Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากข่าวของการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือการฆ่าตัวตายของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โนห์ มู เฮียน ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ทำให้ผมเกิดความสงสัยหลายประการ สิ่งที่ผมสงสัยนั้นมิใช่สงสัยว่าเหตุใดอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ถึงฆ่า ตัวตาย เพราะเขาได้ทิ้งข้อความไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขาเองก่อนที่จะตัดสินใจจบชีวิตด้วยการกระโดหน้าผาสูงราว ๑๐๐ เมตร ใกล้กับบ้านเกิดของเขาด้วยข้อความว่า

“ผมรู้สึกละอายใจต่อประชาชนของผม ผมเสียใจที่ทำให้พวกท่านผิดหวัง สิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตที่เหลือของผมรังแต่จะเป็นภาระของคนอื่น จงอย่าเสียใจ อย่าโทษใคร นี่คือ ชะตากรรม”

มีผู้คนเดินทางไปร่วมงานศพของเขาที่จัดขึ้นที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้เพื่อร่วมไว้อาลัย จำนวนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีพากันร่ำให้เสียใจต่อการจากไปของผู้นำที่ได้ชื่อว่ามือสะอาดที่สุดคนหนึ่งของเกาหลีใต้ หลายคนแสดงความไม่พอใจรัฐบาลที่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุให้เขาต้องฆ่าตัวตาย

มีบางคนถึงกับตะโกนขึ้นมาเรียกร้องให้นายลี เมียง บัค ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่อยู่ร่วมในพิธีศพและกำลังวางดอกไม้เพื่อไว้อาลัยต่อหน้าศพให้ออกมากล่าวขอโทษต่อการตายของนายโนห์และว่าการตายของนายโนห์เป็นการฆาตกรรมทางการเมือง

สำนักงานอัยการแห่งชาติของเกาหลีใต้ก็ตกเป็นเป้าโจมตีจากหลายฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้นายโนห์เกิดความกดดันจนต้องตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะจากกลุ่มที่สนับสนุนนายโนห์และพรรคยูริซึ่งเป็นพรรคการเมืองต้นสังกัดของอดีตผู้นำรายนี้ชี้ว่า สำนักงานอัยการพยายามใช้คดีคอร์รัปชั่นครั้งนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วยการจงใจปล่อยข่าวให้เล็ดลอดสู่สื่อมวลชนจนเกิดกระแสความกดดันอย่างหนัก

ส่วนสื่อเองก็ตกเป็นจำเลยของสังคมจากการมุ่งเสนอข่าวการทุจริตของอดีตผู้นำทางการเมืองอย่างเข้มข้น จนเป็นแรงผลักดันอย่างหนักต่อนายโนห์ ทั้งที่แต่เดิมนายโนห์ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมานานเพราะจากการที่เขาเป็นเพียงลูกเกษตรกรที่ยากจน แต่ดิ้นรนด้วยตนเองจนเรียนจบมาเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นผู้นำการต่อต้านเผด็จการและเป็นผู้นำประเทศในที่สุด

ในจดหมายลาตายของนายโนห์ระบุถึงการถูกเรียกสอบสวนในคดีคอร์รัปชั่น โดยบอกว่าคดีคอร์รัปชั่นนั้นร้ายแรงมากสำหรับตนเองและแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งความจริงแล้วการคอร์รัปชั่นครั้งนี้นายโนห์ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดยในการให้ปากคำต่ออัยการเขายอมรับว่านางกวอน ยัง ซุก ภรรยาของตนเองได้รับเงินจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์ (๓๕ ล้านบาท)และพี่ชายได้รับเงินอีก จำนวน ๕ ล้านดอลลาร์ (๑๗๕ ล้านบาท) จากนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้คนหนึ่ง แต่ยืนยันว่าเงินดังกล่าวไม่ได้เป็นการติดสินบนตนแต่อย่างใด เขาคิดว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินเพื่อการลงทุนตามข้อตกลงระหว่างผู้รับกับผู้ให้และที่สำคัญคือเขาเองไม่ได้ล่วงรู้เรื่องนี้ จนกระทั่งเขาพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้ว

แม้การสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงจะยังคงดำเนินการไปยังไม่สิ้นสุด แต่นายโนห์ก็ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ตกเป็นจำเลยของสังคม คือสำนักงานอัยการ สื่อมวลชนเกาหลีใต้ และแม้กระทั่งประธานาธิบดีลี เมียง บัค ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน

ข้อสงสัยของผมที่ผมยกขึ้นมาเกริ่นนำในตอนต้นก็คือว่าในขณะที่สื่อมวลชนบางรายเสนอข่าวด้วยความชื่นชมว่าเขาเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงถึงขนาดยอมสละชีวิตตนเองและเรียกร้องให้นักการเมืองไทยเอาแบบอย่างนั้น ทำให้ผมเกิดความสงสัยว่าการฆ่าตัวตายเป็นวิถีทางในการแก้ปัญหาหรือการแสดงออกถึงความรับผิดชอบอย่างแท้จริงกันแน่ล่ะหรือ และที่น่ากังวลก็คือการโจมตีกระบวนการตรวจสอบของสำนักงานอัยการและสื่อมวลชนเกาหลีใต้ว่าเป็นที่ทำให้เขาต้องฆ่าตัวตายเสียอีกด้วย

เราจะเห็นได้ว่าค่านิยมแบบนี้แท้จริงแล้วเป็นปัญหาอย่างมากในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากการที่มีศิลปินดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในเกาหลีใต้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นข่าวโด่งดังมาโดยตลอด และแน่นอนว่าข่าวการฆ่าตัวตายเหล่านี้นอกจากจะมีผลกระทบต่อสังคมเกาหลีใต้เองแล้วยังมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน

ผมไม่อยากให้การฆ่าตัวตายถูกทำให้เป็นค่านิยมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ เพราะผมเชื่อว่าการฆ่าตัวตายนั้นนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาแล้วยังทิ้งปัญหาให้ตามมาภายหลังอีกมากมาย ซึ่งในกรณีนี้ผลการสอบสวนและผลการพิจารณาคดียังไม่เป็นที่ยุติ ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข่าวนั้นเขาคงไม่ได้เกี่ยวข้อง และก็ไม่แน่ว่าภรรยาและพี่ชายของจะผิดจริงตามนั้นหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่ผิดเลยก็ได้ แต่ชีวิตก็สูญสิ้นไปแล้ว

ตัวอย่างกรณีเช่นนี้ก็เคยปรากฏในสังคมไทยเราเช่นกัน ในอดีตหากยังจำกันได้ในกรณีทุจริตโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยตกเป็นจำเลยกันหลายราย แต่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับเจ้าเมืองฆ่าตัวตายไปก่อนที่การพิจารณาคดีจะถึงที่สุดว่าไม่มีความผิดแต่อย่างใด

เรามักจะได้ยินได้ฟังข่าวที่น่าสะเทือนใจกันอยู่เป็นประจำในเรื่องของการฆ่าตัวตายของของพ่อกับแม่แล้วฆ่าลูกให้ตายตกไปตามกันดังที่ปรากฏเป็นข่าวกันอยู่เนืองๆ ในเมืองไทยของเรา และที่โด่งดังและอื้อฉาวไปทั่วโลกก็คือการฆ่าตัวตายหมู่ในอดีตของบรรดาสาวกของ จิม โจนส์ ชาวอเมริกัน ที่พากันฆ่าตัวตายหมู่ (ทั้งที่สมัครใจและถูกบังคับ) ครั้งร้ายแรงที่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๑ (๑๙๗๘) ด้วยการดื่มน้ำผลไม้ผสมไซยาไนด์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า ๙๐๐ คน ที่โจนส์ทาวน์ ประเทศกิอานา และเกือบ ๓๐๐ คนเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี

ที่ผมนำกรณีการฆ่าตัวตายมายกตัวอย่างนี้มิได้มีเจตนาที่จะกล่าวโทษหรือประณามผู้ที่กระทำอัตวินิบาตกรรม เพราะผมเคารพในการตัดสินใจของแต่ละท่านว่าจะเลือกตัดสินใจอย่างไรต่อชีวิตของตัวเอง แต่ผมมีวัตถุประสงค์ที่ไม่อยากให้นำกรณีของการฆ่าตัวตายมายกตัวอย่างกันจนเลยเถิดว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องพร้อมทั้งเรียกร้องให้เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบเหมือนดังข่าวสารที่เผยแพร่กันอยู่ในปัจจุบัน
       
ชีวิตมนุษย์นั้นมีค่ายิ่งนัก
ทุกชีวิตมีปัญหา
ทุกปัญหามีทางแก้
บางปัญหาแก้ง่าย บางปัญหาแก้ยาก

แต่แน่นอนที่สุดการฆ่าตัวตายมิใช่การแก้ปัญหาหรือการแสดงออกถึงความรับผิดชอบอย่างแน่นอน

.......................................................................................................

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net