Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธีรำลึกเหตุการณ์วันที่ 18 พฤษภาคม ที่เมืองกวางจู (Gwangju) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี

ย้อนหลังไปเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ที่เมืองกวางจูซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของประเทศไปประมาณ 270 กิโลเมตร ได้เกิดเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นของมวลประชาชน (popular uprising) เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในฐานะก้าวย่างแรกของกระบวนการพัฒนาไป สู่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

ในเหตุการณ์นี้ ประชาชนหลายร้อยต้องจบชีวิตลง เนื่องจากการปะทะกับกำลังปราบปรามของทหาร คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ของไทย จะแตกต่างกันก็ตรงที่บรรดาญาติวีรชนและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยใน เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการช่วงชิงฐานะผู้กำหนดความหมายทางการเมือง กระทั่งสามารถผลักดันให้เกิดสำนึกร่วมต่อภาระในการชำระประวัติศาสตร์ และสามารถนำตัวผู้นำเผด็จการที่ออกคำสั่งสังหารประชาชนในขณะนั้นมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้

พิธีรำลึกจัดขึ้นที่สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม (May 18 National Cemetery) ซึ่งนอกจากเป็นที่ตั้งของสุสานผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์และพิพิธภัณฑ์แล้ว ที่น่าสนใจ คือ ภายในบริเวณยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสุสานของวีรชนประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามัญชนธรรมดาที่ได้สละชีวิต เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่นตัวอย่างที่ผมจดจำได้ดี คือ หลุมศพของคนขับแท็กซี่ผู้หนึ่งซึ่งเผาตัวตาย เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

งานพิธีการนั้นจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและสง่างาม องค์ประกอบต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่าหลายภาคส่วนได้ร่วมกันทุ่มเทกำลังความสามารถให้กับพิธีรำลึกครั้งนี้ ท่ามกลางความรู้สึกทั้งประทับใจปนประหลาดใจในหลายเรื่อง สิ่งที่ดึงดูดใจผมเป็นพิเศษ นั่นคือ คำกล่าวสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี ฮัน ซุง ซู ซึ่งได้ใช้เวลาและเนื้อหาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสบ

นายฮัน ซุง ซู ได้กล่าวในตอนต้นของสุนทรพจน์ไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในวันนี้เป็นผลโดยตรงมาจากคุณูปการของ วีรชนประชาธิปไตย อาทิเช่น วีรชนในเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพ อันเป็นผลให้กระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้นั้นดำเนินคืบหน้ามาเป็นลำดับ ถึงแม้เขาจะใช้เวลาค่อนข้างมาก (จนถึงมากเกินไป ในความรู้สึกของผม) ในสุนทรพจน์นี้กับเรื่องเศรษฐกิจและวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเขาพยายามสร้างความมั่นใจและปลุกใจให้ผู้ฟังร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ทั้งที่แขกของงานส่วนใหญ่เป็นญาติวีรชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่เราก็พอเข้าใจได้ว่าความกังวลต่อวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ได้เข้าแทรกซึม และครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเสมอหน้ากัน

หากตัดวาระเฉพาะกิจเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจออกไป ผมคิดว่าเราจะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้ผมกลับมาขบคิดถึงคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ในทางทฤษฎี นักเศรษฐศาสตร์ (รวมทั้งรัฐศาสตร์) จำนวนไม่น้อยพยายามศึกษาถึงปฏิสัมพันธ์และความสอดคล้อง/ขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยและทุนนิยม ซึ่งโดยพื้นฐานมีธรรมชาติที่ตรงข้ามกัน กล่าวคือ ประชาธิปไตยมีลักษณะเสมอภาค (egalitarian) เพราะทุกคนมีสิทธิทางการเมืองเท่ากันไม่ว่าจะรวยหรือจน และมีลักษณะจัดสรร (distributive) เพราะบุคคลหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างแข่งขันกัน เพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ขณะที่พื้นฐานของระบบทุนนิยมมีลักษณะไม่เสมอภาค (inegalitarian) เพราะขึ้นอยู่กับความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและทรัพยากร

ภายใต้กรอบคิดนี้ กลไกสำคัญภายในระบบทุนนิยมประชาธิปไตย (democratic capitalism) จึงประกอบด้วย ตลาดในฐานะผู้จัดสรรทรัพยากรตามเกณฑ์ของประสิทธิภาพและรัฐ ซึ่งทำหน้าที่กระจายรายได้ใหม่ตามการกดดัน/เรียกร้องหรืออุปสงค์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดแบบแยกขั้ว (polarization) ระหว่างการเมือง/ เศรษฐกิจหรือรัฐ/ ตลาด รวมทั้งการมองประชาธิปไตยและทุนนิยมว่าทั้งคู่มีความเป็นหนึ่งเดียวนั้นใช้ อธิบายปรากฏการณ์จริงไม่ได้ เพราะไม่สามารถอธิบายการดำรงอยู่ร่วมกัน (coexistence) ระหว่างระบบการเมืองและเศรษฐกิจบางรูปแบบ (อาทิเช่น กึ่งประชาธิปไตยและทุนนิยม) หรือไม่สามารถอธิบายว่าทำไมระบบเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งจึงทำงานได้ดีกว่าอีก ประเทศหนึ่งทั้งที่สองประเทศนั้นมีระบบการเมืองและเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน

การไม่สามารถให้คำอธิบายที่น่าพอใจสำหรับคำถามเหล่านี้ นำไปสู่ความคิดปฏิกิริยาว่าระบบประชาธิปไตยและ/หรือทุนนิยมนั้น ไม่ได้วิเศษเลิศเลออย่างที่กล่าวอ้างกัน ทั้งที่จริง การมองแบบแยกส่วนและสำเร็จรูปต่างหากที่ทำให้การวิเคราะห์กลไกการทำงานของระบบทุนนิยมประชาธิปไตยผิดพลาด

นอกจากนี้ กรอบคิดแบบแยกขั้วระหว่างรัฐและตลาดยังทำให้เรามองข้ามอีกปริมณฑลหนึ่งที่ สำคัญ คือ พื้นที่ทางสังคม ซึ่งถูกผลักให้ออกไปอยู่นอกการแบ่ง 2 ขั้ว คือ เศรษฐกิจ/การเมืองและทำให้สังคมกลายเป็นเพียงแนวคิดที่คลุมเครือและจับต้องไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทำให้เราละเลยกลไกสำคัญอย่างภาคประชาสังคม (civil society) ซึ่งผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้

ประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรเกาหลีและเกาหลีใต้ได้แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นแสนสาหัสไม่แพ้ที่ใดในโลก อย่างไรก็ตาม ในโอกาสครบรอบ 60 ปีของอิสรภาพเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ประชาชนของเขาได้มีโอกาสเฉลิมฉลองอย่างภาคภูมิกับความเจริญรุดหน้าทั้งในแง่ของประชาธิปไตยและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่มีระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ค่อนข้างต่ำ จะว่าไปแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์ของการรู้ระลึกคุณวีรชนประชาธิปไตยที่ทำให้ประเทศพัฒนาอย่างที่เห็น

หันกลับมามองตัวเองบ้าง คุณรู้สึกละอายใจเหมือนผมกับสิ่งที่เราปฏิบัติกับผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยในบ้านเราบ้างไหม

 

หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net