Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นรินทร์ อิธิสาร


ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวในกรณีของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีตั้งแต่ในปีพ.ศ. 2549 เป็นต้นมา และมักจะมีปรากฏเป็นประเด็นต่อเนื่องเสมอนับตั้งแต่ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งดังกล่าวก็จะมีผู้ที่มักจะนำคำสั่งศาลปกครองไปกล่าวอ้างทำนองว่า เพราะศาลปกครองคุ้มครองเอเอสทีวีอยู่ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้ ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่เสมอ และกลายเป็นสูตรสำเร็จที่หากกล่าวถึงเอเอสทีวีไม่ว่าในกรณีใดก็ตามที่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายก็จะมีการกล่าวอ้างถึงคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ 147/2549 และคำสั่งที่ 148/2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 มาเป็นเหตุในการไม่สามารถกระทำการของตนเกือบทุกกรณีไป ตัวอย่างหนึ่งในกรณีดังกล่าวคือการออกมาแถลงข่าวของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้โดยได้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวที่ว่า


"คำถาม-ดีสเตชั่นของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกจับดำเนินคดีและถูกตัดสัญญาณ ขณะที่เอเอสทีวีของกลุ่มคนเสื้อเหลืองไม่ถูกดำเนินการในมาตรฐานเดียวกัน


คำตอบ-ดีสเตชั่นถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนเอเอสทีวีมีข้อจำกัดไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 147-148/2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 ปัจจุบันยังได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งดังกล่าวอยู่"


(http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0106210452&sectionid=0101&selday=2009-04-21)


จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีกรณีที่ต้องพิจารณาว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวนั้น มีเนื้อหาสาระประการใด เหตุใดเมื่อเกิดกรณีที่เกี่ยวข้องกับเอเอสทีวีแล้วนั้น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือคนทั่วไปถึงกล่าวว่าเพราะมีคำสั่งศาลปกครองคุ้มครองอยู่ ในที่นี้จะได้นำเสนอถึงเนื้อหาสาระของคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว และการวิเคราะห์ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับหลักกฎหมายหรือไม่


ในช่วงแรกนี้จะได้กล่าวถึงคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ 148/2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 ก่อนเพราะเป็นคำสั่งที่เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถนำไปกล่าวอ้างในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เลย เพราะเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่เห็นว่าผู้ฟ้องคดีบางส่วนไม่ใช่ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีในคดีนี้ได้จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้ไว้พิจารณา ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ถูกศาลปกครองชั้นต้นสั่งไม่รับคำฟ้องก็ได้อุทธณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีจึงให้ศาลปกครองรับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อไปตามรูปคดี เท่านั้น


คำสั่งที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีนี้คือคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ 147/2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้


1. ประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท 3 ประเด็น คือ 1.การสั่งระงับการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมหรือโกลบแซ็ทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดที่สั่งให้ระงับการให้บริการส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตแก่ผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 3. การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่


2. ลักษณะของคำสั่งศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำอุทธรณ์คำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้นที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือได้ว่าคำสั่งศาลปกครองนี้เป็นคำสั่งในกรณีของคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา


3. เนื้อหาของคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้นที่กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมหรือโกลบแซ็ทแก่ผู้ฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว จึงมีคำสั่งเห็นตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น


ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือกรณีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวนั้น มีผลทางกฎหมายอย่างไรซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้


ประการแรก คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดมีขอบเขตอย่างไร ?


ขอบเขตของคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องดำเนินการหรือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว นั่นคือ ต้องไม่ระงับการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำสั่งศาลปกครองสูงสุดในกรณีนี้ไม่ได้มีผลครอบจักรวาล และไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด หากผู้ฟ้องคดีกระทำการใดๆ ที่อาจเป็นการขัดต่อกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นหรือขอบเขตที่ศาลปกครองกำหนดในคำสั่ง ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวของก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าเอเอสทีวีใครก็ไม่สามารถทำอะไรได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ เพราะศาลปกครองให้ความคุ้มครองนั้นจึงเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่พิจารณาถึงรายละเอียดของคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง


ประการที่สอง คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวนี้ผูกพันผู้ใด ?


ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเป็นการสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) คนที่ 1) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) คนที่ 2) เท่านั้น ดังนั้นคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในกรณีนี้จึงผูกพันเฉพาะบุคคลทั้งสามคนดังกล่าวเท่านั้น หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ถูกระบุในคำสั่งจึงไม่ผูกพันกับคำสั่งศาลปกครอง(ตามเนื้อหาของคำสั่ง)ดังกล่าวแต่อย่างใด


ประการที่สาม คำสั่งศาลปกครองดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาการมีผลบังคับใช้หรือไม่ ?


จากเนื้อหาของคำสั่งได้กำหนดเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่เกี่ยวกับ ผลบังคับเฉพาะในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ศาลปกครองมีคำสั่งไปถึง (1)วันที่คดี(หลัก)ถึงที่สุดหรือ (2)ในกรณีที่แม้คดียังไม่ถึงที่สุดแต่ศาลปกครองมีคำสั่งในกรณีดังกล่าวเป็นอย่างอื่น เพราะว่าในกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของ "วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา" ดังนั้นคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่มีลักษณะ "ชั่วคราว" เท่านั้น ไม่ใช่คำสั่งที่มีลักษณะ "ถาวร" ที่ผู้ฟ้องคดีจะไปใช้อ้างดำเนินการใดๆ ในกรณีพิพาทอื่นๆ ได้ตลอดไปแต่อย่างใดไม่ ถ้าในคดีนี้ศาลปกครองมีคำพิพากษาและคำพิพากษานั้นถึงที่สุด คำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวก็ย่อมจะสิ้นผลไป ซึ่งจากการติดตามผลของคดีนี้เห็นว่าศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดี(http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000012845) ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น คดีดังกล่าวย่อมถึงที่สุด เมื่อคดีถึงที่สุดก็คำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวที่กล่าวถึงย่อมสิ้นผลไปด้วย หรือหากในระหว่างการพิจารณาคดีศาลปกครองมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป


ประการที่สี่ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมีผลต่อหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไร ?


ในกรณีดังกล่าวในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนและกล่าวสำทับไว้ว่าคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นชอบด้วยนั้น ไม่ได้เป็นการสั่งห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่และไม่ให้ดำเนินการต่อการจัดรายการที่ใช้เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารหรือเสรีภาพในการแสดงควมคิดเห็นที่อาจกระทบต่อสิทธิ และหากผู้ฟ้องคดีทั้งหมดกระทำการที่เป็นความผิดอาญาและผู้ถูกฟ้องคดีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายแต่ไม่ดำเนินการ การกระทำการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเองกลับเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นั่นคือคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด


จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวย่อมหมายถึงหากผู้ฟ้องคดีกระทำการใดที่อาจเป็นความผิดทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะว่าคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีขอบเขตเฉพาะกรณีการห้ามระงับการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมตามที่กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั่นเอง


สรุป คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ 147/2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 เป็นคำสั่ง "ชั่วคราว" ที่ห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมให้แก่ผู้ฟ้องคดี และคำสั่งดังกล่าวจะสิ้นผลไปหาก "คดีหลัก" ถึงที่สุด หรือศาลปกครองมีคำสั่งในระหว่างพิจารณาคดีเป็นอย่างอื่น และคำสั่งนี้ผูกพันเฉพาะผู้ถูกฟ้องดคีที่ศาลกำหนดเท่านั้น ในส่วนของหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนต่อไปจะมากล่าวอ้างแบบเหมารวมโดยปราศจากการพิจารณาถึงเนื้อหาสาระของคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวประกอบว่า "หากเป็นกรณีเอเอสทีวีแล้วนั้นตนไม่มีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ ตามกฎหมายได้ เพราะศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองอยู่" นั้นย่อมเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแต่ประการใด ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดต่อศาลปกครอง (ซึ่งปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอ) ในกรณีดังกล่าวได้ว่าศาลปกครองสูงสุดออกคำสั่งครอบจักรวาลไม่มีขอบเขตจำกัดใดๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นในสังคมข่าวสารในปัจจุบัน




ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net