Skip to main content
sharethis
ท่ามกลางความขัดแย้งอมตะระหว่าง “โรงไฟฟ้า” และ “ชาวบ้าน” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากการรวมกลุ่มของประชาชนเจ้าของพื้นที่ประท้วงต่อรองกับรัฐและเอกชนแล้ว เราจะเห็นเครื่องไม้เครื่องมือ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่รัฐผลักดันออกมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ “กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า”
                                            
เครื่องมือชนิดใหม่นี้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ริเริ่มและดำเนินการ (อย่างรวดเร็ว-ภายใน 1 เดือน) ในสมัย “ปิยะสวัสดิ์ อมระนันท์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งตั้งขึ้นมาหลังการรัฐประหารปี 2549
 
กองทุนนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า ชาวบ้านในพื้นที่ และผู้บริโภคโดยทั่วไป เพราะเป้าประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน ก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ บวกกับเป้าหมายรองในการจัดการความขัดแย้งระหว่างนักลงทุนและชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ที่นับวันจะยิ่งงัดข้อกันอย่างดุเดือดยิ่งขึ้นนับตั้งแต่มีบทเรียนล้มโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด ที่จังหวัดประจวบฯ เมื่อปี 2541 เป็นต้นมา โดยเงินที่เก็บเข้ากองทุนนี้ก็มาจากผู้บริโภค ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถผลักภาระไปอยู่ในค่าเอฟทีในบิลค่าไฟของทุกคนได้
 
“การมีกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (Clean Energy Fund) จะช่วยให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ที่จะได้จากการมีโรงไฟฟ้าในชุมชน และทำให้การดำเนินโครงการต่างๆในอนาคตเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้นซึ่งกองทุนในลักษณะนี้ได้มีการทดลองใช้แล้วในหลายประเทศ อาทิ เกาหลี พบว่าได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องการให้มีการจัดตั้งกองทุนทั้งหมดขึ้นภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีกองทุนแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาดก็คือ การสร้างความเข้าใจแก่คนในชุมชน”
 
ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง นโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน (http://www2.egat.co.th/internews/showdetail.php?id=74 3 ก.ย.50)
 
“....การจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มีกฎหมายนี้ขึ้นมา ชุมชนสามารถมีเงินนำไปพัฒนาชุมชนของตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด…..ต่อไปเมื่อมีกองทุนขึ้นมา จะมีชุมชนต่างๆ อยากจะให้มีโรงไฟฟ้าเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ของตนเอง เพราะมีเม็ดเงินก้อนโตที่จะลงไปพัฒนา การบริหารจัดการก็สะดวกกว่าการบริหารงานของแผ่นดิน เพราะมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารในสัดส่วนที่มากกว่าภาคต่างๆ จึงเชื่อว่าการบริการจัดการกองทุนน่าจะได้ผลและเงินได้ตกไปถึงมือของประชาชนอย่างแท้จริง....คงต้องรอดูบทบาทของกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะเข้ามามีส่วนช่วยให้โรงไฟฟ้าใหม่ๆ เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด”
 
นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)(บมจ.)
(หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 16 - 19 ก.ย. 2550)
 
 
กำเนิด “กองทุนรอบโรงไฟฟ้า” ภาคแรก
กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า หรือเรียกชื่อเล่นว่า กองทุนรอบโรงไฟฟ้า เกิดขึ้นตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ก่อนจะผ่านมติคณะรัฐมนตรีอย่างรวดเร็วในอีกราว 2 สัปดาห์ต่อมา (19 มิถุนายน 2550) โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนที่ว่าให้แล้วเสร็จในปลายปีดังกล่าว
 
วัตถุประสงค์เบื้องต้นที่ระบุไว้คือ
 
“เพื่อจัดหาเงินทุนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า”
 
โดยผู้ได้รับผลกระทบแบ่งเป็น “ชั้นใน” (พื้นที่ที่อยู่ในรัศมีขั้นต่ำ 5 กิโลเมตรจากขอบเขตของโรงไฟฟ้า หรือขอบเขตของนิคมอุตสาหกรรมที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่) และ “ชั้นนอก” (พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ชั้นใน โดยให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการกำกับดูแลฯ)
 
สำหรับเงินที่เก็บเข้ากองทุนนั้นกำหนดให้โรงไฟฟ้าทุกแห่งที่จ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่ 6 เมกกะวัตต์ขึ้นไป ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้ ถ้าอยู่ระหว่างการก่อสร้างให้จ่ายตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า (บาท/เมกะวัตต์/ปี) และเมื่อมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วให้จ่ายตามหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (สตางค์/หน่วย) ในอัตราที่แตกต่างกันตามการปล่อยมลภาวะจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ใช้
 
อัตราการจัดเก็บค่าพลังงานไฟฟ้าเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (รายเดือน)
 
เชื้อเพลิง
สตางค์/หน่วย
ก๊าซธรรมชาติ
1.0
น้ำมันเตา, ดีเซล
1.5
ถ่านหิน, ลิกไนต์
2.0
พลังงานหมุนเวียน
- ลม และแสงอาทิตย์
- ชีวมวล กาก และเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน
- พลังน้ำ
 
0.0
1.0
2.0
 
จากกรณีศึกษาประมาณการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามชนิดเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการในปัจจุบัน ณ ปี 2549 ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP (เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่) และ SPP (เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก) เฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชิงพาณิชย์และชีวมวล พบว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ รวมประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี เป็นค่าไฟฟ้าที่นำเข้า Ft ประมาณ 1.22 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับเงินกองทุนฯ สูงสุด 5 ลำดับแรก คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดราชบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี
 
ที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายนี้ผลักสู่ค่าเอฟทีได้สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว หรือโรงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่เซ็นสัญญากับ กฟผ.ไปเรียบร้อยแล้วก่อนมีระเบียบนี้ออกมา ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่หลังจากนี้ก็สามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงไปในสัญญาซื้อขายไฟได้อยู่แล้ว
 
นั่นจึงชัดเจนยิ่งว่า เงินกองทุนนี้มาจาก “ผู้บริโภค” แต่เรื่องนี้กลับถูกพูดถึงน้อยมาก
 
แม้ผู้ว่าการกฟผ.เอง (สมบัติ ศานติจารี) ก็ระบุชัดเจนหลังรับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ว่า กฟผ.จะให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบทางสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) มากขึ้น ด้วยการเอาใจใส่ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความไว้วางใจ และยอมรับทั้งจากประชาสังคม
 
“จะให้ความสำคัญ CSR เพราะเห็นว่าเป็นจุดสำคัญในการสร้างความเข้าใจภารกิจของกฟผ. ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเคลียร์ นอกจากนั้น กฟผ.จะเร่งตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อให้ชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้ามีงบพัฒนาพื้นที่มากขึ้น”
(จากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พ.ย.50)
 
หากฟังเผินๆ มันก็ดูราวกับว่ากองทุนนี้อยู่ในแผน CSR ของ กฟผ. และได้รับเงินจาก กฟผ. ด้วย ทั้งที่ความเป็นจริง กฟผ.ในฐานะผู้ซื้อไฟรายใหญ่ที่สุดรายเดียวของประเทศจะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งผ่านเงินก้อนนี้เท่านั้น  
 
ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ นี้นำมาสู่ฐานวิธีคิดในการจัดตั้งกองทุน อัตราการคำนวณดังกล่าวนำมาจากไหน การให้ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นธรรมหรือไม่ กระทั่งกองทุนนี้จะเป็นไปตามจุดประสงค์ได้หรือเปล่า
 
ตอนหน้าเราจะพูดคุยถึงกองทุนนี้ในเชิง concept กับนักเศรษฐศาสตร์พลังงานคนสำคัญของเมืองไทย... ‘เดชรัตน์ สุขกำเนิด’
 

 

 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net