Skip to main content
sharethis

2 .. 52 - แรงงานทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นในวันแรงงานสากลปีนี้ เนื่องจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ก้อนหินระเบิดเพลิงปลิวว่อนและมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายจุด ส่วนปัญหาสำคัญของแรงงานทั่วโลกในปีนี้คือเรื่อง การเลิกจ้าง การลดสวัสดิการ และการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่นเคย


 
แรงงานฝรั่งเศสออกมาเดินขบวนมากกว่าในปีที่แล้ว
ที่มาภาพ: BBC


ที่เยอรมันผู้ประท้วงเผาทำลายข้าวของและมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ที่มาภาพ: AP



การเฉลิมฉลองที่จัตุรัสทักซิม ที่ตุรกีวันแรงงานพึ่งถูกรับรองให้เป็นวันหยุดประจำชาติในปีนี้
ที่มาภาพ: REUTERS


 


ฝรั่งเศส สหภาพแรงงานหลักๆ 8 แห่งของฝรั่งเศสผนึกกำลังเดินขบวนใหญ่ที่ลานบาสตีย์ ซึ่งลานแห่งนี้ในอดีตเป็นที่ตั้งของคุกบาสตีย์ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 14 เป็นที่คุมขังนักโทษฐาน หมิ่นพระบรมราชานุภาพและเป็นศัตรูของราชวงค์ ทั้งนี้มีขบวนประท้วงทั่วประเทศฝรั่งเศสถึงกว่า 300 ขบวนในวันแรงงานที่ผ่านมา


ตำรวจฝรั่งเศสแถลงว่ามีการชุมนุมใหญ่ของแรงงานในเมือง สตราบูร์ก,  น็องซี, เม็ตซ์, และเบซางกอง โดยมีการชุมนุมมากกว่าวันแรงงานในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ตำรวจประเมินว่ามีแรงงานออกมาประท้วง 465,000 คนทั่วประเทศ แต่ตัวเลขของสหภาพแรงงานระบุว่ามีถึง 1.2 ล้านคนที่ออกมาประท้วงบนท้องถนนในวันศุกร์ ซึ่งปีที่แล้ว มีแรงงานเพียง 100,000-200,000 เท่านั้นที่ออกมาประท้วงในวันแรงงาน ทั้งนี้ฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาตัวเลขผู้ว่างงานที่สูงขึ้นจาก 25% เป็น 36% ในปีนี้


การเดินขบวนของกรรมกรฝรั่งเศสต่อเนื่องมาจากหลายเดือนที่แล้ว ที่แรงงานมียุทธศาสตร์การประท้วงด้วยการจับตัวนายจ้างไว้ (อ่าน: บทเรียนจากสหภาพแรงงานโซนี่ในฝรั่งเศส: การกักตัวผู้บริหาร ทางเลือกสุดท้ายของการต่อรอง?) ซึ่งเป็นวามโกรธแค้นหลังจากที่มีการเลิกจ้าง โดยการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศครั้งนี้แรงงานมีความต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองแรงงานในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก


อิตาลี ผู้นำสหภาพแรงงานได้ตัดสินใจเปลี่ยนการเดินขบวนในเมืองหลัก มาที่เมืองลากิลา ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา โดยเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คนและมีประชาชน 63,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย


ทั้งนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์การสร้างความสมานฉันท์กับผู้ที่สูญเสียงานหลายพันคน เมื่อธุรกิจในเมืองแห่งนี้ต้องล่มสลายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว


สเปน จากที่เคยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป แต่ปัจจุบันสเปนกลับเป็นประเทศที่มีตัวเลขผู้ว่างงานสูงสุด แต่มีแรงงานเพียงไม่กี่หมื่นคนออกมาเดินขบวนในวันแรงงานนี้ ทั้งนี้สหภาพแรงงานออกมาขู่ว่าถ้าหากรัฐบาลพรรคสังคมนิยมของสเปนทำตามคำขอร้องของกลุ่มธุรกิจและมีการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน จะมีการประท้วงจากแรงงานกว่า 70 กลุ่มและอาจจะมีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่


ตุรกี เพียงสัปดาห์เดียวหลังจากที่ทางการตุรกีประกาศให้วันแรงงานเป็นวันหยุดประจำชาติ ซึ่งมาจากการกดดันของขบวนการแรงงานในประเทศ นักสหภาพแรงงานได้เดินขบวนประท้วงในสถานที่ที่เคยถูกห้ามคือจตุรัสทักซิม และที่แห่งนี้เคยมีแรงงานเสียชีวิตไปหลายสิบคนในการประท้วงวันแรงงานในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา


ทั้งนี้มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ประท้วง และมีผู้ถูกจับกุมถึง 26 ราย โดยผู้ประท้วงได้ใช้ก้อนหินและระเบิดขวดขว้างใส่แถวตำรวจตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำ ด้านสมาชิกสหภาพแรงงานระบุว่ามีแรงงานประมาณ 5,000 คน เดินขบวนไปยังจตุรัสทักซิมเช่นกัน


เยอรมัน กลุ่มฝ่ายซ้ายกว่า 5,000 เดินขบวนในเมืองครูซแบร์กซ์ และมีกลุ่มฝ่ายซ้ายกับตำรวจปะทะกันในเบอร์ลิน มีการปิดถนนเผาสิ่งของ โดยมีผู้ถูกจับกุม 20 คน ในเบอร์ลินและอีก 200 กว่าคนในเมืองดอร์ทมุน ส่วนพวกขวาจัดกว่า 1,000 คน ก็มีการปะทะกับพวกฝ่ายซ้ายที่เมืองอูล์ม โดยโฆษกตำรวจกล่าวว่าการชุมนุมอย่างสันติบนท้องถนนสามารถทำได้ แต่เมื่อมีการเผาทำลายสิ่งของและปิดถนนก็ถือว่าเข้าข่ายการทำผิดกฎหมาย


ออสเตรีย มีผู้ถูกจับกุม 5 คนและมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 20 คนในการปะทะกันระหว่างขบวนผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เมืองลินซ์ โดยขบวนประท้วงวันแรงงานครั้งนี้ถูกจัดตั้งโดยส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์


กรีซ มีผู้ชุมนุมโดยสันติกว่า 6,000 คนในกรุงเอเธนส์ แต่ทั้งนี้ตำรวจเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงบางส่วน หลังจากมีการโจมตีธนาคารและทำลายกล้องวงจรปิดตามท้องถนน ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่การประท้วงได้รบกวนภาคคมนาคมอย่างรถบัส รถไฟ และเรือเฟอร์รี่ รวมถึงสายการบินภายในประเทศ


รัสเซีย ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายได้ 4 คน หลังจากการมีการขว้างระเบิดเพลิงใกล้กับวังเครมลิน และมีผู้ประท้วงอีกหลายสิบคนถูกจับกุมที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กด้วยเช่นกัน ส่วนในมอสโคว ผู้ประท้วงหลายพันคนที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เนื่องจากนโยบายที่ผิดพลาดในการบริหารประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ


ฮ่องกง แรงงานนับร้อยคนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงการปรับลดจำนวนแรงงานและลดชั่วโมงการทำงานลง อันเป็นผลมาจากความต้องการในการส่งออกลดน้อยลง ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงจะปรับตัวลดลง 2-3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552 โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งการสร้างงาน เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ว่างงานและกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเสียใหม่


ไต้หวัน แรงงานกว่า 12,000 คน พากันออกมาชุมนุมตามท้องถนนเพื่อประท้วงการว่าจ้างแรงงานที่ลดน้อยลง ซึ่งนับเป็นการออกมาชุมนุมในวันแรงงานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของไต้หวัน หลังจากอัตราการตกงานของไต้หวันเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


กัมพูชา มีผู้ใช้แรงงานกว่า 1,000 คน ได้ออกมาชุมนุมในกรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นและสวัสดิการที่ดีขึ้น พร้อมกับเรียกร้องให้หยุดการละเมิดต่อสมาชิกสหภาพแรงงาน



 


ที่มา:


http://news.yahoo.com/s/ap/20090501/ap_on_re_eu/eu_europe_may_day_9
http://wsws.org/articles/2009/may2009/mayd-m02.shtml


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net