Skip to main content
sharethis

หนึ่งในชุดการแสดง ในงานฉลอง 10 ปี การก่อตั้งเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่

 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ชายแดนไทย-พม่า มีการจัดงานครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) ซึ่งเป็นองค์กรสตรีที่มุ่งทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมด้านเพศสภาพสำหรับผู้หญิง โดยในงานมีผู้นำและตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรไทใหญ่ องค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรไทยและต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่าเข้าร่วมแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก

ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ รวมถึงประวัติความเป็นมาขององค์กร มีการแจกจ่ายหนังสือ เอกสารแผ่นพับที่เปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ส่วนภาคการแสดง มีการแสดงนาฏศิลป์แบบไทใหญ่ ทั้งการฟ้อนรำ รำดาบ และขับร้อง นอกจากนี้ได้มีการฉายสารคดีเชิงละครที่ผลิตโดยองค์กรคณะกรรมการเดนมาร์กและพม่า ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กอพยพชาวไทใหญ่ในประเทศไทย โดยได้มีการเผยแพร่ในประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา

ในโอกาสนี้ SWAN ยังเปิดตัวหนังสือ "SWAN: A 10 Year Journey" (การเดินทางครบทศวรรษของเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่) ซึ่งเป็นรายงานการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนตลอดระยะเวลา 10 ปีของ SWAN ด้วย

เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ หรือ SWAN ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกร่วมก่อตั้งสันนิบาตสตรีพม่า (WLB) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2542 ภายใต้แนวคิดของสตรีชาวไทใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชน และสิทธิสตรี SWAN ก่อตั้งขึ้นในช่วงเกิดกระแสการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารพม่าในรัฐฉานอย่างรุนแรง คือระหว่างปี 2539 - 2540 ทหารพม่าได้มีนโยบายบังคับโยกย้ายชาวบ้านในรัฐฉานกว่า 300,000 คน จาก 1,400 หมู่บ้านในอพยพไปอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการควบคุมทหารพม่า ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิอย่างหนักและมีสตรีนับร้อยคนถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง

โดยองค์กรเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ SWAN มีผลงานชิ้นสำคัญคือการเผยแพร่รายงานการล่วงละเมิดทางเพศสตรีของทหารในรัฐฉาน ในชื่อ "ใบอนุญาตข่มขืน" "License to Rape" เมื่อกลางปี 2545 ซึ่งเป็นหนังสือรายงานที่ทำให้โลกตะลึงและเขย่าบัลลังก์สร้างความอับอายให้กับคณะรัฐบาลทหารพม่าเป็นอันมาก

ปัจจุบันองค์กรเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ SWAN ยังคงดำเนินงานป้องสิทธิสตรีและต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า นอกนั้นได้ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและสุขภาพแก่ผู้อพยพตามแนวชายแดนอย่างสม่ำเสมออีกทางหนึ่ง

 

 

แถลงการณ์วาระครบรอบสิบปีการก่อตั้งเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่

(Shan women"s action network)

 

วันนี้เป็นวันครบรอบสิบปีการก่อตั้งเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ เราใช้โอกาสนี้เพื่อเปิดตัวหนังสือ "SWAN: A 10 Year Jouney" (การเดินทางครบทศวรรษของเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่) ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวเว็บไซต์ของเราในพากย์ภาษาพม่า ไทใหญ่ และไทย เรายังจัดกิจกรรมในชุมชนบริเวณพรมแดนไทย-รัฐฉาน โดยมีนิทรรศการ กิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการฉายภาพยนตร์สารคดีเชิงละครว่าด้วยโครงการด้านการศึกษาของทางเครือข่ายฯ ที่จัดให้กับเด็กผู้ลี้ภัย

 

หนังสือเล่มใหม่ของเรารวบรวมประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายฯ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และสะท้อนแง่มุมที่ซับซ้อนของความพยายามพัฒนาขบวนการเพื่อสิทธิสตรีในท่ามกลางบริบททางวัฒนธรรมและการเมือง

 

เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ก่อตั้งขึ้นหลังจากรัฐบาลทหารพม่าได้สั่งการให้อพยพโยกย้ายประชาชนจำนวนมาก ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2541 ส่งผลให้ประชาชนเรือนแสนในภาคกลางของรัฐฉานต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และเป็นเหตุให้หลายคนต้องหลบหนีเข้าประเทศไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการอพยพโยกย้ายขนาดใหญ่ เราได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงในรัฐฉานจากชุมชนต่างๆ มีบทบาทที่เข้มแข็งและรวมตัวกันทำงานเป็นเครือข่าย เครือข่ายของเราจึงเกิดขึ้นท่ามกลางความโกลาหลและความหวาดกลัว

 

สิบปีผ่านไป สถานการณ์ในรัฐฉานและส่วนอื่นๆ ของพม่ายังดูน่าหดหู่ แต่อย่างน้อยเรารู้สึกว่าเราได้สร้างพื้นที่ให้กับการทำงานของผู้หญิงในรัฐฉาน ทำให้พวกเธอสามารถรวมตัวกันเป็นขบวนการที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมด้านเพศสภาพทั้งในชุมชนของตนเองและสังคมโดยรวม

 

ในการทำงานของเรา เราพยายามผลักดันหลักการด้านสิทธิสตรี และมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมด้านสังคม แม้ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเกิดศรัทธาความเชื่อมั่นต่อหลักการเหล่านี้

 

เราขอขอบคุณกัลยาณมิตรและผู้สนับสนุนทั้งหลายที่ยืนหยัดเคียงข้างเรามาตลอดสิบปี แรงสนับสนุนจากท่านจะยิ่งทำให้เราแน่วแน่ยิ่งขึ้นในการทำงานเพื่อท้าทายความอยุติธรรม และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสันติภาพอย่างแท้จริงในพม่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net