Skip to main content
sharethis

 


 


  


นายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า ทาง กป.อพช.ใต้ร่วมกับ สมาคมดับบ้านดับเมือง โรงเรียนริมเล ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนและศูนย์พลเมืองเด็กสงขลาจัดเวที "ฤาสงขลาจะเป็นดั่งมาบตาพุด" ในวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2552 ณ ห้องบรรยาย 3305 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนสงขลาได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น และให้คนสงขลาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกรณีมาบตาพุด จังหวัดระยอง และทางออกพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเวทีนี้จะเป็นเวทีที่ชวนคนสงขลามาร่วมคิดร่วมคุยถึงทิศทางการพัฒนาจังหวัดของตนเอง และได้เชิญนักวิชาการที่ติดตามทิศทางการพัฒนาประเทศและศึกษาติดตามกรณีปัญหามลพิษที่ระยองหลายท่านมาให้ข้อมูล รวมถึงผู้ที่ได้รับผิดกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมาเล่าประสบการณ์


การจัดเวทีดังกล่าวสืบสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช) ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (กพต.) เพื่อศึกษาและปรึกษาหารือกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ คือรถยนต์ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 4 พื้นที่ทางเลือก คือ อำเภอกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์/ อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี/ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี คือแก๊สอ่าวไทยและท่าเรือน้ำลึกนครศรีธรรมราช สงขลา - ปัตตานี


นายบรรจง ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายของคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม2551 ประเด็นภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลก็เน้นย้ำต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรัฐอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งเครือข่ายรวมกลุ่ม และปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ขยายขอบเขตการดำเนินการให้สินเชื่อ และประกันสินเชื่อ โดยใช้เครือข่ายธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้ และจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นต้น และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ 3 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยมีหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบายแผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และประสานการบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวมทั้งระบบกำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ฯให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล


และตามแผนพัฒนาคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่10 กำหนดให้พื้นที่ภาคใต้เป็นแหล่งการพัฒนาเศรษฐกิจแหล่งใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแบบภาคตะวันออก และที่สำคัญคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ภาคใต้จะเป็นทางเลือกในการรองรับการขยายตัวของปิโตรเคมี โดยการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทยด้วยระบบคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและมีมาตรฐานสตูล-สงขลา : พัฒนาสะพานเศรษฐกิจเพื่อเปิดประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ของประเทศ กระบี่-ขนอม : พัฒนาให้เป็นแนวเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ ระนอง-ชุมพร : พัฒนาเชื่อมโยงภาคใต้ตอนบนกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก พัฒนาแนวพื้นที่ฝั่งอันดามันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนที่มีมาตรฐานระดับโลก โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมพัฒนาแบบผสมผสานในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยเกษตร-ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม เตรียมความพร้อม อ.สิชล รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต เสริมสร้างความเข้มแข็งฐานเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ชายแดน เชื่อมโยงกับ NCER และECER ของมาเลเซีย พัฒนาสะพานเศรษฐกิจ สตูล-สงขลา


โดยระบุว่าศักยภาพของการพัฒนากลุ่มชายแดน (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับประกอบด้วย มีสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ระบบรถ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา อ่างเก็บน้ำบางลาง (1,400 ล้าน ลบ.ม.) โรงแยกก๊าซจะนะ (475 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน) โรงไฟฟ้าจะนะ (700 MW)


ศูนย์ธุรกิจ/การค้าที่หาดใหญ่ Gateway ทางบก มีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง แต่มีจุดด้อยมีความเปราะบางด้านสังคม / วัฒนธรรม เหตุความไม่สงบ


            ในพื้นที่อำเภอจะนะจังหวัดสงขลามีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ เป็นการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากก๊าซธรรมชาติ และกำลังจะมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยการเชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย และพัฒนาฐานเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมประมงและการเกษตร รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นตามมา


            จากการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโครงการโรงไฟฟ้า ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะเห็นได้ว่าโครงการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับชุมชนมากมาย เริ่มตั้งแต่การสร้างความแตกแยกในชุมชนระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาในลักษณะนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนขาดการดูแลพึ่งพากัน วัฒนธรรมที่ดีงามได้เลือนหายไป เนื่องจากเป็นการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน และบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นบทเรียนที่สำคัญของสังคมไทยในการพัฒนาที่มุ่งเน้นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมจนละเลยวิถีชีวิตและทรัพยากรสิ่งของแวดล้อม


            ในสถานการณ์ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทางคณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) เล็งเห็นความสำคัญของการจำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และติดตามตรวจสอบทิศทางการพัฒนา โดยการจัดเวทีเผยแพร่ข้อมูลให้ชุมชน และสาธารณะรับรู้ถึงทิศทางการพัฒนาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างอำนาจการวิเคราะห์ ความเท่าทัน และนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานความสอดคล้อง สมดุลของฐานทรัพยากร วิถีชีวิต ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงานของชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาและความจำเป็นของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้


 


 


……………………………………………………………………………………………………………………..


 


กำหนดการ


       โครงการเวทีสัมมนา  "ฤาสงขลาจะเป็นดั่งมาบตาพุด"


วันเสาร์  ที่ 4  เมษายน  2552


ณ. ห้องบรรยาย  3305   คณะทรัพยากรธรรมชาติ


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    วิทยาเขตหาดใหญ่


 


08.30 น.                        ลงทะเบียน


08.45 น.                        กล่าวเปิด   คุณบรรจง  นะแส  เลขาธิการกป.อพช.ใต้


และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย


09.00 - 10.30 น.             "อนาคตปักษ์ใต้ภายใต้เงามืดแผนพัฒนาที่เป็นไป"


 โดย ดร.อาภา   หวังเกียรติ คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต


                                    "ปัญหาพลังงานกับการพัฒนา"


โดย ผศ.ประสาท   มีแต้ม  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


                                    ดำเนินรายการโดย  คุณมานะ  ช่วยชู 


10.30 - 10.45 น.            รับประทานอาหารว่าง


10.45 - 12.30 น.            " มนต์ดำ " : บทเรียนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  


โดยคุณสุทธิ  อัชฌาสัย  เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก


                                    ดำเนินรายการ คุณสุรัตน์  แซ่จุ่ง


12.30 - 13.30 น.            รับประทานอาหารเที่ยง


13.30 - 14.15 น.            "11 ปี บนเส้นทางการต่อสู้กรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย"


                                    โดย ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซ


และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 


ดำเนินรายการโดยคุณกิตติภพ  สุทธิสว่าง


14.15 - 17.00 น.            เสวนา "ปมปริศนาและทางออกของการพัฒนา"


โดยดร.เดชรัต สุขกำเนิด


คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล   


คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


คุณพิภพ ธงไชย  แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


คุณสุทธิ  อัชฌาสัย   เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก


                                    ดำเนินรายการโดย ปิยะโชติ  อินทรนิวาส


17.00 - 17.10 น.            กล่าวปิดการสัมมนา โดย  รศ.ดร.เริงชัย  ตันสกุล 


อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net