เปิดแผน "ไทยเข้มแข็ง 2555" ออก พ.ร.บ.กู้ 8 แสนล้าน

นสพ.ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้นัดนายกรณ์ จาติกวณิช รมว. คลัง นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง พร้อม ด้วยนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานรับผิดชอบ หารือในประเด็นที่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินภายใต้วงเงิน 800,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้การเบิกจ่าย งบประมาณของรัฐสะดุด

 

ขณะที่การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 จำเป็นต้องเร่งดำเนิน การ ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีแจ้งว่า รายได้ในปีนี้หายหดหายไปไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท

 

การประชุมวาระพิเศษดังกล่าวมีขึ้นที่กระทรวงการคลัง เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) หลังจากที่ข้าราชการระดับสูง และบรรดารัฐมนตรีช่วยแสดงความเห็นว่า รู้สึกอับอายขายหน้าที่ข้าราชการระดับรองอธิบดีกรมบัญชีกลางให้ สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า กระทรวงการคลังอาจจะต้องไปขอยืมเงินค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา และค่าธรรมเนียมวางศาลมาใช้ไปพลางๆ ก่อน โดย เหตุดังกล่าว ทำให้นายประดิษฐ์ต้องเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง พร้อมเชิญนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเพิ่งจะเดินทางกลับจากการเดินทางไปร่วมประชุมธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เข้า ร่วมประชุมด้วย

 

ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังจะเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาออกกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติกู้เงินในวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท และพระราชกำหนดพิเศษกู้เงินฉุกเฉินอีก 400,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินกู้ทั้งสิ้น 800,000 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดจะได้มีการหารือเพื่อกำหนดกรอบความจำเป็น และมาตรการที่จะใช้จ่ายเงินดังกล่าวกันในที่ประชุม ครม.อีกครั้งในเช้าวันนี้ (6 พ.ค.)

 

โดยแผนการกู้เงินดังกล่าว จะเป็นแผนการกู้เงินต่อเนื่อง 3 ปีภายใต้ "แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" โดยจะสิ้นสุดในปี 2555 แบ่งเป็นเงินกู้เร่งด่วน ผ่านการออกพระราชกำหนดฉุกเฉิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในวงเงิน 300,000 ล้านบาท ส่วนอีก 100,000 ล้านบาท จะนำไปชดเชยเงินคงคลังที่ได้นำออกมาใช้ ส่วนอีก 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะออกเป็นพระราชบัญญัติ เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา จะนำไปใช้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าการลงทุนในระยะเริ่มแรกจาก ปี 2552-2553 อาจจะใช้จ่ายเงินได้เพียง 400,000 ล้านบาท สำหรับแหล่งเงินที่จะใช้ในการกู้นั้น ส่วนใหญ่จะกู้เงินในประเทศ เนื่องจากยังมีสภาพคล่องเหลือในระบบจำนวนมาก และนอกจากเงินที่เหลืออยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถลงทุนในพันธบัตร รัฐบาลเพื่อปล่อยสภาพคล่องเข้าระบบได้อยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ ที่แต่ละกระทรวงเสนอมาแล้ว ยังเป็นการยากที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ ของการลงทุน ที่สำคัญ ข้าราชการแต่ละกระทรวงยังคงใส่เกียร์ว่าง และอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าตัดสินใจ จัดซื้อจัดจ้าง ด้วยเหตุที่กลัวจะถูกตรวจสอบ หรือถูกร้องเรียนว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ จึงไม่มีหน่วยงานใดลงมือทำงานตามแผนการที่ได้วางไว้

 

"ยิ่งไม่มีรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพผลักดันให้เกิดการลงมือทำในโครงการต่างๆ ก็ยิ่งไม่สามารถจะคาดหวังได้ว่า โครงการต่างๆ จะเดินหน้าไปได้อย่างไร" ข้าราชการระดับสูง กระทรวงการคลังเปิดเผย

 

นอกเหนือจากการออกกฎหมายกู้เงินในวงเงินดังกล่าวแล้ว ยังมีรายงานด้วยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณาแนวคิดเรื่องการนำเงินในบัญชีสำรองพิเศษซึ่งเป็นเงินกำไรสะสมจาก ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศมาใช้เพื่ออุดรูโหว่ในงบประมาณรายจ่าย เพื่อฉุดรั้งไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจปักหัวลงอย่างรุนแรงในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีนี้ ขณะเดียวกันเพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับทุนสำรองเงินตราที่หนุนหลังการพิมพ์ ธนบัตรอยู่ โดยเงินดังกล่าวที่จะนำมาใช้มีวงเงินราว 800,000 ล้านบาทด้วยกัน "ในระยะเวลา 2-3 ปีนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้เงินราว 2 ล้านล้านบาท เพื่อค้ำยันไว้ไม่ให้เศรษฐกิจร่วงจากปากเหวลงไป" ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 6 พ.ค. กระทรวงการคลังยังจะเสนอขออนุมัติกรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศสำหรับโครงการ 3 โครงการ ตามแผนการก่อหนี้ต่างประเทศประจำ ปีงบประมาณ 2552 ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2552 โดยรวมกรอบวงเงินที่จะขอกู้เงินประมาณ 311.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 10,277.20 ล้านบาท รวมทั้งจะมีการพิจารณาโครงการที่ถูกตัดออกจากการที่ ครม.ให้ปรับ งบประมาณปี 2553 ลง 200,000 ล้านบาทด้วย

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า วงเงินลงทุนของรัฐบาลจำนวน 1.56 ล้านล้านบาทนั้น จะกู้มาเพื่อใช้รองรับการลงทุนในปีงบประมาณ 2553 ที่จะเริ่มเดือน ต.ค.เป็นต้นไป จำนวน 4.89 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่ใช้ลงทุนในปีงบประมาณ 2554 จำนวน 5.2 แสนล้านบาท และเป็นวงเงินผูกพันเพื่อใช้ในการลงทุนในปีงบประมาณ 2555 อีก 5.6-5.7 แสนล้านบาท โดยนำเงินจากงบประมาณ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เงินกู้ และการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน หากใช้เงินตามแผนงาน คาดว่าจะสร้างงานใหม่ได้ 1.6 ล้านคน ใน 3 ปี และน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกปีละ 3-5%

 

"ในการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการจัดทำแผนฟื้นฟูนั้น เมื่องบ 1.56 ล้านล้านบาทผ่านแล้ว จะมีการเร่งใช้ลงทุนในปีนี้จริงๆ ตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค.ไม่น้อยกว่า 1.3-1.6 แสนล้านบาท โดยจะเน้นหนักไปในเรื่องการสร้างระบบชลประทานขนาดเล็กประมาณ 7,000-8,000 แห่ง ถนนปลอดฝุ่นในพื้นที่ต่างๆ ร่วม 7,500 สาย รวมถึงการสร้างแฟลตที่พักอาศัยให้กับตำรวจ ข้าราชการ สร้างโรงเรียน และสถานีอนามัยทั่วประเทศ" แหล่งข่าวเปิดเผย

 

สำหรับโครงการและแผนการลงทุนที่ต้องมีการจ้างที่ปรึกษาและเป็นโครงการลงทุนระบบรางรถไฟฟ้า โลจิสติกส์ และชลประทานระบบท่อนั้น จะเป็นการลงทุนจริงในปี 2554-2555 เนื่องจากมีกระบวนการในการประมูล

 

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปทั้งหมดเกี่ยวกับการจัดสรรเงินลงทุนในโครงการด้านต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว โดยการใช้เงินลงทุนผ่านโครงการต้องการเน้น การลงทุนในโครงการที่ไม่ใหญ่โตมากนัก เพราะต้องการให้เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

"การใช้เงินผ่านงบประมาณของรัฐบาลไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ต้องหาแหล่งเงินทุนจากการกู้มาทดแทน และรัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติม" นายศุภรัตน์ กล่าว

 

ที่มา: ไทยรัฐ และโพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท