Skip to main content
sharethis

"มาบตาพุด" ก่อนชัยชนะคดีทางสิ่งแวดล้อมจะเป็นแค่ความทรงจำ พิจารณาประเด็นของ "ศุภกิจ นันทะวรการ" นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ที่ให้สัมภาษณ์กับ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผ่านทางรายการคลื่นความคิด โมเดิร์นเรดิโอ



คดีสิ่งแวดล้อมฟ้องง่ายชนะยาก



ต่างประเทศมีคดีด้านสิ่งแวดล้อมหลายคดี ซึ่งคดีที่สำคัญและอาจจะมีลักษณะคล้ายมาบตาพุดหลายส่วนคือกรณีของนิมามาตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยโรงงานเคมีปล่อยน้ำเสียซึ่งมีสารปรอทลงทะเลตั้งแต่เริ่มสร้างโรงงานในปี
2451 กว่าจะมีการค้นพบโรคก็ปี 2499 เกือบ 50 ปีให้หลัง เมื่อค้นพบโรคได้แล้วกว่าจะไปสู่กระบวนการฟ้องร้องในปี 2512 คือหลังจาก 13 ปีที่มีการค้นพบโรค จากนั้นอีก 4 ปีถัดมา ศาลชั้นต้นก็มีการตัดสินว่าฝ่ายโรงงานผิดจริงและไม่ได้ป้องกันไว้ก่อน จึงต้องมีการจ่ายค่าชดเชย จากนั้นก็มีการอุทธรณ์ต่อสู้ทางคดี จนโรงงานถูกย้ำว่าผิดจริง รวมถึงมีการฟ้องร้องต่อรัฐที่ละเลยการดูแล กว่าที่จะชนะคดีอย่างหมดจด โดยศาลฎีกามีคำตัดสินในปี 2547 นี่จึงเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานมาก



นอกจากนี้ยังมีคดีอื่น เช่น กรณีอีริน บรอคโควิชที่ต่อสู้เรื่องโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่มีผลกระทบมีสารปนเปื้อนกับแหล่งน้ำไต้ดิน ซึ่งมาบตาพุดก็มีเหมือนกัน กรณีนี้นำไปสู่การจ่ายค่าชดเชยที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ คือประมาณ
300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถูกพัฒนาต่อเนื่องเป็นมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านสามารถดำเนินการเองได้ และได้รับการยอมรับทางวิชาการเรียกว่าหน่วยกระป๋อง ในเมืองไทยก็มีทางกรีนพีซ หรือเอ็นจีโออย่างกลุ่มรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม พยายามดำเนินการในเรื่องนี้อยู่



คดีมาบตาพุด บอกรัฐให้รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม



คดีมาบตาพุดเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ เพราะชาวบ้านไม่ได้ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย หรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น แต่มองไปที่ต้นเหตุที่แท้จริงคือภาครัฐไม่ได้เข้มงวดจริงจังกับการแก้ไขปัญหามลพิษ ในคำพิพากษาของศาลจึงระบุว่ารัฐดำเนินการเรื่องต่างๆ มานานแล้ว แต่ปัญหามลพิษของมาบตาพุดในปัจจุบัน ซึ่งศาลใช้ข้อมูลเยอะมากจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ จนถึงปี
2551 ปรากฎว่ามลพิษไม่ได้มีแนวโน้มลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการฟ้องร้องจึงขอให้รัฐบาลใช้อำนาจที่มีอยู่ในการควบคุมมลพิษและจริงจังมากขึ้น นั่นคือการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้รัฐใช้อำนาจที่มีอยู่มาแก้ปัญหาให้ลุล่วง



อย่างไรก็ดี ขณะนี้ในสังคมก็มีมุมมองอยู่
2 ด้าน ทั้งกลุ่มที่เห็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ควรอุทธรณ์ แต่ควรจะเร่งแก้ปัญหา กับกลุ่มในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเป็นห่วงว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม จนหน่วยงานราชการบางหน่วยก็ออกมาให้ข้อมูลสนับสนุน


"เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจ และพิจารณา คือภาคเอกชนจะเป็นห่วงในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ซึ่งการประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ได้ห้ามการลงทุนใหม่ และสำหรับรายที่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้วก็ไม่น่ามีความเป็นห่วงกังวลอะไร หรือจากประสบการณ์ของการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่อื่นก่อนหน้ามาบตาพุด จะพบว่าเมื่อดูตัวเลขการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทุกพื้นที่ทั้งก่อนและหลังการประกาศ 5 ปี ก็ไม่พบว่ามีจังหวัดใดที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบในด้านลบ และเป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมจำนวนมากอย่าง จ.สมุทรปราการ จ.สระบุรี ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับสูงขึ้นหลังประกาศด้วยซ้ำ"



สำหรับกรณีมาบตาพุดเมื่อดูปัญหาความรุนแรงของมลพิษในด้านต่างๆ นอกจากอากาศ ยังมีแหล่งน้ำผิวดิน เช่น คลอง บ่อน้ำตื้นปนเปื้อนโลหะหนัก รวมทั้งผลกระทบต่อทะเลในหลายประเด็น มาบตาพุดจึงต้องการการลงทุนเพิ่มอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ใช่การลงทุนปิโตรเคมีในแบบเดิม หรือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่เป็นการลงทุนเพื่อลดและขจัดมลพิษ ซึ่งผมเห็นว่ากระแสโลกในปัจจุบัน มาตรการสิ่งแวดล้อมสามารถจะสร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้



ประเด็นปัญหาใหญ่ของมาบตาพุดคือเรื่องเขตพื้นที่กันชนระหว่างโรงงานขนาดใหญ่กับชุมชน ซึ่งเดิมรัฐวางแผนเอาไว้ว่าจะมีเขตพื้นที่กันชน แต่ต่อมารัฐกลับยอมให้โรงงานขยายไปสร้างในเขตพื้นที่กันชนดังกล่าว และยิ่งปัจจุบันรุกออกไปขยายทับพื้นที่ชุมชน เช่น หนองแฟบและบ้านฉางในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงเกิดสภาพการณ์ที่โรงงานขนาดใหญ่ติดกับวัดหรือโรงเรียน ในปี
2541-2542 ก็มีการย้ายโรงเรียนมาบตาพุดออกจากพื้นที่เพราะติดกับโรงกลั่นน้ำมัน คือเรื่องเหล่านี้รัฐบาลควรดำเนินการอยู่แล้ว แต่หละหลวม เมื่อประกาศเขตควบคุมมลพิษก็ต้องจริงจัง



มาบตาพุดต้องการ การลงทุนเพื่อเยียวยา



ขณะนี้เรากำลังตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อนโยบายของรัฐบาล เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นจึงมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา
 ในระยะสั้นมันคือการตัดสินใจของรัฐบาลว่าแต่ละฝ่ายพยายามยืนยันมุมมองของตนเองโดยเฉพาะฝ่ายอุตสาหกรรมยืนยันว่ากระทบอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเชิงนโยบายต้องใช้ข้อมูลหลักฐานและความรู้ในการตัดสินใจ จะมีทางหรือไม่ที่มาตรการทางสิ่งแวดล้อมจะเป็นผลดีทางเศรษฐกิจด้วย ถ้าตอบโจทย์ได้จริงว่ามันมีผลกระทบก็ไม่ควรเกรงกลัวความคิดเห็น หรืออิทธิผลของธุรกิจที่ขู่ว่าจะกระทบ หรือจะย้ายฐานการลงทุน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ย้ายฐานกันง่ายๆ เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านก็พิสูจน์ว่ามาบตาพุดมีความเหมาะสมในการลงทุนมากที่สุด เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวเห็นได้ว่าทิศทางการพัฒนาของมาบตาพุดที่กระทบชาวบ้านจะต้องหาจุดปรับเปลี่ยนกัน และเมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษรัฐบาลก็ควรถือโอกาสค่อยๆ ปรับตัวทั้งฝ่ายธุรกิจและประชาชน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net