Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม และประเทศเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 20 ประเทศ หรือ จี-20 ได้กำหนดให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก โดยนอกจากการเพิ่มวงเงินกู้ของไอเอ็มเอฟขึ้นเป็นสามเท่าสู่ระดับ 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (26.25 ล้านล้านบาท) แล้ว กลุ่ม-20 ยังได้สนับสนุนเงินทุนลงในสินทรัพย์สำรองของไอเอ็มเอฟ หรือ Special Drawing Rights (SDR) อีก 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (8.75 ล้านล้านบาท) นี่เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินอัดฉีดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจำนวน 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (38.5 ล้านล้านบาท)

 


ความเอาจริงเอาจังจากที่ประชุมกลุ่ม-20 เริ่มสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก หลายประเทศในโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นมาบ้างแล้ว การฟื้นตัวครั้งนี้จะเป็นไปอย่างยั่งยืนจริงหรือไม่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

นอกเหนือจากแพ็คเกจวงเงินกู้ครั้งใหญ่นี้ ยังพ่วงการปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงินของโลก และโครงสร้างของตัวไอเอ็มเอฟเอง โดยการผลักดันของประธานาธิบดีโอบามา เขาได้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเสียงโหวต ซึ่งสะท้อนตามสัดส่วนเงินลงทุน (SDR) ในไอเอ็มเอฟให้มีความเป็นธรรมขึ้น กล่าวคือจะยอมรับเสียงจากประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ให้มาจากประเทศเกิดใหม่อย่างอินเดีย หรือบราซิล ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยผูกขาดอยู่เฉพาะตัวแทนจากทวีปยุโรปเท่านั้น นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นบทบาทในทางเศรษฐกิจบนเวทีโลก ที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศเกิดใหม่ อย่าง BRIC (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และ จีน)


 


การเปิดกว้างของสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรป ต่อประเทศเกิดใหม่ดูผิวเผินเหมือนว่าดี หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นจริง ทุกสิ่งก็ดูเหมือนว่าจะกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม แต่ทว่าปัญหาที่แท้จริงต่อระบบการเงินโลกในระยะยาว ซึ่งซุกซ่อนอยู่ใต้พรมนั้น ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงในที่ประชุมกลุ่ม-20 มาตรการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น แต่ความเคลื่อนไหวที่กำลังสั่นสะเทือนระบบการเงินโลกที่แท้จริงนั้นกำลังเกิดขึ้น


ธนาคารกลางของสามประเทศเอเชีย คือไทย, มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย กำลังสนับสนุนข้อเรียกร้องของ นายโจวเสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ให้มีการใช้ SDR เป็นมาตรฐานสำหรับทุนสำรองแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา พร้อมเสนอให้ยกเครื่องระบบการเงินโลกที่ไร้การครอบงำจากสหรัฐอเมริกา


 


SDR ที่ถูกกล่าวถึงตอนต้นของบทความ นอกจากจะเป็นเงินลงทุนในกองทุนของไอเอ็มเอฟ เพื่อกำหนดสิทธิถอนเงินฉุกเฉินแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง SDR ยังมีสภาพเป็นสกุลเงินสกุลหนึ่งอีกด้วย เพียงแต่มันไม่ได้มีสภาพเป็นเงินตราที่แลกเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ตามปกติ SDR มีลักษณะเป็นตระกร้าเงินที่ประกอบด้วยสกุลเงินสำคัญของโลก เช่น ดอลลาร์-เยน-ปอนด์-ยูโร (ล่าสุดมีสัดส่วนของแต่ละสกุลเงิน ในตระกร้าเงินเท่ากับ 44%, 11%, 11% และ 34% ตามลำดับ)


 


ระบบการเงินโลกในปัจจุบัน กำลังป่วยไข้จากสภาพที่ไม่สมดุลอย่างมาก (Global imbalance) ระหว่างซีกโลกตะวันออกกับซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา เนื่องเพราะประเทศในเอเชียได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก เมื่อเกินดุลการค้ามากเข้า ก็จะมีเงินทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก ประเทศเอเชียจำเป็นต้องปกป้องมูลค่าของเงินทุนสำรองเหล่านี้ด้วยการเข้าไปถือสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา เช่นพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นต้น


 


การที่ประเทศเอเชียเข้าไปซื้อพันธบัตรสหรัฐ ในอีกความหมายหนึ่งนั่นคือประเทศเอเชียกำลังเป็นประเทศผู้ให้กู้สุทธิ (Net Lender) ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกากำลังทำตัวเป็นผู้กู้สุทธิ (Net Borrower)


 


การกู้ยืมนี้กระทำกันอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐพิจารณาได้จากการวางแผนขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนภาคเอกชนดูได้จากการเป็นหนี้บัตรเครดิต และการกู้ยืมของประชาชน การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และนี่ก็หมายถึงการที่โลกจำต้องพึ่งพาการบริโภคของประชาชนสหรัฐอเมริกาตามไปด้วย


 


ความป่วยไข้นี้กำลังส่งผลกระทบกับสหรัฐฯ ในแง่ที่เกิดจรรยาวิบัติ (moral hazard) อันได้แก่ การกู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้, การบริโภคเกินความจำเป็น และการปกป้องอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโยงใยเป็นลูกโซ่ และเมื่อถึงจุดพลิกผัน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ล้มครืนลง และส่งผลกระเทือนถึงทั้งโลก ทั้งที่ประเทศเอเชียไม่ได้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาเลย


 


เมื่อเกิดปัญหาแล้วสหรัฐฯ ก็ใช้เงินที่กู้ผ่านดอลลาร์นี่แหละ มากระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้สหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องเสียดอกเบี้ย หรือปฏิบัติตามเงิื่อนไขที่มากับเงินกู้ ดังที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มากับไอเอ็มเอฟเมื่อครั้งประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แม้แต่น้อย เงื่อนไขที่เปรียบเสมือน "ยาแรง" ที่คิดกันว่าจะสร้างความเชื่อมั่นเหล่านั้น ภายหลังไอเอ็มเอฟก็ได้ยอมรับว่าได้กำหนดมาตรการที่ไม่ถูกต้องให้กับประเทศไทย และยิ่งส่งผลเสียหายกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น (ในสหรัฐฯ ไม่ได้มีมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเคร่งครัด เหมือนกับที่ไทยปฏิบัติตามไอเอ็มเอฟ)


 


 


 


สัดส่วนของเงินทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 4.09 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเชียซัมมิต


การประชุมเอเชียซัมมิต (East Asia Summit : EAS) ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่พัทยา ในวันที่ 10 - 12 เมษายน ศกนี้นั้น เป็นการประชุมของประเทศในเอเชีย จำนวน 16 ประเทศ ทั้งหมดนี้มีเงินทุนสำรองแลกเปลี่ยนรวมกันถึง 4.09 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (143.15 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 57.68% ของเงินทุนสำรองแลกเปลี่ยนจากทุกประเทศในโลก และนี่จะเป็นการประชุมที่ปราศจากอิทธิพลของประเทศสหรัฐอเมริกา


ดังนั้นไม่เพียงแต่วาระการสนับสนุนความต่อเนื่องจากผลการประชุมกลุ่ม-20 ที่ลอนดอน แต่ประเทศเอเชียนอกจากจะต้องให้การสนับสนุนแนวคิดการใช้ SDR เป็นสกุลเงินทางเลือกจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอของจีนแล้ว รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังควรเสนอบทบาทของตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets) ให้มีความคืบหน้า และเพิ่มความสำคัญให้มากยิ่งขึ้น ความหมายที่แท้จริงของทั้ง SDR และ พันธบัตรเอเชีย นั้นเป็นการประกาศอิสรภาพจากการครอบงำดอลลาร์สหรัฐในโลก และสำหรับพันธบัตรเอเชียนั้น จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศเอเชียด้วยกันจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากสหรัฐอเมริกาเองด้วย


พันธบัตรเอเชีย จะทำให้เงินออมของชาวเอเชีย ถูกย้อนกลับไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประเทศเอเชียเอง ในด้านหนึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะกระทบกระเทือนกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำรงสถานะเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลก


นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องการความกล้าหาญของผู้นำ ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อผลประโยชน์กับประเทศ และภูมิภาคนี้ในระยะยาว


 


........................................


หมายเหตุ : SIU คือเว็บไซต์ Siam Intelligence Unit

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net