Skip to main content
sharethis

วรดุลย์ ตุลารักษ์


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


จากหนังสือ เส้นทางสู้ สู่ประกันสังคม (2551)


 


เมื่อพูดถึงปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคม คนจำนวนมากมักเข้าใจว่าเป็นรัฐบาลและระบบราชการที่ริเริ่มผลักดันมาตรการสวัสดิการสังคมเรื่องนี้ คนจำนวนน้อยลงไปอาจรู้ว่ากฎหมายประกันสังคมมาจากการผลักดันขององค์กรพัฒนาเอกชนและผู้ใช้แรงงาน แต่คงมีคนไม่มากนักที่ตระหนักว่านิสิตนักศึกษาเป็นพลังฝ่ายที่สำคัญต่อการได้มาซึ่งกฎหมายฉบับนี้ด้วย


 


ในส่วนของการศึกษาและประเมินการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมนั้น งานศึกษานี้รวมศูนย์ความสนใจอยู่ที่คำถามพื้นฐานสามข้อ คำถามแรกเป็นคำถามระดับข้อเท็จจริงว่านักศึกษามีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายประกันสังคมอย่างไร คำถามที่สองเป็นคำถามเชิงอธิบายว่าทำไมนักศึกษาจึงมีบทบาทแบบนั้นในเวลานั้น ส่วนคำถามข้อที่สามเป็นคำถามเชิงประเมินผลว่าบทบาทของนักศึกษาส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวประกันสังคมอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าคำถามทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือการเป็นบทสมทบหน้ากระดาษที่หายไปจากการศึกษาประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวทางความคิดของนักศึกษาและปัญญาชนสมัยใหม่ของไทย


 


โครงเรื่องของการอธิบายขบวนการนักศึกษา


 


เท่าที่ผ่านมานั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทยอยู่ภายใต้กรอบคำอธิบายสามแบบ


 


คำอธิบายแบบแรก พิจารณานักศึกษาในฐานะ พลังบริสุทธิ์ ที่เป็นเอกเทศจากกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและฝักฝ่ายทางการเมือง คำอธิบายแบบนี้แพร่หลายกว้างขวางและปรากฏในงานเขียนแนวประชานิยมทั้งในรูปสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อดิจิตอลโดยทั่วไป โดยที่แม้กระทั่งนักรัฐศาสตร์คนสำคัญบางรายก็อธิบายพลังนักศึกษาสมัย 14 ตุลา ด้วยความคิดแบบนี้[1] แนวคิดแบบนี้เชื่อว่านักศึกษาเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่สำคัญโดยตัวเอง ส่วนสังคมก็ยอมรับพลังนักศึกษาเพราะถือว่านักศึกษามีอุดมคติและเป็นพลังของศีลธรรม


 


คำอธิบายแบบที่สอง ไม่ได้ถือว่านักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ แต่พิจารณานักศึกษาในฐานะ ปัญญาชน ที่มีบุคลิกลักษณะ รากฐานความเป็นมา และรสนิยมการใช้ชีวิต เฉกเช่นเดียวกับปัญญาชนเสรีนิยมและผู้นำความคิดในสังคมกลุ่มอื่น นักศึกษาสำคัญเพราะนักศึกษาเป็นผู้นำความคิด ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาจึงหมายถึงความเคลื่อนไหวเชิงความคิดที่นักศึกษาเผยแพร่สู่คนส่วนอื่นในสังคม นักกิจกรรมนักศึกษาคือนักกิจกรรมที่มีศักยภาพเป็นนักคิดหรือผู้นำความคิด ส่วนกิจกรรมนักศึกษาที่สำคัญหมายถึงกิจกรรมงานเขียน การเสวนา การพิมพ์หนังสือ ฯลฯ ที่กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ


 


คำอธิบายแนวนี้มีปริมาณน้อยกว่าคำอธิบายแรก แต่ก็มีร่องรอยปรากฏในงานเขียนว่าด้วยขบวนการนักศึกษาชิ้นสำคัญที่เขียนขึ้นในทศวรรษ 2530 รวมทั้งงานศึกษาปัญญาชนไทยหลังจากนั้น [2]


 


คำอธิบายแนวที่สาม มีส่วนคล้ายกับคำอธิบายแบบที่สอง แต่ขณะที่คำอธิบายแบบที่สองให้น้ำหนักกับบทบาทของนักศึกษาในกิจกรรมเคลื่อนไหวทางความคิดลักษณะต่างๆ ราวกับว่าการเผยแพร่ความคิดเห็นของนักศึกษาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง คำอธิบายแบบที่สามกลับเห็นว่าความเคลื่อนไหวทางความคิดสำคัญก็ต่อเมื่อความคิดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม แนวคำอธิบายนี้พิจารณานักศึกษาในฐานะจักรกลทางชนชั้น กล่าวอีกนัยคือเป็นงานศึกษาที่เริ่มต้นด้วยฐานคิดว่านักศึกษามีสถานะชนชั้นไหนกันแน่ ระหว่างปัญญาชนนายทุนน้อย ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ หรือปัญญาชนของชนชั้นศักดินา


 


คำอธิบายนี้ปรากฏในงานเขียนของนักกิจกรรมและปัญญาชนฝ่ายซ้ายกลุ่มที่เผยแพร่ความคิดเห็นผ่านจุลสารใต้ดินของนิสิตนักศึกษาและนิตยสารกลุ่มที่ได้แรงเหวี่ยงทางความคิดจากการต่อสู้ทางการเมืองเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 [3]


 


กล่าวอย่างย่นย่อแล้ว คำอธิบายทั้งสามแบบล้วนมีสมมติฐานที่บกพร่องจนนำไปสู่นัยยะทางการเมืองและจินตภาพเรื่องขบวนการนักศึกษาที่อันตราย


 


คำอธิบายแบบแรกวางอยู่บนสมมติฐานว่าการเมืองเป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมของคนในชาติโดยไม่มีการแบ่งแยกฝักฝ่าย จึงมีความเป็นไปได้ที่ในสังคมจะปรากฏคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่เหนืออคติทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งหมด การเมืองคือการต่อสู้เพื่อให้ฝ่ายที่ถือว่าเป็น "พลังบริสุทธิ์" มีบทบาทและอำนาจนำเหนือฝ่ายอื่นๆ คำอธิบายแบบนี้ฉายภาพของนักศึกษาในฐานะขบวนการทางการเมืองว่าไม่แตกต่างจากกิจกรรมขุดท่อหรืองานค่ายอาสาพัฒนาชนบท


 


คำอธิบายแบบที่สองเชื่อว่าการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นผลของการต่อสู้ทางความคิด การทำความเข้าใจการต่อสู้ของนักศึกษาจึงต้องเน้นไปที่การศึกษาบทบาทของ ผู้นำนักศึกษา ในฐานะ ผู้นำความคิด คำอธิบายนี้มีปัญหาเพราะไม่ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นปัญญาชนกับการเป็นสมาชิกสถาบันการศึกษา หรือกล่าวอีกนัยคือคำอธิบายนี้มองไม่เห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลไกสำหรับการครอบงำทางอุดมการณ์ จึงเข้าใจต่อไปว่าความเป็นผู้นำความคิดของนักศึกษาเท่ากับความเป็นปัญญาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างปราศจากเงื่อนไข ทั้งที่ความเคลื่อนไหวของนักศึกษานั้นอาจเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือจรรโลงสถาบันอำนาจนิยมและอุดมการณ์จารีตนิยมบางอย่างก็ได้


 


ส่วนคำอธิบายที่สามให้ความสำคัญกับตัวแปรทางชนชั้นราวกับนักศึกษามีฐานะทางชนชั้นเป็นเอกภาพจนความเคลื่อนไหวของนักศึกษามีลักษณะทางชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่จำนวนมากของการต่อสู้ด้านนโยบายสาธารณะหรือความเคลื่อนไหวในระนาบเศรษฐกิจ/วัฒนธรรมของนักศึกษานั้น ปราศจากลักษณะชนชั้นที่ประจักษ์แจ้ง ตัวอย่างเช่นการคัดค้านสิทธิบัตรยา การต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน การขึ้นราคารถเมล์ หรือการแปรรูปสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นของเอกชน


 


ในระดับภาพรวมแล้ว แนวคำอธิบายความเคลื่อนไหวของฝ่ายนักศึกษาทั้งสามแบบมีจุดร่วมกันในแง่ที่คิดถึงนักศึกษาในฐานะกลุ่มการเมืองซึ่งมีความต่อเนื่อง มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีองค์กรกลางสำหรับเชื่อมโยงนักศึกษาทุกฝ่ายให้เป็นเอกภาพ รวมทั้งมีการวางแผนยุทธศาสตร์และกำหนดจังหวะก้าวเอาไว้ล่วงหน้า หรือพูดอีกอย่างคือคิดถึงความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในฐานะขบวนการรวมหมู่ที่มีจิตสำนึกรวมหมู่บางลักษณะกำกับสมาชิกของขบวนการไว้ตลอดเวลา


 


ต้นทศวรรษ 2540 ได้ปรากฏความพยายามอธิบายการต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษาบนฐานคิดที่ออกไปจากกรอบคิดเรื่อง ขบวนการ ลักษณะที่กล่าวไปแล้ว[4] คำอธิบายนี้พิจารณานักศึกษาในฐานะปัจเจกบุคคลมากกว่าสมาชิกของขบวนการรวมหมู่ จึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อความเป็นปัจเจกภาพของนักศึกษาในฐานะปัญญาชนและนักปฏิบัติการทางสังคมเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมเชิงตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าที่มีฐานะครอบงำในระนาบต่างๆ เช่น การเมือง วัฒนธรรม ค่านิยม


 


คำอธิบายแนวนี้คล้ายกับคำอธิบายแนวที่สองที่คิดถึงนักศึกษาในฐานะผู้นำความคิด แต่ก็มีข้อแตกต่างสำคัญในแง่ที่ให้น้ำหนักต่อความเป็นผู้นำความคิดสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคม นัยทางการเมืองของคำอธิบายนี้คือการชี้ชวนให้คิดถึงความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในลักษณะที่ไม่ได้เป็นขบวนการทางการเมืองขนาดใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องคิดถึง "ขบวนการ" ในความหมายที่มีมวลชนสมาชิกและเครือข่ายทางการเมืองสนับสนุนกว้างขวางเยี่ยงในอดีต ทำให้การศึกษากิจกรรมนักศึกษาไม่ได้มีประเด็นใจกลางอยู่ที่การแสวงหาผู้นำความคิดของยุคสมัย หรือการพิจารณาผู้นำนักศึกษาที่เข้มแข็งจนสามารถยึดกุมการนำในองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา หรือสหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีกต่อไป แต่คือการคิดถึงกิจกรรมนักศึกษาในฐานะการสร้างพื้นที่เพื่อพัฒนาบุคคลที่มีความสามารถจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะยาว


 


กล่าวในแง่ประวัติศาสตร์ความคิดแล้ว ทัศนคติต่อความเคลื่อนไหวของนักศึกษาลักษณะนี้เป็นผลผลิตที่แยกไม่ออกจากความเปลี่ยนแปลงสามมิติในสังคมไทยช่วงหลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา


 


ความเปลี่ยนแปลงมิติแรก คือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ปัญหาหลักของการเมืองไทยในทศวรรษ 2530 ไม่ใช่ปัญหาว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างเผด็จการทหารกับประชาธิปไตย ที่เคยเป็นโจทก์หลักของการเมืองไทยมาราวสามทศวรรษ เพราะปี 2531 คือปีที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังการสังหารหมู่ประชาชน-นักศึกษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา รวมทั้งห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในเวลาเดียวกัน


 


ในแง่สัมพันธภาพทางอำนาจนั้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลโดยตรงให้กองทัพสูญเสียอำนาจการเมืองโดยเปรียบเทียบกับในอดีตที่กองทัพสามารถควบคุมการเมืองโดยตรงในรูปของการส่งผู้นำทหารเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การมีรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยผู้มีอิทธิพลฝ่ายทหาร การอนุญาตให้ข้าราชการระดับสูงเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ รวมทั้งการระบุให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา


 


ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ ขบวนการต่อต้านเผชิญปัญหาใหญ่ว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้สภาวะวิสัยของการเมืองแบบรัฐสภาที่ไม่มีเผด็จการทหารให้ต่อสู้อีกต่อไป


 


ความเปลี่ยนแปลงมิติที่สอง คือความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความคิด ในทศวรรษ 2530 โครงสร้างของอุดมการณ์ในสังคมไทยไม่ได้ขึ้นต่อการช่วงชิงอำนาจนำระหว่างอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม-สังคมนิยม ที่เคยครอบงำสังคมไทยมาตั้งแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 หรืออาจกระทั่งย้อนไปได้ไกลถึงสมัยกึ่งพุทธกาล เพราะทศวรรษ 2530 คือทศวรรษที่อุดมการณ์สังคมนิยมแทบไม่เหลือร่องรอยในทางวัฒนธรรมความคิดให้เห็นต่อไป ไม่ต้องพูดถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ฯลฯ ที่ทำให้สังคมนิยมห่างไกลจากความเป็นระบอบการเมืองที่เป็นจริงยิ่งขึ้นไปอีก


 


ในทศวรรษ 2530 อุดมการณ์ทางการเมืองแบบหลักๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยคืออุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม สองอุดมการณ์นี้ไม่ขัดแย้งกันถึงขั้นแตกหักอย่างที่เกิดในสังคมอื่น แต่ผสมผสานกันได้ เกิดเป็นส่วนผสมทางอุดมการณ์ที่แปลกประหลาดเพราะมีลัทธิชาตินิยมเป็นตัวกลาง


 


สังคมภายใต้สัมพันธภาพทางอุดมการณ์แบบนี้เป็นสังคมเปิดที่ยอมรับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองกลุ่มต่างๆ แต่มีเงื่อนไขว่าการรวมกลุ่มนั้นต้องไม่แตะต้องสถาบันหลักหรือท้าทายอุดมการณ์ที่ครอบงำสังคม การรวมกลุ่มเรียกร้องผลประโยชน์ทางวัตถุกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ ตราบใดที่การเรียกร้องนั้นจำกัดแต่ในระนาบเศรษฐกิจ แต่ปราศจากมิติการเมือง


 


ความเปลี่ยนแปลงมิติที่สาม คือความเปลี่ยนแปลงในแง่ัญหาเศรษฐกิจสังคมว่าด้วยการพัฒนาสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ในช่วงก่อนทศวรรษ 2530 ทุนนิยมไทยเผชิญปัญหาใหญ่สุดจากสภาวะความด้อยพัฒนาที่มาควบคู่กับการปราศจากเสถียรภาพเชิงระบบ ผลที่ตามมาคือการขยายตัวของปัญหาสังคมนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายประชากรจากชนบทสู่เมือง การเติบโตของสลัมและคนจนเมือง การล่มสลายของภาคชนบท ขณะที่ในทศวรรษ 2530 ทุนนิยมอุตสาหกรรมไทยได้เติบโตถึงจุดที่มีเสถียรภาพพอสมควร ทำให้ปัญหาหลักของสังคมไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทเป็นสังคมสมัยใหม่อีกต่อไป แต่คือปัญหาใหม่ๆ ที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับยุทธศาสตร์การสะสมทุนเพื่อไปสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรมและบริการ


 


กล่าวให้เป็นรูปธรรมแล้ว ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคทศวรรษ 2530 คือปัญหาการขูดรีดแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม การขยายตัวของการลงทุนไปสู่ชนบท การสูญเสียที่ดินของชาวนาชาวไร่รายย่อย การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติโดยทุนอุตสาหกรรมและทุนบริการ ความเสื่อมสลายของชุมชน หรือโดยภาพรวมแล้วก็คือการก้าวขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในระดับท้องถิ่นโดยตรงของทุนและอำนาจท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ โดยตรง [5]


 


การบรรจบกันของความเปลี่ยนแปลงทั้งสามมิติเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2530 ไปสู่ทิศทางที่หันหลังให้กับการต่อสู้ทางอุดมการณ์และการสร้างขบวนการที่ใหญ่โตมีเอกภาพ การเมืองในยุคหลังทศวรรษ 2530 ไม่ใช่การเมืองเรื่องอุดมการณ์ ขณะที่การเคลื่อนไหวการเมืองยุคหลังทศวรรษ 2530 ไม่ใช่เรื่องของการเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยหรืออยู่ภายใต้เผด็จการทหารอย่างในอดีต การต่อสู้ทางสังคมในช่วงหลังทศวรรษ 2530 ไม่ใช่การสู้ระหว่างประชาชาติกับรัฐ หรือชาวนากับชนชั้นศักดินาเจ้าที่ดิน แต่คือการต่อสู้ของประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าที่เกิดขึ้นในสมรภูมิย่อยๆ ซึ่งมีนายทุนอุตสาหกรรมหรือกลุ่มทุนท้องถิ่นเป็นศัตรู


 


ผลที่ความเปลี่ยนแปลงนี้มีต่อความเคลื่อนไหวของนักศึกษาคือการทำให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เริ่มสูญเสียสถานภาพความเป็นศูนย์กลางของนิสิตนักศึกษาฝ่ายซึ่งใฝ่ใจเปลี่ยนแปลงสังคม


 


ถ้าถือว่าปรากฏการณ์สำคัญของกิจกรรมนักศึกษาในทศวรรษ 2520 คือการรวมกลุ่มของนักศึกษาหลายสถาบันเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปรากฏการณ์สำคัญในทศวรรษ 2530 ก็คือการขยายตัวของกลุ่มนักกิจกรรมที่เป็นอิสระจากองค์กรนี้ ตัวอย่างเช่นนักศึกษาจากภูมิภาคจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวจัดตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภายใต้การนำของนักศึกษาภูมิภาคโดยตรง ดังมีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคใต้และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสานเป็นตัวอย่าง, นักศึกษาจากส่วนกลางสนใจประเด็นการเมืองน้อยลง แต่หันไปเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (คอทส.) มากขึ้น, นักกิจกรรมจากธรรมศาสตร์และมหิดลผลิตจุลสาร Militant เพื่อตั้งคำถามและเสนอแนวทางกิจกรรมที่ออกไปจากกรอบคิดเรื่องการยึดครององค์กรนักศึกษาเวลานั้น [6], นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดตั้งกลุ่มสวัสดิภาพแรงงาน [7], นักศึกษาธรรมศาสตร์ตั้งกลุ่มอิสรชน, พรรคธรรมาธิปไตย, พรรคเสรีธรรม ฯลฯ


 


กล่าวในระดับภาพรวมแล้ว ทศวรรษ 2530 คือทศวรรษแห่งการปรากฏการรวมกลุ่มของนักกิจกรรมนักศึกษาในส่วนกลางและภูมิภาคซึ่งเป็นเอกเทศจากองค์กรนักศึกษารูปแบบที่สืบทอดมาจากอดีต รวมทั้งการเกิดนักกิจกรรมอิสระที่ไม่ได้สังกัดองค์กรนักศึกษา แต่ให้ความสนใจกิจกรรมทางปัญญา มุ่งทำงานกับคนงานในเขตย่านอุตสาหกรรมต่างๆ หรือชาวนาชาวไร่รายย่อยในบางพื้นที่ซึ่งเกิดการแย่งชิงทรัพยากรโดยตรง


 


ในแง่นี้แล้ว ทศวรรษ 2530 เป็นจุดเริ่มต้นของความล่มสลายของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ ทำให้คณะทำงานของสหพันธ์ฯ โดยทั่วไปไม่เคยมีจำนวนเกินสิบคน, นักศึกษาภูมิภาคและนักศึกษามหาวิทยาลัยเปิดมีสถานภาพเป็นไม้ประดับของสหพันธ์ฯ ในสถานการณ์ปกติ, ตัวสหพันธ์ฯ ไม่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับองค์กรนักศึกษาหรือกลุ่มกิจกรรมระดับมหาวิทยาลัย, การเลือกตั้งเลขาธิการเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อรับรองบุคคลที่ได้มีการสรรหาและตกลงเป็นการภายในไว้ก่อนแล้ว ส่วนเลขาธิการบางคนเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่เก่าแก่จนไม่มีนักศึกษาคนไหนรู้จัก บางคนพ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว แต่อาศัยสถานะบัณฑิตศึกษาเป็นเลขาธิการ สนนท.


 


ในความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ คำถามที่สำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่นักกิจกรรมยุคทศวรรษ 2530-2540 ไม่ใช่คำถามว่านักศึกษาควรไปทางไหน ไม่ใช่คำถามว่ายังมีขบวนการนักศึกษาอยู่หรือไม่ แต่คือคำถามว่าควรมีขบวนการนักศึกษาต่อไปอีกหรือ?


 


นักศึกษากับการผลักดันกฎหมายประกันสังคม


 


ในทศวรรษ 2530 พลังฝ่ายนักศึกษาที่มีบทบาทผลักดันกฎหมายประกันสังคมคือนักศึกษาส่วนที่ทำงานร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์นี้เพราะการบรรจบกันของเหตุปัจจัยสองข้อ


 


ข้อแรกคือความสนใจปัญหาแรงงานในกลุ่มนักกิจกรรมจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในอดีต


 


ข้อสองคือการผลักดันของนักศึกษาสังกัดกลุ่มอิสระต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานในเวลานั้น


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ เป็นองค์กรของนักศึกษาจากหลายสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2527 และเริ่มร่วมมือกับผู้ใช้แรงงานในการเคลื่อนไหวประเด็นปัญหาต่างๆ ในปี 2529-2531 บนฐานความคิด 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความคิดว่าผู้ใช้แรงงานสำคัญต่อการสร้างประชาธิปไตยรัฐสภาขึ้นแทนที่ระบอบการเมืองแบบเผด็จการครึ่งใบที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้น เรื่องที่สองคือความเชื่อว่าผู้ใช้แรงงานเป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคม และเรื่องที่สามคือแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม


 


อิทธิพลของความคิดทั้งสามข้อส่งผลให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ เคลื่อนไหวกับผู้ใช้แรงงานในรูปการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับคนงานมาเป็นระยะ เช่น จัดเวทีร่วมกับกรรมกรอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กลุ่มย่านรังสิต กลุ่มสลัมคลองเตย โดยสร้างแนวร่วมกับผู้นำคนงาน ผู้นำชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น ทวีป กาญจนวงศ์, เอกชัย เอกหาญกมล, แกนนำสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และประทีป อึ้งทรงธรรม [8] นอกจากนั้น อภิชาติ ขำเดช เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ พ.ศ.2530 ยังร่วมประท้วงกับคนงานศรีเก้าการทอและสามัคคีการทอ [9] ส่วนสหพันธ์ฯ ก็มีบทบาทหนุนช่วยการนัดหยุดงานของคนงานบริษัทจีเอส สตีล พ.ศ.2531 โดยนายบัณฑิต อินสุรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานจีเอส สตีล และนายประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ เลขาธิการ สนนท. ได้ร่วมกันเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันสิทธิของคนงานที่จะชุมนุมหน้ากระทรวงมหาดไทย


 


สมยศ พฤกษาเกษมสุข บันทึกสภาพการมีส่วนร่วมของนักศึกษาต่อการนัดหยุดงานของคนงานกรณีจีเอส สตีล เอาไว้ว่า "นิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน ได้มาให้กำลังใจถึง 300 คน คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้จุดประกายไฟแห่งการต่อสู้ขึ้นอีก พวกเขามาที่นี่เพื่อเรียนรู้ถึงความเป็นจริงในสังคมไทย" [10] ขณะที่นภาพร อติวานิชยพงศ์ ประเมินการมีส่วนร่วมของนักศึกษาว่า


 


"ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวนี้ได้รับความหนุนช่วยจากฝ่ายนักศึกษาอย่างมาก ทั้งในส่วนที่นักศึกษาได้ร่วมชุมนุมประท้วงร่วมกับฝ่ายคนงาน และนายอภิชาติ ขำเดช เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมโกนหัวประท้วง...การเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนงานเป็นผลดีต่อองค์กรนักศึกษาเอง โดยทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสัมผัสปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม และจากประสบการณ์ที่เป็นจริง เป็นการยกระดับความคิดและจิตสำนึกของนักศึกษาในการร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม" [11]


 


ข้อที่ควรพิจารณาก็คือแนวการมีส่วนร่วมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษากับผู้ใช้แรงงานในยุคต้นอยู่ในทิศทางที่ฝ่ายนักศึกษาเข้าไปสนับสนุนการนัดหยุดงานของคนงานเป็นกรณี แนวทางนี้มีข้อดีตรงที่ทำให้นิสิตนักศึกษาระดับปัจเจกเข้าใจความไม่เป็นธรรมในสังคมผ่านการเรียนรู้ความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงานตามโรงงานโดยตรง ส่วนฝ่ายคนงานผู้นัดหยุดงานก็ได้กำลังใจและความสนับสนุนทางการเมืองจากนักศึกษาไปด้วย


 


กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว การมีส่วนร่วมแนวทางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำประสบการณ์นี้ไปยกระดับจิตสำนึกของฝ่ายนักศึกษาที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ ในระยะยาว จึงไม่มีความจำเป็นที่นักศึกษาต้องสนใจปัญหาแรงงานอย่างต่อเนื่อง ปัญหาแรงงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาความอยุติธรรมในสังคมที่มีมากมายเหลือคณานับ จะสนใจประเด็นไหนก็ขึ้นอยู่กับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ แต่ละยุคสมัย เห็นว่าปัญหาไหนเป็นเรื่องสำคัญ


 


การมีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 แสดงให้เห็นแนวทางการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้แรงงานที่แตกต่างไป เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนความร่วมมือระดับ "ขบวนการ" ระหว่างนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อแปรสภาพหลักความยุติธรรมทางสังคมให้เป็นกฎหมายและกลไกทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมสำหรับการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขร่วมกันของคนทุกฝ่าย เป้าหมายของความเคลื่อนไหวนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การหนุนช่วยคนงานเพื่อยกระดับจิตสำนึกของฝ่ายนักศึกษา แต่คือการสร้างนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานและคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยตรง


 


ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่านิสิตนักศึกษามีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมนั้นตั้งแต่สมัยไหน งานเขียนของนิคม จันทรวิทุร พ.ศ.2530 ระบุว่าเท่าที่ผ่านมานั้น "การประกันสังคมยังขาดแนวร่วมหรือกลุ่มสนับสนุนที่เพียงพอ" [12] ขณะที่แม้จดหมายข่าวสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2531 จะรายงานความพยายามของฝ่ายแรงงานในการจัดตั้งคณะกรรมการผลักดันกฎหมายประกันสังคม 38 คน ซึ่งมีผู้แทนนิสิตนักศึกษาเป็นหนึ่งในนั้น ร่วมกับสมาพันธ์แรงงาน สหพันธ์แรงงานต่างๆ ยุวชนพรรคการเมือง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน [13] แต่ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าองค์กรนักศึกษาหรือนิสิตนักศึกษารายใดตอบสนองความต้องการของฝ่ายแรงงานโดยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการนี้


 


เท่าที่มีเอกสารปรากฏ นิสิตนักศึกษาและองค์กรนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในช่วงกลาง พ.ศ.2533 เมื่อกลุ่มสหภาพแรงงานจากย่านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง สมุทรปราการ, กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สหพันธ์แรงงานโลหะแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนังแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์คนงานในกิจการอาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม และกิจการที่คล้ายคลึง, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลุ่มเพื่อนหญิง (สถานะมูลนิธิเพื่อนหญิงขณะนั้น) ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการผลักดันกฎหมายประกันสังคมอีกชุดขึ้นมานั่นเอง


 


จะเด็จ เชาวน์วิไล หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิงของมูลนิธิเพื่อนหญิง หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการผลักดันกฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 ระบุว่ามีกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวกฎหมายประกันสังคม 2 กลุ่ม


 


กลุ่มแรกคือกลุ่มสวัสดิภาพแรงงาน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกกลุ่มประกอบด้วย นันทโชติ ชัยรัตน์, บัณฑิต แป้นวิเศษ, สิทธิศักดิ์ วิริยะหิรัญไพบูลย์ และไพศาล ภิรมณ์สุด [14]


 


กลุ่มที่สองคือกลุ่มคบไฟ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มประกอบด้วย วรดุลย์ ตุลารักษ์, พฤกษ์ เถาถวิล, อิสระ ชูศรี และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


 


ในความเห็นของจะเด็จ นักศึกษาสองกลุ่มนี้มีจุดร่วมกันในแง่สนใจการต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงานและการนัดหยุดงานของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อนแล้ว ในรูปของการร่วมประชุมกับคนงาน นำนักศึกษามาให้กำลังใจผู้ชุมนุมประท้วง หรือช่วยเหลือองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นที่ปรึกษาคนงานด้วยการเขียนแถลงการณ์ นำการปราศรัย ฯลฯ [15] ดังกรณีการนัดหยุดงานของคนงานโรงงานศรีเก้าการทอ การถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของคนงานโรงงานจีเอส สตีล หรือการประท้วงของคนงานโรงงานตราอูฐ การร่วมเคลื่อนไหวกับคนงานทั่วไปในกรณีการคัดค้านการจ้างงานระยะสั้น การออกหนังสือใต้ดินในวันกรรมกรสากล หรือแม้กระทั่งการจัดงานวันกรรมกรสากลในมหาวิทยาลัย


 


 


 


ทำไมกลุ่มนักศึกษาอิสระจึงเป็นศูนย์กลางของนักศึกษาที่มีบทบาทเคลื่อนไหวร่วมกับคนงานในการผลักดันกฎหมายประกันสังคม?


 


เราอาจไขปริศนานี้ง่ายขึ้นเมื่อระลึกว่าร่องรอยของความสนใจที่นักศึกษามีต่อผู้ใช้แรงงานนั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์ทั่วไป แต่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์บางอย่าง โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ระยะใกล้แล้ว ความตื่นตัวที่นักศึกษามีต่อปัญหาแรงงานปรากฏให้เห็นชัดเจนในช่วง 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 และหลังจากนั้นไม่นานนัก ความตื่นตัวจึงเป็นผลของความเคลื่อนไหวทางความคิดในยุคสมัยที่ปัญญาชนยังคงได้อิทธิพลจากแนวคิดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นและขบวนการปฏิวัติสังคม[16] ผลทางกลับกันก็คือเมื่อลัทธิสังคมนิยมและความเชื่อเรื่องการปฏิวัติกลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ พลังฝ่ายนิสิตนักศึกษาก็ไม่มีแรงผลักดันทางอุดมการณ์ให้สนใจเคลื่อนไหวร่วมกับผู้ใช้แรงงานอีกต่อไป


 


ถ้ายอมรับว่าปัจจัยทางอุดมการณ์ส่งผลให้นักศึกษาในฐานะ "ขบวนการ" ไม่อยู่ในวิสัยจะเคลื่อนไหวกับผู้ใช้แรงงานในระยะยาว ก็เท่ากับว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนงานกับนักศึกษาเป็นความสัมพันธ์พิเศษที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายในสถานการณ์ปกติแต่อย่างใด


 


โดยเงื่อนไขทั้งหมดที่กล่าวมา บทบาทของนักศึกษากลุ่มอิสระที่สนใจปัญหาคนงานจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในฐานะ ตัวเชื่อม ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่นักศึกษาส่วนอื่นจะร่วมเคลื่อนไหวกับผู้ใช้แรงงาน กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือกลุ่มนักศึกษาอิสระเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้นักศึกษาส่วนอื่นร่วมผลักดันกฎหมายประกันสังคมผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งเป็นผู้กระทำการรณรงค์เคลื่อนไหวในระดับปฏิบัติการ เช่น การออกแถลงการณ์ การอดอาหารประท้วง การปราศรัยย่อยตามชุมชน หรือการตั้งคำถามทางการเมืองจากประเด็นนี้กับรัฐบาล


 


กล่าวให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นไป การมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมจึงมีความหมายสองมิติ


 


มิติแรก คือการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาจากกลุ่มอิสระที่สนใจปัญหาผู้ใช้แรงงานเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะนักศึกษาจากกลุ่มคบไฟ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษากลุ่มสวัสดิภาพแรงงาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ทำงานร่วมกับคณะกรรมการผลักดันกฎหมายประกันสังคมและกลุ่มสหภาพแรงงานตามย่านอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มสหพันธ์แรงงาน และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน


 


มิติที่สอง คือการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นักศึกษากลุ่มนี้เริ่มมีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายประกันสังคมเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากวุฒิสภากลับปฏิเสธที่จะลงมติรับร่างกฎหมายฉบับนี้ หรือพูดอีกอย่างคือมีส่วนร่วมเมื่อการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา


 


พูดให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นแล้ว นิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเคลื่อนไหวกับผู้ใช้แรงงานในกรณีนี้ ถึงขั้นที่หากไม่มีนักศึกษากลุ่มแรก ก็ไม่มีช่องทางให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ ร่วมเคลื่อนไหวกับฝ่ายผู้ใช้แรงงาน นั่นหมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับคนงานในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจการเมืองและสังคมของนักศึกษากลุ่มอิสระในระดับปัจเจก การผลักดันกฎหมายจึงมีความมุ่งหมายเพื่อผลักดันนโยบายบางอย่างล้วนๆ ไม่ใช่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างเครือข่ายทางการเมืองหรือวางรากฐานให้ขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะยาว


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาในฐานะกลุ่มรณรงค์ทางการเมือง


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ เริ่มเข้ามามีส่วนผลักดันกฎหมายประกันสังคมในวันที่ 20 มิถุนายน 2533 โดยร่วมกับคณะกรรมการผลักดันกฎหมายประกันสังคม ซึ่งมีนายบุญขำ ศรีกร่างทอง เป็นผู้แทน ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ขอให้รัฐบาลไปเจรจาผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากขณะนั้นที่ประชุมกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภาได้แก้ไขร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงแต่ที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติก็จะมีสภาพเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้สมบูรณ์


 


จังหวะการเคลื่อนไหวขั้นตอนนี้ทำให้นักศึกษาร่วมเคลื่อนไหวเฉพาะในรูปของการยื่นหนังสือและยื่นจดหมายกับฝ่ายคณะกรรมการผลักดันกฎหมายประกันสังคมของคนงาน นักศึกษาไม่ใช่ตัวแปรที่สำคัญต่อการเรียกร้องกฎหมายนี้โดยรวม


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ มีบทบาทชัดเจนเมื่อวุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 แต่ที่ประชุมกลับมีมติ ด้วยคะแนน 105 ต่อ 56 เสียง ไม่เห็นชอบกับร่างฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่เกิดขึ้นตามมติของวุฒิสภาวันที่ 18 พฤษภาคม


 


การคว่ำกฎหมายนี้เป็นปัญหาการเมืองด้วยเหตุผลสองข้อ ข้อแรก คือการคว่ำกฎหมายแสดงให้เห็นว่าวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งไม่สนใจปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีความพยายามผลักดันมากว่า 36 ปีแล้ว ข้อสอง คือสมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายนั้นล้วนเป็นสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายผู้แทนกองทัพ และฝ่ายพลเรือนที่แต่งตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังมีนายโอสถ โกศิน นายสานนท์ สายสว่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ พล.อ.วิชิต บุณยะวัฒน์ เป็นตัวอย่าง


 


พูดให้รวบรัดที่สุด การคว่ำกฎหมายจึงเป็นสัญลักษณ์ว่าพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้ใช้การคว่ำกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐบาล [17]


 


ทันทีที่วุฒิสภามีมติคว่ำกฎหมายนี้ นางสาวเสาวนีย์ จิตต์รื่น เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ พร้อมกับนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นางสาวปราณี ศรีกำเนิด และนางสาวศิริกุล ลือกิตติไกล ได้นำหรีดดำมีข้อความว่า "แด่วุฒิฯ สายจิ๋ว และสายอำนาจเก่า ที่เห็นกฎหมายประกันสังคมเป็นแค่เกมต่อรองอำนาจ" ไปมอบให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน นายกรัฐมนตรีที่บ้านพักซอยราชครู พร้อมกับออกแถลงการณ์ให้ยุบวุฒิสภา พร้อมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีวุฒิสภาชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยด่วน [18]


 


ในวันที่ 8 กรกฎาคม ตัวแทนนักศึกษาได้กล่าวปราศรัยพร้อมกับแจกใบปลิวบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีใจความเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกัน "ขจัดเหลือบประชาธิปไตยและขจัดช่องทางรัฐประหารที่ใช้วุฒิสภาเป็นเครื่องมือ" เพื่อให้ "เป็นครั้งสุดท้ายที่กลุ่มพลังนอกระบบจะสามารถใช้เวทีวุฒิสภาสร้างรอยแปดเปื้อนให้กับระบอบประชาธิปไตยของประชาชน" [19] โดยได้ขยายความต่อไปว่าพลังนอกระบบหมายถึงคนสามกลุ่ม คือกลุ่มนายทหาร จปร.1 และรุ่นอื่นๆ กลุ่ม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และวุฒิสมาชิกสายนายโอสถ โกศิน และนายสานนท์ สายสว่าง [20]


 


การคว่ำกฎหมายฉบับนี้เป็นชนวนของความขัดแย้งทางการเมืองที่ไปไกลถึงขั้นทำให้เกิดกระแสข่าวว่า พล.อ.ชาติชาย จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี [21] สภาพการเมืองเต็มไปด้วยการแบ่งฝักฝ่ายระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายกองทัพที่คว่ำกฎหมายฉบับนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ ถึงขั้นที่มีการใช้สื่อของกองทัพเป็นกระบอกเสียงในการโจมตีกฎหมายฉบับนี้โดยตรง ดังปรากฏว่า พล.อ.วิชิต บุณยะวัฒน์ วุฒิสมาชิกสายทหารอ้างว่ากฎหมายประกันสังคมนั้น "เมื่อออกไปแล้ว ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง" [22]


 


รายการสยามมานุสติวันที่ 11 กรกฎาคม มีการกระจายเสียงในรายการผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุของกองทัพโดยมีเนื้อหาปกป้องวุฒิสมาชิกกลุ่มที่ลงมติไม่รับรองกฎหมายประกันสังคม ความว่า


 


"วุฒิสมาชิกทำหน้าที่เป็นมโนธรรม คอยช่วยท้วงติงดุลยพินิจของสภาผู้แทนราษฎร ...ถ้ากฎหมายประกันสังคมมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาด ก็ไม่ยอมปล่อยปละละเลยออกไป ต้องการความมั่นใจว่ากฎหมายจะเป็นประโยชน์แก่คนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง"


 


น่าสนใจว่าการคว่ำกฎหมายและข้อโจมตีของฝ่ายกองทัพถูกตอบโต้โดยฝ่ายรัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแทบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น นายสุวิทย์ ยอดมณี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นเปิดเผยว่า "นายกรัฐมนตรีเสียใจที่ร่าง พ.ร.บ.ไม่ผ่านวุฒิสภา" [23] ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นคล้ายคลึงกันว่าทุกฝ่ายร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้มากว่า 36 ปี แม้จะมีข้อบกพร่องบ้าง ก็ควรออกมา [24]


 


ความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางนี้ทำให้การผลักดันกฎหมายประกันสังคมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับเครือข่ายอำนาจกองทัพโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


 


ในแง่นี้แล้ว ความเคลื่อนไหวของฝ่ายสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ จึงสำคัญ เพราะเป็นการตอกย้ำให้คนในสังคมเห็นภาพพลังการเมืองฝ่ายต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังการคว่ำกฎหมายฉบับนี้ได้อย่างดี


 


ความไม่พอใจที่คนหลายฝ่ายมีต่อการคว่ำกฎหมายส่งผลให้รัฐบาลตอบโต้กองทัพด้วยการเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 11 กรกฎาคม 2533 ตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ระบุว่าร่างกฎหมายที่ถูกปฏิเสธโดยวุฒิสภานั้นสามารถมีสภาพบังคับใช้ได้ หากได้การรับรองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในเวลานั้น นั่นก็คือได้คะแนนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 179 คน จากสมาชิกทั้งหมด 351 คน


 


วันที่ 11 กรกฎาคม ที่บริเวณท้องสนามหลวง ขณะที่ผู้ใช้แรงงานจากย่านอุตสาหกรรมต่างๆ จัดการชุมนุมเพื่อผลักดันกฎหมายประกันสังคมร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบพระราชบัญญัติประกันสังคมด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ การชุมนุมที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างคนหลายฝ่ายจึงปิดฉากไปในที่สุด เหลือไว้แต่กฎหมายซึ่งเป็นรากฐานของการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานและคนส่วนใหญ่ในสังคมมาจนปัจจุบัน


 


โดยภาพรวมแล้ว สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ มีส่วนผลักดันกฎหมายประกันสังคมอย่างเต็มที่ในสถานการณ์ที่กฎหมายประกันสังคมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาล-สภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายกองทัพ-วุฒิสภา ความสำคัญของนักศึกษาอยู่ที่การเป็นพลังหลักแทบจะเป็นพลังเดียวในการชี้ให้สาธารณะเห็นความเป็นการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการล้มกฎหมายฉบับนี้ แนวทางการเคลื่อนไหวนี้จำเป็นในสถานการณ์ซึ่งปราศจากพลังฝ่ายที่สามารถยกระดับการต่อสู้เพื่อผลักดันกฎหมายประกันสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยในระดับมหภาค หรือพูดอีกอย่างคือนักศึกษาสำคัญเพราะทำให้การเรียกร้องกฎหมายประกันสังคมเป็นเรื่องเดียวกันกับการต่อต้านอำนาจทหารและอิทธิพลของระบอบอำมาตยาธิปไตย


 


ในแง่นี้แล้ว การมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของ "วาระทางการเมือง" ที่สำคัญของฝ่ายนักศึกษาในขณะนั้น นั่นก็คือการต่อต้านอำนาจนอกระบบของกองทัพและข้าราชการประจำ รวมทั้งการขยายอำนาจประชาธิปไตยของพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร


 


ควรสังเกตด้วยว่าการมีส่วนร่วมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ ในการผลักดันกฎหมายประกันสังคม ดำเนินไปโดยนักศึกษาจำนวนไม่มากนัก กล่าวคือนอกเหนือจากนักศึกษาจากกลุ่มอิสระต่างๆ ที่สนใจปัญหาผู้ใช้แรงงานเป็นทุนเดิมแล้ว ก็ถือได้ว่ามีนักศึกษาร่วมเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายนี้เพียงหยิบมือเดียว


 


ปัจจัยด้านจำนวนทำให้การมีส่วนร่วมของนักศึกษาไม่มีนัยต่อการชุมนุมประท้วงและชัยชนะในการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานต่อไป นั่นหมายความว่าจำนวนนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะบทบาทของนักศึกษาได้กลายเป็นเรื่องของการใช้นักศึกษาจำนวนน้อยไปรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสร้าง "ความเข้าใจสาธารณะ" เพื่ออาศัยความเข้าใจนั้นเป็นพลังในการผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ในบั้นปลาย


 


ข้อดีของการมีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 คือการรื้อฟื้นความร่วมมือระหว่างคนงานกับนักศึกษา กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเคลื่อนไหวประกันสังคมเป็นจุดเริ่มต้นของความไว้เนื้อเชื่อใจระดับ "ขบวนการ" ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันกฎหมายนี้ทั้งหมด สายสัมพันธ์นี้เป็นรากฐานของความสมานฉันท์ของนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานในการรณรงค์ปัญหาแรงงานและการต่อสู้ทางการเมืองหลังจากนั้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวคัดค้านการแยกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งการคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับที่เกิดจากการรัฐประหารโดย รสช. พ.ศ.2534 ถึงแม้ทั้งหมดนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่ชั่วครู่


 


กล่าวได้ว่าบทบาทของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ ต่อการผลักดันกฎหมายประกันสังคมเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแนวทางการใช้คนจำนวนน้อยไปรณรงค์และทำงานผ่านสื่อมวลชนเพื่อชี้นำประเด็นสาธารณะ "ขบวนการนักศึกษา" ในทศวรรษ 2530 ไม่ใช่ขบวนการมวลชน และไม่ใช่แม้กระทั่งกลุ่มกดดันที่มีนิสิตนักศึกษาเป็นสมาชิกที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง จึงไม่มีหลักประกันว่ากิจกรรมนักศึกษาแนวทางนี้มีศักยภาพสร้างจิตสำนึกด้านกว้างของนักศึกษา ไม่มีหลักประกันว่ากิจกรรมนักศึกษาสามารถสร้างผู้นำความคิดแห่งยุคสมัย รวมทั้งไม่มีหลักประกันว่าจะสร้างนักปฏิบัติการที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงสังคม


 


ธรรมชาติของกิจกรรมประเภทนี้รวมศูนย์ที่การสร้างผู้แทนนักศึกษาที่มีความชำนาญในการแถลงข่าว ยื่นจดหมาย จัดกิจกรรมภาพเป็นข่าว แล้วอาศัยกลไกสื่อสารมวลชนไปผลักดันประเด็นสาธารณะบางอย่าง "ผู้นำนักศึกษา" รุ่นทศวรรษ 2530-2540 จึงไม่มีลักษณะผู้นำความคิดหรือนักปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มีจุดแข็งในด้านการเป็นนักรณรงค์การเมือง


 


สรุป


การมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมเกิดขึ้นโดยเงื่อนไขสองข้อ เงื่อนไขประการแรกคือการดำรงอยู่ของกลุ่มนักศึกษาอิสระที่สนใจปัญหาผู้ใช้แรงงานเป็นเวลานาน เงื่อนไขประการที่สองคือการดำรงอยู่ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในฐานะองค์กรต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของฝ่ายนักศึกษา นักศึกษากลุ่มแรกสำคัญในฐานะตัวเชื่อมให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ใช้แรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักศึกษาทั่วไป ขณะที่นักศึกษากลุ่มหลังสำคัญในแง่ทำให้การผลักดันกฎหมายประกันสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรัฐสภาในเวลานั้น


 


การต่อสู้อย่างอิสระและไม่ท้อถอยของผู้ใช้แรงงานเป็นเหตุผลสำคัญในการได้มาซึ่งกฎหมายประกันสังคม แต่การสนับสนุนจากกลุ่มพลังอื่นก็มีความสำคัญไม่น้อย ในกรณีกฎหมายประกันสังคมนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และนิสิตนักศึกษา เป็นแรงผลักดันอีกข้อที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องโดยตรงต่อกระบวนการผลักดันกฎหมายฉบับนี้


 


พลังนักศึกษานั้นอ่อนแอด้านการจัดตั้งจนปราศจากพลังทางจำนวน จึงไม่มีทางเป็นแรงสนับสนุนขั้นชี้ขาดให้คนงานได้ในการต่อสู้ในโรงงานหรือการชุมนุมบนท้องถนน ความสำคัญของนักศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวในกรณีต่างๆ แต่นักศึกษาสำคัญเพราะนักศึกษาเป็นพลังกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพจะยกระดับข้อเรียกร้องของคนงานให้เป็นส่วนหนึ่งของญัตติสาธารณะ หรือพูดอีกอย่างคือสำคัญเพราะนักศึกษาสามารถทำให้ประเด็นคนงานไม่ได้จำกัดแต่ในโรงงาน แต่เป็นประเด็นทางการเมืองของสังคม


 


ในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว บทเรียนจากการผลักดันกฎหมายประกันสังคมแสดงให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างคนงานกับคนกลุ่มอื่นในสังคมเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกลไกแบบนี้ทำหน้าที่สร้างความรู้สึกร่วมแก่คนในสังคมว่าการต่อสู้ของคนงานคือการต่อสู้เพื่อคนในสังคมทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่ายหรือกลไกเพื่อให้เกิดความร่วมมือลักษณะนี้ แต่ความร่วมมือนี้ต้องดำเนินไปในทิศทางที่มีวาระหรือความต้องการของคนงานเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ให้พลังกลุ่มอื่นครอบงำคนงาน แล้วอาศัยพลังคนงานไปเป็นแค่มวลชนสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายตนเอง


 


ปัญหาข้อเดียวของยุทธศาสตร์นี้คือไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่านิสิตนักศึกษาจะสนใจปัญหาผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อคำนึงถึงปัจจัยทางชนชั้น ก็จะยิ่งเห็นว่าแทบเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะคาดหวังให้ปัญญาชนเหลียวมองคนในสังกัดวรรณะที่เป็นอื่นด้วยสายตาแบบนี้ หนทางเดียวที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายคนงานเองที่จะรักษาขบวนการแรงงานให้อยู่ในสถานภาพที่พลังฝ่ายอื่นจะยอมรับได้มากที่สุด นั่นก็คือการธำรงสถานภาพของขบวนการแรงงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของคนทั้งหมดในสังคม


 


 


 


 


เชิงอรรถ


 


[1] เสน่ห์ จามริก, "การเมืองไทยกับการปฏิวัติเดือนตุลาคม" ใน ปัญหาและอนาคตของเมืองไทย (กรุงเทพ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2519)


[2] ชินทัศน์, "วิญญาณที่ขาดหาย ทัศนะด้านเดียวเกี่ยวกับปัญญาชนไทยผู้คิดว่าตัวเองกำลังแสวงหา" ใน บัณฑิตย์ ธรรมตรีรัตน์ (บรรณาธิการ) คลื่นแห่งทศวรรษ : รวมทัศนะ ความคำนึง และจินตนาการของนักวิชาการ นักการเมืองและนักเขียนร่วมสมัย (กรุงเทพ : โรงพิมพ์เอดิสันเพรส, 2526), 195-208 ; เกษียร เตชะพีระ, "เส้นทางความคิดของขบวนการนักศึกษาไทยในรอบทศวรรษ 14 ตุลาฯ : การปฏิวัติกระบวนทัศน์ 2 ครั้ง", วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 3 (มกราคม-มีนาคม 2527) , 41-55 ; ประจักษ์ ก้องกีรติ , และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548)


[3] หมายถึงนิตยสารปริทัศน์สารและปาจารยสารยุคที่มีสมชาย สุวรรณศรี เป็นบรรณาธิการ


[4] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. "คิดนอกกรอบ : วิวาทะว่าด้วยบทบาทของขบวนการนักศึกษาไทย," ประชาภิวัตน์ :บทเรียน 25 ปี 14 ตุลา (กรุงเทพ : โครงการวิถีทรรศน์, 2541) ; นพพล อาชามาส, 15 ปี พฤษภา : สนนท.และขบวนนักศึกษา (ถ้ามี) หากเราจะยังแสวงหากันต่อไป? จาก http://www.prachatai.com/05web/th/home/8141


[5] จดหมายข่าวสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับสู่ทศวรรษใหม่แห่งการเติบโตของภูมิภาคในประเทศไทย 11 : 2-3 (พฤศจิกายน 2531- เมษายน 2532)


[6] สัมภาษณ์ พฤกษ์ เถาถวิล, 16 เมษายน 2551


[7] บารมี ชัยรัตน์ , "หยุดเพลงรัก พักเพลงรบ จบเพลงยุทธ" : "ปุ๋ย" ในความทรงจำของพี่ชาย


จาก http://www.prachatai.com/05web/th/home/12192


[8] สัมภาษณ์ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี รองเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2529, 10 เมษายน 2551


[9] สัมภาษณ์ อภิชาติ ขำเดช เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2530, 15 เมษายน 2551


[10] สมยศ พฤกษาเกษมสุข, "บันทึกความปวดร้าวของประวัติศาสตร์คนงานไทย : บทอวสาน," แรงงานปริทัศน์


[11] นภาพร อติวานิชยพงศ์, "สรุปบทเรียนการต่อสู้คนงานสามัคคีศรีเก้าการทอ," แรงงานปริทัศน์ 1, กันยายน 2530, หน้า 17 .


[12] นิคม จันทรวิทุร, กฎหมายประกันสังคม ฉบับประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หอรัตนชัยการพิมพ์, 2533


[13] "กรรมกรเร่งรัฐฯ จัดประกันสังคม," จดหมายข่าวสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย,


 กุมภาพันธ์ 2531, หน้า 2.


[14] สัมภาษณ์ บัณฑิต แป้นวิเศษ, 3 เมษายน 2551


[15] จะเด็จ เชาวน์วิไล , "บทความรำลึกถึงปุ๋ย นันทโชติ ชัยรัตน์," จาก http://www.prachatai.com/05web/th/home/12103


[16] สัมภาษณ์ จรัล ดิษฐาอภิชัย และเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, มีนาคม 2551


[17] สมหมาย ปาริจฉัตต์, "โฉมใหม่วุฒิสมาชิก ให้เป็นอย่างนี้ต่อไปเถอะน่า" มติชน 8 กรกฎาคม 2533 พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็น "การประลองกำลังรัฐบาลของวุฒิสมาชิกบางสาย ที่ยังขุ่นข้องหมองใจแทนนายที่บาดเจ็บทางการเมืองไปเมื่อเร็วๆ นี้" นายในที่นี้หมายถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก่อนนั้นไม่นาน


[18]  แนวหน้า, 7 กรกฎาคม 2533


[19] สยามรัฐ, 9 กรกฎาคม 2533


[20] ไทยรัฐ, 9 กรกฎาคม 2533


[21] มติชน, 8 กรกฎาคม 2533


[22] มติชน, 9 กรกฎาคม 2533


[23]  มติชน, 8 กรกฎาคม 2533


[24]  มติชน, 9 กรกฎาคม 2533

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net