Skip to main content
sharethis

 


จรรยา ยิ้มประเสริฐ


1 เมษายน 2552


 



เมื่อการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของโลกกลายเป็นโอกาสทางการค้า ผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ต้องออกมายึดถนนย่านการค้ากลางกรุงลอนดอนเพื่อประกาศว่า "หยุดการทำการค้าคาร์บอน เพราะว่าเราไม่สามารถซื้อความล่มสลายของธรรมชาติคืนมาได้  หยุดทำการค้าบนอนาคตของพวกเรา"


ความเข้าใจเรื่องผลกระทบที่จะเกิดจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือ Climate Change ที่อังกฤษถือว่าตื่นตัวมากพอสมควรเมื่อเทียบกับบ้านเรา โดยดูได้จากข้อเขียนต่างๆ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์






 


Climate Camp 2009


(สรุปความ)


 


สิ่งแรกที่พ่อค้าจากเมืองหลวงกระทำคือการทำการค้าในบ้าน  ในงานและในเงินของพวกเรา ที่มาพร้อมกับความหายนะ ขณะนี้พวกเขากำลังทำการค้ากับสภาพอากาศและอนาคตของทุกสรรพชีวิตบนพื้นพิภพ และก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลต่างก็เอาอกเอาใจพวกนักการค้าเหล่านี้


การสร้างระบบใบอนุญาตทางมลภาวะคาร์บอน บริษัทที่ผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ได้ค้นพบวิธีที่จะเผาผลาญก๊าชที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนต่อไปพร้อมกับสร้างผลกำไรอย่างมหาศาลไปด้วยในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐบาลอังกฤษได้ให้ความชอบธรรมกับการสร้างทางขึ้นลงเครื่องบินทางที่สามที่สนามบินฮีทโทรว์ และสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่คิงส์นอร์ท โดยกล่าวว่า ระบบการค้าคาร์บอนจะทำให้ปริมาณก๊าซทั้งหลายที่ปล่อยออกมาหมดไป


เราจำเป็นต้องหยุดการกระทำที่งี่เง่าเหล่านี้


ในวันที่ 1 เมษายน กลุ่มผู้นำประเทศ G20 จะเดินทางมาถึงลอนดอน ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตด้านสภาวะอากาศ การตอบสนองต่อความถดถอยของการตลาด คือการให้เงินกู้ฉุกเฉินกับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย และช่วยฟื้นฟูกิจกรรมให้กับกลุ่มคนที่เป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งเหยิงนี้ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศย่ำแย่ลงไปอีก


อย่าปล่อยให้พวกเขาลอยนวล มาร่วมกับพวกเราชาว climate camp


.............................


ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.climatecamp.org.uk/home


  


นี่ก็เป็นคำเชิญชวนที่พาให้ผู้เขียนดั้นด้นเดินทางมาอังกฤษเพื่อเข้าร่วมงาน Climate Camp


ก่อนเข้าร่วมงาน ก็ต้องเร่งหาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มประเทศ G20 และการตลาดคาร์บอน carbon market ซึ่งก็พบข้อมูลที่เผยแพร่โดย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ณ กรุงโตเกียว และสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม ณ กรุงโตเกียว เมื่อ 30 กันยายน 2551 ที่ระบุว่า


"คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ สินค้าชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเอกสิทธิ์ของปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่ลดได้ ซึ่งประกอบด้วยก๊าซ 6 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์(Carbon Dioxide) มีเทน (Methane) ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluocarbons) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulphur Hexafluoride) คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไก สำคัญที่เรียกว่า Cap and Trade นั่นคือ การที่ประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ถูกกำหนดโควตาก๊าซเรือนกระจกที่ตนสามารถปล่อยได้ ประเทศใดที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าโควตาของตนเองก็จะสามารถขายโควตาที่เหลือให้กับประเทศอื่นๆ ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ตามที่ถูกกำหนดโควตาไว้ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็สามารถผลิตคาร์บอนเครดิตได้โดยการพัฒนาโครงการขึ้นเอง หรือร่วมทุนกับประเทศที่พัฒนาแล้วในการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(Clean Development Mechanism: CDM) ที่ได้รับการรับรองว่ามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง"


อ่านแล้วก็พาให้ใจหาย ประเทศเราก็เอากับเขาด้วย มองเรื่อง "ความเป็นความตาย" ของโลกเป็นเรื่องการค้า ขึ้นต้นก็ใช้คำว่าคาร์บอนเครดิตคือ "สินค้าชนิดหนึ่ง"  โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์เลยว่า เรื่องภาวะโลกร้อนที่ทั้งโลกพยายามตั้งเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่นี้ ยิ่งควบคุมได้เร็วเท่าไร จะยิ่งเป็นผลดีต่อโลกมากเท่านั้น แต่นี่กลุ่มประเทศโลกใต้กำลังส่งเสริมเรื่องการลดการปล่อยก๊าซให้ต่ำกว่าเพดานพิกัด เพื่อขายโควตาส่วนต่างให้กับกลุ่มประเทศรำรวยที่ไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซของตัวเอง แต่จะใช้เงินซื้อโควตาที่เหลือจากกลุ่มประเทศยากจน ผลก็คือมันก็ยังมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกอยู่เหมือนเดิม ปล่อยกันเต็มพิกัดที่กำหนดกันไว้


เข้าร่วมประท้วง Carbon Market กับ Climate Camp


ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20


เช้าวันที่ 1 เมษายน ข่าวทุกสำนักต่างพากันลงภาพประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา พร้อมภรรยาก้าวลงมาจากเครื่องบิน แอร์ฟอร์สวัน พร้อมกับเป็นภาพแผนที่จุดสำคัญต่างๆ ที่คาดว่าจะมีผู้คนจากหลากหลายกลุ่ม เดินทางไปประท้วงการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ครั้งนี้ โดยระบุว่าจะมีการประท้วงจากหลายกลุ่ม ที่มุ่งเป้าไปที่หน้าสำนักงาน Bank of English ศูนย์กลางการเงินของอังกฤษ เพื่อเป็นการประท้วงนโยบายทางการเงินที่เอื้อประโยชน์ต่อเฉพาะกลุ่มทุน


ผู้เขียนเข้าร่วมประท้วงกับกลุ่ม Climate Camp ที่วางแผนจะตั้งแค้มป์ประท้วงที่ Square Miles  ด้านหน้าของอาคาร European Climate Exchange ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Bank of England


สำหรับผู้เขียนที่ได้ยินเกี่ยวกับขบวนการจัดตั้งที่เรียกว่า Affinity Group ผู้เขียนจึงสนใจในขบวนการเตรียมตัว และการรวมกลุ่มของคนที่นี่ในการเข้าร่วมกิจกรรมมาก  ทั้งนี้เพราะไม่ใช่รูปแบบของการจัดตั้งแบบบ้านเรา ที่มีการนัดหมายเวลา สถานที่ และมีการจัดเตรียมรถโดยสาร และมีรถในการรับคนกลุ่มใหญ่ไปด้วยกัน โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกเตรียมโดยองค์กรแกนนำ และเวทีก็จะมีรูปแบบที่คุมโดยส่วนกลาง แต่รูปแบบการประท้วงที่นี่จะเป็นรูปแบบไม่มีองค์กรนำ แต่ละคนแต่ละกลุ่มที่รู้สึกร่วมในปัญหาและเห็นด้วยกับการประท้วงจะมีการเตรียมการณ์กันในระหว่างกลุ่ม และก็จะมีตัวแทนในแต่ละกลุ่มที่ทำหน้าที่ปรึกษากันในส่วนการวางแผนงานในระดับชาติ และนำประเด็นต่างๆ มาเตรียมงานกับกลุ่มเพื่อนฝูงกันเอง แต่ในระหว่างการประท้วง ทุกกลุ่มมีอิสระจะแสดงหรือจะประท้วงในรูปแบบใดก็ได้ ซึ่งก็มีทั้งการปีนขึ้นไปติดป้ายผ้าประท้วง การเขียนภาพบนถนน การเล่นดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศและสีสัน หรือเป็นทีมนักเต้นเสื้อผ้าสีสันสดใส บางครั้งก็จะมีการแสดงหรือแต่งตัวล้อเลียนต่างๆ และมีเวทีอภิปรายตามจุดต่างๆ พร้อมทั้งมีครัวกลาง มีห้องน้ำ และครั้งนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษเอาผักปลอดสารและอาหารมาขายด้วย ซึ่งเกษตรกรมีป้ายประท้วงที่เขียนว่า "ตลาดเกษตรกร ไม่เอาตลาดคาร์บอน"


การเตรียมตัวเพื่อเข้ารวมในรูปแบบนี้ในครั้งนี้ เนื่องจากมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่าจะถูกขัดขวางและจะมีการใช้ความรุนแรง เป็นยุทธวิธีทางจิตวิทยาเพื่อไม่ให้คนมาเข้าร่วมประท้วง ผู้เข้าร่วมประท้วงแต่ละทีมจึงมีการวางรูปแบบการเดินทางเข้าร่วมประท้วงที่เป็นรูปแบบที่เรียกว่า swoop คือ การรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และพยายามวางแผนเส้นทางกันเอง เพื่อให้มาถึงจุดนัดหมายในเวลาพร้อมเพรียงกัน คือเวลา 12.30 น. ทั้งนี้เพราะการเดินรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่อาจจะถูกตำรวจปิดกั้นได้


ขั้นตอนการเตรียมตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะตำรวจรุนแรงกับผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในประเทศอังกฤษ มีการทุบตีและจับกุมผู้ประท้วงกันเกือบทุกครั้ง จนถึงกับมีชุดบทเรียนที่ตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ และทุกคนที่เข้าร่วมประท้วงก็รู้ดีว่าอยู่ในความเสี่ยงอะไรบ้างก่อนตัดสินใจร่วมในการประท้วง


ผู้เขียนอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่รับหน้าที่เตรียมอุปกรณ์และจัดตั้งห้องน้ำ พวกเราต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่ 9  โมงเช้า ที่บ้านของเพื่อน ในทีมประกอบไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยจากอเมริกา นักศึกษาปริญญาเอกจากกรีก นักข่าว บรรณาธิการหนังสือ นักกฎหมาย และนักสหภาพแรงงาน รวมทั้งนักกิจกรรมและนักศึกษา


ก่อนเดินทาง พวกเราได้รับการเตรียมตัวจากแกนนำ และนักกฎหมายที่แจกเอกสารให้กับทุกคนในการเตรียมตัวและสิ่งที่จะต้องทำเมื่อถูกจับกุม "ตำรวจสามารถหาทุกเหตุผลในการจับกุมทุกคนได้ทั้งนั้น" ทนายความบอกกับเรา แต่เรามีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถาม ไม่ให้พาสปอร์ต หรือบัตรต่างๆ พร้อมกับติตต่อทีมทนายทันทีเพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่างๆ" ทนายย้ำเตือน


พวกเราต้องไปถึงที่นัดหมายในเวลา 12.30 ตรง เรานั่งรถเมล์ และก็เดินข้ามสะพานลอนดอนบริดจ์อันมีชื่อเสียง ระหว่างข้ามสะพานพวกเราก็พาตื่นเต้นกับการเห็นป้ายผ้าแขวนบนอาคารตึกริมแม่น้ำเทมว่า "Smash Capitalism" ทำลายทุนนิยม


ระหว่างเดิน เพื่อนๆ ที่รู้จักพื้นที่ก็จะชี้ให้เราดูเหล่าตำรวจ ตามจุดโน้น จุดนี้


พวกเราพากันเดินทิ้งระยะห่างระหว่างกันเป็น 3 กลุ่ม เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกต แต่เพื่อนที่ขี่จักรยานก็ถูกตำรวจเรียกให้หยุดจนได้ พวกเราคิดว่าจะไม่สามารถผ่านมาได้เสียแล้ว ทนายที่มากับทีมงานเราอยู่กับรถจักรยานที่ขนอุปกรณ์ตลอด แกนนำบอกผู้เขียนว่า "คุณไปถ่ายวีดีโอเก็บไว้หน่อยดีกว่า" แต่ในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเดินย้อนกลับไป เพื่อนพร้อมกับจักรยานก็ผ่านมาได้


ถนน Square Miles ตอนนี้จอดเต็มไปด้วยรถตำรวจ ผู้เขียนไม่รู้ว่าเราเดินมาถึงแล้ว นึกว่าเราจะต้องเดินไปอีกไกล แต่เพียงชั่วอึดใจเดียวในเวลาประมาณ 12.30 นาฬิกาตรง ผู้คนก็พากันหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ คลาคล่ำเต็มทั้งท้องถนน  และเพียงไม่ถึงหนึ่งนาที เต็นท์หลังแรกก็ประสบความสำเร็จในการกางบนถนนเส้นนั้น เมื่อตำรวจไม่ประสบความสำเร็จในการปิดกั้นการกางเต็นท์แรก เต็นท์ต่อๆ มาจึงถูกกางออกเต็มทั้งถนนในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง


ทีมงาน Climate Camp รายงานว่า มีผู้ร่วมงาน Climate Camp และยึดถนนครั้งนี้ 2,000 คน เพื่อนๆ กระจายตัวกันไป พร้อมกับเสียงทักทายกันเต็มไปหมด เหมือนเป็นการมารวมตัวของเพื่อนเก่ากระนั้น เพื่อนชาวอังกฤษที่ไปด้วยกันแนะนำคนโน้นคนนี้ให้ผู้เขียนรู้จักวุ่นวาย ภาพการกระโดดกอดกัน ทักทายกัน เป็นภาพที่เห็นเต็มไปทุกมุมของแคมป์


สำหรับผู้เขียน ก็สนุกสนานกับการตระเวนเก็บภาพและสีสันต่างๆ ของการประท้วง พร้อมกับชิมเค้กอร่อยๆ และสดใหม่จากกลุ่มเกษตรกรปลอดสารพิษ  และก็พบกับเพื่อนที่มาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยที่ลอนดอนโดยบังเอิญ ซึ่งเรานัดกันว่าจะพบกันในวันที่ 2 เมษายน ที่มหาวิทยาลัย พวกเราจึงเดินดูกิจกรรมของการประท้วงด้วยกัน และแยกย้ายกันกลับที่พักในเวลาประมาณ 16.30 น.


เมื่อเข้าไปดูเวบไซด์ของ Climate Camp ก็รับทราบว่า ตำรวจใช้กำลังกับผู้เข้าร่วมในเวลาหนึ่งทุ่ม จนมีคนได้รับบาดเจ็บ และเข้าสลายแค้มป์ในเวลาเที่ยงคืน และมีข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตในกลุ่มคนที่เดินขบวนประท้วงที่หน้าธนาคารอังกฤษ Bank of England ซึ่งผู้เขียนเพิ่งทราบข่าวเช่นกัน เพื่อนที่เข้าร่วม climate camp จะมาทานข้าวอาหารไทยที่ผู้เขียนอาสาทำเลี้ยงเพื่อนๆ ที่อังกฤษคืนนี้ ก็คงจะได้รับฟังเรื่องราวเพิ่มเติมจากเพื่อน


            เรื่องราวของการประท้วง G20 ของกลุ่มรณรงค์เรื่อง Climate Change อาจจะทำให้พวกเราในประเทศไทยได้เห็นบรรยากาศของการประท้วงของผู้คนในประเทศที่เรียกว่ากลุ่มประเทศร่ำรวย ซึ่งก็ประสบปัญหาการถูกปิดกั้น และปราบปรามจากตำรวจเช่นเดียวกับพวกเราในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net