Skip to main content
sharethis

12.00 น. คนหลากสีรวมตัวแยกวังแดง เรียกร้องทหารกลับกรม


ไทยรัฐ - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา (14 เม.ย.) ที่บริเวณแยกวังแดง ได้มีกลุ่มคนประมาณ 300 คน รวมตัวที่บริเวณดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่ได้อยู่สีใดทั้งสิ้น แต่เป็นกลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ต้องการทหาร และเมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงได้ยุติการชุมนุมแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ทหารกลับเข้ากรม กอง ขณะที่ พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เข้าเจรจากับกลุ่มคนดังกล่าว โดยบอกว่า ขณะนี้ การเคลียร์พื้นที่ที่ทำเนียบรัฐบาล และการจัดส่งกลุ่มผู้ชุมนุมกลับบ้าน ยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่อนุญาตให้กลุ่มคนที่ชุมนุมที่แยกวังแดง สามารถเข้าพื้นที่ได้


 


อย่าง ไรก็ตาม ในการรวมตัวของกลุ่มคน ที่แยกวังแดง ได้มี น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส.ได้ขึ้นพูดบนรถขยายเสียง โดยกล่าวว่า ไม่สามารถติดตามข่าวต่างๆ จากสื่อมวลชนไทยได้ จึงต้องเดินทางเข้ามาดูเหตุการณ์ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับที่แยกผ่านฟ้าฯ มีประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมตัวที่บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เผชิญหน้ากับทหาร และส่งเสียงโห่ร้องขับไล่ทหาร ที่ยังคงประจำการอยู่บริเวณดังกล่าว


 


สำหรับ บรรยากาศที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่ใกล้เคียง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยเก็บสิ่งของ เพื่อเดินทางกลับบ้าน เหลือเพียงสิ่งของที่ไม่จำเป็น ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งเคลียร์พื้นที่อย่างละเอียด และตรวจค้นรถเมล์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาจอดขวาง เนื่องจากเจ้าหน้าที่เคยพบขวดต้องสงสัย ในถังน้ำมันของรถเมล์ ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบวัตถุต้องสงสัย ที่บริเวณแยกเทวกรรมด้วย


 


 


15.00 น. ม็อบติดพันยังชุมนุมที่ผ่านฟ้าฯ ไล่ทหารจี้นายกฯ ลาออก


ไทยรัฐ - ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ที่บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าฯ เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.ที่ผ่านมา (14 เม.ย.) ว่า ยังคงมีกลุ่มประชาชน รวมทั้งรถตุ๊กๆ รถจักรยานยนต์ และรถแท็กซี่ ชุมนุมที่หน้าลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยยังคงขับไล่ทหาร และเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการตรึงกำลังของทหาร ประมาณ 1 กองร้อย และการปิดการจราจรที่บริเวณแยกป้อมมหากาฬ ทำให้รถที่มาจากถนนราชดำเนินขาเข้า มุ่งหน้าไปแยกนางเลิ้ง ไม่สามารถผ่านได้ โดยต้องเลี้ยวขวาหรือซ้าย เพื่อออกถนนมหาชัย 


 


ส่วน บรรยากาศที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเก็บสิ่งของ เพื่อกลับภูมิลำเนา หลังการประกาศยุติการชุมนุม ภายใต้การดูแลของทหาร และตำรวจ อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย และป้องกันการก่อเหตุของกลุ่มมือที่ 3


 


 


15.00 น. วุฒิสภายื่น 7 แนวทางแก้ปัญหา-ขอบคุณที่ยุติชุมนุม


สำนักข่าวไทย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เผยภายหลังการประชุมสมาชิกวุฒิสภา 77 คน โดยมีมติเสนอ 7 แนวทางเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง เรียกร้องให้การชุมนุมของประชาชนอยู่ในกรอบกฎหมาย ยึดประโยชน์ประเทศ ส่วนรัฐบาลต้องควบคุมการชุมนุมโดยใช้กฎหมายไม่ใช้ความรุนแรง ให้ทุกฝ่ายหันหน้าร่วมกันหาทางออก แนะแสดงเจตนารมณ์แก้ไข รธน.ในบางมาตรา ให้เร่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็วเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ให้มีการร่างกฎหมายจัดระเบียบการชุมนุมเพื่อบังคับใช้ในระยะยาว และให้รัฐบาลรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อรัฐสภา พร้อมขอบคุณที่ยุติการชุมนุม และแสดงความเสียใจต่อญาติผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ได้มอบเงินบริจาค 100,000 บาท


 


 


15.00 น. เรียกร้องรัฐตั้ง กก.อิสระ ค้นหา-แก้ไขรากเหง้าความขัดแย้ง


สำนักข่าวไทย - กรุงเทพฯ 14 เม.ย.- องค์กรสื่อและเครือข่าย 12 องค์กร เรียกร้องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระ ค้นหาความจริงที่เป็นสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้ง ขอให้รัฐบาลดำเนินคดีกับแกนนำ นปช.มาตรฐานเดียวกับการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขต ของรัฐธรรมนูญ แนะสื่องดใช้ถ้อยคำก่อให้เกิดความเกลียดชังผู้ชุมนุม


 


นาย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงร่วมกับองค์กรสื่อและองค์กรเครือข่ายอีก 11 องค์กร เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง โดยเสนอ 4 ความเห็นเพื่อยุติความขัดแย้ง ดังนี้ 1.การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ยุติโดยไม่มีเหตุลุกลามเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยพยายามแก้ปัญหา การชุมนุมได้โดยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังมีความน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะเรื่องของความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้น จากผู้ชุมนุมบางส่วน การปะทะกันระหว่างประชาชน และความปลอดภัยของผู้ชุมนุม


 


2.ขอให้รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชน งดการกระทำและการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังผู้ชุมนุม และความเกลียดชังซึ่งกันและกันในหมู่ประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก ความรุนแรงในสังคมมีมากขึ้น ถึงแม้ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่ละเมิดกฎหมายแต่เขาเหล่านั้นเป็นประชาชนคนหนึ่ง ในสังคมไทย ผิดถูกอย่างไรต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม 3.ขอให้รัฐบาลใช้กระบวนการทางกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้ จริง การดำเนินคดีกับแกนนำ นปช.ต้องใช้มาตรฐานเดียวกับการดำเนินคดีกับประชาชนทุกกลุ่ม ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ


 


และ 4.การยุติการชุมนุมเป็นการระงับความขัดแย้งเพียงชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวให้กับสังคมไทย ที่แม้จะมีความแตกต่างกันในทางการเมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและ เคารพสิทธิของกันและกัน สังคมไทยต้องแก้ไขความแตกแยกที่สาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งในทางการเมือง กติการัฐธรรมนูญและความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้มีคณะกรรมการอิสระ ค้นหาความจริงที่เป็นสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้ง ที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรงในสังคมไทย และขอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุโดยเร่งด่วน


 


นายประสงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางของการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสามารถทำได้ 3 แบบ คือ 1.ให้รัฐบาลออกคำสั่งแต่งตั้ง 2.ให้สภาเป็นผู้แต่งตั้ง และ 3.ให้ภาคประชาสังคมแต่งตั้ง ทั้ง 3 ข้อมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป จึงจะได้มีการหารือเรื่องนี้กันต่อไป ส่วนตัวต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มตั้งตั้งคณะกรรมการอิสระชุดนี้ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากสาเหตุที่แท้จริง นอกจากนี้ ทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน การยุบสภาไม่ใช่ทางออก แต่ควรจะหาสาเหตุความขัดแย้งที่แท้จริงเพื่อเป็นการยุติปัญหาในสังคมไทย


 


 


16.00 น. "สุริยะใส"เชื่อเสื้อแดงพักรบชั่วคราว เคลื่อนไหวใต้ดินแทน


มติชน - นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการคลี่คลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง จนทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำคนเสื้อแดงต้องประกาศยุติการชุมนุม แต่เชื่อว่าคงเป็นเพียงการพักรบชั่วคราวและปรับยุทธวิธีการต่อสู้เท่านั้น มั่นใจว่ายุทธศาสตร์ทวงคืนอำนาจให้ระบอบทักษิณยังดำเนินต่อไปอย่างแน่นอน


 


นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ความพ่ายแพ้ของ นปช.ครั้งนี้ เป็นการแพ้ภัยตัวเอง ที่ไม่สามารถบริหารจัดการการชุมนุมอย่างสงบและใช้สันติวิธี การที่แกนนำปลุกระดมทำสงครามกับอำนาจรัฐตลอดเวลา ทำให้มวลชนฮึกเหิมจนก่อจลาจลทั่วบ้านเมือง กลายเป็นการเผชิญหน้ากับสังคม ซึ่งแกนนำนปช.และพ.ต.ท.ทักษิณจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้


 


"จากนี้ไปการเคลื่อนไหวของ นปช.และเครือข่ายทักษิณจะลงสู่ใต้ดิน ขยายวงไปตามจุดต่างๆ ของประเทศ อาจรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า หากรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงชะล่าใจ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์เชิงรุกโดยเร็ว อย่างน้อยๆ ในระยะเฉพาะหน้าต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาคมโลกและคนทั้งประเทศว่า การจลาจลครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไร" นายสุริยะใส กล่าว


 


นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า จำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในการก่อจลาจลทันที และควรตั้งกองทุนเยียวยาประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกคนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง ของการจลาจล นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งใช้สื่อของรัฐช่วงชิงมวลชนและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับชาว บ้านอย่างเข้มข้น ไม่ใช่รอให้สถานการณ์เข้าสู่วิกฤตเสียก่อนเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งจัดระเบียบกลไกรัฐราชการ โดยเฉพาะตำรวจและทหารบางส่วน ที่ยังเกียร์ว่าง หรือเป็นใจกับการก่อจลาจลครั้งนี้ต้องเร่งโยกย้ายและหาทางเอาผิดทางวินัย ด้วย


 


 


16.25 น. 4 แกนนำ นปช.ให้ปากคำ ส่วนที่วังแดง-ผ่านฟ้าฯ ยังวุ่น


ไทยรัฐ - นาย วีระ มุกสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายสุพร อัตถาวงศ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ 4 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มคนเสื้อแดง ได้เข้าให้ปากคำต่อตำรวจ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แล้ว โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจปห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร่วมรับฟังการสอบปากคำด้วย ขณะที่ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบคดีที่เกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ปฏิเสธการตอบคำถามจากสื่อมวลชน หลังเดินทางมาถึง บช.น. อย่างไรก็ตาม นายสุพรปฏิเสธว่า ไม่ได้เดินทางมามอบตัว เนื่องจากยังไม่มีการแจ้งข้อหา


 


ส่วน บรรยากาศรอบทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางออกจากพื้นที่แล้ว ขณะที่ทหารและตำรวจได้เข้าเคลียร์พื้นที่ทันที รวมถึงมีการรื้อถอนเวทีปราศรัยใหญ่ ที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ที่เข้าทำความสะอาดพื้นที่ เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด   


 


อย่างไรก็ตาม ยังคงเกิดเหตุวุ่นวายเล็กน้อย ที่บริเวณแยกวังแดง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้สวมเสื้อสีแดง ได้รวมตัวให้กำลังใจกลุ่มแกนนำ นปช.และไม่ยินยอมสลายตัว ทหารต้องเตรียมควบคุม ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมจึงยินยอมสลายตัว ขณะที่บริเวณแยกผ่านฟ้าฯ ทหาร 3 กองร้อย พร้อมด้วยรถหุ้มเกราะ ได้เข้าควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม ที่รวมตัวขับไล่ทหาร และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมกระจายกันหลบหนี และนัดรวมตัวอีกครั้งที่ท้องสนามหลวง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net