Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วาด รวี


เผยแพร่ครั้งแรกใน onopen.com, 4 พ.ค. 52


 


 


ภาษาของอำนาจไม่จำเป็นต้องผ่านคำพูด ในวัฒนธรรมของอำนาจและการใช้ความรุนแรงระดับบุคคล "การกระทำ" คือการพูดที่ชัดเจนโดยมิต้องกล่าวขยายความ และในบทสนทนาต่อรองทางการเมือง การพูดผ่าน "ปฏิบัติการ" ก็เป็นการสื่อสาร ทั้งในกรณีที่ไม่สามารถยกหูพูดกันตรง ๆ และในกรณีที่ไม่มีอะไรต้องพูดกันอีกต่อไป


 


มีฉากหนึ่งในนิยายเรื่องสนิมสร้อยของ "รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งผมพอจะเล่าจากความทรงจำได้โดยเข้าใจว่าจะผิดเพี้ยนในรายละเอียด ในบ้านซึ่งถูกจัดไว้เป็นสถานบริการทางเพศแห่งหนึ่ง ระหว่างที่ตัวเอกกำลังเพลิดเพลินกับการดื่มอยู่ เสียงเอะอะก็ดังขึ้นจากโต๊ะของนักเลงต่างถิ่น เมื่อหนุ่มคุมซ่องเข้าไปพยายามไกล่เกลี่ย หนึ่งในชายกลุ่มนั้นก็เปิดชายเสื้อให้ดูด้ามปืนที่เหน็บไว้กับสะเอว ระหว่างที่แมงดาหนุ่มกำลังถูกคุกคามและตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ตัวเอกก็เข้ามาสอดแทรก แน่นอนว่าตัวเอกมีเพียงคนเดียวและปราศจากอาวุธ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามมีหลายคนพร้อมอาวุธ วิธีคลี่คลายสถานการณ์ของตัวเอกก็คือ บอกให้หนุ่มคุมซ่องซึ่งสนิทกันผู้นั้นไปหยิบเหล้ามาสองขวด ตัวเอกนั่งลงต่อหน้าคู่กรณี เมื่อเหล้าสองขวดวางลงตรงหน้าแล้วเขาจึงยกขวดหนึ่งขึ้นกระดกดื่มอย่างต่อเนื่อง จนหมดเหล้าหยาดสุดท้าย เขาวางขวดเปล่าลงตรงหน้า และส่งเหล้าอีกขวดให้กับคู่กรณีพร้อมสายตาท้าทาย กลุ่มชายฝ่ายตรงข้ามต่างพากันนิ่งอึ้งไปครู่หนึ่ง ตัวหัวโจกลังเลที่จะหยิบขวดเหล้าตรงหน้า สุดท้ายชายกลุ่มนั้นก็พากันถอยออกไปจากบ้านหลังนั้น (หลังจากชายกลุ่มนั้นจากไปแล้ว ตัวเอกก็เฉลยกับหนุ่มคุมซ่องว่า ด้วยอารามรีบร้อนพ่อหนุ่มคงจะหยิบขวดผิด เพราะสิ่งที่เขาดื่มไปจนหมดเมื่อครู่นั้นเป็นน้ำชาหาใช่เหล้า -โชคดีจริง! ถ้าเป็นเหล้าจริงกูอาจตายไปแล้ว HA HA!)


 


ผมอ่านนิยายเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังจดจำเค้าโครงของเรื่องราวในฉากนี้ได้ เชื่อว่าคนอ่านหลายคน รวมถึงตัวผมเองก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า หากเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นในชีวิตจริงแล้วมีใครอุตริไปทำอย่างตัวเอก ผลลัพธ์จะเป็นเช่นเดียวกับในนิยายนี้จริง ๆ หรือ


 


ในสมัยปัจจุบันนี้ คงเป็นการยากที่จะเชื่อว่าเรื่องจะลงเอยเหมือนในนิยาย แต่ในสมัยหนึ่งของอดีต ก็คงเป็นการไม่ยากนักที่จะเชื่อว่าเรื่องนี้เคยเป็นเรื่องจริงมาก่อน


 


ฉากจบของการ "ดวล" กันในลักษณะนี้จะเหมือนเดิมหรือไม่ในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่เราต้องทิ้งไว้ก่อน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนจากนิยายฉากนี้ก็คือความรุนแรงสามารถเปลี่ยนระดับได้ระหว่างการต่อรองด้วยชั้นเชิงทางอำนาจ (เหล้า/ปืน) และในการสนทนาผ่านอำนาจและการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ย่อมจะมีสิ่งที่เป็นเสมือนไวยากรณ์อยู่เสมอ (และไวยากรณ์นี้ย่อมจะเป็นที่เข้าใจกันสำหรับผู้อยู่ในบทสนทนา)


 


การสื่อความง่าย ๆ อย่างการหยิบปืนลูกซองขึ้นมาขัดของตาเฒ่าเมื่อมีหนุ่มต่างบ้านเข้ามาก้อร่อก้อติกกับลูกสาวถึงชานเรือนกลายเป็นเรื่องเล่าคลาสสิกที่ทุกคนเข้าใจความหมายกันเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการแสดงออกทางการเมืองในสถานการณ์ที่รัฐบาลประกาศว่า "ฉุกเฉินร้ายแรง" โดย นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (หรือตัวแทน) และ ผบ.เหล่าทัพ (ครบทุกทัพ) มาออกทีวีให้เห็นหน้าค่าตาโดยพร้อมเพรียงเพื่อให้รู้กันว่าอยู่ครบทุกท่าน ก็สื่อความหมายที่ทุกคน (รวมถึงฝ่ายตรงข้าม) เข้าใจได้เป็นอย่างดี


 


ในระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมาได้เกิดขบวนการแฉผ่านวิดีโอลิงก์ขึ้น แม้ว่าผู้ที่ถูกพาดพิงในขบวนการแฉนี้จะออกมาปฏิเสธ หากแต่ก็เป็นการปฏิเสธเพียงครึ่งเดียว (เพราะมีคลิปเป็นหลักฐานมัดอยู่) ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาเรื่อง "ใครจะเป็นนายกหลังรัฐประหาร" หรือ "จะทำให้ทักษิณหายไปได้ยังไง" จะพิสูจน์ว่าใครทำอะไรจริงหรือไม่อย่างไรไม่ได้ แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่า "การสนทนาในที่ลับ" นี้ ไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการของนักหนังสือพิมพ์หรือนักวิเคราะห์การเมือง หากแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างแน่นอน (ส่วนในการสนทนานั้นจะไม่ได้พูดอย่างนั้นหรือเป็นเพียงการพูดเล่นหรือไม่ก็ไม่สำคัญอีกต่อไปในข้อนี้)


 


การชุมนุมประท้วง, การเข้ายึดปิดสถานที่สำคัญ, การยื่นข้อเสนอต่อกัน หรือการแสดงความเห็นผ่านสื่อ ทั้งหมดนั้นเปรียบได้กับ "ไดอะล็อกของการต่อสู้ทางอำนาจและการใช้ความรุนแรง" ที่ปรากฏให้คนอื่นเห็น ซึ่งแน่นอนว่ายังมีการสนทนาในอีกพื้นที่อันเป็นส่วนหนึ่งของไดอะล็อกเดียวกันนี้ ซึ่งไม่ปรากฏให้ใครเห็น หรือถึงแม้ปรากฏก็มีเพียงผู้ที่อยู่ในบทสนทนาเท่านั้นที่จะเข้าใจได้


 


ดังนั้น การเข้าใจความหมายของข้อความแต่ละวรรคที่ถูกพูดผ่านปฏิบัติการทางการเมืองต่าง ๆ มากมาย ทั้งบนดินและใต้ดิน ย่อมไม่สามารถพิจารณาความหมายเฉพาะปฏิบัติการนั้น ๆ   หากแต่จำเป็นจะต้องเข้าใจไดอะล็อกทั้งหมดของการสนทนาซึ่งต่อเนื่องกันมา ทั้งในส่วนของบทสนทนาที่ปรากฏ และบทสนทนาที่ไม่ปรากฏ (แต่อาจจะถูกแฉ)


 


กรณีการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุลในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น  หากพยายามเข้าใจกรณีนี้ด้วยการมองแต่เพียงปมเหตุหรือแรงจูงใจในการสังหาร  ก็เท่ากับมองเหตุการณ์นี้เป็นเพียงกรณีอาชญากรรมเหมือนดังวินิจฉัย (หรือการพยายามชักจูง) ของท่าน ผบ.ทบ.  แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือกรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "ไดอะล็อก" ในเรื่องอำนาจและการใช้ความรุนแรงที่ผ่านมาตลอดตั้งแต่รัฐประหาร 2549  ปมเหตุหรือแรงจูงใจในการสังหารอาจไม่สำคัญเท่ากับ "คำพูด" ที่ถูกพูดโดย "ปฏิบัติการ" นี้ เพราะไม่ว่าการสังหารจะสำเร็จหรือไม่  ตัว "ปฏิบัติการ" ยังคงส่งความหมายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งความหมายที่เป็นการเฉพาะต่อใครคนใดคนหนึ่ง และความหมายที่อาจจะถูกตีความโดยสาธารณะ


 


ระดับแรก ความหมายสำหรับผู้ที่อยู่ในบทสนทนา ส่วนหนึ่งย่อมมีแต่ผู้ที่ร่วมสนทนาเท่านั้นที่จะเข้าใจ แต่อีกส่วนหนึ่งคนนอกวงสนทนาก็อาจจะสามารถตีความได้ ประการแรก ความหมายของการลอบสังหารครั้งนี้สื่อความชัดเจนกับ "ผู้นำของฝ่ายการเมืองบนท้องถนน" ทุกฝ่าย ไม่เลือกว่าเหลืองหรือแดง (หรือแม้แต่น้ำเงิน) ว่าชีวิตของพวกท่านนั้น ไม่มีหลักประกันในเรื่องความปลอดภัย  ประการต่อมา หากการกระดกดื่มเหล้าหมดทีเดียวทั้งขวดนั้น เป็นการแสดงความ "แข็ง" กว่า หรืออวด "เบอร์กระดูก" ว่าใหญ่กว่า การระดมอาวุธสงครามนานาชนิดอย่างไม่เหนียมอายของการลอบสังหารครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นการแสดงความแข็ง หรือเบอร์กระดูกได้เช่นกัน หรืออาจจะมีความหมายอื่นใดซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตีความที่ยกขึ้นเป็นตัวอย่าง ก็ขึ้นอยู่กับการเปิดโอกาสของไวยากรณ์ที่ผ่านมา


 


ระดับที่สอง ความหมายสำหรับผู้ที่อยู่นอกบทสนทนา หรืออันที่จริง คือความหมายสำหรับคนไทยทั่วไปทุกคน โดยเฉพาะคนที่ต้องการความสงบสุข  ตามที่มีผู้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้แล้วจำนวนไม่น้อย ซึ่งผมเองก็เห็นเป็นความจริงว่า การลอบสังหารครั้งนี้คือการยกระดับความเข้มข้นของการละเมิดกติกาในการอยู่ร่วมกัน หากเกมที่ผ่านมาคือเกม "เธอทำได้ ฉันก็ทำได้" ซึ่งเริ่มตั้งแต่การ "ล้ำเส้น" ของคนเสื้อเหลือง โดยเฉพาะการเข้ายึดปิดสนามบินสุวรรณภูมิ (แม้ว่าก่อนหน้านั้นคนเสื้อเหลืองจะชุมนุมประท้วงมาอย่างต่อเนื่องและเข้ายึดปิดสถานที่สำคัญอย่างทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวยังคงอยู่ในกรอบของการปะทะกันระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกับฝ่ายรัฐบาล แต่เมื่อเข้ายึดปิดสนามบินสุวรรณภูมิ การล้ำเส้นจึงเกิดขึ้นชัดเจน และการล้ำเส้นที่ว่าก็คือ กรอบของความขัดแย้งที่จำกัดฝักฝ่ายนั้น ได้ถูกพังลงไปแล้วตั้งแต่คราวนั้น)


 


ดังนั้น แม้ว่าระหว่างดูทีวีเราจะหงุดหงิดกับการตอบคำถามแบบพาซื่อของคนเสื้อแดงในท่วงทำนองเลียนแบบคำตอบของคนเสื้อเหลือง  เพื่อที่จะแสดงเกม "เธอทำได้ ฉันก็ทำได้" ออกมา แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเส้น (ในข้อนี้) ได้ขาดไปแล้ว และผู้ที่พังกติกา ก็คือผู้ที่คุมกติกาเอง เป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างยิ่งในการกอบกู้กติกาที่ตนเองได้พังลงไปกับมือ ในเมื่อผู้ที่ละเมิดนั้นไม่ถือว่ากติกาข้อนี้ยังมีอยู่ (และฉันก็ไม่ได้เป็นคนพังด้วย)


 


การพร่ำพูดว่าขอให้เห็นแก่ส่วนรวม หรือเห็นแก่ประเทศนั้น จึงกลายเป็นคำพร่ำพูดของคนที่หลับตาข้างหนึ่งให้กับการละเมิดกฎ และในเมื่ออีกฝ่ายพร้อมที่จะแตกหัก ก็ไม่มีกฎใด ๆ หรือแม้แต่หลักศีลธรรมเกี่ยวกับความชอบธรรมจะมากดเอาไว้ได้  เพราะในเมื่อคนไม่ตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎ กฎก็ไร้ความหมาย ทำนองเดียวกันเมื่อคนไม่เคารพในผู้ปกครอง หรือกระทั่งไม่ต้องการให้ปกครองแล้ว รัฐจะดื้อดึงปกครองได้อย่างไร


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสนทนาที่ผ่านมาทั้งหมดจะเห็นว่าไดอะล็อกนี้มีการใช้อำนาจและความรุนแรงในลักษณะต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ปรากฏ "การลอบสังหารด้วยอาวุธสงคราม" ขึ้นเป็นไวยากรณ์อย่างชัดเจน จนกระทั่งเกิดกรณีการลอบสังหารสนธิ ลิ้มทองกุล


 


โดยไม่ต้องเข้าถึงไดอะล็อกทั้งหมดก็สามารถมองเห็นได้ว่า การลอบสังหารด้วยอาวุธสงครามในครั้งนี้ส่งสารที่ชัดเจนอย่างน้อยสองประการ หนึ่ง ไดอะล็อกในที่ลับนั้นบัดนี้ถูกพูดผ่าน "ปฏิบัติการ" (ที่ไม่ปรารถนาจะพูดกันอีกต่อไป) แล้ว สอง ปฏิบัติการนั้น คือการละเมิดกฎข้อต่อมา หรือการล้ำเส้นครั้งที่สองนั่นเอง


 


หากสังคมไม่สามารถควบคุมการล้ำเส้นครั้งที่สองนี้ได้ ไวยากรณ์ "เธอฆ่าได้ ฉันก็ฆ่าได้" ย่อมจะเริ่มต้นขึ้นไปพร้อมกับยกระดับความรุนแรง ในเมื่อวันนี้มีข่าวลอบสังหารสนธิ จะแปลกอะไรถ้าพรุ่งนี้มีข่าวลอบสังหารทักษิณ และจะแปลกอะไรถ้าจะมีข่าวลอบสังหารนายก หรือคนต่อไป และต่อไป  เมื่อชนวนของการฆ่ากันถูกจุดขึ้น  ฝักฝ่ายจะไม่ได้มีเพียงสอง แต่อาจจะมีสาม สี่ ห้า หรือต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน เสื้อดำ เสื้อเขียว1 เสื้อเขียว2 เสื้อกากี1 เสื้อกากี2 ฯลฯ  สถานการณ์อันโกลาหล (ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่) จะเกิดขึ้น ใครก็อาจฆ่าใครได้ เพราะทุกฝ่ายมีความเป็นไปได้ที่จะหันมาเป็นศัตรูกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจะเข้มมากเข้มน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับ "เบอร์กระดูก" ของแต่ละคน เมื่อเวลานั้นมาถึง เฉกเช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าที่ถูกยึดเป็นสนามรบของเด็กช่างกลต่างโรงเรียน ไดอะล็อกของความรุนแรงซึ่งครอบคลุมทั้งประเทศก็จะไม่เปิดโอกาสให้การเป็นคนนอกบทสนทนาดำรงอยู่อีกต่อไป


 


คนที่ไม่อยากร่วม ก็จำเป็นต้องอยู่ร่วม โดยอาจจะทำได้เพียงหลับตาข้างที่เหลืออยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net