Skip to main content
sharethis

สื่อพม่ารายงานเมื่อวันอาทิตย์ (6 เม.) ที่ผ่านมาว่า นายซอเนโซเมียะ บุตรชายของนายพลโบเมียะ อดีตผู้นำกะเหรี่ยงเคเอ็นยูพร้อมทหารในสังกัด 71 นายรวมถึงสมาชิกครอบครัวของทหาร 88 คนได้เข้าร่วมกับกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการต้อนรับของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ โดยทางการพม่าอนุญาตให้กลุ่มของนายซอเนโซเมียะครอบครองอาวุธได้เหมือนเดิม


กองกำลังของนายซอเนโซเมียะได้เข้าร่วมกับกองกำลัง KNU/KNLA Peace Council นำโดยพลตรีเถ่งหม่อง ญาติสนิทของนายพลโบเมียะ ที่แยกตัวออกจากเคเอ็นยูไปเข้าร่วมกับกองทัพพม่าเมื่อปี 2550 ก่อนหน้านี้เขาเคยเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าที่กรุงเนย์ปีดอว์เมื่อปลายปีที่แล้วสองครั้ง และเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่นายเดวิด ทอ คณะกรรมการระดับสูงของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูกล่าวว่า การเข้าพบปะดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำของเคเอ็นยู


ทั้งนี้ ตั้งแต่นายซอเนโซเมียะเข้าร่วมกับกองทัพพม่า พบว่ากองกำลังทหารพม่าและกะเหรี่ยงพุทธดีเคบีเอได้เข้ามาควบคุมในเขตควบคุมของเคเอ็นยูตามชายแดนไทย - พม่าทันที โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา กองกำลังดีเคบีเอร่วมกับกองทัพพม่าจำนวน 100 นายได้เข้าโจมตีในเขตควบคุมของกองพันที่ 201 ของกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)


อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาหยุดยิงร่วมกับรัฐบาลพม่าของกลุ่มที่แยกตัวออกจากเคเอ็นยูที่ผ่านมาแตกต่างจากกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น เพราะกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับเคเอ็นยูมักจะแยกตัวออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่จะเข้าร่วมกับกองทัพพม่า เหมือนเหตุการณ์ในอดีตที่ทหารเคเอ็นยูที่นับถือศาสนาพุทธแยกตัวออกจากทหารเคเอ็นยูที่นับถือศาสนาคริสต์เมื่อปี 2548 ก่อนจะจัดตั้งเป็นกองกำลังโดยใช้ชื่อใหม่ว่า กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ หรือ ดีเคบีเอที่เข้าร่วมกับกองทัพพม่าและหันมาสู้รบกับกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู


การแยกตัวของดีเคบีเอเป็นเหตุให้ฐานบัญชาการที่เข้มแข็งของเคเอ็นยูในมาเนอปลอว์ รัฐกะเหรี่ยง ถูกโจมตีย่อยยับ นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายของเคเอ็นยู โดยนับตั้งแต่ปี 2538 - 2549 มีกลุ่มที่แยกตัวจากเคเอ็นยูและวางอาวุธและเข้าร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าไปแล้ว 3 กลุ่ม


ผู้เชี่ยวชาญด้านชนกลุ่มน้อยในพม่าต่างลงความเห็นว่า ฐานบัญชาการมาเนอปลอว์ล่มสลายเนื่องจากรัฐบาลพม่าใช้หลักจิตวิทยากับเคเอ็นยู รวมถึงการนำประเด็นด้านศาสนามาเป็นชนวนแบ่งแยกเคเอ็นยูให้แตกแยกกัน


ด้านนายพลติ่นอ่องมิ้นอูจากกองทัพพม่ากล่าวในระหว่างที่ร่วมประชุมกับกับพลตรีเถ่ง หม่อง ผู้นำกลุ่ม KNU/KNLA Peace Council ว่า รัฐบาลพม่าเปิดประตูต้อนรับกลุ่มติดอาวุธอื่นที่ต้องการทำสัญญาหยุดยิงเสมอ อย่างไรก็ตามในอดีต เคเอ็นยูได้ร่วมเจรจากับทางรัฐบาลพม่าหลายครั้ง แต่ก็ต้องล้มเหลว โดยผู้นำเคเอ็นยูให้เหตุผลว่า เป็นเพราะรัฐบาลพม่าไม่ได้มีความจริงใจที่จะร่วมเจรจา


ถึงแม้สถานการณ์ภายในของเคเอ็นยูจะไม่ดีนัก แต่กองกำลังเคเอ็นยูก็ถือเป็นกลุ่มติดอาวุธสำคัญที่ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยตามชายแดนไทย - พม่ามาโดยตลอด นอกจากนี้เคเอ็นยูยังมีบทบาทที่สำคัญและดำรงตำแหน่งเป็นประธานของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยพม่า (Democratic Alliance of Burma) และสภาแห่งชาติของสหภาพพม่า (National Council of the Union of Burma - NCUB)


ด้านผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า รัฐบาลพม่าต้องการให้ผู้นำเคเอ็นยูและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยตามชายแดนไทย - พม่าอ่อนแอลง โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลพม่าได้กล่าวหาสมัชชาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (Forum for Democracy in Burma - FDB) ว่าอยู่เบื้องหลังของการประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายนของปี 2550


อย่างไรก็ตามนายหน่ายอ่องจาก FDB กล่าวว่า แม้ว่ากองกำลังเคเอ็นยูจะอ่อนแอลง แต่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยตามชายแดนไทย - พม่ามีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองและจะสู้ต่อไป (ที่มา / Irrawaddy 6 เมษายน 52)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net