ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์: เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก สัญวิทยา และ อำนาจของภาษา

เศรษฐศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์ เป็นสำนักที่พยายามมองเชื่อมโยงเศรษฐศาสตร์เข้ากับการเมืองและสังคมเสมอมา ถือเป็นความเด่นของที่นี่และการจัดซีรี่ส์การเสวนาครบรอบ 60 ปีก็เป็นตัวยืนยันว่าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จะเชื่อมโยงเศรษฐศาสตร์เข้ากับมิติอื่นๆ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่จะให้เป็นจุดแข็งหรืออ่อนก็แล้วแต่การวิเคราะห์

 

ชื่อ เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่เป็นชื่อเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ อาจินต์ ปันจพรรค์ ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2490 เป็น ชื่อที่เตะตาและสะกิดใจดีจึงขอยืมมาเป็นหัวข้อเสวนา โดยจะพูดจากเรื่องสั้นนี้แล้วดูว่ามันจะนำพาเราไปสู่ประเด็นทั้งเศรษฐศาสตร์ และไม่เศรษฐศาสตร์อย่างไรได้บ้าง

 

ช่วงต้นขอใช้เวลาพูดถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้ และจากนั้นจะนำไปสู่เรื่องอำนาจของภาษา หรือ ภาษากับอำนาจ

 

เรื่องย่อของ “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก”

เดิมเรื่องสั้นเรื่องนี้ตั้งชื่อไว้ว่า ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนเขียนไว้แล้วไม่ได้ตีพิมพ์ กระทั่งปี 2492 เขา ได้พบคุณอิงอร นักเขียนดังยุคนั้นซึ่งได้อ่านและเสนอว่าน่านำไปตีพิมพ์ แต่ขอเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็นเศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปี 2492 ซึ่งคงเป็นปีที่มีอะไรสำคัญเหมือนกันในทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อตีพิมพ์แล้วก็มีคนอ่านน้อยมาก พอถึงปี 2528 เป็นปีที่ในวงวรรณกรรมศึกษาไทยถือว่าครบรอบ 100 ปีเรื่องสั้นไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจึงมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น คุณอาจินต์ ก็เป็น 1 ใน 100 คนดีเด่น มีการออกหนังสือมาเล่มหนึ่งและตัวอย่างงานของคุณอาจินต์ก็เลือกเรื่องเศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกมาเป็นตัวอย่าง

 

เรื่อง นี้ยาวไม่ถึงสินหน้า ตรงไปตรงมา เป็นเรื่องราวของคนสองคนที่หนีรอดจากเรือเดินสมุทรที่อับปางแล้วลงเรือบดได้ คนหนึ่งเป็นกะลาสีเรือ คนหนึ่งเป็นเศรษฐี น่าสนใจตรงที่เรื่องทั้งหมดดำเนินไปบนฉากเรือเล็กๆ ลำนี้กลางทะเล โดยเปิดเรื่องมาว่า กะลาสีเรือนั้นก่อนจะหนีมาได้ฉวยขนมปังมาสองก้อน น้ำหนึ่งกระติก ส่วนเศรษฐีไม่มีอะไรติดตัวมาเลย นอกจากสมบัติที่ติดตัวอยู่ เช่น กระเป๋าเงินที่มีแบงก์ร้อยสีแดงจำนวนมหาศาลรวมหมื่นกว่าบาท นาฬิกา แหวน เสื้อผ้า รองเท้า 

 

ตอน เปิดเรื่องกลาสีเรือแสดงความเป็นมิตรด้วยการยื่นกระติกน้ำให้เศรษฐีจิบ และเอ่ยปากทำนองว่าเก็บไว้เลยก็ได้ ลงเรือลำเดียวกันแล้วยังไงก็ต้องช่วยกัน แต่เศรษฐีคนนี้พูดจาทักทายกับกลาสีเรือโดยเรียกเป็น “พี่ชาย” ซึ่งไปกระตุ้นต่อมความหมันไส้ในตัวกลาสีขึ้นมาเพราะรู้สึกว่าเป็นการพูดแบบ ไม่จริงใจ แล้วก็เกิดการเจรจาต่อรองกัน เพราะต้องอยู่ด้วยกันไปพักใหญ่ ขออ่านให้ฟังตอนที่กลาสีเรือพูด  “ในเรือลำนี้ไม่ควร มีการซื้อขาย ควรมีแต่มิตรจิตรมิตรใจ มันควรจะมีก็แต่การเห็นอกเห็นใจและการแบ่งปัน แต่ที่ใดมีเศรษฐีกับคนจนรวมกัน ที่นั่นต้องมีการสูบเลือดและอาฆาต ผมให้ไม่ได้แม้แต่กลิ่นของมัน ผมจะต้องขาย” นี่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องนี้ โดยกลาสีเรือบอกจะแบ่งขนมปังให้ก้อนหนึ่ง แต่เศรษฐีจะต้องเอาสมบัติที่ติดตัวทั้งหมดให้เขา เศรษฐีไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องจำยอมเพราะความหิว

 

เวลา ผ่านไปหนึ่งวันกับหนึ่งคืน เรือก็ไม่ถึงฝั่งเสียทีทั้งที่กลาสีหวังว่าจะถึงฝั่งภายในวันนั้น ขนมปังที่กินไปก็หมดและเขาเริ่มหิว ส่วนเศรษฐีกินและแอบเก็บขนมปังไว้หน่อยหนึ่ง พอเริ่มเข้าวันที่สอง สถานการณ์ก็กลับตาลปัตร กลาสีขอซื้อขนมปังคืนจากเศรษฐี เศรษฐีกล่าวว่า “เมื่อวานแกขายฉันราคาเท่าไหร่ จำได้ไหมล่ะ วันนี้ฉันจะขายแกบ้าง เอาขนมปังไปคำหนึ่ง แล้วเอาของทุกอย่างของฉันคืนมา น้ำจืดในกระติกด้วย ลองค้นกระเป๋าตัวเองดูด้วยว่ามีอยู่เท่าไหร่ ฉันเอาหมด” กลาสีก็พูดตามหลักของเขาว่า ราคาควรถูกลงตามส่วน เพราะเหลือน้อยลงตั้งเยอะ และเศรษฐีตอบว่า “อย่า ป่วยการพูดเรื่องสัดส่วน เพราะมันไม่ใช่บนบก เดี๋ยวนี้ แม้แต่เศษขนมปังนิดเดียวก็ต้องซื้อกันจนหมดตัว มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนสิ่งของ แต่อยู่ที่ความต้องการ ลงแกต้องการก็เป็นเสร็จฉันล่ะ” กลาสีก็โวยวายและบอกว่า “ลองดูซิว่ามันจะตายด้วยความหิว ไม่ซื้อ ข้าไม่ซื้อแก ข้าจะทนหิว” พอจบบทสนทนาครั้งนี้ เรื่องก็ตัดมาตรงตอนจบ คุณอาจินต์จบในลักษณะให้เป็นรายงานข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ต่อมาในวันที่ 5 มีเรือบดลำเล็กลอยเข้ามาใกล้ฝั่ง ชาวประมงช่วยกันออกไปรับเข้ามา และพบว่ามีบุคคลสิ้นชีวิตแล้ว 2 ศพอยู่ในนั้น สันนิษฐานว่าคนหนึ่งเป็นพ่อค้าใหญ่ที่โดยสารไปในเรือเที่ยวนั้น เพราะมีนาฬิกา แหวน กระเป๋าธนบัตรใบใหญ่ มีนามบัตรและเอกสารต่างๆ อีกคนหนึ่งมีเพียงเสื้อยืดกับกางเกงติดกาย เข้าใจว่าคงเป็นคนรับใช้หรือกุ๊กประจำเรือ เรื่องจบเพียงเท่านี้

 

สรุป แล้วตายทั้งคู่ แต่ตอนจบเราไม่รู้ว่าตกลงการต่อรองครั้งสุดท้าย กลาสีเรือเขายอมแลกหรือไม่ เรื่องไม่ได้บอกไว้ชัดเจน พูดในแง่ศิลปะการประพันธ์เรื่องสั้นเป็นแบบปลายเปิดให้เราตีความเอาเองว่า ท้ายสุดยอมหิวตายหรือยอมแลกสมบัติที่ได้มากับขนมปังคำเดียว

 

อุปสงค์ อุปทาน และสิ่งที่มากกว่านั้น

ประเด็น แรกสุด เรื่องสั้นนี้น่าจะนำไปใช้อ่านได้หลายวิชา อย่างน้อยมันยืนยันคำพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ขนาดไปลอยคอกลางทะเล รอวันตาย มนุษย์ยังพกพาเศรษฐศาสตร์ไปด้วย ไม่วายคิดถึงการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน การหาประโยชน์ มีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจผ่านการต่อรองของคนสองคนนี้ มโนสำนึกของความเป็นมนุษย์มีอยู่บ้าง แต่ก็เพียงชั่วดื่มน้ำหนึ่งจิบ ถ้าได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ เศรษฐีเป็นนิสัยชัดเจนว่าคิดสรตะในทุกเรื่องในเรื่องกำไรขาดทุน แม้แต่ตอนต้นเรื่องที่เรียกกลาสีเรือว่าพี่ชาย และเขายังคิดว่าจะเสนอซื้อเลยดีหรือลองขอดูก่อน แต่การคิดสรตะมากเกินไปก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง การเรียก “พี่ชาย” ไปกระตุ้นต่อมโกรธของกลาสีเรือ อาจเป็นการประเมินผิดพลาดของเศรษฐีที่คิดว่ากลาสีโง่ คนมักจะเชื่อมโยงว่าคนจนค่อนข้างจะโง่ ถ้าเราทำตัวดีๆ กับมันหน่อยมันก็จะดีกับเราเอง ซึ่งอันนี้ก็ผิดคาด

 

ประเด็น ถัดมา เป็นตัวอย่างคลาสสิกของหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เรื่องอุปสงค์ อุปทาน กรณีที่ผมก็รู้งูๆ ปลาๆ ในเรื่องกลไกการกำหนดราคาสินค้าก็คือ น้อยครั้งมากที่การกำหนดราคาสินค้าจะอิงกับมูลค่าใช้สอยของสินค้า แต่มักอิงกับมูลค่าการแลกเปลี่ยนซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทาน  ใน เรื่องเราก็เห็นว่าการที่กลาสีเรือสามารถเรียกราคาขนมปังซึ่งปกติซื้อขายกัน แถวละบาทในราคาแพงลิบหมื่นกว่าบาท เพราะว่ากลางท้องทะเล ขนมปังหาไม่ได้ อุปทานต่ำมาก และอุปสงค์ของเศรษฐีก็สูงมากเพราะหิว พอวันที่สองเหตุการณ์ดูเหมือนจะซ้ำรอยแต่กลับด้านกัน เป็นหลักของเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

 

ประเด็น ต่อมา ที่น่าสนใจที่ทั้งตัวละครเศรษฐีและกลาสีเรือชอบพูดกันบ่อย บนบกกับการทะเลเราใช้กันคนละระบบ เหมือนว่ามีมาตรฐานการซื้อขายกัน 2 มาตรฐาน ความจริงก็อาจมาตรฐานเดียว คือ อุปสงค์ อุปทาน แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมันไปเป็นตัวเร่ง ประเด็นที่เรื่องพยายามจะแยกให้เห็นมาตรฐานบก กับทะเล อาจไม่ถึงกับตรงนัก เพราะความจริงก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน พูดแบบนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีอีกมาตรฐานหนึ่งอยู่ มันมีแบบซ่อนๆ คือ ถ้าเราดูในเรื่องนี้จะเห็นว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันเกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกการที่กลาสีเรือยื่นกระติกน้ำให้เศรษฐีจิบ ให้แบบไม่หวังอะไรอาจจะหวังในเชิงน้ำใจ คุณค่า เป็นการแลกเปลี่ยนในระบบที่จะเรียกว่า การแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ (symbolic exchange) ก็ได้ คือ มูลค่าไม่ได้อยู่ที่เงินทองแต่อยู่ที่น้ำใจ หรือคุณค่าอะไรบางอย่าง เศรษฐศาสตร์สำนักใหม่ๆ ก็จะยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า การมอบแหวนแต่งงานในวันแต่งงานเป็น symbolic exchange หรือพูดด้วยคำง่ายๆ ว่ามันมีมูลค่าทางจิตใจ

 

ครั้งที่สอง  มี การต่อรองราคากัน กลาสีเรือเรียกสมบัติทั้งหมดของเศรษฐีแลกกับขนมปังหนึ่งแถว อันนี้เห็นชัดเป็นการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าในเชิงมูลค่การแลกเปลี่ยนแบบที่เรียกว่า exchange value

 

ครั้ง ที่สาม น่าสนใจ ดูเหมือนซ้ำครั้งที่สอง เศรษฐีเสนอกลับไปว่าสมบัติทั้งหมดแลกกับขนมปังคำเดียว ลองดูความในใจตอนที่เขาเจรจาแลกกัน เศรษฐีบอกว่า “ความจริงเขา (เศรษฐี) ไม่อยากได้สมบัติกลับคืนมามากเท่ากับต้องการยืนยันชัยชนะ ซึ่งจะต้องเป็นของนายทุนในบั้นปลาย” ในมุมของเศรษฐีการแลกครั้งนี้ไม่ได้หวังจะเอาเงินไปทำอะไร แต่เดิมพันที่เศรษฐีเห็นคือ ต้องสยบให้กลาสีนี้ให้ได้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่แค่เรื่องสมบัติแต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรี ชัยชนะ ซึ่งเป็นอะไรที่เพิ่มขึ้นมา ต่างจากการแลกครั้งที่สอง ทำนองเดียวกัน กลาสีเรือก็มองขนมปังนั้นด้วยเดิมพันที่ต่างไปจากเดิม คำพูดหนึ่งที่กลาสีเรือพูด “อดเอาๆ คนจนๆ อย่างเราอดได้ อดตายดีกว่าให้สมบัติถูกเปลี่ยนมือ” ความหมายที่ไม่ยอมให้สมบัติเปลี่ยนมืออาจมากกว่าความงก แต่เป็นความรู้สึกว่าสมบัติที่ได้มาเป็นชัยชนะอย่างหนึ่งที่ได้จากเศรษฐี

 

 

มูลค่าเชิงสัญญะ

มี การสร้างตัวละครที่ทำให้เห็นว่ากลาสีเรือจะพูดจาเยาะเย้ยถากถางเศรษฐีตลอด เวลา ประเด็นเรื่องชนชั้นในเรื่องนี้มันจึงชัดเสียจนน่าตกใจ กะลาสีมีความรู้สึกตลอดเวลาว่าเศรษฐีนั้นกดขี่ขูดรีดเขา ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ดังนั้น กลาสีจึงมองการแลกเปลี่ยนในครั้งที่สามว่ามีมูลค่าอีกอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นมา อยากเสนอว่า ทั้งสองฝ่ายมองเห็นมูลค่าชนิดหนึ่งที่นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์การเมืองของ ฝรั่งเศส อย่าง โบดริยาร์ดเรียกว่า sign exchange value เป็นอีกมูลค่าหนึ่งนอกเหนือจากการมูลค่าการใช้สอยและมูลค่าของการแลกเปลี่ยน เป็นมูลค่าเชิงสัญญะ และกลายเป็นเดิมพันที่ทั้งสองฝ่ายแลกกันด้วยชีวิตจริงๆ เราไม่รู้ว่าตกลงใครยอมแลกไหม เพราะเรื่องเป็นปลายเปิด ซึ่งน่าคิดดี และถ้านำไปสอนคงอยากรู้ว่านักศึกษาจะคิดถึงปมตอนนี้อย่างไร พวกเขาจะเห็นว่ามนุษย์ยังไงก็ยอมแลกทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด หรือเห็นว่าศักดิ์ศรีสำคัญกว่าชีวิต หรือเห็นเป็นอย่างอื่น

 

สีเหลือง VS สีแดง สงครามชนชั้นเวอร์ชั่นอาจินต์

ประเด็น เรื่องเศรษฐีกับกลาสีเรือ ความแตกต่างทางชนชั้นนั้นโจ่งแจ้งมาก เห็นแล้วจะแสบตาเลยเพราะพูดแทบจะทุกบรรทัด ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดใจ และอาจบังเอิญที่ในเรื่องจำแนกความแตกต่าง ขัดแย้งของคน 2 คน โดยใช้ของ 2 อย่าง เป็นสัญลักษณ์ คือ ขนมปังสีเหลืองของกลาสี และแบงก์ร้อยสีแดงของเศรษฐี ในเรื่องชัดมากว่าเป็นเหลืองกับแดง เป็นตัวแทนของความขัดแย้งหลายเรื่องที่ดำรงอยู่ตรงนั้นโดยเฉพาะเรื่องชนชั้น ผมไม่คิดว่าคุณอาจินต์มีญาณทัศน์บางอย่างถึงอนาคต เพราะของแกสลับขั้วด้วย (ผู้ฟังหัวเราะ) ลักษณะตัวละครก็เป็นภาพเหมารวมและให้ขัดแย้งกันชัดเจนมาก มีคำพูดหนึ่งของกลาสีที่น่าสนใจคือ “ที่ใดมีเศรษฐีและคนจนมารวมกันที่นั่นต้องมีการสูบเลือดและอาฆาต” คำว่าสูบเลือดพอเข้าใจได้ในระบบทุนนิยม แต่ “อาฆาต” นั้นต้องยอมรับว่าไม่เคยอ่านเรื่องสั้นไทยที่กรรมกรหรือคนจนจะพูดแบบนี้บ่อย นัก นอกจากนักเขียนฝ่ายซ้าย คำว่า “อาฆาต” นี้ในแง่หนึ่งคงไม่ใช่ความเคียดแค้นส่วนตัว เพราะไม่รู้จักกัน แต่กำลังสื่อถึง “ความเคียดแค้นทางชนชั้น” ซึ่งไม่รู้โผล่มาได้อย่างไรในเรื่องนี้ แล้วเรื่องทั้งเรื่องก็ผูกอยู่ตรงนี้ว่ากลาสีเรือมีความแค้นฝังใจเชิงชนชั้น ต้องเอาชนะนายทุนให้ได้ ตรงนี้เป็นจุดที่ไม่มีโอกาสได้ค้นมากนัก ปีที่ตีพิมพ์ช่วง 2490-2492 กระแสการเมืองไทยคงคุกรุ่นพอสมควร แนวคิดคอมมิวนิสต์ มาร์ซิสม์ ก็น่าจะมีอยู่มาก และคุณอาจินต์คงซึมซับเข้าไปไม่มากก็น้อย

 

แน่นอน ในตอนจบของเรื่อง ขออนุญาตใช้คำหยาบนิดหนึ่งว่า “ตามสันดานชนชั้นกลางไทย” ก็คงจะพากันบอกว่า เห็นไหม เกลียดกันไปก็เปล่าประโยชน์ ในที่สุดเราก็ต้องตาย วกเข้าหาทางสายกลางหรือเอาธรรมะเข้าข่มว่าหนีไม่พ้นความตาย ความขัดแย้งแตกแยกไม่ใช่คำตอบ อันนี้ฟังดูก็น่าเบื่อพอสมควร แต่สำหรับผมการตายไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ปมว่ากลาสียอมไหมในท้ายที่สุดนั้นน่าสนใจกว่าและเรื่องเปิดก็เปิดให้เรา ตีความเอง

 

ประเด็น ที่จะพูดต่อจะเน้นไปที่มูลค่าเชิงสัญญะที่ได้เปิดไว้ จากเรื่องเราได้เห็นมูลค่าเชิงสัญญะที่เราเห็นอยู่ในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งเป็นมิติเชิงคุณค่าบางอย่างที่อยู่เหนือกลไกการตลาด เหนือหลักอุปสงค์ อุปทาน คงพ้นไปจากทั้งเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่มันก้าวเข้าไปสู่ปริมณฑลทางสัญญะ วัฒนธธรรม ซึ่งอิงอยู่กับระบบคุณค่า และอุดมการณ์บางอย่าง เรื่องนี้ไปอิงอยู่กับความรู้สึกทางชนชั้นที่ทั้งสองฝ่ายเอาขนมปังนี้เป็น เดิมพันในการเอาชนะกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องชนชั้นเสมอไป มูลค่าเชิงสัญญะมีอยู่เยอะแยะไปหมด แต่อาจไม่ได้ใช้คำนี้ในแวดวงการตลาด การโฆษณา พวกเขามักใช้คำว่า มูลค่าเพิ่ม การเอาคุณค่าเชิงนามธรรมบางประการเข้าไปผูกโยงกับสินค้า เช่น เครื่องดื่มสีดำบางชนิดผูกโยงกับความเป็นคนรุ่นใหม่ ดื่มแล้วรู้สึกเหมือนเป็นคนรุ่นใหม่ชั่วพริบตา, เครื่องดื่มมึนเมาบางชนิดผูกโยงความเป็นไทย เราดื่มแล้วจะรู้สึกว่าเป็นไทยเกินร้อย ฯลฯ ในเชิงวิชาการเราจะมองพวกนี้ว่าเป็นมูลค่าเชิงสัญญะที่ถูกสร้างหรือสวมเพิ่ม ลงไปในสินค้า

 

สัญญวิทยา มนุษย์เป็นสัตว์สื่อความหมาย

ศาสตร์ ที่ศึกษาสัญญะและปฏิบัติการเชิงสัญญะ ปัจจุบันมีศาสตร์ของมันเองอยู่แล้วที่เรียกว่า สัญญวิทยา หรือ สัญญศาสตร์ ซึ่งศึกษาการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม มีสมมติฐานเบื้องต้นอันหนึ่งว่า กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์กระทำ ล้วนมีจุดประสงค์ในการสื่อความหมายทั้งสิ้น เวลาพูดถึงการสื่อความหมายเราอาจนึกภาพไม่ชัด มันไม่ใช่แค่การสื่อสาร การสื่อความหมายคือการพยายามสร้างคุณค่า ตัวตน หรืออำนาจอะไรบางอย่าง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในกาทานอาหาร เราอาจคิดว่าเพื่อให้อิ่มท้อง ให้ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้ามองในมุมนักสัญญวิทยา การทานอาหารนั้นเพื่อสื่อความหมายอื่นด้วยควบคู่ไปกับอัตถประโยชน์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชนิดของอาหารที่เราทาน ร้านอาหารที่เราเลือก ภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร หรือกระทั่งที่เสื้อผ้าที่เราใส่ขณะทานอาหาร สิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อการสื่อความหมายทั้งนั้น เพื่อบอกตัวตนบางอย่างของเรา หรือสื่อสถานะบางอย่างของเรา พูดรวมๆ ว่า “กระบวนการการสื่อความหมาย”

 

เคย มีคำพูดหนึ่งว่า “มนุษย์คือสัตว์ที่คิดได้” แต่สำหรับนักสัญญวิทยา เขาคิดว่า “มนุษย์คือสัตว์ที่สื่อความหมาย” ในเชิงวัฒนธรรม เลยมีการศึกษาเรื่องการสื่อความหมายกันอย่างเป็นร่ำเป็นสัน มองกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่มีการสื่อความหมาย แสดงตัวตน หรือใช้อำนาจบางอย่าง

 

ใน การศึกษาด้านสัญญวิทยา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญของมนุษย์ในการสื่อความหมาย นักสัญญวิทยาจำนวนมากจึงหันไปศึกษาภาษา ซึ่งนำไปสู่หัวข้อถัดไป

 

อย่าดูถูกภาษา ภาษากับอำนาจและการสร้าง “ความจริง”  

การ ทำงานของภาษาไม่ได้เป็นไปแค่เพื่อการสื่อสาร แต่ใช้เพื่อสร้างความหมาย ผลิตอำนาจหรือความจริงบางชนิด แนวการศึกษานี้ทำให้องค์ความรู้ด้านวรรณกรรมของผม ซึ่งแต่เดิมถูกมองว่าเป็นเรื่องของพวกวันๆ ไม่ต้องทำอะไรนอกจากอ่านหนังสือ กลายเป็นที่สนใจของคนขึ้นมาในชั่วข้ามคืน เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ววรรณกรรมมีมุมแคบๆ ในห้องสมุดและหมู่นักศึกษาวรรณกรรมเท่านั้น แต่เมื่อเรื่องการสื่อความหมายมีนัยทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ก็ทำให้คนหันไปมองด้านวรรณกรรม เพราะเรื่องภาษานั้น ศาสตร์ด้านวรรณกรรมศึกษาได้ศึกษาการใช้ภาษาอย่างเข้มข้น มีเครื่องมือ มีชุดความรู้อยู่จำนวนหนึ่งที่ใช้วิเคราะห์การใช้ภาษา ศาสตร์ด้านอื่นก็หันมาสนใจเพราะเห็นว่าน่าจะหยิบยืมมาใช้ได้บ้าง เราจึงได้อานิสงค์จากอันนี้ไปด้วย ทำให้ความรู้ชุดหนึ่งที่เคยมีสามารถไปประยุกต์ใช้ในการตีความปรากฏการณ์ทาง สังคมด้วย

 

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาในเหตุการณ์บ้านเมืองของเรา เราอาจได้ยินได้ฟังคำหนึ่งคือ เรื่องความล้มเหลวของการศึกษา ตอนเกิดวิกฤตต้มย้ำกุ้งคนก็บอกว่านี่คือความล้มเหลวของเศรษฐศาสตร์  พอเกิดการขอใช้ ม.7 พระ ราชอำนาจคนก็บอกว่านี่คือความล้มเหลวของนิติศาสตร์ พอมีนักวิชาการไปยื่นดอกไม้ แสดงความยินดีกับ คมช. คนก็บอกนี่คือความล้มเหลวของรัฐศาสตร์ เมื่อเกิดกรณีเขาพระวิหารคนก็บอกว่านี่คือความล้มเหลวของประวัติศาสตร์ เมื่อเกิดสงกรานต์ทมิฬคนก็บอกนี่คือความล้มเหลวของวารสารศาสตร์ สื่อมวลชนทั้งหลาย ฟังๆ ไปวรรณกรรมนี่ไม่เคยล้มเหลว ไม่เคยมีใครบอกว่ากวีขึ้นเวทีพันธมิตรฯ แฃ่งเป็นความล้มเหลวด้านวรรณกรรมศึกษา อย่างไรก็ตาม เวลาใครบอกว่า “ล้มเหลว” ในแง่หนึ่งแสดงว่าคนคาดหวังศาสตร์ทั้ง 5 ศาสตร์นี้ไว้สูงมากว่ามันจะเป็นตัวนำพา ให้สติปัญญากับสังคม วรรณกรรมไม่เคยมีใครบ่นว่าล้มเหลวเพราะไม่มีใครมองเห็นคุณค่าของมัน ไม่ใช่เพราะมันไม่เคยล้มเหลว แต่มันไม่เคยถูกคาดหวังว่าจะทำอะไรให้สังคมได้ แต่การศึกษาด้านสัญญวิทยาอาจทำให้ต่อไปข้างหน้าอาจมีคนพูดว่า การอะไรซักอย่างคือความล้มเหลวของวรรณกรรมศึกษา ผมจะรอวันนั้น

 

ใน สังคมตะวันตกพูดกันไว้นานแล้วเรื่องความล้มเหลวของวรรณกรรม เพราะเขาคาดหวังกับวรรณกรรมไว้เยอะ หลังเหตุการณ์เมษาทมิฬแล้วทำให้ผมคิดถึงคำพูดของอดอร์โน่ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กรณี การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์องเยอรมัน ออโดโน่พูดว่า “หลังจากเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การเขียนกวีนิพนธ์ก็เป็นเรื่องป่าเถื่อนไปแล้ว” เป็นคำพูดที่สะเทือนใจพอสมควรและบอกถึงความคาดหวังของสังคมตะวันตกว่า วรรณกรรมจะช่วยชำระล้างจิตใจมนุษย์ให้บริสุทธิ์ กวีนิพนธ์จะช่วยยกระดับจิตวิญญาณมนุษย์ แต่เราก็ได้ยินได้ฟังเรื่องที่นายทหารคนหนึ่งมือหนึ่งก็อ่านเกอเต้ อีกมือหนึ่งก็กดเตาแก๊สอบคนยิว นี่เป็นที่มาถึงความรู้สึกว่ากวีนิพนธ์นั้นล้มเหลวในโลกตะวันตก

 

การ ศึกษาด้านวรรณกรรมหรือภาษา จึงมีคนหันมาสนใจมากขึ้นเพราะคิดว่าจะช่วยส่องแสงให้เข้าใจมากขึ้นถึง กระบวนการสื่อความหมาย สร้างอำนาจ หรือการใช้อำนาจ การใช้หรือผลิตความจริงในสังคมได้

 

ความ จริงหัวข้อที่ตั้งผมก็เดิมพันอยู่ในใจว่าจะทำให้คนสงสัยใคร่รู้แค่ไหน เพราะทุกคนคงไม่มองตรงตัว คนคงไม่นึกว่าจะเป็นเรื่องของคนไปอยู่กลางทะเลแล้วเถียงกันเรื่อง เศรษฐศาสตร์อย่างที่ผมเล่าให้ฟัง แต่โดยอัตโนมัติต้องคิดว่ามันต้องมีนัยยะเชิงโวหารบางอย่างว่าเศรษฐศาสตร์ กำลังอยู่กลางทะเลลึก กำลังจะล่ม และหวังว่าผมจะมาพูดอะไรอย่างนั้น คนเรามีแนวโน้มคิดถึงนัยยะของภาษาที่มากไปกว่าความหมายตรงตัว นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นอำนาจของภาษา

 

การศึกษาเรื่องภาษากับอำนาจ ศึกษากันได้มากมาย และหลายมุมมอง  ที่จะนำเสนอนี้จะเป็นแบบย่นย่อและนำเฉพาะบางประเด็นที่ผมสนใจมาพูดเท่านั้น

 

ภาษากับความจริง

เริ่ม จากประเด็นแรกสุด เรื่องภาษากับความจริง เดิมมีความเข้าใจว่าภาษาเป็นการถ่ายทอดความจริง เรามีความจริงชุดหนึ่งและาภาษาไปถ่ายทอดมันออกมา ภาษาเป็นแค่เครื่องมือ แต่มันมีความเข้าใจชุดใหม่คือ ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับความจริงอาจจะไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น มันใช้ถ่ายทอดความจริงในบางส่วนขณะเดียวกันภาษาก็สร้างความจริงด้วย ทำให้เราต้องมองนัยยะของภาษาต่างไปโดยเห็นว่าภาษาก็ผลิตความจริงด้วย สำนักนี้มองว่าภาษาสร้างความจริง และจะมองไปถึงขั้นที่ว่าภาษาก็เหมือนคุกที่ขังความคิดมนุษย์ เพราะเราไม่สามารถจะคิดอะไรที่พ้นไปจากระบบภาษาได้ อันนี้มีการถกเถียงกันมาก แต่ตัวอย่างที่เขาใช้ ซึ่งง่ายที่สุด อาจลวงตานิดหน่อยแต่พอได้ไอเดียคือ ระบบเรียกสมาชิกในครอบครัว

 

X -------------------  Y

พี่  ------------------ น้อง

Brother  ---------  sister

 

จะ เห็นว่าภาษาไทยกับภาษาอังกฤษไม่เท่ากัน เป็นการพูดถึงปรากฏการณ์อันเดียวกันแต่เมื่อเอาภาษาไปพูดก็ได้คำตอบไม่เท่า กัน หรือน้ำหนักต่างกัน จะเห็นว่าวิธีแบ่งคนในครอบครัวของไทยใช้ระบบอาวุโสเป็นตัวกำหนด เป็นเส้นแบ่งแรก ขณะที่ในภาษาอังกฤษไม่ได้สนใจอาวุโสเท่ากับเพศ เพศสถานะเป็นสิ่งแรกที่ต้องจำแนกให้ชัดแล้ว ความจริงอันเดียวกันเมื่อใช้ภาษาที่ต่างกันก็ได้ความจริงที่ไม่เท่ากันและ บอกอะไรบางอย่างถึงระบบคุณค่าที่ต่างกันของภาษานั้นๆ

 

โรล็ องด์ บาร์ตส์ นักสัญญวิทยาคนหนึ่งบอกว่าภาษาเป็น “กระบวนการนิติบัญญัติ” ชนิดหนึ่ง เป็นการสร้างกฎบางอย่าง และไปถึงขั้นที่ว่าภาษาเป็นฟาสซิสม์ในตัวมันเอง นำไปสู่ประเด็นเรื่องภาษากับอำนาจ

 

ในการศึกษาภาษา ผมจะยกเพียง 3 อันที่จะทำให้เห็นถึงการทำงานของภาษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือสร้างความจริงและอำนาจบางอย่าง ไล่ตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงระดับใหญ่

 

  1. ชื่อ นามนั้นสำคัญไฉน

  2. โวหาร (metaphor) การใช้โวหารทั้งหลาย

  3. เรื่องเล่าและเรื่องเล่าแม่บท (narrative และ metanarrative)

 

 

การต่อสู้ช่วงชิงการตั้งชื่อ นิยาม

“นามนั้นสำคัญไฉน” คำนี้มาจากบทนิพนธ์แปลของ ร.6 ที่แปลมาจากเช็คสเปียร์เรื่อง โรมิโอกับจูเลียต “นามนั้นสำคัญไฉน ที่เราเรียกกุหลาบนั้นแม้เรียกว่าอย่างอื่นก็หอมรื่นอยู่เหมือนกัน”  จู เลียตเป็นคนพูด นัยยะของมันเป็นการมองโลก มองภาษาในแบบเก่า แบบที่มองว่ากุหลาบชื่อว่าอะไรก็หอมเหมือนกัน เพราะมีความเป็นจริงของกุหลาบอยู่ แม้จะเรียกว่าอุจจาระก็หอมอยู่ดี ภาษาเป็นแค่เครื่องมือถ่ายทอด ความจริงดำรงอยู่โดยเอกเทศ

 

แบบที่ใหม่ขึ้นมาหน่อย  “ผู้ ก่อการร้ายในสายตาของคนคนหนึ่ง อาจเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพในสายตาของอีกคนหนึ่งก็ได้” การเรียกชื่อหรือการนิยามความหมายนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน นี่เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ตรงกันข้าม

 

มี อีกตัวอย่างมาจากวรรณกรรมที่อ่านและใช้สอนด้วย เรื่องมันจะบอกว่านามนั้นสำคัญฉะนี้ เป็นเรื่องของอุบัติเหตุสารเคมี นักข่าวหรือชาวบ้านก็บอกว่ามันเหมือนหมอกดำ ทุกคนฟังก็ไม่ว่าอะไร ตอนหลังก็มีการเปลี่ยนชื่ออยู่เรื่อย 5 ครั้งเพื่อเรียกจากปรากฏการณ์นี้เพราะคนไม่สนใจและไม่ยอมรีบอพยพ

 

ตัวอย่าง ที่ใกล้เข้ามาอีกที่เราเจอทุกวันนี้คือ โรคไข้หวัด แรกๆ เรียกไข้หวัดเม็กซิโก คนเม็กซิโกคงโวยวาย เปลี่ยนเป็นไข้หวัดหมู ผู้ค้าหมูก็โวย เปลี่ยนเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ชนิดA H1 N1 ทีนี้ทุกคนยอมรับหมดเพราะฟังไม่รู้เรื่องว่ามันคืออะไร การต่อสู้หรือช่วงชิงความหมายบางทีต่อสู้กันที่ชื่อและจะมีคนคอยตรวจสอบ เพราะทุกคนตระหนักรู้ว่ามันมีนัยพอสมควร

 

อีกเรื่องหนึ่งคือการเมืองของการบัญญัติศัพท์ “เศรษฐศาสตร์”  ผมค้นได้ไม่เยอะ ที่สนใจคือที่ ร.6 ท่านบัญญัติ political economy ไว้ว่า เศรษฐวิทยา แล้วก็บัญญัติ capitalist ไว้ว่า เศรษฐี ในเรื่องการบัญญัติวิชา economic นั้นมีเส้นทางอยู่ พระสุริยานุวัตรเสนอคำว่า ทรัพยาศาสตร์ ร.6 ไม่ โปรด คำนี้ก็ไม่ติด พระองค์เจ้านราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้พ่อ น.ม.ส. บัญญัติไว้ว่า คหนิติศาสตร์ ถอดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน ไม่ติดตลาดอีก แต่ที่ติดตลาดคือ เศรษฐการ หรือเศรษฐกิจที่ ร.6 ตั้ง ไว้ ท่านวรรณก็เขียนไว้ว่าเป็นไปตามพระราชนิยม ท่านวรรณท่านตำหนิว่าคำใช้คำว่า เศรษ นั้นไม่ตรง ภาษาบาลีแปลว่าประเสริฐ ดีเลิศ มันไม่ตรงกับ economic ซึ่งไม่ได้พูดเรื่องดีไม่ดี แต่คนตั้งชื่อนี้คงอยากให้มันเป็นเรื่องดีๆ ท่านวรรณจึงเสนอใก้ใช้คำว่า โภคศาสตร์ ซึ่งตรงกว่า แต่มันก็ไม่ติดตลาด เหตุที่ยกเรื่องนี้มาว่าการบัญญัติศัพท์มีนัยยะของอำนาจอยู่ มีการเกลี่ย หรือเกลื่อนความหมายเดิมให้เจือจางลงไป สังคมบางที่ไม่ได้พูดเรื่องความจริงไม่จริง แต่พูดเรื่องอำนาจไม่อำนาจมากกว่า แต่ความกังวลใจของท่านวรรณในอีกแง่ก็จะเห็นว่าสูญเปล่าเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้เวลาพูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้มีเซ้นส์เรื่องประเสริฐเลิศ หรูอย่างที่คนตั้งต้องการ ใครก็รู้ว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์การจัดสรรทรัพยากร มันมีวงจรของมัน การคิดว่าจะบงการภาษาได้ก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ถึงจุดหนึ่งภาษามันหลุดลอยไปจากผู้บัญญัติ

 

ทหารกับหมอพูดด้วยภาษาเดียวกัน ?!

เรื่อง ต่อมาคือ เรื่องโวหาร ซึ่งมีคนศึกษากันเยอะมากและทำให้เห็นการเมืองที่อยู่ในคำเปรียบเปรย มีงานวิจัยของฝรั่งหลายชิ้น เช่น งานของซูซาน ที่วิเคราะห์เรื่องภาษาเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคมะเร็งว่ามีการใช้โวหารชุดหนึ่ง อธิบายโรคมะเร็ง น่าสนใจว่า มันอิงกับภาษาการทหาร เช่น เราต้องทำสงครามกับมัน เราต้องกำจัดมันให้สิ้นซาก ซึ่งมันไม่ใช่แค่การบรรยาย การพูดถึงอาการของโรคหรือรักษาโรค แต่ภาษาแบบนี้พยายามสถาปนาอำนาจชุดหนึ่ง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจชุดหนึ่งขึ้นมาระหว่างผู้ป่วยกับหมอ การให้อำนาจเด็ดขาดกับหมอ หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ผิด ฯลฯ

 

ถ้าให้นอกเรื่อง วาทกรรมทหารกับหมอมันมักจะไปด้วยกันบ่อย จนผมเกิดเอะใจเหมือนกัน เดิมมีความคิดส่วนตัวเสมอว่า หมอ ตั้งแต่สมัย 14 ตุลา มาแล้วพวกเขาก็จิตใจดีงามกันทั้งนั้น แต่ช่วงหลังๆ ชักเริ่มเอะใจ ไม่ทราบที่นี้มีญาติพี่น้องใครเป็นหมอบ้าง ผมพบว่าหมอกับทหาร บางครั้งพูดด้วยภาษาเดียวกันเยอะมากจนน่าประหลาดใจ ส่วนหนึ่งระบบการแพทย์มันก็เป็นระบบอำนาจล้วนๆ นี่ได้ความรู้จากการดูทีวีอเมริกาโดยแท้ ระบบหมอเหมือนระบบทหารเลย มันเผด็จการฟาสซิสม์ที่สุดเท่าที่เคยเห็นและรู้มา สายบังคับบัญชาแข็งแรงมาก ถ้าไม่เชื่อฟังอาจารย์ใหญ่ หรือไม่เชื่อนายพันนายพล ก็ไม่มีทางได้เกิด ระบบเหมือนกันเลย และน่าสนใจว่าน่าจะมีการศึกษาว่าหมอกับทหารเป็นฝาแฝดคู่กันมา ส่วนหนึ่งก็อาจเพราะทั้งสองอาชีพนี้สิ่งที่เขาทำอยู่คือ ความเป็นความตายของมนุษย์ แล้วเขาก็อ้างว่ามันเรียกร้องความเด็ดขาดของสายบังคับบัญชาค่อนข้างสูง และโวหารจำนวนมาก ถ้าเป็นเรื่องการแพทย์ก็จะเป็นเรื่องทหาร ถ้าเป็นเรื่องอื่นก็ไปอิงกับเรื่องหมอ เช่น เรื่องเศรษฐกิจเราก็ชุดคำหรือโวหารในแวดวงของหมอ อย่างตอนวิกฤตเศรษฐกิจก็มีคนพูดว่าต้องใช้ยาแรง มันดื้อยา เราใช้วาทกรรมชุดหมอทั้งหมด นัยยะของมันคือ คุณต้องเชื่อฟังหมอใหญ่ เขาสั่งอะไรก็ต้องเชื่อ จะเป็น WHO IMF อะไรก็แล้วแต่ มันมีเรื่องอำนาจเข้ามาในชุดวาทกรรมที่ใช้

 

สามัคคีคือพลัง โวหารที่ให้อำนาจแก่ใครบางคน

อีก อันหนึ่งที่อยากยกคือ สามัคคีคือพลัง เป็นโวหารซึ่งฝังใจมานานและขบมันไม่แตกมานาน ล่าสุดมีเป็นโฆษณาซึ่งน่าจะทำพล็อตมาจากในหนังสือดรุณศึกษา ไอเดียคือ สามัคคีคือพลัง เป็นนิทานสอนใจว่า ครอบครัวหนึ่งพี่น้องทะเลาะกันประจำ จนวันหนึ่งพ่อก็เรียกลูกๆ ทั้งหมดมาสั่งให้หาไม้มาคนละอัน แล้วพ่อก็เอาไม้มาอันหนึ่งแล้วหักให้ดู แล้วจากนั้นก็บอกให้เอามารวมกันแล้วให้ทุกคนหัก ไม่มีใครหักได้ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าสามัคคีคือพลัง เราไม่ควรทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็อ่อนแอ ถ้ารวมกันไม่มีใครหักได้ มีการเอานิทานนี้มาทำโฆษณาใหม่ คราวนี้ไม่ใช่พ่อกับลูก แต่เป็นตากับหลาน แล้วเปลี่ยนไม้เป็นการธูป ผมเห็นแว้บๆ แต่ทนดูไม่ได้ แล้วจึงมาฟังคนอื่นเขาเล่า ความจริงแล้วเป็นโวหารที่ทรงพลังมาก เราเหมือนไม้คนละชิ้น เมื่อมารวมกันเข้าก็เป็นกำไม้ที่หักไม่ได้ ทำให้เราคล้อยตามและเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย ผมมาสะดุดใจตรงนี้ พอมันเป็นรูปขึ้นมาในโฆษณาแล้วเราเห็นชัดขึ้น จากเดิมเป็นนิทานแล้วมันไม่ชัด ปัญหาคือ ในโวหารที่น่าฟังนี้ ไม้ที่มารวมกันมันมาได้ยังไง มันต้องมีคนคนหนึ่ง จะเป็นพ่อหรือตาหรือใครก็ตามจัดการตรงนี้ หมายความว่าเราต้องยอมมอบอำนาจอาญาสิทธิ์ให้คนหนึ่งมารวมไม้จัดการให้เป็นกำ ดังนั้นโวหารนี้ ไม่ได้พูดเรื่องความสามัคคีแต่ต้องมอบอำนาจให้ “พ่อ” จัดการเรื่องนี้ให้กับเรา จนทุกวันนี้ก็เรียกร้องเรื่องนี้ นัยยะของมันก็เป็นเช่นเดิมคือยอมมอบอำนาจให้ใครคนหนึ่งเข้ามาจัดการให้เกิด ความสามัคคี

 

เรื่องเล่าอันขมุกขมัว

สุดท้าย เรื่องเล่ากับเรื่องเล่าแม่บท ระดับนี้มีการพูดกันมาก หลักๆ คือ เรามักคิดกันว่า เรื่องเล่ามีทั้งเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริง เช่น ประวัติศาสตร์ รายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ อัตชีวประวัติ คนตระหนักว่ามันเป็นเรื่องเล่าเช่นกันแต่เป็นการเอาเรื่องจริงมาถ่ายทอด  อีก อันหนึ่งคือ เรื่องเล่าที่เป็นเรื่องแต่ง เช่น นิทาน นิยาย ตำนาน เป็นเรื่องเล่าที่เรารู้ตั้งแต่ต้นว่าเขาแต่งขึ้นมา สมมติขึ้นมา แต่ในทุกวันนี้ คนเริ่มพูดกันมากขึ้นว่า เรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริงกับเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องแต่ง เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ต่างกันมากนัก มันมีระบบ กระบวนการสร้างเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันมาก การใส่พล็อตบางอย่างลงไปในประวัติศาสตร์ รายงานข่าว ชีวประวัติ อย่างไปอ่านชีวประวัติเจ้าสัวไทย ไปอ่านกี่คนๆ ก็จะพบพล็อตเดียวคือ เสื่อผืนหมอนใบ สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยความขยันหมั่นเพียร ส่วนไปฮั้วไปผูกขาดยังไงไม่ค่อยมีใครเล่า ไม่ได้บอกว่าเขาแต่งเรื่อง แต่จะบอกว่าเวลาเราจะเล่าและเชื่อมโยงอดีตนั้นเราใช้กรอบอะไรและน่าสนใจว่า เราใช้กรอบนี้กันตลอด

 

หยุดทำร้ายประเทศไทย?!  การกลับมาของพล็อตแห่งชาติในการเมืองร่วมสมัย

อย่าง ประวัติศาสตร์ มีคนทำไว้เยอะว่าเอาเข้าจริงแล้ว ประวัติศาสตร์นั้นข้อมูลอาจจะจริงแต่วิธีใส่พล็อตอาจทำให้เนื้อเรื่อง เปลี่ยนไปพอสมควร เช่นที่นักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ธงชัยชอบใช้คือ ประวัติศาสตร์ไทยมักชอบวาดภาพให้เราเป็นชาติอ่อนแอที่โดนรังแกโดยมหาอำนาจ เช่น การเสียดินแดน  ข้อมูลก็จริงทั้งหมดแต่ก็ชอบ ลงเอยว่าเราเป็นชาติที่ถูกรังแกอยู่เรื่อง มันทำให้นึกถึงอันล่าสุด คือ การเคลื่อนไหวเรื่อง หยุดทำร้ายประเทศไทย ผมมองว่ามันก็อยู่ในกรอบว่าชาติเราถูกรังแกถูกกลั่นแกล้ง ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับฝ่ายไหน ไอ้ข้อเรียกร้องว่าหยุดทำร้ายประเทศไทยมันเพียงพอหรือต่อสถานการณ์ตอนนี้ ทำไมมันไม่มีคำที่ดีไปกว่าประเทศไทยแล้วหรือ หรือทำไมต้องใช้คำว่า “ทำร้าย” มันเข้าไปอิงหรือโหนกับกรอบใหญ่ในสังคมไทยหรือวัฒนธรรมไทยที่มักมองว่าเรา เป็นชาติที่อยู่นภาวะล่อแหลม ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากทั้งศัตรูภายในและภายนอก ความสามัคคีก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสเรื่องเล่านี้และกลั่นออกมาเป็น “หยุดทำร้ายประเทศไทย” นี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่เหลือเชื่อที่หลุดออกมาจากผู้ที่เป็นผู้ทรง คุณวุฒิ เป็นปราชญ์ของสังคมกันมากมายก่ายกองแล้วมาเสนออันนี้

 

ภาษาฆ่าคนได้ เช่น คำว่า “จลาจล”

เรา จะเห็นถึงการทำงานของภาษาในมุมนี้ว่าภาษามันมีบทบาทในการสร้างอำนาจหรือผลิต ความจริงชุดหนึ่งขึ้นมา มันฆ่าคนได้ จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่ละเรื่องที่พูดมาสามารถทำขาวให้เป็นดำ ทำดำให้เป็นขาว หรือจะไม่มีขาวดำอยู่ก็แล้วแต่ แต่มันสามารถผลิตความจริงขึ้นมาได้ พอพูดว่า “ผลิต” หลายคนอาจรู้สึกว่าแค่ภาษาจะทำอะไรได้ ถ้ายกตัวอย่างล่าสุด ทันทีที่การปิดถนนถูกมองว่าเป็นการจลาจล มันก็ทำให้เลือดต้องหลั่งนองถนนหลายสาย ขณะที่การปิดสนามบินเป็นแค่อารยะขัดขืน คุณจะเห็นเลยว่าภาษามันมีพลานุภาพ ทำให้เกิดความจริงหรือปฏิบัติการที่เป็นจริงในสังคมได้

 

ผม จะขอจบด้วยคำพูดของอาจารย์นพพร ประชากุล ที่พูดถึงนัยยะของอำนาจที่มากับภาษา โดยอธิบายว่าอำนาจมืดอย่างอำนาจทหารตำรวจนั้นไม่มืดจริง  เพราะ อย่างน้อยเราเห็นตัวมันหรือมาเป็นครั้งเป็นคราว แกเรียกว่า อำนาจสลัวมากกว่า แต่มันมีอำนาจที่มืดกว่าอำนาจทหารตำรวจซึ่งน่ากลัวกว่า แกพูดไว้ว่า

 

“อำนาจ มืดที่น่ากลัวอย่างแท้จริงนั้นอยู่รอบๆ และในตัวเราๆ ท่านๆ นี้ต่างหาก มันซึมซ่านอยู่ภายในอย่างสงบเสงี่ยม เงียบเชียบ ไม่มีหัวไม่มีหาง และมองไม่เห็นว่าใครเป็นผู้กระทำใครเป็นผู้ถูกกระทำ มันคือำนาจของมายาคติทั้งหลายที่ประกอบกันเข้าเป็นโลกทัศน์ ชีวทัศน์  มนุษย์ ทัศน์อันคุ้นชินของเรา โดยเราไม่เคยระแวงสงสัยเลยว่าการประทุษกรรมต่อชีวิต อาชญากรรมทางการเมือง ทางสติปัญญา ทางสุนทรียะ จำนวนเท่าใดแล้วบ้างที่ได้ถูกกระทำขึ้นในนามของมัน” 

 

 

 

 

 

 

หมายเหตุ ขอขอบคุณ “คนชายขอบ”

  • เรื่องสั้น “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก”  http://www.fringer.org/wp-content/writings/econ-deepsea.pdf

  • ไฟล์เสียงงานปาฐกถา http://www.fringer.org/wp-content/uploads/audio/Econ-deepsea.WMA

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท