‘ภาคีคนฮักเจียงใหม่’ ห่วงปัญหาขยะ-สุรา-รถยนต์-รับน้อง กระทบประเพณี ‘เดินขึ้นดอยสุเทพ’

 

ภาคี คนฮักเจียงใหม่เผยแพร่รายงานระบุปัญหาการทิ้งขยะโดยขาดการจัดการ สุรา ยวดยานพาหนะ สร้างปัญหาให้กับประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพเนื่องในวันวิสาขบูชา เป็นการรบกวนผู้แสวงบุญ และสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่ดอยสุเทพซึ่งเป็นเขตอุทยาแห่ง ชาติ เผยภาพนักศึกษาผสมโรงจัดรับน้องระหว่างงาน บุญวอนทุกฝ่ายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ภาคีคนฮักเจียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใน จ.เชียงใหม่ ได้แถลงข่าวและเปิดเผยรายงานถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในงานประเพณีการเดินขึ้นดอย สุเทพในคืนก่อนวันวิสาขบูชา
เนื่องจากในแต่ละปีชาวเชียงใหม่ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น ได้จัดให้มีประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ ก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชน อย่างไรก็ตาม ได้เกิดปัญหาการทิ้งขยะที่ไม่เป็นที่เป็นทาง มีปริมาณขยะที่มีจำนวนมาก และมีการเสพสุราของมึนเมาในระหว่างทางที่เดินขึ้นดอยสุเทพอีกด้วย
ศ.ดร.เฉลิม พล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวว่าการจัดกิจกรรมประเพณีดังกล่าวกำลังเปลี่ยนไปในทางเสื่อม โดยมีการดื่มสุราและส่งเสียงเอะอะรวมถึงมีการทิ้งขยะจำนวนมากตามเส้นทางเดิน ไปยังพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งจากการสังเกตการณ์ของอาสาสมัครภาคีคนฮักเจียงใหม่ในปี 2551 ระบุว่ามีประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน และพบว่ามีจุดบริการอาหารและเครื่องดื่มและร้านค้าทั่วไปตามรายทางนั้นกลาย เป็นจุดที่สร้างขยะประเภทโฟมและพลาสติกจำนวนมหาศาล และร้านค้าบางร้านนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาวางจำหน่าย ซึ่งมีวัยรุ่นบางส่วนที่มาร่วมงานเดินขึ้นดอยไม่เห็นความสำคัญของประเพณี เดินขึ้นดอยสุเทพและไม่ทราบวัตถุประสงค์หรือความงดงามของประเพณีเดินขึ้นดอย เนื่องจากส่วนใหญ่มาเพื่อที่จะเดินเที่ยวเล่นและส่งเสียงอึกทึกครึกโครม
นอกจาก นี้ยังพบว่ามีนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งใช้งานประเพณีเดินขึ้นดอยสุ เทพ ไปจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับน้องใหม่ ร้องเพลงไม่สำรวม ส่งเสียงดังรบกวนผู้ที่ต้องการมาเดินอย่างสงบตามประเพณีที่ดีงาม รวมไปถึงมีการเสพสุราของมึนเมาในระหว่างทาง โดยระหว่างการแถลงข่าวได้มีการเผยแพร่ภาพการจัดรับน้องระหว่างประเพณีเดิน ขึ้นดอยสุเทพ ของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ของสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งด้วย
โดย การจัดงานในปีที่ผ่านมาพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจบริการให้ความปลอดภัยระหว่าง ทางน้อยเกินไป และไม่มีตำรวจราจรคอยอำนวยความสะดวกระหว่างทางเดิน ทั้งที่ปล่อยให้รถคณะทำงานส่วนหนึ่งและรถขนส่งสาธารณะอย่าง 4 ล้อแดงวิ่งวนขึ้นลงเพื่อรับคนระหว่างทางได้ ทั้งยังสร้างปัญหาให้กับประชาชนที่มาร่วมงานมากทั้งกลิ่นควันรถ ขบวนแห่ติดขัดไม่สามารถเคลื่อนไปได้โดยสะดวก
ทั้งนี้สภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้อุทยานแห่งชาติสุเทพ – ปุย ต้องรับภาระความสกปรกตามถนนขึ้นดอยสุเทพ ทั้งจากเศษขยะ เศษอาหาร ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ขณะที่ทางอุทยานมีเจ้าหน้าที่ไม่พอเพียงต่อการจัดการ ทำให้ต้องอาศัยอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเยาวชนและพระสงฆ์ มาช่วยเก็บขยะในเช้าวันถัดมา โดยทางภาคีคนฮักเจียงใหม่ได้เสนอแนวทางการดำเนินการไว้ดังนี้
1.จัดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมดูแลอย่างทั่วถึงและจริงจัง มีตำรวจจราจรดูแลเรื่องรถและจัดการจราจรอย่างมีระบบ
2. ห้ามใช้กล่องโฟม และแก้วน้ำ ขวดน้ำพลาสติกในจุดบริการต่างๆ ให้ใช้ภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น ใช้ภาชนะที่ล้างทำความสะอาดได้ และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะมาร่วมงานประเพณีเดินขึ้นดอย ควรพกน้ำดื่มขึ้นมาเอง โดยทางฝ่ายจัดงานมีจุดให้เติมน้ำดื่มตลอดเส้นทาง ทั้งนี้มีกฎหมายอุทยานฯ รองรับ เรื่องการห้ามใช้ภาชนะโฟมในการบรรจุอาหารเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ
3. ห้าม มีร้านจำหน่ายสินค้า-อาหาร ระหว่างทางทางเดินขึ้นตลอดเส้นทาง เพราะไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย นอกจากจะสร้างขยะแล้ว ยังทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ ของประเพณีเดินขึ้นดอยเสื่อมถอยลงไป เพราะดูเป็นงานมหกรรมอาหารมากกว่า
4. จุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีผู้มีจิตศรัทธามาตั้งจุดบริจาคทาน ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการจัดงานอย่างเป็นทางการ มีลายลักษณ์อักษร และต้องทำตามกติกาอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามมีการใช้ภาชนะบรรจุอาหารเป็นโฟม หรือพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง, ให้มีการจัดการเรื่องขยะ เช่น มีการแยกขยะ และมีการจัดสถานที่ให้ล้างภาชนะที่ใช้แล้ว โดยให้ผู้รับบริการรับผิดชอบล้างภาชนะเอง หรือ มีอาสาสมัครล้างให้
5. ห้ามรถ 4 ล้อแดงวิ่งขึ้นลงในช่วงเวลาที่ยังมีประชาชนเดินอยู่จำนวนมาก เพราะเป็นการรบกวนผู้ที่ตั้งใจจะมาปฏิบัติบูชาอย่างแท้จริง และสร้างมลพิษทั้งทางเสียง ควันพิษ และ อาจจะเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นได้
6. ขอความร่วมมือ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้งดกิจกรรมรับน้องในวันที่มีประเพณีทางพุทธศาสนาเช่นนี้
7. ห้าม นำเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้ามาในงานประเพณีเดินขึ้นดอย ซึ่งมีกฎหมายอุทยานฯ รองรับเรื่องการห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในเขตอุทยานฯ อยู่แล้ว
8. รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ และประเพณีที่ดีงามที่ควรปฏิบัติ
 
รายงานกิจกรรม “งานประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ”
วันที่ 18 พฤษภาคม 2551
โดย ภาคีคนฮักเจียงใหม่
 
ความเป็นมาของประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ
ประเพณี การเดินขึ้นดอยสุเทพนั้น เชื่อว่าคงจะมีการเริ่มกันตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ที่องค์พระบรม สารีริกธาตุ วัดสวนดอกแยกออกเป็น 2 องค์ ทำให้พระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองราชย์สมัยนั้น คิดหาสถานที่ที่จะสร้างวัดขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่ง จึงทรงทำการเสี่ยงทายในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 6 ของปีนั้น ทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล ถ้าช้างไปหยุด ณ จุดใด ก็จะใช้สถานที่นั้น เป็นที่สร้างวัดเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ช้างเสี่ยงทายเริ่มเดินออกจากวัดสวนดอก บ่ายหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพไปจนถึงยอดชั้นที่ 1 ชื่อดอยหมากขนุน หรือดอยช้างนูน และขึ้นต่อไปถึงยอดชั้นที่ 2 ชื่อ ดอยสนามยอด หรือดอยสามยอด ระหว่างทางช้างเกิดสั่นและหยุดพักช่วงหนึ่ง พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ จุดที่ช้างพัก ปัจจุบันคือ วัดผาลาด เมื่อช้างหายเหนื่อยก็ลุกเดินต่อมุ่งหน้าไปจนถึงชั้นที่ 3 ชื่อ ว่า ดอยสุเทพ ซึ่งขณะนั้นมีฤาษีวาสุเทพนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำ ช้างก็ไปหยุดและตายที่นั่น พระเจ้ากือนาจึงทรงให้สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพขึ้นตรงจุดนั้น และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ และในปัจจุบันมีการปั้นรูปช้างอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย
จาก จุดที่ช้างเดินจากวัดสวนดอกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเส้นทางที่เรียกว่า ด่านช้าง ภายหลังจากที่สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพเสร็จแล้ว พระเจ้ากือนาก็ทรงใช้เส้นทางดังกล่าวนี้เดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ จนกลายมาเป็นประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพสืบต่อมา ด้วยเชื่อว่าจะทำบุญให้ได้กุศลแรงจะต้องเดินขึ้นไปทำบุญที่วัด
ประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เรื่อยไปจนถึงเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นประเพณีที่ชาวเชียงใหม่ถือปฏิบัติสืบมาเป็นประจำทุปี เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นเอกลักษณ์พิเศษของชาวล้านนา
ต่อมาจุดเปลี่ยนแปลงของประเพณีเกิดขึ้นเมื่อปี 2477 เมื่อพระครูบาศรีวิชัยร่วมกับชาวล้านนาสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เพราะเส้นทางเดิมที่ใช้เดินขึ้นดอยระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ลักษณะเป็นทางเดินเท้า ทั้งสูงชันและคับแคบ ดังนั้นเมื่อเดินทางไปก็จะต้องพักแรมอยู่นมัสการอบรมสมโภชเป็นเวลาหลายวัน ถึงจะเดินทางกลับบ้าน เส้นทางที่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้นนั้น ได้ชื่อว่า ถนนศรีวิชัย ซึ่งในตอนแรกที่ทำถนนเป็นถนนดินลูกรัง ต่อมามีการปรับปรุงเป็นถนนลาดยางในปี 2524 เมื่อพระธาตุดอยสุเทพเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
ตามเส้นทางถนนศรีวิชัย ไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ พระครูบาศรีวิชัยและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นอีก 3 วัด คือ วัดโสดาบรรณ ปัจจุบันคือวัดศรีโสดา วัดสกินาคามี ปัจจุบันคือวัดผาลาด และวัดอนาคามี โดยวัดอนาคามีได้กลายเป็นวัดร้างในปัจจุบัน
พระครู บาศรีวิชัย ได้เปรียบการเดินทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพไว้ว่าเป็นเสมือนการเดินทางไปสู่ การ ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ของพระพุทธเจ้า โดยเปรียบเทียบวัดพระธาตุดอยสุเทพ คือวัดอรหันต์ ลักษณะการเดินทางจะเดินด้วยเท้า ถือประทีป ธูปเทียน เป็นริ้วขบวนประกอบด้วย พระสงฆ์เดินนำหน้าสวดมนต์ และประชาชนเดินตามหลัง โดยเริ่มขบวน ณ วัดศรีโสดา และนมัสการวัดสกินาคามี และวัดอนาคามี และเดินทางขึ้นไปนมัสการวัดพระธาตุดอยสุเทพ หลังจากนั้นก็บำเพ็ญศีลวิปัสสนา ทำบุญตักบาตรในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วจึงเดินทางกลับ จึงถือว่าได้อานิสงส์แรง หรือได้ทำบุญมาก
ประเพณี การเดินขึ้นดอยในยุคหลังครูบาศรีวิชัย นำสร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ นอกจากจะเป็นการเดินขึ้นไปปฏิบัติธรรม สักการะองค์พระบรมธาตุดอยสุเทพแล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงพระคุณแห่งครูบาศรีวิชัย ที่ได้เป็นผู้นำในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนี้อีกด้วย
 
ความเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมของงานประเพณีเดินขึ้นดอยในยุคปัจจุบัน
ประเพณี เดินขึ้นดอยยังคงศักดิ์สิทธิ์เสมอ คนเฒ่าคนแก่ต่างพูดถึงความประทับใจในงานประเพณีนี้แต่ดั้งเดิม ความงดงามและลึกซึ้งของประเพณีเดินขึ้นดอยที่คนเชียงใหม่แทบจะทุกคนเคยมี ส่วนร่วมกันทั้งนั้น แต่ปัจจุบันประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์งดงาม กำลังเปลี่ยนไปในทางเสื่อม ด้วยความรู้ไม่เท่าถึงการณ์ของผู้มาร่วมงานประเพณี และ ด้วยความไม่เอาจริงของผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดงาน ในการดูแลรักษาพื้นที่
ปี 2535 ทาง ศูนย์สื่อความหมายธรรมชาติ ได้จัดโครงการรณรงค์ฟื้นฟูประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพขึ้นใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือเขต 1 เชียงใหม่ และจังหวัดเชียงใหม่ โดยยึดถือเอาประเพณีดั้งเดิมมาเป็นต้นแบบ และได้นำเอาสิ่งอื่นๆเข้ามาผสมผสานใหม่ให้เป็นแนวทางที่เหมาะสม เช่น ให้มีขบวนอย่างเช่นในสมัยพระเจ้ากือนา กิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนการปลูกฝังให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่ การตั้งจุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม
 การ ฟื้นฟูประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นประเพณีที่ดีงามทางศาสนา แต่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานควรจะมีการจัดการที่เด็ดขาด เพื่อให้ประเพณีคงความงดงามและศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป
 แต่ ในความเป็นจริง ปัจจุบันงานประเพณีเดินขึ้นดอยได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เช่น มีการตั้งร้านค้าเพื่อจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ( แอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ) การตั้งจุดแจกอาหารและน้ำดื่มที่เป็นการสร้างขยะ มีการรับน้องของมหาวิทยาลัยซึ่งถือโอกาสที่มีการเปิดพื้นที่ในตอนกลางคืนมา จัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม นอกจากนั้นยังพบว่าวัยรุ่นบางกลุ่มใช้วันประเพณีเดินสุเทพขึ้นดอยเพื่อความ สนุกเฮฮา ดื่มสุรา ร้องเพลง ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น มีการทะเลาะวิวาทชกต่อยกันในกลุ่มของวัยรุ่น รุนแรงถึงขนาดมีการใช้อาวุธปืน เป็นคดีความกันทุกปี ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้มีจิตศรัทธาที่มาร่วมแสวงบุญตามความเชื่อของ โบราณประเพณี
จาก การดำเนินงานตามโครงลดขยะบนดอยสุเทพ ทำให้พบว่าพื้นที่อุทยานสุเทพ - ปุยบริเวณบ้านดอยปุย บ้านภูพิงค์ และบ้านดอยสุเทพ เป็นพื้นที่ที่กำลังประสบกับปัญหาการจัดการขยะ มีขยะจำนวนมากถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น นำไปทิ้งในที่สาธารณะ ไม่มีการคัดแยกขยะ มีถังขยะไม่เพียงพอ ฯลฯ เพื่อเป็นการไม่สร้างปัญหาขยะเพิ่มในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ- ปุย ภาคีคนฮักเจียงใหม่และชมรมเพื่อดอยสุเทพ จึงได้อาสาเข้ามาร่วมรณรงค์การไม่สร้างขยะบนบนสุเทพในวันประเพณีเดินขึ้นดอย โดยได้จัดทำป้ายผ้ารณรงค์ไปติดตามจุดต่างๆเพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนไม่สร้าง ขยะบนดอยสุเทพเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เช่น ถนนห้วยแก้ว ถนนสุเทพ ฯลฯ ทำสปอร์ตโฆษณาทางวิทยุเพื่อเผยแพร่ตามสถานีวิทยุต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำนิทรรศการเพื่อลดขยะติดตามจุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนการทำงานประชาสัมพันธ์ของทีมประชาสัมพันธ์การจัดงานประเพณีเดินขึ้น ดอย ได้ส่งผลให้ในปี 2551 จำนวนขยะที่เกิดจากงานประเพณีลดลงไปจากปีที่แล้วกว่า 50 % (จากการให้สัมภาษณ์ของอาสาสมัครที่ร่วมกิจกรรมเก็บขยะมาทุกปี และ เจ้าหน้าที่ของเทศบาลสุเทพ ที่มีรถขยะมารับขยะ)
ถึง แม้จำนวนขยะจะลดลงถึง 50% แต่จากการไปสำรวจ และไปร่วมเก็บขยะกับกลุ่มเยาวชนปางแฟน และ กลุ่มเยาวชนเส้นสีรุ้ง ในช่วงเช้าของวันที่ 19 ยังพบว่ามีขยะประเภทโฟม และพลาสติกถูกทิ้งอยู่ตลอดสองข้างทางตั้งแต่บริเวณสวนรุกชาติไปจนถึงวัดพระ ธาตุดอยสุเทพเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งควรจะมีการจัดการที่ดีต่อไปในปีหน้า เพื่อให้งานประเพณีเดินขึ้นดอยไม่เป็นงานที่สร้างความเสื่อมเสียต่อดอยสุเทพ และประเพณีการเดินขึ้นดอย
 
ภาคผนวก

ขบวนแห่ที่แสดงถึงประเพณี และแรงศรัทธา

จุดบริการอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการสร้างขยะจำนวนมหาศาล

ร้านค้าทั่วไป ซึ่งไม่ควรมีเพราะสร้างขยะและสร้างความเสื่อมเสียต่องานประเพณี

กิจกรรมที่ไม่เหมาะสม จากนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง

ขยะที่เกิดขึ้นจากประเพณีเดินขึ้นดอย

การเก็บขยะ ภาระของพระสงฆ์ และ เด็กๆ

อาสาสมัครเก็บขยะจาก กลุ่มเยาวชนเส้นสีรุ้ง นำโดย ค่ายเยาวชนปางแฟน

กิจกรรมรณรงค์ของโครงการลดขยะบนดอยสุเทพ

ป้ายผ้ารณรงค์ลดขยะ
 
หมายเหตุ: ที่มาของภาพและคำบรรยายภาพโดย ภาคีคนฮักเจียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท