Skip to main content
sharethis

 

ความคืบหน้ากรณีศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่บริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 ศพ โดยคำสั่งศาลระบุว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ไม่พบเหตุร้ายอย่างอื่นที่ทำให้ตาย และเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่นั้น
 
คำ สั่งศาลดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั้งในและต่างประเทศ เพราะกรณีตากใบเป็นคดีที่ทุกฝ่ายจับตามอง โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่องค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ก็เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นตั้งคำถามกับรัฐบาลไทย
 
จริงๆ แล้วหลังเกิดเหตุการณ์สลายม็อบตากใบ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ในขณะนั้น) ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น โดยมี นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน ผลการสอบสวนในครั้งนั้นมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ทั้งภาพรวมของเหตุการณ์ สาเหตุ และบทสรุปสุดท้าย ที่สำคัญยังได้ชี้ถึงความบกพร่องของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในวันนั้นด้วย         
 
“ทีมข่าวอิศรา” จึงขอนำผลการตรวจสอบฉบับย่อที่นำเข้ารายงานต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2547 มานำเสนออีกครั้ง
 
เปิดผลสอบข้อเท็จจริงกรณีตากใบ
ที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี (รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) รับทราบผลการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระกรณีตากใบตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ  เครืองาม)  รายงาน ซึ่งสรุปได้ดังนี้
 
          1.การ ชุมนุมประท้วงของราษฎรบางส่วนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เป็นการกระทำที่มีการวางแผนมาก่อนโดยคนกลุ่มหนึ่ง โดยยกเอาการเรียกร้องให้ปล่อยตัว  ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) 6 คน เป็นข้อกล่าวอ้าง
 
          2.ผู้ชุมนุมบางส่วนมีอาวุธ เห็นได้จากรอยลูกกระสุนปืนที่สถานีตำรวจ ต้นไม้ หรือที่พักในสวนสาธารณะ
 
          3.มาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสกัดกั้นหรือการเจรจาโดยเจ้าหน้าที่ ผู้นำศาสนา และบิดามารดาของ ชรบ.6 คน เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว
 
          4.เจ้า หน้าที่มีเหตุอันสมควรเชื่อว่าหากปล่อยเหตุการณ์ยืดเยื้อออกไปจะทำให้ เหตุการณ์ลุกลามจนมิอาจควบคุมสถานการณ์ได้ แต่การใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานเข้าร่วมสลายการชุมนุมนั้น แม้จะมีความจำเป็นตามสถานการณ์ แต่ก็ยังเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติตามหลักสากล ซึ่งควรมีการตรวจพิสูจน์ต่อไป
 
          5.ความ บกพร่องในการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมเกิดจากการไม่สามารถจำแนกแกนนำออกจากผู้ ชุมนุมได้เพราะมีจำนวนมากขึ้น จึงปรับแผนด้วยการนำตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดไปควบคุมตัวแล้วค่อยคัดกรองออก ทำให้เกิดความบกพร่องในการเตรียมการและเคลื่อนย้าย
 
          6.การ ตัดสินใจขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวจากจังหวัดนราธิวาสไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เพราะที่ค่ายดังกล่าวมีสถานที่ควบคุมตัว และโรงพยาบาล
 
          7.การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวมีความสับสนและฉุกละหุก เพราะมีรถน้อย (ประมาณ 26-28 คัน) ขณะที่ผู้ถูกควบคุมมี 1,300 คน และเจ้าหน้าที่ต้องพยายามบรรทุกให้หมด จึงอาจมีการนอนทับซ้อนกันจริง (อาจ ทับซ้อนอวัยวะบางส่วน) ผลการตรวจสอบศพพบว่า ผู้เสียชีวิตได้รับอากาศน้อย กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจอ่อนแรง หลายรายถูกกดทับที่หน้าอก หลายรายเสียสมดุลของสารในเลือด และอาจมีอาการไตวายเฉียบพลัน จึงเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยไม่ดูแล ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย
 
          8.เหตุเกิดเวลากลางคืน ฝนตกหนัก รถมีน้อย ผู้ถูกควบคุมมีมาก กลัวการถูกชิงตัว กลัวอุบัติเหตุระหว่างทางถนนแคบ การขนย้ายมีระยะทาง 150 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
 
          9.การดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร มีประสิทธิภาพและเหมาะสม
 
          10.มีผู้สูญหาย 7 คน
 
          11.ผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้แก่ พลตรีเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร  ผบ.พล ร.5  ผู้ได้รับคำสั่งจากแม่ทัพภาคที่ 4 ให้ คุมกำลังในการสลายการชุมนุมและรับผิดชอบยุทธวิธี แต่ไม่ได้อยู่ควบคุมดูแลภารกิจโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น พลตรีสินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ได้รับคำสั่งให้ จัดเตรียมน้ำ อาหารและพื้นที่รับรองผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่มิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใดเพื่อบรรเทาความเสียหาย และ พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4  ซึ่งปฏิบัติหน้าที่บกพร่องขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระพบว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต  บาดเจ็บ แต่ก็มีบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควรนำมาพิจารณาต่อไป
 
“อังคณา”ลั่นสู้ต่อ เชื่อมีช่องฟ้องได้ทั้งแพ่ง-อาญา
นาง อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งไปร่วมสังเกตการณ์การอ่านคำสั่งคดีไต่สวนการตายเหยื่อตากใบ กล่าวว่า มีข้อเท็จจริงอีกหลายประเด็นที่ศาลไม่ได้หยิบมาพิจารณา โดยเฉพาะผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสีย ชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ ซึ่งเคยสรุปว่า เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง 3 นายก ระทำการบกพร่อง และการสลายการชุมนุมก็ไม่เป็นไปตามหลักสากล ฉะนั้นจะหารือกับสภาทนายความเพื่อยื่นฟ้องอาญา และเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ต่อไป 
        
 
ส่วน กรณีที่คดีนี้ญาติผู้สูญเสียเคยยื่นฟ้องทางแพ่งแล้ว และสุดท้ายมีการไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กระทั่งรัฐยอมจ่ายค่าชดเชยให้ โดยมีข้อผูกมัดท้ายสัญญาว่าผู้เสียหายจะไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาอีก นั้น นางอังคณา กล่าวว่า สัญญาที่ทำกันไว้ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามที่ระบุ ก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมไม่ต้องรับโทษ อย่างไรก็ดี จะหารือกับสภาทนายความเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง 
 
ส่อซ้ำรอยอัยการสั่งไม่ฟ้องเอาผิดกรือเซะ
ผู้ สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีตากใบอาจจะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับกรณีกรือเซะ หรือเหตุการณ์ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิต
32 ราย เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน โดยมี นายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธาน
 กรณีกรือเซะ อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการตายเหมือนกรณีตากใบ และศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2549 ระบุว่าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์รวม 32 ราย เกิดจากการกระทำของทหาร 3 นาย โดยศาลระบุในท้ายคำสั่งว่าให้อัยการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติต่อไป แต่ภายหลังอัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
 
“ถาวร”ลั่นสั่งรื้อทุกคดีที่ชาวบ้านคาใจ
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวกับ “อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป” และ “ทีมข่าวอิศรา” ถึง คดีความต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมว่า ได้สั่งให้ตรวจสอบทุกคดี โดยเฉพาะคดีกรือเซะที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งได้สอบถามไปยังอัยการแล้ว และให้หาช่องทางดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด        
 
อย่างไร ก็ดี นายถาวร ยอมรับว่า การจะรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่ตามกฎหมาย แต่เขาก็จะพยายามติดตามตรวจสอบทุกคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและหลัก นิติธรรม
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net