Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อ เกิดความขัดแย้งทางการเมือง การเดินขบวนประท้วง เกิดความรุนแรงมากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นครั้งใด ชนชั้นนำในสังคมไทยก็มักจะออกมาเรียกร้องให้คนในสังคมรู้รักสามัคคี ให้เลิกทะเลาะกัน หันหน้ามาปรองดองสมานฉันท์กัน เพื่อให้ประเทศชาติได้เดินหน้าต่อไป

 

แต่ข้อเรียกทำนองนี้นับวันจะยิ่งห่างไกลความสำเร็จ เพราะ...

 

1.ข้อเรียกร้องดังกล่าวสะท้อนทรรศนะพื้นฐานของชนชั้นนำต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มองด้านเดียวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็น ความวุ่นวายที่ ทำลายความสงบของชาติ และความสงบของชาติจะมีไม่ได้ถ้าคนในชาติไม่สามัคคี ซึ่งสามัคคีมีความหมายสำคัญว่าต้องเคารพเชื่อฟังอำนาจรัฐ ไม่ขัดแย้ง ไม่เดินขบวนต่อต้าน ฯลฯ

 

ทรรศนะ พื้นฐานดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองยุคใหม่ที่มองความขัด แย้งเป็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า

 

ความ สามัคคี ความสงบ ความมั่นคง ที่ประชาชนต้องเป็นเด็กดีเชื่อฟังโอวาท หรือการควบคุมครอบงำของอำนาจรัฐนั้นตกยุคไปแล้ว การเมืองยุคนี้เรียกร้องความสามัคคี ความสงบ ความมั่นคง ในความหมายที่ชนชั้นนำซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบมาตลอดให้ยุติการเอาเปรียบคน ส่วนใหญ่ โดยเปิดทางให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีสิทธิ์มีส่วนอย่างเท่าเทียมในการกำหนด กติกา นโยบาย และหรือเลือกพรรคการเมืองตามที่พวกเขาเห็นว่าดี

 

โดยที่ชนชั้นนำส่วนน้อยจะต้องไม่ฉวยโอกาสใช้เล่ห์เพทุบายมาล้มล้างกติกา นโยบาย และหรือรัฐบาลที่พวกเขาเลือก

 

2. การเรียกร้องให้รู้สามัคคีของชนชั้นนำ เป็น การทำการเมืองให้ไม่การเมือง (สำนวน อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์) ในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองอำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมก็ต่อเมื่อประชาชนทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้ามาต่อรองใน เรื่องดังกล่าวอย่างเท่าเทียมกันผ่านเวทีต่างๆ เช่น สภาต่างๆ พรรคการเมือง สื่อมวลชน และเวทีสาธารณะอื่นๆ

 

ใน การต่อรองอำนาจจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ นั้น ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่สังคมการเมืองจะเรียนรู้และหาทางจัดการความขัดแย้งนั้นๆ ให้ดำเนินไปภายใต้กติกาและการใช้เหตุผล

 

ความ รุนแรงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ใกล้-ไกล ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐไม่ยอมรับฟังเหตุผลของประชาชน และมักยุติการต่อรองทางการเมืองของประชาชนด้วยการใช้กำลังทำให้การเมืองไม่ การเมือง คือ ทำเรื่องที่ควรจะต่อรองกันได้ด้วยเหตุผลในบรรยากาศที่เคารพสิทธิเสรีภาพให้ กลายเป็นเรื่องที่คุยกันไม่ได้ด้วยเหตุผล ไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพอีกต่อไป

 

การ เรียกร้องให้รู้รักสามัคคีแม้จะฟังดูดี แต่ในแง่หนึ่งมันทำให้ภาพความขัดแย้งทางการเมืองในการต่อรองอำนาจจัดสรรผล ประโยชน์ดูเป็นเรื่องที่เลวร้ายเกินเหตุ และมันไปปิดกั้นไม่ให้ความขัดแย้งพัฒนาไปสู่การใช้เหตุผลต่อสู้กัน

 

หรือ ขัดแย้งกันด้วยเหตุผลจนถึงที่สุดจนสังคมเกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่า การจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมที่ทุกฝ่ายควรยอมรับร่วมกันได้นั้นคืออะไร

 

ไม่ใช่เพื่อรักษา ภาพ ของสังคมที่รู้รักสามัคคีแล้ว เลยทิ้งปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านต่างๆ ที่มีอยู่จริงไปเฉยๆ จนสั่งสมเพิ่มพูนมากขึ้นๆ เมื่อถึงจุดระเบิดคำขอคำขวัญประเภทรู้รักสามัคคีก็เอาไว้ไม่อยู่อีกต่อไป

 

3. ประชาชนส่วนใหญ่รู้ทันวาทกรรมของชนชั้นนำ เช่น รู้รักสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความสงบ ความมั่นคง ฯลฯ แล้วว่า เป็นเพียง วาทกรรมอำพราง เพราะวาทกรรมเหล่านี้ไม่ได้ตอบปัญหาความไม่เป็นธรรมทางฐานะเศรษฐกิจ อำนาจต่อรองทางการเมือง สิทธิและโอกาสทางสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นๆ

 

วาทกรรมอำพรางเหล่านั้นใช้ลวงประชาชนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งที่ประชาชนรักสุดจิตสุดใจ คือ ความเป็นธรรม พวกเขาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ถ้าแผ่นดินนี้มีความเป็นธรรมก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงความรู้รักสามัคคี ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือไม่จำเป็นต้องสร้างวาทกรรมอำพรางใดๆ อีก

 

ตื่น เถิดชนชั้นนำ ประชาชนชั้นล่างกำลังสอนท่านว่า ประชาชาติจะรักชาติโดยไม่รักความเป็นธรรมไม่ได้ พวกท่านจะพร่ำสอนหรือเรียกร้องให้ประชาชนรักชาติโดยปฏิเสธการสร้างสังคมที่ เป็นธรรมไม่ได้ พวกท่านเสวยสุขบนความไม่เท่าเทียมของอำนาจต่อรองในการจัดสรรผลประโยชน์แทบ ทุกด้านมาแสนนาน

 

พวก ท่านอยู่ส่วนบนของโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และไม่เคยใส่ใจปัญหาความไม่เป็นธรรมแม้แต่น้อย เมื่อไม่รักความเป็นธรรมก็อย่าเรียกร้องใครอื่นให้รักชาติ

 

ชนชั้น นำไม่มีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องสามัคคีจากประชาชน ตราบที่เขาไม่ใส่ใจปัญหาความไม่เป็นธรรม ประชาชนต่างหากที่ควรเป็นผู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากชนชั้นนำ และประชาชนต่างหากคือผู้ที่จะสร้างความเป็นธรรมด้วยสมองและสองมือ

 

ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่จับต้องได้ !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net