบกฎหมายไม่อาจยอมรับเจตจำนงดังกล่าวได้ เจตจำนงของปวงชนนี้ย่อมต้องถือว่าดำรงอยู่สูงกว่าอำนาจอื่นใดทั้งสิ้นสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และต้องถือว่าอำนาจของปวงชนเป็นที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการที่ใช้บังคับในรัฐ (อำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของปวงชนชาวไทย) เมื่อพิเคราะห์จากเหตุผลในคำวินิจฉัยแล้ว ผมไม่พบว่ามีเหตุอันร้ายแรงที่จะทำให้การเลือกตั้งตกเป็นโมฆะได้แต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่มีปัญหาอย่างยิ่งในทางนิติศาสตร์ ยังไม่ต้องพิเคราะห์ถึงกระบวนการยื่นเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งก็มีปัญหาอย่างมากเช่นกัน มีข้อสังเกตว่าการจัดคูหาเลือกตั้งในลักษณะที่ปรากฏในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน นั้น ปรากฏกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเช่นกัน แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล่าวถึงเพื่อทำลายการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเลย

 

ในเวลาต่อมาได้มีกระแสเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ลาออกจากตำแหน่ง และปรากฏการฟ้องร้องให้ดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่ง จนกระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก และไม่ให้ประกันตัว ต่อมาเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ลาออกแล้ว ศาลจึงให้ประกันตัว ผมได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในการได้รับการประกันตัว กล่าวคือ ผมไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งศาลในเรื่องนี้ ความเห็นของผมในเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดการโจมตีผมจากบุคคลซึ่งเห็นว่าความเห็นของผมไม่เป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาเหล่านั้น

 

แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และมีการแต่งตั้งบุคคลจากฝ่ายตุลาการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเลือกตั้งแทนก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่ดีขึ้น การเคลื่อนไหวขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ยังคงดำเนินต่อไป จนในที่สุดการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวก็มีผลเสมือนเป็น "เทียบเชิญ" ให้ทหารเข้ายึดอำนาจ โดยคณะทหารที่ใช้ชื่อว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" (คปค.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากทราบแน่ชัดแล้วว่าการยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ ผมได้พูดคุยกับเพื่อนอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์อีกสามท่านเพื่อแสดงท่าทีทางการเมืองของพวกเราในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนวิชานิติศาสตร์ คือ อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร และอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ในเวลานั้นอาจารย์ธีระ และอาจารย์ปิยบุตร กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ เราได้ออกแถลงการณ์คัดค้านและประณามการทำรัฐประหาร แถลงการณ์ดังกล่าวนี้นับเป็นจุดเริ่มของการออกแถลงการณ์อีกหลายฉบับในเวลาต่อมา โดยในภายหลังอาจารย์ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ได้ร่วมออกแถลงการณ์ด้วย และเราได้กลายเป็นกลุ่มห้าอาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปในที่สุด

 

3

แทบลอยด์ไทยโพสต์ได้สัมภาษณ์ผมอีกครั้งเมื่อปลายปี 2549 เป็นการสัมภาษณ์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประเด็นของการสัมภาษณ์อยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญภายหลังการทำรัฐประหารโดย คปค. โดยคุณอธึกกิตขอให้ผมคาดการณ์แนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญของ คปค. คำสัมภาษณ์ดังกล่าวปรากฏในบทสัมภาษณ์ที่คุณอธึกกิต ให้ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญถอยหลัง" หลังจากนั้นอีกประมาณสี่เดือนเศษ คือในเดือนเมษายน 2550 แทบลอยด์ไทยโพสต์ได้สัมภาษณ์ผมอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นการวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอต่อสาธารณชน ในบทสัมภาษณ์ที่ชื่อ "ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ" แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนบทบัญญัติบางเรื่องในรัฐธรรมนูญ แต่บทสัมภาษณ์นี้ก็นับว่าได้บันทึกความคิดอ่านของผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญว่าแท้ที่จริงแล้ว กลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องการให้รัฐธรรมนูญมีโฉมหน้าอย่างไรได้เป็นอย่างดี

 

เดือนมิถุนายน 2550 มีเหตุที่ทำให้แทบลอยด์ไทยโพสต์สัมภาษณ์ผมอีกครั้ง เนื่องจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย อันที่จริงในเดือนตุลาคม 2549 ผมได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนเกี่ยวกับการออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฉบับที่ 27 ซึ่งกำหนดให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองว่า เป็นการตรากฎหมายย้อนหลังไปกำหนดโทษอันเป็นผลร้ายแก่บุคคล ประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าวจึงขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป เนื่องจากการกระทำอันเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นก่อนประกาศใช้ประกาศคณะปฏิรูปฉบับนี้ บทความเรื่องนั้นได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในวงการกฎหมายไทยว่ารัฐจะสามารถตรากฎหมายย้อนหลังกำหนดโทษแก่บุคคล แม้ว่าโทษนั้นจะไม่ใช่โทษทางอาญาได้หรือไม่ นักกฎหมายที่เห็นต่างไปจากผมไม่ได้ให้เหตุผลอื่นใดนอกจากอ้างว่าหากโทษนั้นไม่ใช่โทษอาญาแล้ว ย่อมตรากฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายได้ บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าหากโทษที่กำหนดนั้นรุนแรงกว่าโทษอาญา (เช่น รุนแรงกว่าโทษปรับ) การให้เหตุผลของตนจะไม่ขัดกันเองหรือ คือ ให้เหตุผลว่าโทษทางอาญาที่แม้จะไม่รุนแรง เช่น โทษปรับทางอาญา รัฐไม่สามารถตรากฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายได้ แต่โทษอื่นที่หนักกว่าโทษอาญา กลับสามารถตรากฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายได้ (เช่น โทษทางภาษี หรือโทษทางวินัยราชการ ซึ่งในหลายกรณีรุนแรงกว่าโทษปรับในทางอาญา) บางท่านเมื่อจำนนด้วยเหตุผล ก็กล่าวอ้าง "ประโยชน์สาธารณะ" เป็นสรณะ โดยลืมคิดไปว่าตอนที่ตนอ้างประโยชน์สาธารณะนั้น ตนเองต้องการให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนักการเมืองในพรรคการเมืองที่ตนไม่นิยมชมชอบ นั่นคืออ้างประโยชน์สาธารณะอำพรางความต้องการทางการเมืองของตนเท่านั้น

 

บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยนี้ แทบลอยด์ไทยโพสต์ตั้งชื่อตามถ้อยคำที่ผมให้สัมภาษณ์ไปว่า "ประกาศคณะรัฐประหารในรูปคำวินิจฉัย" บทสัมภาษณ์เรื่องนี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่สั้นที่สุดในบรรดาบทสัมภาษณ์ที่ผมได้ให้แก่แทบลอยด์ไทยโพสต์ และเป็นครั้งเดียวที่สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เนื่องจากขณะที่ให้สัมภาษณ์นั้น ผมอยู่ต่างจังหวัด หลังจากให้สัมภาษณ์แทบลอยด์ไทยโพสต์ไปแล้ว กลุ่มห้าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายย้อนหลังของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แถลงการณ์ดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำไปพาดหัวข่าว ส่งผลให้คอลัมนิสต์และอาจารย์บางท่านเขียนบทความโต้แย้งกลุ่มห้าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ บางบทความก็ใช้ถ้อยคำเสียดสี และมีการตั้งฉายาให้ผมด้วย แต่ข้อเขียนเหล่านั้นไม่ได้มีผลอะไรกับการทำหน้าที่ทางวิชาการโดยสุจริต และโดยบริสุทธิ์ใจของกลุ่มห้าอาจารย์เลย ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว เมื่อมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่สำคัญ และกลุ่มห้าอาจารย์เห็นว่าควรจะต้องแสดงทัศนะให้สังคมได้รับรู้ กลุ่มห้าอาจารย์ก็ยังคงแสดงทัศนะในทางวิชาการต่อไปเช่นเดิม

 

4

 

เดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารโดย คปค. (ซึ่งต่อมาได้แปลงร่างเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 - เรียกย่อๆว่า คมช.) แทบลอยด์ไทยโพสต์ได้สัมภาษณ์ผมอีกในบทสัมภาษณ์ชื่อ "ล้มรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งเร็ว" คราวนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติและการเสนอทางออกจากปัญหาทางการเมือง แนวทางที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ เป็นแนวทางที่ผมใช้ในการอภิปรายสาธารณะโต้แย้งแสดงความคิดเห็น (debate) ที่ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือพีเน็ต จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550 ที่บ้านมนังคศิลา โดยผมอภิปรายในฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคุณจาตุรนต์ ฉายแสง นอกจากนี้ผมและเพื่อนอาจารย์ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับจุดยืนของพวกเราที่มีต่อการออกเสียงประชามติ โดยในการออกแถลงการณ์เรื่องนี้อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกท่านหนึ่ง คือ อาจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุราได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ด้วย

 

ประเด็นหลักที่อยู่ในบทสัมภาษณ์ครั้งนั้น อยู่ที่ข้อเสนอว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารแล้ว จะทำอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 บัญญัติให้อำนาจ คมช. นำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งซึ่งเคยใช้บังคับอยู่ในอดีตมาปรับปรุงและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวเป็นการกำหนดเพื่อ "มัดมือชก" ประชาชน ให้จำต้องยอมรับรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยคณะบุคคลที่มีที่มาซึ่งเชื่อมโยงกับ คมช. ประเด็นก็คือ เราจะยอมให้ถูกมัดมือชกหรือไม่ ผมเสนอให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ แล้วเลือกตั้งทันที โดยหลังเลือกตั้งให้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในบทสัมภาษณ์คราวนั้น ผมคาดว่าฝ่ายรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญจะเป็นฝ่ายแพ้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ แม้กระนั้นการที่คะแนนเสียงโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญออกมาถึงสิบล้านกว่าคะแนน ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นจำนวนไม่น้อยเลย

 

หลังจากรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว คุณอธึกกิตได้มาสัมภาษณ์ผมอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน 2550 การพูดคุยคราวนั้นเป็นการพูดคุยทั่วๆไป เกี่ยวกับเรื่องราวทางกฎหมายในรอบสองสามปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ปิดท้ายการรวมบทสัมภาษณ์เพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือ บทสัมภาษณ์ที่คุณอธึกกิตให้ชื่อว่า "ย้อนหลังมองหน้า" จึงเป็นบทสัมภาษณ์เดียวที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน อย่างไรก็ตามโดยที่ภารกิจของทั้งคุณอธึกกิตและผมมีมาก การรวมบทสัมภาษณ์เพื่อตีพิมพ์จึงล่าช้าไปมาก ส่งผลให้มีบทสัมภาษณ์อีกหลายบทตามมาใน พ.ศ. 2551

 

5

 

เดือนมกราคม 2551 ผมได้รับการติดต่อจากเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ขอสัมภาษณ์ประเด็นปัญหาทางกฎหมายและสภาพการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 การสัมภาษณ์ในวันนั้น ผู้ที่มาสัมภาษณ์ คือ คุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข และคุณมุทิตา เชื้อชั่ง เราได้นั่งคุยกันอยู่นานในหลายประเด็น ในที่สุดเว็บไซต์ประชาไทได้นำการสัมภาษณ์ครั้งนั้นไปแยกเผยแพร่เป็น 2 ตอน ตอนแรกให้ชื่อว่า "ว่าด้วยมาตรา 1 อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย" และตอนที่สอง ให้ชื่อว่า "แล่เนื้อเถือหนังตุลาการภิวัตน์แบบไทยๆ" ประเด็นสำคัญในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวอยู่ที่หลักการและแนวความคิดเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทัศนะเกี่ยวกับความดี ความเลว ในทางการเมือง ความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตย และโดยที่ในช่วงเวลานั้นกระแส "ตุลาการภิวัตน์" ซึ่งถูกนำเสนอโดยนักสังคมวิทยาท่านหนึ่ง กำลังเป็นที่กล่าวขานกันอยู่มากในแวดวงสื่อมวลชนไทย ผมจึงได้ให้ความเห็นไปว่า สิ่งที่เรียกว่า "judicial review" ซึ่งมีการแปลกันโดยไม่ตรงตามความหมายที่แท้จริงว่า "ตุลาการภิวัตน์" คืออะไร อันตรายของการใช้อำนาจตุลาการเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมืองโดยไม่พูดถึงข้อจำกัดของอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอำนาจตุลาการและองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการแบบไทยๆนั้น เป็นอย่างไร ในตอนที่ให้สัมภาษณ์ไปวันนั้น ผมก็ไม่คิดว่าในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ผมต้องวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาขององค์กรตุลาการอีก และคราวนี้การวิจารณ์ของผมสร้างความไม่พอใจให้แก่คนบางกลุ่มถึงขนาดยื่นคำร้องต่อศาลให้ดำเนินการกับผมในข้อหาละเมิดอำนาจศาล

 

6

 

กลางปี พ.ศ. 2551 ปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารกลายเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรงในสังคมไทย ในอดีตปัญหาปราสาทพระวิหารได้ถูกใช้เป็นเครื่องทางการเมืองปลุกเร้ากระแสความรู้สึกชาตินิยมมาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่คราวนี้นอกจากจะต่อสู้กันทางการเมืองแล้ว ยังมีการใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือต่อสู้อีกด้วย หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก นอกจากการอภิปรายกันในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งได้นำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่ากระบวนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องและสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามมิให้คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการใดๆที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบกับแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ผมได้วิพากษ์วิจารณ์การรับคำฟ้องและการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลางว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่ศาลปกครองกลางรับคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนไว้พิจารณาพิพากษา เนื่องจากการกระทำของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในกรณีนี้ไม่ใช่การกระทำทางปกครอง แต่เป็นการกระทำทางรัฐบาล

 

หลังจากที่ผมวิจารณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวแล้ว ทนายความของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้ดำเนินการกับผมในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ขณะนั้นผมกับเพื่อนอาจารย์กำลังเตรียมที่จะออกแถลงการณ์ข้อกฎหมายในเรื่องดังกล่าวอยู่ แม้จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้ดำเนินการกับผม แต่การยื่นเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีผลใดๆต่อการออกแถลงการณ์ ในวันถัดมาผมและเพื่อนๆได้ออกแถลงการณ์ในประเด็นนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวได้จุดชนวนการถกเถียงในประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลปกครองและประเด็นเรื่องการกระทำทางรัฐบาลขึ้นในวงการกฎหมาย ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนท่านหนึ่งได้เขียนบทความโต้แย้งแถลงการณ์ฉบับนี้ และผมได้เขียนบทความโต้แย้งความเห็นของท่าน ในเวลาต่อมาสำนักพิมพ์มติชนได้นำบทความที่โต้แย้งกันและกันมาพิมพ์เผยแพร่

 

มีข้อสังเกตว่าการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับปัญหาเรื่องแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองเท่านั้น ยังมีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ผมได้วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ที่ให้แก่แทบลอยด์ไทยโพสต์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551เรื่อง "ศาลเขียนรัฐธรรมนูญใหม่" โดยในการสัมภาษณ์คราวนั้นผมบอกว่าผมอาจจะไม่พูดอีกนาน

 

แต่แล้วอีกห้าเดือนถัดมาก็มีเหตุให้ผมต้องพูดอีกจนได้ เหตุที่ต้องออกมาพูดในตอนใกล้จะสิ้นปี 2551 ก็เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการยุบพรรคการเมืองสามพรรคการเมือง คือ พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน ผมเห็นว่าทั้งกระบวนพิจารณายุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรค และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองมีปัญหาอย่างยิ่งในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยที่มีปัญหาเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยที่จะต้องพูดแล้ว คุณอธึกกิตซึ่งมาสัมภาษณ์ผมพร้อมกับคุณพนารัตน์ในวันที่ 5 ธันวาคม 2551 จึงถามผมในประเด็นอื่นนอกจากเรื่องยุบพรรคการเมืองที่ได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาห้าเดือนที่ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ด้วย เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดี "ชิมไปบ่นไป" ที่ส่งผลให้คุณสมัคร สุนทรเวชต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ดินรัชดา ซึ่งผมได้ยืนยันความเห็นเดิมของผมที่ได้ให้ไว้ในการสัมภาษณ์แทบลอยไทยโพสต์ครั้งแรก กลางเดือนพฤษภาคม 2547 บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ แทบลอยด์ไทยโพสต์ให้ชื่อว่า "ระบบกฎหมายลวงคน" บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นบทสัมภาษณ์สุดท้ายที่ได้รับการรวมพิมพ์ในครั้งนี้

 

                                                                     7                                             

หนังสือรวมบทสัมภาษณ์เล่มนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีการสัมภาษณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคุณอธึกกิต แสวงสุข และคุณพนารัตน์ พิลึก การสัมภาษณ์นั้นอาจจะไม่ได้เนื้อหาสาระ หากผู้สัมภาษณ์ไม่สามารถซักถามประเด็นต่างๆอย่างละเอียด การสัมภาษณ์ที่ละเอียดนั้นย่อมไร้ความหมาย หากผู้สัมภาษณ์ไม่มีความกล้าหาญที่จะนำประเด็นต่างๆที่ได้สัมภาษณ์นั้นเสนอต่อสาธารณะ คุณอธึกกิต แสวงสุข ซึ่งดูแลแทบลอยด์ไทยโพสต์อยู่นั้น ได้ให้เกียรติมาสัมภาษณ์ผม และให้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่หลายครั้งหลายหน ทั้งๆที่ทราบดีอยู่ว่า แนวความคิดของผมแตกต่างจากแนวความคิดหลักที่ดำรงอยู่ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ผมต้องขอบคุณคุณอธึกกิต รวมทั้งคุณพนารัตน์ซึ่งเป็นทีมสัมภาษณ์ ไว้ ณ ที่นี้

 

นอกจากทั้งสองท่านแห่งแทบลอยด์ไทยโพสต์แล้ว ผมต้องขอบคุณคุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข และคุณมุทิตา เชื้อชั่ง แห่งเว็บไซต์ประชาไท ที่ได้ให้เกียรติมาสัมภาษณ์ผม และเปิดโอกาสให้นำบทสัมภาษณ์เมื่อตอนต้นปี พ.ศ. 2551 มารวมพิมพ์ร่วมกับบทสัมภาษณ์ในแทบลอยด์ไทยโพสต์ ขอบคุณคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสำนักพิมพ์โอเพ่น ที่บันทึกบทสัมภาษณ์ต่างๆของผมที่กล่าวมาไว้เป็นหนังสือเล่ม และขอบคุณอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ช่วยประสานและกระตุ้นให้เกิดการรวมบทสัมภาษณ์ขึ้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันนี้มุมมองและความเห็นของผมที่มีต่อบุคคลบางบุคคล องค์กรบางองค์กร สถาบันบางสถาบัน จะได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้รับรู้ข้อเท็จจริงบางประการมากขึ้น แต่หลักกฎหมายที่เป็นฐานแห่งการสัมภาษณ์ในแต่ละครั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ผมยังยืนยันในหลักกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนมาและได้ผ่านการตรึกตรองใคร่ครวญแล้วว่าเป็นหลักกฎหมายที่เหมาะสมกับการปกครองในรัฐที่เป็นนิติรัฐและประชาชนเป็นใหญ่ หากหลักกฎหมายที่ผมได้นำเสนอไปไม่ต้องตรงกับการปกครองในรัฐตุลาการที่อภิชนเป็นใหญ่ ปัญหาย่อมไม่ใช่อยู่ที่หลักกฎหมายที่ผมได้เสนอไว้ แต่อยู่ที่ระบบการปกครองของประเทศว่าประเทศนั้นปกครองกันอยู่ในระบอบอะไร มีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้การปกครองในประเทศนั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง และทำอย่างไรที่จะให้ระบบการปกครองของประเทศเป็นการปกครองโดยกฎหมายบนพื้นฐานของความยุติธรรม (นิติรัฐ) และเป็นการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ (ประชาธิปไตย) อย่างแท้จริง

 

 

                                                                                                            วรเจตน์ ภาคีรัตน์

2 กุมภาพันธ์ 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท