Skip to main content
sharethis


(
แฟ้มภาพ) ไซโลของโรงงานหนึ่งภายในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน (ที่มา: Prachatai.com)

ตามที่ระหว่างวันที่ 22-24 เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา มีการประชุมนานาชาติ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2551 (2008 Asia and Pacific Regional Health Impact Assessment Conference) หรือ HIA 2008 ที่ ศูนย์การประชุมดิเอ็มเพรส ถ.ช้างคลาน จ.เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีองค์กรและเครือข่ายด้านสุขภาพจาก 20 ประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ

โดย มีผู้แทนจากออสเตรเลีย บังคลาเทศ ภูฏาน บรูไน กัมพูชา แคนาดา จีน อินเดีย ลาว มาเลเซีย มัลดีฟ มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ซามัว หมูเกาะไซโลมอน เกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วมกว่า 300 คน

ทั้งนี้กิจกรรมระหว่างการประชุมในวันที่ 22-24 เมษายน 2552 จะมีทั้งการฝึกอบรม การปาฐกถาพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ การนำเสนอประสบการณ์ทำงาน และในวันที่ 23 เมษายน ได้มีการลงพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนเป็นกรณีศึกษา 5 พื้นที่ โดยหนึ่งในพื้นที่อบรมเชิงปฏิบัติการอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ อ.เมือง จ.ลำพูน

นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองนโยบายตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ซึ่งกำหนดให้มีการกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งเน้นให้มีการพัฒนาเมืองหลัก เมืองรองของภาคต่างๆ “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือขึ้นที่จังหวัดลำพูน”  จึง ผุดขึ้นมาตามการดำเนินการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เนื่องจากมีความเหมาะสมหลายประการ เช่น มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคแรงงาน วัตถุดิบทางการเกษตร ระบบสื่อสาร และการคมนาคม จึงได้มีการพัฒนาพื้นที่ริมถนนทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงกิโลเมตรที่ 69-70 (ลำปาง-เชียงใหม่) ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ประมาณ 1,788 ไร่ โดยเริ่มก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 และสร้างเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 โดยใช้ทุนทั้งสิ้นประมาณ 358 ล้านบาท

ปัจจุบันมีจำนวนนักลงทุนทั้งสิ้น 98 ราย สัญชาติของนักลงทุน ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย โดยมีจำนวนโรงงานรวม 75 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวน 25 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 32 ของทั้งหมด และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ 18 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 24 ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 11 โรงงาน อัญมณีและเครื่องประดับ 6 โรงงาน เครื่องหนัง 2 โรงงาน แปรรูปไม้ 2 โรงงาน การเกษตร 2 โรงงาน ก่อสร้าง 1 โรงงาน และอุตสาหกรรมอื่นๆ 6 โรงงาน

จากข้อมูลของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ระบุว่ามีจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติในโรงงานต่างๆ รวมทั้งหมด จำนวน 48,605 คน เป็นหญิงร้อยละ 64.42 และเป็นชาย ร้อยละ 33.58 โดยคนงานส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดถึงร้อยละ 62 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และมีร้อยละ38 ที่ เป็นคนในพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยจังหวัดลำพูนนั้นเป็นจังหวัดที่มีประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดใน พื้นที่ภาคเหนือ โดยผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายนั้นจะมีรายได้ต่อหัวประมาณ 10,000-15,000 บาท

การ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของเมืองลำพูนกับการเป็นนิคมอุตสาหกรรมมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งข้อดีที่เกิดขึ้น คือ คนส่วนใหญ่เห็นว่าการเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นการสร้างรายได้ให้ กับคนลำพูน และทำให้เด็กที่จบการศึกษาแล้วสามารถมีงานทำ ส่วนของข้อเสียหรือผลกระทบต่อประชาชน และแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนั้นมีทั้งปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน โดยมีชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จำนวน 18 แห่ง

 

มลพิษนิคมอ่วม ทำคนลำพูนซื้อน้ำกินปีละ 152 ล้านบาท ชาวบ้านไม่กล้าจับปลา

สำหรับ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีทั้งมลพิษทางอากาศและมลพิษทางน้ำ โดยมลพิษทางอากาศนั้นจะพบในชุมชนที่มีตั้งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม เช่น ชุมชนบ้านหนองเป็ดซึ่งอยู่ติดรั้วนิคมอุตสาหกรรมได้ประสบปัญหากลิ่นเหม็น รบกวนจากไอระเหยของสารเคมีที่ปล่อยออกมาจากโรงงานบริษัทมุงกระเบื้องหลังคา ซึ่งตั้งห่างจากชุมชนเพียง 100 เมตร (ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวได้ย้ายออกจากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือแล้ว) ส่วนมลพิษทางน้ำนั้นจะเห็นได้จากแม่น้ำกวงซึ่งเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่ สำคัญมักพบการปนเปื้อนน้ำเสียจากโรงงานจนทำให้ปลาในแม่น้ำตาย นอกจากนี้ยังเคยมีการสำรวจพบ สารฟลูออไรด์ สารหนู ในน้ำใต้ดิน ตอนนี้ไม่มีใครมั่นใจน้ำในแม่น้ำ โดยคนลำพูนซื้อน้ำดื่ม 152 ล้านบาท ต่อปี

นาย เจริญ มโนฬี เครือข่ายสิ่งแวดล้อมเมืองลำพูน เล่าว่า น้ำเสียจากโรงงานส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำกวงอย่างมาก โดยแต่ก่อนตนสามารถจับปลาจากแม่น้ำกวงมาเป็นอาหาร แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกลัวสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งของโรงงาน นายเจริญกล่าวต่อว่าตอนนี้ชาวบ้านไม่มีใครกล้าจับปลาจากแม่น้ำกวงแล้ว มีแต่แรงงานพม่าที่มาจับปลาเพราะไม่รู้ ถ้าจะจับปลาจริงจะทำเฉพาะวันที่น้ำไหลแรงๆ เท่านั้นเพราะสารพิษน่าจะถูกชะล้างไป

“โดยส่วนตัวเชื่อว่าการสร้างฝายน้ำล้นที่บริเวณต้นน้ำแม่กวงก็เพื่อเป็นการปิดบังน้ำเสียจากอุตสาหกรรม  หลัง จากที่มีการสร้างโรงงานเคยเอาน้ำแม่กวงไปรดต้นพริก ปรากฏว่าต้นพริกออกผลมางอ คือน้ำไม่เหมือนเดิมแล้ว ที่เคยทำกระชังปลาไว้ก็ต้องเอาออก ปลาอยู่ไม่ได้”

ส่วน ปัญหาการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคที่ชุมชนมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ เกิดจากสาธารณูปโภคที่สร้างขึ้นนั้นไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิด ขึ้น เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูนถูกออกแบบมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการเกษตรแต่ ได้มีการเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

นิคมทำให้เกิดผลกระทบเศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม เด็กเล็กอยู่ลำพังเพราะแม่ต้องเข้าโรงงาน

สุ พรรณี ศฤงฆาร จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ว่ามีค่านิยมการเปลี่ยนคู่นอนซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา ทั้งครอบครัวแตกแยก รวมไปถึงการหย่าร้าง นอกจากนี้ยังพบปัญหาการปล่อยให้เด็กอยู่หอพักตามลำพัง เนื่องจากขาดสถานที่รับเลี้ยงเด็กในสถานที่ทำงานตามเวลาการทำงานของผู้ ปกครอง  ยิ่งไปกว่านั้นยังพบปัญหาการจราจรและ อุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนและการเพิ่มขึ้นของประชากรใน เขตเมือง เนื่องจากมีแรงงงานที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่มีนิคมอุตสาหกรรมนั้นความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเริ่มลดลง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีน้อยลง

นอกจากนี้ยังพบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยจากผลการสำรวจและตรวจเยี่ยมโรงงานอุตสาหกรรมประจำปี พ.ศ. 2550 ซึ่งทำการสำรวจโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากว่า 50 คนขึ้นไป จำนวน 62 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และเป็นโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ พบการผิดปกติจากสภาวะการมองเห็นมากที่สุด ร้อยละ 24 ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาในการทำงานเป็นเวลานานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ รองลงมาคือสมรรถภาพการได้ยิน ร้อยละ 17 ซึ่งอาจเกิดจากการทำงานที่อยู่ในสภาพที่ได้รับเสียงดังเป็นระยะเวลานานหรือไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

ทาง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้มีการรวมตัวร้องเรียนกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดและ ผู้ว่านิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ซึ่งก็ได้มีการรายงานคุณภาพน้ำในแม่น้ำกวงทุกเดือน แต่ทางชาวบ้านมองว่ารายงานดังกล่าวนั้นมีการปิดบังข้อเท็จจริงบางส่วน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำกวงได้ส่งผลให้เกิดผักตบชวา เป็นจำนวนมากและชาวบ้านไม่สามารถนำทรายจากลำน้ำมาใช้ได้เหมือนเดิม ดังนั้นประเพณีขนทรายเข้าวัดในปัจจุบันจึงเป็นทรายที่องค์การปกครองส่วนท้อง ถิ่นจัดซื้อมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ขนทรายเข้าวัดตามเดิม

 

แรงงานไม่ไว้ใจผลตรวจสุขภาพประจำปี เกรงไม่น่าเชื่อถือ พอไปตรวจเองเจอโรคอื้อ

นายรัชชานนท์ นนทะธรรม ประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) จังหวัดลำพูน กล่าวถึงผลกระทบด้านสุขภาพของแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมว่าถึงแม้ทางโรงงานได้ จัดให้มีการตรวจสุขภาพคนงานประจำปี แต่เป็นการตรวจซึ่งดำเนินการโดยโรงงานเท่านั้น จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลการตรวจที่ออกมานั้นสามารถเชื่อถือได้ เพราะที่ผ่ามาเคยพบกรณีที่คนงานซึ่งผ่านการตรวจสุขภาพจากทางโรงงาน แต่เมื่อไปตรวจด้วยตัวเองกับทางโรงพยาบาลกลับพบเจอโรคที่หมอยืนยันว่าเป็นผล มาจากการได้รับสารพิษที่มีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

สุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นักเคลื่อนไหวคนสำคัญในพื้นที่ ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมระดับประเทศอย่าง จ.ระยอง เคยกล่าวไว้ว่าการที่ชุมชนกับอุตสาหกรรมนั้นจะอยู่ร่วมกันได้นั้นอาจเป็น จริงได้แค่ในจินตนาการ แต่ในข้อเท็จจริงการอยู่ร่วมกันได้ของชุมชนและอุตสาหกรรมนั้นอยู่ในสภาพที่ ชุมชนมีฐานะเป็นผู้ถูกเบียดบัง

แม้ว่าการมาถึงของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือในปี พ.ศ. 2526 ตั้งแต่ เริ่มมีการก่อสร้าง จะได้นำเม็ดเงินมาสู่พื้นที่แห่งนี้พร้อมกับการที่ได้รับชื่อว่ามีรายได้ต่อ หัวสูงสุดในภาคเหนือ แต่สิ่งที่พ่วงตามมาหลังจากเม็ดเงินนั้นคือปัญหาที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต เดิมๆ และเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายังปัจจุบันและอาจจะดำเนินต่อไปในอนาคต หากชุมชนยังยอมรับ “การเบียดบัง” ที่เป็นอยู่ได้

 

ข่าว HIA 2008


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net