Skip to main content
sharethis


 


นายบัน คีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เปิดเผยมาตรฐานใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ 18 พฤศจิกายน


© UN Photo/Jean-Marc Ferre


 


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นหน่วยงานสิทธิมนุษยชนหลักขององค์การสหประชาชาติ คณะมนตรีประกอบด้วยรัฐภาคีที่มาจากการเลือกตั้ง 47 รัฐ ซึ่งต้องทำหน้าที่เพื่อธำรงมาตรฐานสูงสุดในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


 


การจัดสรรที่นั่งมีลักษณะเป็นสัดส่วนที่เท่าเทียมระหว่างภูมิภาคต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มภูมิภาคได้แก่ กลุ่มแอฟริกา 13 ที่นั่ง กลุ่มเอเชีย 13 ที่นั่ง กลุ่มยุโรปตะวันออก 6 ที่นั่ง กลุ่มละตินอเมริกาและแคริเบียน 8 ที่นั่งและ กลุ่มตะวันตก และอื่นๆ 7 ที่นั่ง


 


เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีสามปีในแต่ละวาระ รัฐแห่งนั้นจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ (97 เสียง) จากประเทศสมาชิก 192 แห่งของสมัชชาใหญ่ รัฐภาคีอาจเสนอตัวเพื่อรับเลือกตั้งซ้ำอีกติดต่อกันได้เพียงครั้งเดียว รัฐภาคี 18 แห่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะหมดวาระลงในวันที่ 19 มิถุนายน 2552 อันประกอบด้วย อาเซอร์ไบจัน บังคลาเทศ แคมเมอรูน แคนาดา จีน คิวบา จิบูตี เยอรมนี จอร์แดน มาเลเซีย มอริเชียส เม็กซิโก ไนจีเรีย สหพันธรัฐรัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย


 


คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ในระหว่างการเขียนรายงาน ประเทศต่อไปนี้เสนอตัวเพื่อเข้ารับเลือกตั้ง ได้แก่ :


 


กลุ่มแอฟริกา (5 ที่นั่งว่าง): แคเมอรูน จิบูตี เคนยา มอริเชียส เซเนกัล


กลุ่มเอเชีย (5 ที่นั่งว่าง): บังคลาเทศ จีน จอร์แดน คีร์กีซสถาน ซาอุดิอาระเบีย  


กลุ่มยุโรปตะวันออก (2 ที่นั่งว่าง): อาเซอร์ไบจัน ฮังการี สหพันธรัฐรัสเซีย 


กลุ่มละตินอเมริกาและแคริเบียน (3 ที่นั่งว่าง): คิวบา เม็กซิโก อุรุกวัย


กลุ่มตะวันตกและอื่น ๆ (3 ที่นั่งว่าง): เบลเยียม นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา


 


ข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล


 


แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอเรียกร้องให้รัฐภาคีสหประชาชาติทุกแห่ง:


 


ประกันว่าจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่หลากหลายและมีจำนวนมากกว่าที่นั่งว่างในแต่ละภูมิภาคพอสมควร การปฏิบัติในลักษณะของ "บัญชีรายชื่อสะอาด" (clean slates) กล่าวคือการมีจำนวนผู้ลงสมัครเท่ากันพอดีกับจำนวนที่นั่งว่างในแต่ละภูมิภาค เป็นสิ่งที่ไม่สมควรปฏิบัติต่อไป


 


ไม่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง (กล่าวคือกรณีที่ประเทศต่างๆ หาเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้ง โดยการยกมือสนับสนุนประเทศอื่น และหวังว่าประเทศนั้นจะยกมือให้เพื่อเลือกตั้งตนเข้าดำรงตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ)


 


ให้พิจารณาประวัติและพันธกรณีที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของผู้รับสมัครแต่ละรายอย่างรอบคอบ รวมทั้งคำสัญญาที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างสมัครใจ และให้ลงคะแนนเสียงให้ผู้ลงสมัครที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสูงตามที่กำหนดในมติที่ 60/251 แม้ว่าในบางกรณีอาจหมายถึงการไม่กาบัตรเลือกประเทศใดเลย


 


เพื่อให้มติสมัชชาใหญ่ฉบับที่ 60/251 มีผลบังคับใช้เต็มที่ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่มีส่วนร่วมพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมาถึงครั้งนี้


 


ให้คำสัญญาอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อถือได้ และตรวจวัดได้ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับชาติและนานาชาติ ให้ความใส่ใจต่อองค์ประกอบที่แนะนำสำหรับคำสัญญาอย่างสมัครใจ (Suggested Elements for Voluntary Pledges) และพันธกิจของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commitments by Candidates for Election to the Human Rights Council) ซึ่งเป็นเอกสารที่จัดเตรียมโดยสำนักงานประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR)


 


ให้แสดงพันธกิจต่อคำสัญญาที่มีต่อการให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนหลัก และกติกากรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งการเพิกถอนข้อสงวนที่มีต่อสนธิสัญญานั้นๆ และให้แสดงความร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานตรวจสอบตามสนธิสัญญา ซึ่งรวมถึงการส่งมอบรายงานตามเวลาที่กำหนด และการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานตามสนธิสัญญาโดยทันทีและอย่างเต็มที่


 


ให้แสดงพันธกิจต่อคำสัญญาที่มีต่อการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับขั้นตอนพิเศษ (Special Procedures) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งการตอบสนองต่อข้อเสนอแนะโดยไม่ชักช้าและอย่างจริงจัง รวมทั้งการส่งคำเชิญให้ขั้นตอนพิเศษต่าง ๆ ได้เข้าเยี่ยมประเทศ


 


ให้แสดงพันธกิจที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในขั้นตอนการตรวจสอบตามระยะสากล (Universal Periodic Review) ทั้งในฐานะประเทศที่ถูกตรวจสอบและเป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งนี้เพื่อประกันว่าการตรวจสอบแต่ละครั้งเน้นที่การปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนระดับชาติ และให้มีการนำข้อเสนอแนะที่ยอมรับในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบไปปฏิบัติอย่างเต็มที่และโดยไม่ชักช้า


 


ให้ประกาศว่าจะลงรับสมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งที่จะมีถึงในวันที่ 12 พฤษภาคม 2552


 


 


โปรดอ่านเพิ่มเติม:
การเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติปี 2552: ผู้สมัครทุกประเทศต้องแสดงพันธกิจอย่างเข้มแข็งที่มีต่อสิทธิมนุษยชน  (2009 Elections to the Human Rights Council: All candidates must demonstrate solid commitment to human rights) (8 เมษายน 2552)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net