Skip to main content
sharethis


อัจฉรา รักยุติธรรม
โลคัลทอล์ค


ในห้วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวขององค์กรชาวนากลุ่มต่างๆ ในกรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์เพื่อผลักดันให้รัฐขยายเวลาการใช้แผนการปฏิรูปที่ดิน (Comprehensive Agrarian Reform Program -CARP) ซึ่งมีกำหนดเวลาสิ้นสุดแผนในปลายปีนี้



และในประเทศไทยก็มีการเคลื่อนไหวของ กลุ่มชาวนาจำนวนมากได้ปักหลักชุมนุมค้างคืนอยู่ที่หน้าอาคารรัฐสภา ขณะที่ชาวนาบางส่วนผลัดกันอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายปฏิรูปที่ดินฉบับใหม่ ในบางช่วงเวลาของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มชาวนาก็พากันยกโขยงบุกยึดสภาฯเป็นระยะๆ จนกระทั่งวันอังคารที่
16 ธันวาคม ชาวนายอมถอนตัวออกจากที่มั่นเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับปากที่จะผ่านมาตรการต่อเวลาเพื่อใช้กฎหมายฉบับเก่าในการปฏิรูปที่ดินเอกชนและที่ดินสาธารณะออกไปอีกหกเดือน ก่อนที่จะมีการจัดเตรียมร่างกฎหมายการปฏิรูปฉบับใหม่



วิ่งเพื่อที่ดิน วิ่งเพื่อสิทธิ



ในช่วงเดียวกันของการเคลื่อนไหวดังกล่าว ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาบาทหลวง
Fr. Robert Reyes ร่วมกันชาวนาชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 200 คน จัดขบวนรณรงค์ในกรุงมะนิลาโดยการออกวิ่งเพื่อเรียกร้องร้องให้รัฐบาลขยายเวลาการใช้แผนการปฏิรูปที่ดินและปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนสิ้นปี 2008



ชาวนาที่มาร่วมขบวนโดยส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าที่ดินทำกิน และส่วนหนึ่งเป็นชาวไร้อ้อยที่ใช้ที่ดินของตระกูลนายทุนใหญ่ในประเทศ ชาวนาส่วนมากเป็นผู้สูงอายุวัย
50-70 ปี พวกเขาไม่หวั่นต่อการเดิน-วิ่งในระยะไกลทั้งๆ ที่เป็นมันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พวกเขายังได้หอบหิ้วเอาหลานๆ ซึ่งต้องหยุดเรียนเพราะความยากจน และบรรดาแม่บ้านที่มาร่วมคาราวานครั้งนี้ด้วย



พวกเขาต้องการเรียกร้องให้สาธารณะชนและสื่อต่างๆ หันมาสนใจผู้สูงอายุและคุณค่าของครอบครัวพวกเขา พวกเขาต้องการความมั่นใจว่าจะไดรับการสืบทอดที่ดินที่เป็นผลผลิตจากความเหนื่อยยากของบรรพบุรุษของพวกเขาเอง โดยการเรียกร้องให้แผนการปฏิรูปที่ดินเป็นแผนที่มีความเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแค่แผนปลิ้นปล้อนของบรรดาผู้แทนราษฎรเท่านั้น



บาทหลวง
Reyes เริ่มวิ่งออกจาก Hacienda Luisita ซึ่งเป็นที่ดินของครอบครัวอดีตประธานาธิบดีโคราซอนอาควิโน เขากล่าวว่า "เพื่อเตือนใจประชาชนถึงความล้มเหลวของกฎหมายการปฏิรูปการเกษตร โครีอาควิโนสนับสนุนกฎหมายปฏิรูปที่ดินแต่กลับยกเว้นการปฏิรูปที่ดินที่ Hacienda Luisita ปัจจุบันกฎหมายนี้ตายแล้ว และประธานาธิบดีกลอเรีย อาโรโย่ 1 ก็กำลังละเว้นการปฏิรูปที่ดินอาโรโย มันเป็นประวัติศาสตร์ที่กำลังซ้ำรอย"



บาทหลวง
Ryes กล่าวว่าพวกเขาจะวิ่งเป็นระยะทาง 157 กิโลเมตรภายในระยะเวลาสิบวันเพื่อประท้วงที่ประธานาธิบดีอาโรโย่ไม่ยอมปฏิรูปที่ดิน 157 เฮกแตร์ ที่ Hacienda Bacan ในหมู่บ้าน Guintubhan, Isabela, Negros Occidental ซึ่งชาวนาที่ทำงานอยู่ในในพื้นที่นี้ได้เรียกร้องเพื่อจะให้ได้ใบรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทะเบียนเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์นั้นกำลังจะบรรลุขั้นตอนสุดท้ายโดยจะมีผู้ได้รับประโยชน์ 67 คน แต่ปรากฏว่าแผนการปฏิรูปที่ดินได้สิ้นสุดลงเสียก่อน


 


เศรษฐกิจถดถอย เพราะไม่ปฏิรูปที่ดิน



ประเทศฟิลิปปินส์นับเป็นประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งที่ในอดีตประเทศนี้นับได้ว่ามีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก



เศรษฐกิจในประเทศฟิลิปปินส์เริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่กลางทศวรรษ
1980 เป็นต้นมาจากที่เศรษฐกิจที่เคยเจริญเติบโตในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ในทศวรรษ 1960 และ 1970 ก็ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2 ต่อปีนับจากปี 1985 ตลอดมา ปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ปัญหาทางเศรษฐกิจประการหนึ่งคือการที่ประเทศนี้มีอัตราการอพยพแรงงานไปทำงานในต่างประเทศสูงมาก โดยไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา และแคนนาดา เป็นต้น



ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเคยวิเคราะห์ไว้ใน มติชนรายวัน (
17 พ.ย.2547) ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ถดถอยเป็นเพราะความล้มเหลวในการปฏิรูปที่ดิน เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ภายใต้การบริหารประเทศด้วยระบบ "เศรษฐีธิปไตย"



ที่ดินส่วนใหญ่ภายในประเทศกระจุกอยู่ในมือของกลุ่มตระกูลผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในประเทศ ซึ่งพวกเขาได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของพวกเขาตั้งแต่สมัยที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมของสเปน
2 และเจ้าที่ดินเหล่านี้ก็ยังคงถือครองที่ดินไว้อย่างเหนียวแน่น



จดหมายข่าว
WTO Watch (2 มี.ค.2551) ระบุว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่มีความพยายามปฏิรูปที่ดินมาโดยตลอดนับตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของประเทศอเมริกา จนกระทั่งรัฐบาลได้ดำเนินโครงการปฏิรูปที่ดินที่มีผลิตภาพต่ำและพื้นที่รกร้าง (Comprehensive Agrarian Reform Program - CARP) ในกว่า 8.8 ล้านเฮกตาร์ (ซึ่งโครงการนี้กำลังจะสิ้นสุดลง)



แม้ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์จะมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินและมีแผนการปฏิรูปการเกษตร แต่เครือข่ายชาวนาไร้ที่ดินต่างๆ ก็ร้องเรียนมาโดยตลอดว่าที่ดินของเจ้าที่ดินผู้มีอิทธิพลทั้งหลายมักได้รับการยกเว้นทั้งอย่างเป็นทางการและโดยการคอรัปชั่นให้ไม่ต้องปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายและแผนการปฏิรูปเหล่านั้น



ด้วยความล้มเหลวของการปฏิรูปที่ดินทำให้ ในประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีแรงงานไร้ที่ดินเป็นจำนวนมาก ชาวนาเหล่านี้มีรายได้น้อยและมีคุณภาพชีวิตตกต่ำ เมื่อประเทศมีคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก รัฐบาลก็ไม่สามารถสร้างรายได้จากการเก็บภาษีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ มิหนำซ้ำเจ้าที่ดินและคนร่ำรวยในประเทศยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่หาทางหลบเลี่ยงภาษีได้ง่ายๆ



ผาสุกชี้ว่าในช่วงเวลา
19 ปี จาก 1983 ถึง 2002 รัฐบาลฟิลิปปินส์เก็บภาษีได้น้อยลง ขณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง และมีอัตราการเพิ่มประชากรสูง ดังนั้น หนี้สาธารณะจึงพอกพูนขึ้นทุกปี จนภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในระดับวิกฤต ภาคอุตสาหกรรมถดถอย และลดบทบาทเป็นหัวจักรของระบบเศรษฐกิจ ภาคเกษตรก็มีปัญหา และไม่สามารถดูดซับแรงงานที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงทุกปี



ผาสุก พงษ์ไพจิตรวิเคราะห์ว่า


"ปัญหาที่ดินและความยากไร้ เป็นมูลเหตุของขบวนการต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่มหลายพวก และมีหลายกลุ่มซึ่งจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลให้นักลงทุนทั้งชาวฟิลิปปินส์เองและนักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนออก ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอีกสถานหนึ่ง


ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีเพียงแต่แรงงานไร้ฝีมือที่ไปเสี่ยงโชคต่างประเทศ คนชั้นกลางที่มีการศึกษาจำนวนมากก็หางานทำไม่ได้ และพวกเขาก็เดินทางไปทำงานต่างประเทศเช่นกันพวกที่อยู่หลังจึงมีจำนวนลดน้อยลง พวกเขาเหนื่อยหน่ายกับชะตาชีวิต และดูเหมือนว่าจะปลงกันไปเสียหมด"


 


อ้างอิง :


1 ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย (Gloria Macapagal Arroyo) ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2547


2 ฟิลิปปินส์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนกว่าสามร้อยปี จนกระทั่งประชาชนรวมกำลังกันปฏิวัติและประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2441 แต่ในช่วงนั้นเกิดการสู้รบระหว่างอเมริกาและสเปน ซึ่งสเปนพ่ายแพ้และยอมลงนามในสนธิสัญญาปารีสเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2441 ระบุยกฟิลิปปินส์ให้เป็นของอเมริกาในวันที่ 21 ธันวาคม 2441 ทำให้การประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2441 ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ อิสรภาพที่แท้จริงของชาวฟิลิปปินส์มีขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2489 ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ถือเอาวันนี้เป็นวันประกาศอิสรภาพของประเทศมาจนถึงปี 2505 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 12 มิถุนายนของทุกปีแทน เพราะเป็นการลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์


 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง


ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2547, "เศรษฐีธิปไตย บทเรียนจากฟิลิปปินส์" คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ ในมติชนรายวัน 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9748 อ้างใน http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q4/article2004nov17p1.htm


ผู้จัดการออนไลน์ 17 ธันวาคม 2551


ข้อมูลเผยแพร่จาก องค์กร UNORKA Philippine

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net