Skip to main content
sharethis

 

...สงครามเดียนเบียนฟู ให้ผลที่เราเรียกกันในภาษาใหญ่ว่า นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์การทหาร 3 ประการใหญ่ๆ หนึ่ง ชัยชนะที่เดียนเบียนฟู ของพี่น้องเวียดนาม นำไปสู่การกำเนิดของประเทศเวียดนามที่เป็นเอกราช สอง ชัยชนะที่เดียนเบียนฟู ตอกย้ำถึงการสิ้นสุดของระบอบอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ สาม เป็นการส่งสัญญาณถึงพี่น้องในหลายประเทศที่เป็นอาณานิคมว่า ถึงเวลาที่ต้องกู้ชาติแผ่นดินอยู่แล้ว...

 

บางตอนจากปาฐกถาความ โดย รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ในงาน สานมิตรสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม รำลึกครบรอบ 55 ปี เดียนเบียนฟู

 

 

 

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา  หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำนักพิมพ์มิ่งมิตร-บริษัทชนนิยม จำกัด จับมือกับพันธมิตร ได้แก่ ชมรมวัฒนธรรมไทย-เวียดนามสมาคมไททรงดำแห่งประเทศไทย และบริษัทออลซีซันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้จัดกิจกรรมเพื่อ สานมิตรสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม รำลึกครบรอบ 55 ปี เดียน เบียน ฟู                                                   

 

ในวันดังกล่าวมีการแนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับบุคคลสำคัญของเวียดนาม 3 เล่ม ได้แก่ โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ เขียนโดย ศุขปรีดา พนมยงค์, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ เขียนโดย ศุขปรีดา พนมยงค์ และ ปรีดา ข้าวบ่อ ส่วนอีกเล่ม ผู้คนและเส้นทาง ชีวประวัติของบ่าออ-นางดั่งกวิ่แอ็ง วีรสตรีเวียดนามผู้มาอาศัยในสยาม 40 ปีเซินตุ่ง เขียน แปลโดย แดงและ แฉล้ม เสงี่ยม

 

โดย ฯพณฯ Nguyen Duy Hung เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน หลังจากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อคนทำทางแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศุขปรีดา พนมยงค์, ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, ชิบ จิตรนิยม, ศ.อิทธิรุจน์ สุขเชษฐพงษ์ และ หวูแหม่งหุ่ง ดำเนินรายการโดย ปิยะกุล สุวรรณสัมฤทธิ์

 

ศุขปรีดา พนมยงค์ ผู้เขียน โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ (ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๔๙ และพิมพ์ไปแล้ว ๒ ครั้ง) กล่าวถึงความสนใจที่อยากรวบรวมข้อมูลและเขียน หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ ว่าเนื่องจากทางครอบครัวเป็นครอบครัวที่เกี่ยวพันทางการเมือง เป็นความเกี่ยวพันเพื่อความเป็นธรรม เพื่อความถูกต้อง และด้วยเหตุผลเหล่านี้ ตอนเป็นเด็กและเมื่อเติบโตขึ้นมาก็มีความรู้สึกว่า นอกเหนือจากปัญหาการเมืองทางเมืองไทยแล้ว ปัญหาการเมืองเพื่อนบ้านในขณะที่เขายังอยู่ในวัยเยาว์ เพื่อนบ้านหลายประเทศตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งอันนี้ทำให้เขามีความรู้สึกว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นธรรมและต้องการที่จะมีส่วนร่วมช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ตามอายุที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจากจุดนี้ทำให้ศุขปรีดาเริ่มสนใจและเริ่มเกี่ยวพันเมื่อปี 2497 (ค.ศ.1954) ซึ่งตอนนั้นยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 เป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลาย นุ่งกางเกงขาสั้น

 

พอ ต้นปี 2494 ได้มีกำลังเวียดมินห์ รุกเข้ามาจนถึงบริเวณท่าแขกและเผาคลังน้ำมันของฝรั่งเศสไหม้มาทางฝรั่ง นครพนมของไทย สถานีวิทยุเสียงเวียดนามได้กระจายเสียงเป็นภาษาไทย ศุขปรีดาติดตามข่าวด้วยความสนใจ ตอนนั้นอาจไม่ได้สนใจมาก แต่ว่าภูมิใจที่บัดนี้การต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพได้เกิดขึ้นและได้มั่นคง ขึ้นมาแล้ว จึงมีความสนใจที่อยากจะศึกษาเรื่องราว ยิ่งศึกษาเรื่องราวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งผูกพันมากขึ้น ยิ่งรักใคร่ประชาชนเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2497 ตอนนี้ก็เกือบๆ 60 ปี

 

ส่วนที่มาที่ไปในการเขียนถึงมหาบุรุษของชาวเวียดนามทั้งสองท่านคือ โฮจิมินห์และหวอเหงียนย้าป นั้น ศุขปรีดาเล่าให้ฟังว่า ใน ปี 1962-1963 มีโอกาสได้พบลุงโฮหลายหน ก็มีความสนิทสนมกันพอสมควร และเรียกท่านว่าลุง รู้สึกเคารพนับถือ เป็นเหตุดลใจให้ผมอยากให้คนไทยเข้าใจเวียดนามคือลุงโฮ ผมจึงได้เขียนหนังสือโฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ ชื่อหนังสือคุณขรรค์ชัย บุนปาน เป็นคนให้ความหมาย ผมใช้เวลา 5-6 เดือน ผมได้ศึกษามามากและตลอดเวลา ที่ทำหนังสือลุงโฮเป็นความภาคภูมิใจที่อย่างน้อย ได้สร้างมิตรภาพความเข้าใจของคนทั้งสองประเทศ ภูมิใจที่เป็นส่วนประกอบสร้างความเข้าใจระหว่างไทย-เวียดนาม ลุงโฮเป็นที่เคารพของหลายชั่วคน

 

หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ (2552) หนังสือเล่มล่าสุด ศุขปรีดาใช้เวลาในการเรียบเรียงและเขียนเป็นเวลาสองปี โดยเดินทางไปสัมภาษณ์นายพลหวอเหงียนย้าปด้วยตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่มีโอกาสได้พบท่านหวอเหงี ยนย้าปถึงห้าครั้งด้วยกัน ในหนังสือเริ่มต้นฉากชีวิตของหวอเหงียนย้าปตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงปัจจุบันที่ ท่านยังมีชีวิตอยู่และมีอายุ 98 ปี ส่วนที่ยากที่สุดสำหรับศุขปรีดาคือช่วงปฐมวัยของท่านหวอเหงียนย้าป

 

ศุขปรีดารู้จักกับนายพลหวอเหงียนย้าปครั้งแรก เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ (บิดา) ได้รับเชิญจากท่านโฮจิมินห์ให้ไปเยี่ยมราวๆ ปี 1962 โดยตอนนั้นนายปรีดีได้รับการต้อนรับในฐานะผู้บริหารของต่างประเทศ และท่านโฮจิมินห์ได้แนะนำให้รู้จักกับท่านหวอเหงียนย้าป

 

 

 

...จน กระทั่งปี ค.ศ.1930 ขณะหวอเหงียนย้าปอายุ 19 ปีนั้น โฮจิมินห์ได้ออกเดินทางจากสยามไปยังฮ่องกง และสามารถจัดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีอยู่สามพรรคให้รวมกันเป็นพรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และผลจากการนี้ทำให้หวอเหงียนย้าปเกิดความตื่นตัว ยกระดับจิตสำนึกทางการเมือง มองเห็นแนวทางการต่อสู้ที่ถูกต้องแจ่มชัด โดยมีองค์ประกอบของพรรคการเมืองที่เป็นพรรคนำ และผู้นำพรรคที่เด็ดเดี่ยวเป็นที่ยอมรับของชาวพรรคและคนทั่วไป บุคคลผู้นี้คือ โฮจิมินห์ ซึ่งในขณะนั้นรู้จักกันในนาม เหวียนอ๋ายก๊วก หรือแปลเป็นไทยว่า เหวียน ผู้รักชาติ

เมื่อ มีความศรัทธา มีความเชื่อมั่น หวอเหงียนย้าปในวัยหนุ่มมิได้ลังเลใจเลยในการเข้าเป็นสมาชิกแห่งพรรค คอมมิวนิสต์เวียดนามที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งการปฏิบัติงานของพรรคเป็นไปในลักษณะของงานใต้ดิน...

 

(บางส่วนจาก หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ หน้า 23)

 

 

ชิบ จิตรนิยม เล่าถึงนายพลหวอเหงียนย้าปว่า นาย พลย้าปคือผู้วางกลยุทธลับ ลวง พราง จนฝรั่งเศสตั้งรับไม่ทัน และท่านพูดว่า ชัยชนะของเวียดนามในเดียนเบียนฟูนั้น ไม่ใช่ของท่านเลย แต่เป็นของชาวเวียดนามทุกคน ท่านใช้วิธีแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นสงครามจรยุทธ์แบบเหมาเจ๋อตุง ยุทธการแบบป่าล้อมเมือง การรบแบบมั่นคง กระทั่งโอบล้อมฝรั่งเศสจนเวียดนามได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จ

 

ส่วนหนังสือ ผู้คนและเส้นทาง เขียนโดย เซินตุ่ง แปลโดย แดงและ แฉล้ม เสงี่ยม สะท้อนให้เห็นถึงความแน่วแน่ ความเด็ดเดี่ยว ความเข้มแข็ง ความอดทนของชาวเวียดนามโดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเข้ามาทำการเคลื่อนไหวในสยาม ซึ่งเมื่อก่อนสยามถือว่าเป็นฐานปฏิบัติการทางตะวันตกของเวียดนามในสมัยก่อน เพื่อจะต่อต้านฝรั่งเศส ความเสียสละของบ่าออสะท้อนให้เห็นถึงการไขว่คว้าอิสรภาพ เอกราชของชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกตัดขาด ถูกดึงออกไป ทุกคนในหนังสือเล่มนี้มีตัวตนจริงๆ อยู่ในประวัติศาสตร์ของชาวเวียดเกี่ยวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย

 

หนังสือ ทั้งสองเล่มจะเป็นสื่อกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับประเทศ เพื่อนบ้านในเอเชียอาคเนย์ เพื่อไปสู่จุดหมายสามอย่างคือ มิตรภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ ที่ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวเอาไว้ในปาฐกถาความเพื่อรำลึกถึง 55 ปี ชัยชนะแห่งเดียนเบียนฟู ของชาวเวียดนาม

 

ในตอนหน้า โปรดติดตาม ปาฐกถาความ ของ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ในวาระรำลึกครบรอบ 55 ปี เดียนเบียนฟู ที่ในตอนหนึ่งระบุว่า สงครามเดียนเบียนฟู ได้พิสูจน์อย่างชัดว่า อำนาจของพลังจิตใจของคนนั้น เอาชนะอำนาจของอาวุธ ซึ่งนักการทหารของโลกตะวันตกอาจจะไม่เคยเห็น!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net