Skip to main content
sharethis

เรื่องและภาพ: รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์ 


 



บนเวที "ละอ่อนบรรเลง ระมิงค์ขับขาน" ที่ข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 22 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา



น้องแอ๊ะเปาะ (ที่ 2 จากซ้าย) และเพื่อนๆ จากกลุ่ม "ดนตรีชุมชนชาติพันธุ์สร้างสุข" กลุ่มเยาวชนปกาเกอะญอที่มาไกลถึง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ วันนี้พวกเขามาแสดงการร้องประสานเสียง และจัดซุ้มสอนทำพวงกุญแจจากเมล็ดพืชพื้นบ้าน


 

จากแนวคิด "ดนตรีสร้างสุข ดนตรีที่ไม่ใช่แค่ดนตรี" ทำให้เครือข่ายดนตรีสร้างสุขภาคเหนือ ร่วมกับหลายองค์กร จัดเทศกาลดนตรีล้านนาสร้างสุข "ละอ่อนบรรเลง ระมิงค์ขับขาน" ขึ้นที่ข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการแสดงดนตรีของกลุ่มเยาวชนจากหลากหลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยมีองค์กรร่วมจัดที่เข้ามาหนุนเสริมอย่างเทศบาลนครเชียงใหม่ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ภายในงานมีเวที "ละอ่อนบรรเลง" ดนตรีสร้างสุขภาคเหนือ ซึ่งเป็นการผสมผสานดนตรีพื้นบ้านล้านนา ดนตรีชาติพันธุ์ กับผลงานดนตรีร่วมสมัย รวมไปถึงการบูรณาการระหว่างดนตรีกับสื่อศิลปะแขนงอื่น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้รากดนตรีล้านนา และพัฒนาให้สามารถปรับตัวเพื่อให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ และเพื่อให้บทเพลงและเสียงดนตรีเป็นสื่อสร้างสุขภาวะสู่เยาวชนโดยมีการแสดงอาทิเช่น จ๊อยซอในแบบประสานเสียง หรืออย่างการบรรเลงสะล้อซอซึงที่มีการผสานกับการบรรเลงกีตาร์ไวโอลิน แคนม้งร่ายกวีชนเผ่า เตหน่าของชาวปกาเกอะญอ ดนตรีไม้ไผ่บรรเลงเพลงคำเมือง ฟ้อนไทยอง รำไทใหญ่ ระบำปกาเกอะญอ


นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงซุ้มสืบสานล้านนา ซุ้มภูมิปัญญาชนเผ่า และซุ้มศิลปะสร้างสุข โดยมีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้สาธิตการทำดอกลาย ทำโคม ตัดตุง ปักผ้าลายม้ง ทำสายสร้อยร้อยเมล็ดพันธุ์ปกาเกอะญอ เป็นต้น


และนับเป็นปีที่สองของเทศกาลล้านนาดนตรีสร้างสุขแล้ว โดยในปีที่แล้วมีการจัดงานลักษณะนี้เช่นกัน โดยใช้ชื่องานว่า "เหมันต์จันทรา" จัดขึ้นที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถ.พระปกเกล้า


000


นายประสงค์ แสงงาม ผู้แทนเครือข่ายดนตรีสร้างสุขภาคเหนือ อธิบายความหมายของงาน "ระมิงค์ ขับขาน" ว่า "ระมิงค์" นั้นหมายถึงแม่น้ำปิง ซึ่งมีการไหลพัดผ่านหลายจังหวัดหลายวัฒนธรรม จึงนำคำว่าระมิงค์มาใช้ในการสื่อถึงดนตรีที่มีการผสมผสานความหลากหลายจากแต่ละพื้นที่


"จากการถอดบทเรียนยุทธศาสตร์ดนตรีสร้างสุขปีที่ 1 พบว่าดนตรีสร้างสุขนั้นเป็นดนตรีที่มากกว่าดนตรี คือเป็น พาหนะแห่งการข้ามพ้น เพื่อการเชื่อมโยงไปสู่สุขภาวะ ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาวะให้เด็กผ่านดนตรี แล้วเด็กส่งความสุขต่อให้คนฟังอีกทีด้วยการเล่นดนตรี"


โดยก่อนเริ่มงาน  "ละอ่อนบรรเลง ระมิงค์ขับขาน" อย่างเป็นทางการ มีกิจกรรมอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเยาวชนที่จะขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรี โดยมีกิจกรรมค่าย "ละอ่อนบรรเลง เยาวชนล้านนาสร้างสุข" ขึ้นในวันที่ 21 มี.ค. ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเยาวชนจากกลุ่มดนตรีต่างๆ ใน 5 จังหวัดในภาคเหนือเข้าร่วม ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และแม่ฮ่องสอน โดยเด็กที่มาเข้าร่วมโครงการนั้นมีตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา ทั้งหมดประมาณ 300 คน เพื่อจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชนดนตรีจากกลุ่มต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง "เครือข่ายเยาวชนดนตรีสร้างสุขระดับภาค" ต่อไป


สำหรับเครือข่ายดนตรีสร้างสุขภาคเหนือ ประกอบไปด้วยองค์กรสมาคมวิชาชีพ หน่วยงานจากสถาบันการศึกษา ศิลปิน และ กลุ่มดนตรีอิสระ ได้ประสานงานและดำเนินการจัดกิจกรรมค่ายดนตรีและดนตรีสร้างสุขสัญจรทั้งสิ้น 21 โครงการ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 จนถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ขยายผลสู่การจัดงาน "มหกรรมดนตรีสร้างสุขระดับภาค" โดยประสานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ร่วมกับศิลปินพื้นบ้าน และ ศิลปินเพลงร่วมสมัยในแต่ละภูมิภาค นำเสนอผลงานดนตรีของคนรุ่นใหม่ใจสร้างสุขสู่พื้นที่สาธารณะ ภายใต้แนวคิดว่าด้วย "คุณค่าของการให้และแบ่งปัน"


000


น้องที่ผ่านค่าย "ละอ่อนบรรเลง เยาวชนล้านนาสร้างสุข" และมาร่วมจัดซุ้มกิจกรรม และการแสดงในงาน "ละอ่อนบรรเลง ระมิงค์ขับขาน" อย่างน้องแอ๊ะเปาะ จากบ้านใหม่พัฒนา หมู่ 2 ต.แจ่มหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เล่าว่าวันนี้มาร่วมการแสดงกับกลุ่ม "ดนตรีชุมชนชาติพันธุ์สร้างสุข" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเยาวชนปกาเกอะญอ ทั้งนี้สมาชิกกลุ่มที่มาร่วมงานในวันนี้มีประมาณสิบคน และส่วนใหญ่มีอายุ 7-13 ปี โดยจะแสดงการร้องเพลงประสานเสียง 2 เพลง คือเพลงกล่อมลูก และเจ๊าะเตอควา (เพลงพี่เอ๋ย)


"ภูมิใจที่ได้มาร่วมทำกิจกรรมวันนี้ ตอนแรกไม่สนุก แต่ตอนนี้รู้สึกไม่อยากกลับบ้านเพราะการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เริ่มรู้จักเพื่อนกลุ่มอื่นๆ เยอะขึ้น" น้องแอ๊ะเปาะ วัย 13 ปีกล่าว


นอกจากการแสดง ทางกลุ่มของแอ๊ะเปาะก็มีการสาธิตงานหัตถกรรมพื้นบ้านในซุ้มภูมิปัญญาชนเผ่าด้วย โดยมีการสาธิตการทำพวงกุญแจ จากเมล็ดพืชที่อยู่ในชุมชน เช่น พวงกุญแจจากเมล็ดสะบ้าดำ สะบ้าแดง สะบ้าลาย เมล็ดสน หมากเขี้ยวงู ซึ่งพืชเหล่านี้ใช้เป็นสมุนไพรได้ด้วย นอกจากนี้ก็สอนทำสร้อยข้อมือจากเมล็ดลูกเดือยด้วย


ความหมายของคำว่า "ดนตรี" อาจมีมากมาย แต่เชื่อว่าทุกความหมายน่าจะมีจุดร่วมเดียวกันในการสร้างความสุข ด้วยดนตรีนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่สร้างความสุนทรีย์ให้เกิดแก่ทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง เมื่อเป็นเช่นนั้นเทศกาลดนตรี ละอ่อนบรรเลง ระมิงค์ขับขาน ก็ย่อมจะถูกขานรับเข้าไปก้องกังวานในใจผู้ที่ได้รับฟังด้วยฝืมือการบรรเลงของเหล่าละอ่อนเมืองเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net