"ห้าเชียง" ในเครื่องหมายคำถาม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่อง : ณัฐกร วิทิตานนท์

ภาพ : รัฐนันท์ โสภโณดร

 

 

 

'ความงามที่แตกต่าง' บ้านไทลื้อสไตล์ประยุกต์ท่ามกลางบ้านไทลื้อเก่าแก่ล้อมรอบ นอกเมืองเชียงรุ่ง (ต.ค. 51)

 

'จานดาวเทียม' หน้าต่างโลกาภิวัตน์ของคนเชียงตุง (ก.พ. 51)

 

ในจีน คงเหลือแต่คนรุ่นนี้เท่านั้นที่ยังแต่งกายแบบ 'ไทลื้อ' อย่างหวงแหน (ต.ค. 51)

 

 

บรรยากาศระหว่างทางบน 'แม่น้ำโขง' จากเชียงรุ่งถึงเชียงแสน (ต.ค. 51)

 

 

บางแง่บางมุมในหมู่บ้านอนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อ 'กาหลันป้า' ของทางการจีน (ต.ค. 51)

 

วิถีชีวิตคึกคักใน 'ตลาดเช้า' ของชาวไทเขินที่เชียงตุง (มี.ค. 52)

 

สถาปัตยกรรม 'บ้านดิน' ดั้งเดิมของชาวไทเหนือยังมีให้เห็นที่เชียงตุง (มี.ค. 52)

 

'เสาบนหิน'เอกลักษณ์ของบ้านแบบไทลื้อ (ต.ค. 51)

 

เสื้อลายละครโทรทัศน์ 'คมแฝก' จากไทยกลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตาที่เชียงตุง (มี.ค. 52)

 

หน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลาง 'ความเป็นเมือง' เชียงรุ่ง (ต.ค. 51)

 

หนึ่งในจำนวนหลายสิบ 'อุโมงค์' จากบ่อหาญถึงเชียงรุ่ง (ต.ค. 51)

 

 

หลักกิโลเมตรขนาดมหึมา ณ 'สี่แยกห้าเชียง ประตูสู่ล้านนา' ที่ลำปาง (ม.ค. 52)

 

 

(1)

 

"ห้าเชียง หมายถึง...?"

คำถามๆ นี้ ติดค้างใจผมมานานมากแล้ว เป็นคำถามวิชาสังคมข้อหนึ่งในการสอบโควต้า มช. ตั้งแต่เมื่อปี 2538 ของผม แต่ผมยังจำได้แม่น (ซึ่งก็คงเป็นเพียงข้อเดียวเท่านั้นที่สามารถจดจำได้จนถึงตอนนี้) ผมว่ามันเป็นความรู้รอบตัวที่ยากเกินไปสำหรับนักเรียน ม.ปลาย โดยทั่วไป รวมทั้งผมด้วยเช่นกัน

 

และภายหลัง (อีกหลายปีจากนั้น) ผมถึงได้มารู้ว่า..."เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง เชียงรุ่ง เชียงทอง" คือคำตอบของคำถามข้อดังกล่าว หมายถึง ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เน้นมุ่งด้านการค้า / การท่องเที่ยว) ตั้งชื่อตามชื่อขึ้นต้นของเมืองทั้ง 5 ใน 4 ประเทศแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน (GMS: Greater Mekong Subregion) ได้แก่ ไทย พม่า ลาว และจีนตอนใต้ จนพัฒนามาเป็นโครงการ สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ในสมัยรัฐบาลชวน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" เมื่อครั้งพลเอกชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี

 

อนึ่ง จากข้อมูลในอินเตอร์เน็ตทำให้พอทราบว่าคุณอรุณ ณรงค์ชัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย (ช่วงนั้น) เป็นผู้ที่คิดคำดังกล่าวขึ้นเองตั้งแต่ราวปี 2534 ซึ่งในเวลาต่อมารูปธรรมของความร่วมมือข้างต้นก็ปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ และได้มีการขยายความร่วมมือไปยังด้านอื่นๆ ตามมาเป็นระลอก

 

(2)

 

อาจกล่าวเชิงประวัติศาสตร์ได้ว่า ทั้ง 5 เชียงนี้ ล้วนแล้วแต่เคยรุ่งเรืองมาทั้งสิ้น (แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน) เป็นต้นว่าเชียงรุ่งเคยเป็นเมืองศูนย์กลางใน "ราชอาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง" ของ "พญาเจิง" (พ.ศ.1723) เชียงทองก็เคยเป็นราชธานีของ "อาณาจักรล้านช้าง" ช่วง "พระเจ้าฟ้างุ้ม" (พ.ศ.1896) และหลังจาก "พญามังราย" สร้างเมืองเชียงราย พ.ศ.1805 แล้ว ต่อมาได้สร้างเมืองเชียงตุงใน พ.ศ.1810 ก่อนที่จะสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีแห่ง "อาณาจักรล้านนา" เมื่อปี พ.ศ.1839 อาจกล่าวได้ว่า ล้านนากับเชียงตุง เชียงรุ่ง และหลวงพระบางนั้น ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยการสร้างระบบเครือญาติใกล้ชิด กล่าวคือ เชียงตุงถือเป็นเมืองประเทศราชของล้านนา (เสมือน "ลูกช้างหางเมือง") ส่วนเชียงรุ่งและหลวงพระบางกับล้านนาก็จัดว่าเป็น "บ้านพี่เมืองน้อง" กัน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเอ่ยถึงความรุ่งเรืองในแง่ของการเผยแผ่พุทธศาสนาด้วยแล้ว จำนวนวัดเก่าแก่มากมายเป็นตัวบ่งชี้ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุดอยจอมทอง วัดพระแก้วที่เชียงราย, วัดเชียงมั่น วัดอุโมงค์ วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่, วัดยางกวง วัดหัวข่วง วัดพระธาตุจอมคำที่เชียงตุง, วัดสวนม่อน วัดป่าเจที่เชียงรุ่ง, วัดเชียงทอง วัดพระธาตุจอมพูสีที่หลวงพระบาง เป็นต้น

 

ในอดีต เมืองทั้งหมดต่างใช้ระบบ "เจ้า" ในการปกครองมาก่อน สืบเชื้อสายกันเรื่อยมาจนกระทั่งยุคสมัยของ "กษัตริย์" เป็นอันต้องสิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป เช่นสืบเนื่องจากการปฏิวัติเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ของจีน พ.ศ.2492, การรัฐประหารโดยผู้นำทางทหารพม่า เมื่อ พ.ศ.2505, การปฏิวัติสังคมนิยมในลาว ในปี พ.ศ.2518 โดยมี "เจ้าฟ้าก้อนแก้ว", "เจ้าหม่อมคำลือ", "เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา" เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของแต่ละเมืองตามลำดับ

 

ยังมิพักเอ่ยถึงภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้น และชัยภูมิธรรมชาติอันดีเยี่ยมของทั้ง 5 เมืองที่มีสายน้ำ (และขุนเขา) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ เช่น "แม่น้ำโขง" กรณีเชียงรุ่งกับหลวงพระบาง, "หนองตุง" กรณีเชียงตุง, "แม่น้ำปิง" ของเชียงใหม่, "แม่น้ำกก" ของเชียงราย นอกเหนือจากนี้ ดินแดนทั้ง 5 กลับยังคงความหลายหลากทางชาติพันธุ์เอาไว้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในหลวงพระบางเป็นชาว "ลาวหลวงพระบาง" (ซึ่งบางคนอาจเรียก "ไทลาว")  ในเชียงรุ่งเป็นชาว "ไทลื้อ" ในเชียงตุงเป็นชาว "ไทเขิน" (และ "ไทใหญ่") เชียงใหม่ เชียงราย เป็น "คนเมือง" (หรือคน "ไทยวน") แต่ควรทราบด้วยว่ามีชาวไทลื้อจำนวนไม่น้อยอยู่ในไทย และพม่ามาจนถึงทุกวันนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ที่มีการกวาดต้อนผู้คนจากรัฐทางตอนบนมาสู่เชียงใหม่ และเมืองบริวารรายรอบขนานใหญ่

 

ทว่า ณ เวลานี้ "เชียงใหม่" และ "เชียงราย" คือจังหวัดๆ หนึ่งของราชอาณาจักรไทย "เชียงตุง" (ที่คนพม่าเรียก "เกงตุง") ตกเป็นจังหวัดหนึ่งภายในรัฐฉาน สหภาพพม่า ส่วน "เชียงรุ่ง" (ที่คนจีนเรียก "จิ่งหง") ถือเป็นเมืองเอกของสิบสองปันนา ในฐานะเขตปกครองตนเอง (ชนชาติไต) มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และ "หลวงพระบาง" ก็จัดเป็นแขวงๆ หนึ่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปแล้ว ภายใต้ระบอบการปกครองแบบปิด (หรือเป็นเผด็จการ) ทั้งหมด ยกเว้นเพียงประเทศเดียวที่หลอกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ก็คือ ประเทศไทย

 

(3)

 

เป็นที่ปรากฏชัดว่า ความพ่ายแพ้ของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ทำให้ระบบตลาดเสรี (Free Trade) ภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยม (Capitalism) เข้ามาแทนที่ ส่งผลให้แม้กระทั่งประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนยังต้องดิ้นรนเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อไม่นานมานี้

กล่าวให้แคบลงมา สำหรับกรณี 5 เชียง (หรือที่รู้จักดีกว่าในชื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจนั้น) ก็มิอาจหลีกหนีความจริงของโลกข้อนี้ได้พ้น พร้อมๆ กับที่เส้นพรมแดนระหว่างประเทศเริ่มหมดความหมายลงไปทีละน้อย จากปัญหาในประเทศใดประเทศหนึ่งก็กลายเป็นเรื่องชวนปวดหัวให้กับอีกหลายประเทศขึ้นมา เช่น ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือของไทยช่วงหน้าแล้งตลอดหลายปีมานี้ก็สืบเนื่องมาจากการเผาป่าอย่างไม่บันยะบันยังในรัฐฉานของพม่านั่นเอง

ถึงกระนั้น รูปธรรมของความเชื่อมโยงระหว่างทั้ง 4 ประเทศหลังยุคสงครามเย็น มองจากมุมมองของไทย ดังนี้

(1) ในด้านการค้าการลงทุน มีการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA: Free Trade Area) ระหว่างไทย-จีน เรื่องหลักๆ อยู่ตรงการลดภาษีระหว่างกันลงให้เหลือศูนย์ โดยในขั้นแรกจะเริ่มจากการค้าเสรีในสินค้ากลุ่มเกษตร (จำพวกพืชผักผลไม้) ก่อน ซึ่งในด้านหนึ่งย่อมเท่ากับเป็นการเปิดประตูไปสู่ตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และขยายตัวเร็วที่สุดในโลกปัจจุบัน ขณะที่อีกด้านนั่นคือ การเปิดตลาดไทยให้กับสินค้าจีนเข้ามาถล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ยิ่งไปกว่านั้นก็ได้มีความพยายามในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่เชียงราย (อ.เชียงแสน หรือ อ.เชียงของ) ให้นักลงทุนชาวจีนย้านฐานการผลิตเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่สินค้าราคาถูกมาก (แต่มักด้อยคุณภาพ) ของจีนในการตีตลาดโลก โดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่ ด้วยเกรงว่าจะทำให้เชียงแสนกลายสภาพเป็นเมืองจีนน้อยๆ ไปในที่สุด อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองลาของพม่ามาก่อน

 

ส่วนกรณีพม่ากับลาวนั้น คงเป็นไปตามกรอบความร่วมมือกันของประเทศสมาชิก Asean ซึ่งเน้นมุ่งไปสู่การก่อตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (Asean Economic Community หรือ AEC) ขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีสหภาพยุโรปเป็นต้นแบบ เพื่อให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยิ่งขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ สารพัด

 

(2) ในแง่การคมนาคมขนส่ง เป็นผลพวงจากกระแสบูมสุดๆ ของแนวคิด Logistics and Supply Chain Management กล่าวคือ

 

ทางรถ ได้แก่ ถนนสาย R3a (เชียงของ-ห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น-บ่อหาญ-เมืองหล้า-เชียงรุ่ง) ยาวถึง 491 กม. ส่วนหนึ่งของเส้นทางสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 1,800 กม. เรียบร้อยสมบูรณ์เกือบ 100 % แล้วในปีที่ผ่านมา พร้อมเชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ของไทยที่ อ.เชียงของ ที่คาดว่าจะเสร็จในอีกสามสี่ปีข้างหน้านี้ กับถนนสาย R3b (แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-เชียงรุ่ง) เกือบ 370 กม. ซึ่งยังติดตรงที่สภาพถนนไม่ถึงกับดีนัก ประกอบกับมีด่านทหารพม่าแน่นหนาตลอด (เพราะการเดินทางในพม่าไม่ได้มีอิสระเหมือนในประเทศอื่น) และจีนยังคงปิดด่านต้าล่อไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ยกเว้นพม่า) ผ่านเข้า-ออกประเทศโดยใช้เส้นทางนี้ได้อีก

 

ควบคู่กันไปกับขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว ทางเรือ โดยใช้เส้นทางแม่น้ำโขง จากเชียงแสนถึงเชียงรุ่ง หากเดินทางโดยเรือเร็วใช้เวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง แต่ในการขนส่งสินค้าอาจประสบปัญหาเรือบรรทุกเกยตื้นในช่วงหน้าแล้งได้ และจากเชียงของถึงเชียงทอง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติยอดนิยมสู่เมืองมรดกโลก "หลวงพระบาง" หากเดินทางโดยเรือเร็วใช้เวลาระหว่าง 6-8 ชั่วโมง ความยาวพอๆ กัน คือกว่า 300 กม. ทั้ง 2 เส้นทาง โดยจีนมีความพยายามอย่างยิ่งยวดให้ไทย-ลาวเปิดทางน้ำด้วยการระเบิดเกาะแก่งและขุดลอกท้องน้ำ บริเวณแก่งคอนผีหลวงที่อยู่บริเวณ อ.เชียงของ ซึ่งเป็นแก่งสุดท้ายที่ยังไม่ระเบิด เพื่อให้สามารถเดินเรือขนาดใหญ่รวดเดียวไปถึงหลวงพระบางได้เลย ตามโครงการเปิดเดินเรือพาณิชย์เสรีในประเทศลุ่มน้ำโขง แต่ทางไทย-ลาวไม่เอาด้วยในตอนนี้ เนื่องจากยังกังวลต่อปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นห่วงว่าอาจทำให้ปลาบึกสูญพันธ์ ฯลฯ

 

(3) ทางด้านการศึกษา เกิดหลักสูตรใหม่เกี่ยวกับ "ภาษาจีน" ขึ้นในสถาบันการศึกษาของไทยแทบทุกระดับ วันนี้ ภาษาจีนกลายเป็นภาษาที่ 3 ที่เด็กไทยต้องรู้ เริ่มมีนักเรียนไทยไปเรียนเมืองจีน ทว่าในทางกลับกันจะพบว่ามีนักศึกษาชาวจีนจำนวนมาก (จากมณฑลยูนนาน) รวมถึงนักศึกษาพม่าและลาวอีกมิใช่น้อย ก็เลือกเข้ามาเรียนต่อระดับปริญญาตรีทั้งที่ "เชียงใหม่" และ "เชียงราย" เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 

(4) ด้านศิลปวัฒนธรรม ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีสังคมหรือวัฒนธรรมแบบปิดอีกต่อไป เกิดการไหลเวียนของวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยรับรู้ผ่านสื่อ (เน้นบันเทิง) เช่น โทรทัศน์จานดาวเทียม, ซีดีผี, ดีวีดีเถื่อน ฯลฯ อย่างยากหลีกเลี่ยง

 

กระนั้นก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงด้านนี้แปรผันตามระดับความเป็นเมือง เมืองยิ่งเจริญมากเท่าใด วิถีชีวิตผู้คนก็แทบไม่เหลือเค้าอดีตหลงเหลือเท่านั้น วันนี้ "เชียงใหม่" กับ "เชียงรุ่ง" พัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นศูนย์กลางในทุกด้าน เมืองเต็มไปด้วยตึกอาคารทันสมัย ห้างสรรพสินค้าที่ผุดขึ้นหลายแห่ง และที่นี่ใครๆ ก็ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยมี "เชียงราย" อยู่ตรงกลาง คอยเดินตามแบบค่อยเป็นค่อยไป สวนทางกับที่ "หลวงพระบาง" กับ "เชียงตุง" ซึ่งดูเหมือนการพัฒนาถูกหยุดไว้ จึงเป็นหลักหมายของนักท่องเที่ยวที่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง เพราะทั้ง 2 เมืองนี้ยังไม่เจริญ (มากนัก) และไม่ถูกวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาแทรกแซง (จนเกินงาม) สภาพบ้านเรือนไม่ต่างจากบรรยากาศทางภาคเหนือของไทยเมื่อเกือบๆ ร้อยปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชียงตุง เราสามารถเห็นบ้านไม้สัก (รวมถึงวัดวาอาราม) มุงกระเบื้องดินขอแบบพื้นเมืองได้อย่างชินตา (อาจมีบ้างที่เริ่มมุงด้วยสังกะสีแทนของเก่าที่ทรุดโทรม) อีกทั้งคนเฒ่าคนแก่ส่วนมากยังแต่งกายด้วยชุดประจำถิ่น หรือประจำเผ่าเช่นเดิม (ขณะที่เสื้อผ้าการแต่งกายของหนุ่มสาวยุคใหม่เริ่มเปลี่ยนไปตามแฟชั่นสมัยนิยมที่มาจากฝั่งไทยและจีน เช่น สั้น รัด คับ ปริ) แต่ที่นี่โทรศัพท์มือถือ (รวมทั้งสัญญาณ) ยังเป็นของหายาก

 

อย่างไรก็ดี ในแง่หนึ่งได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ การทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า (Commoditization of Culture) ขึ้นเป็นการทั่วไป ทั้งใน "เชียงใหม่" และ "เชียงรุ่ง" เนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมที่นักท่องเที่ยวอยากเห็นได้ถูกกลืนกลายไปเยอะแล้ว ตัวอย่างสำคัญที่เชียงรุ่ง กรณี "กาหลันป้า" หมู่บ้านที่ทางการจีนได้อนุรักษ์บ้านเรือน การแต่งกาย ศิลปวัฒนธรรมของชาวไตลื้อไว้อย่างครบถ้วนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว (แบบ "จัดตั้ง" ในสายตาของหลายคน) เป็นต้น

 

แน่นอน ปริมาณนักท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของทั้ง 5 เชียงนี้ ล้วนมาจากเชียงอื่นๆ เป็นหลัก เพราะสามารถเดินทางหากันได้โดยง่าย ทั้งใน 3 มิติ คือ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ กอปรทั้งหน้าตาผิวพรรณของผู้คนแถบนี้ วัฒนธรรมการพูดจา อาหารการกินก็ใกล้เคียงกัน จนทำให้นักวิชาการหลายคนสันนิษฐานว่า ในอดีตน่าจะมีบรรพบุรุษมาจากแหล่งเดียวกัน และนี่เองที่เป็นเหมือน "แรงดึงดูด" หลักๆ ที่ทำให้คนไทยอยากมาเยือนอีก 3 เชียงที่เหลือสักครั้ง

 

การท่องเที่ยวจึงเป็นเหมือนรายได้หลักๆ ของทั้ง 5 เมืองชนิดมิอาจปฏิเสธได้เลย

 

(4)

 

สุดท้าย หวังว่าข้อมูลต่างๆ ข้างต้น คงช่วยทำให้ผู้อ่านพอทราบถึงความเป็นมาเป็นไปในดินแดน 5 เชียงแห่งนี้เพิ่มขึ้นบ้าง อย่างน้อยๆ ก็ควรจะมากกว่าตอนที่ผมกำลังตอบคำถามข้อนั้น เมื่อเกือบ 15 ปีมาแล้ว…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท