สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี วิเคราะห์พม่า : การเมืองใต้ท๊อปบูท

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อคณะทหารกำลังเดินหน้าตามแผนบันใด 7 ขั้น โดยจะจัดการเลือกตั้งในปี 2553 มันจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีนับแต่ชัยชนะของพรรค มันเป็นงานที่หนักมากกว่าครั้งก่อน เพราะหนนี้ ประตูแห่งชัยชนะถูกปิดตายตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น

อองซานซูจี ถือเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งในการเมืองของพม่า เพราะเธอไม่ได้ตั้งใจจะเล่นการเมืองตั้งแต่ต้น ไม่ได้ปรารถนาจะมีชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ตอนที่นายพลอองซานบิดาของเธอถูกลอบสังหารเธอมีอายุได้เพียง 3 ขวบ (อองซานซูจี เกิดวันที่ 19 มิถุนายน 1945) โอกาสที่จะเข้าใจว่าการเสียชีวิตของบิดาเป็นเรื่องการเมืองมีน้อยมาก พออายุได้ 15 ปีต้องออกจากพม่าไปอินเดีย เพราะต้องติดตามแม่ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตที่นั่น ก่อนที่จะย้ายไปอยู่อังกฤษ เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทางด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ถึงแม้ว่าวิชาที่เรียนจะเป็นวิชาที่ฝึกเพื่อเป็นผู้นำโดยตรง แต่ดูเหมือนอองซานซูจี ไม่ได้เข้าเรียนวิชานี้เพราะอยากจะกลับไปเป็นผู้นำการเมืองพม่า  อีกทั้งผลการเรียนในระดับปริญญาตรีของเธอที่นั่นไม่สู้จะดีนัก

การที่ได้สมรสกับนักวิชาการอังกฤษ ชื่อ ไมเคิล อริส (Michael Aris) ทำให้อองซานซูจีมีแรงบันดาลใจอยากจะเป็นนักเขียนมากกว่างานการเมือง งานเขียนชิ้นแรกๆของอองซานซูจี เป็นเสมือนหนังสือท่องเที่ยว แนะนำประเทศ ภูฏาน เนปาล และพม่า ตีพิมพ์พร้อมกัน 3 เล่มในปี 2528 ในเรื่องพม่านั้นเธอพูดถึงการเมืองในประเทศมาตุภูมิแค่หยาบๆง่ายๆว่า เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยม มีพรรคโครงการสังคมนิยมเพียงพรรคเดียวปกครองประเทศไม่มีพรรคการเมืองอื่นอีก รัฐบาลมุ่งเน้นความมีเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพในชาติ ในเล่มนั้นไม่มีได้พูดถึงการปกครองที่โหดเหี้ยมของนายพลเนวินเลยสักคำ ไม่ต้องนับว่าไม่มีเรื่องเกี่ยวกับปัญหาชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของพม่าเลย

อองซานซูจี พยายามจะเดินตามรอยสามีด้วยการสมัครเข้าเรียนปริญญาเอกที่ SOAS (School of Oriental and African Studies) ตอนแรกตั้งใจจะเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองพม่า ความตั้งใจเดิมคืออยากเขียนประวัติพ่อตัวเองให้เป็นงานวิชาการ แต่เนื่องจากผลการเรียนชั้นปริญญาตรีไม่สู้ดีนัก บรรดาศาสตราจารย์ที่พิจารณาหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเธอเห็นว่า ความเข้าใจทฤษฎีการเมืองของอองซานซูจีนั้นเป็นได้อย่างมากก็แค่ครูตามวิทยาลัย ไม่ถึงขั้นปริญญาเอก ก็เลยลงความเห็นไม่รับเธอเข้าเรียน แต่อองซานซูจีก็ไม่ละความพยายามสมัครเข้าไปใหม่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนหัวข้อ เป็นเรื่องวรรณกรรมพม่า คราวนี้ประสบความสำเร็จ แต่ระหว่างที่เรียนไปสักพักก็ได้เข้าโครงการแลกเปลี่ยนไปทำงานวิจัยทางด้าน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว แต่ระหว่างนี้ชีวิตก็มีปัญหามากมาย ก็เป็นเหตุให้อองซานซูจีไม่อาจประสบความสำเร็จในการศึกษาขั้นปริญญาเอกได้

อีกทั้งในเวลานั้นมารดาของเธอ คือ ดอว์ขิ่นจีได้ล้มป่วยลง เธอจึงตัดสินใจมาเยี่ยมมารดาที่พม่า ซึ่งก็พอดีเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในปี 2531 และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ชีวิตต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ใครเลยจะคิดว่าเวลาส่วนใหญ่หลังจากกลับคืนสู่มาตุภูมิ คือเวลาที่ถูกกักขังอยู่แต่ในบ้านของตัวเอง

ด้วยฐานะทางสังคมของเธอ ด้วยการศึกษาที่สูงส่ง (แม้ไม่จบปริญญาเอกแต่ก็ถือว่าไม่น้อย) และประกอบกับชื่อของบิดาที่ยังเป็นวีรบุรุษอยู่ในหัวใจของคนพม่ามิได้เสื่อม คลาย การประท้วงที่ทวีความรุนแรงก็เรียกร้องให้เธอออกมาเดินถนนเพื่อดูเหตุการณ์ พลันที่เธอปรากฏตัวระหว่างที่การเมืองกำลังคุกรุ่นเพราะความไม่พอใจต่อชีวิต ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นภายใต้ระบอบเนวิน เธอจึงได้รับความสนใจมาก ทั้งๆที่ตอนแรกจิตใจของเธอจดจ่ออยู่กับมารดาที่ล้มป่วยอยู่มากกว่า

แต่เมื่อเห็นว่าทหารทำรุนแรงกับประชาชนเหลือเกิน จิตใจที่ดีงามและรักความเป็นธรรม ผลักดันให้เธอคิดว่า คงจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติบ้าง ในที่สุดเธอได้ตัดสินใจเข้าร่วมก่อตั้งและรับตำแหน่งเลขาธิการสันนิบาติแห่ง ชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) หรือ เอ็นแอลดี ในเดือนกันยายน 2531 เพียงสัปดาห์เดียวหลังจากที่ทหารยึดอำนาจจากเนวิน

อองซานซูจีทำการรณรงค์หาเสียงอย่างหนักทั่วประเทศ ก่อนที่จะถูกทหารกักบริเวณในอีก 10 เดือนต่อมาในฐานที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ได้รับการปล่อยตัวในเดือนกรกฎาคม 2538 นับได้เป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนที่จะถูกกักตัวอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกันยายน 2543 เพราะพยายามที่จะเดินทางไปพบผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีที่เมืองมัณฑะเลย์ เธอได้รับการปล่อยตัวอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2545 และถูกกักตัวอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนพฤษภาคม 2546 หลังจากที่เกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนที่ทหารสนับสนุนกับมวลชนของเธอที่ ใกล้ๆเมือง เดปายิน ระหว่างที่เธอออกพบประชาชน เป็นเหตุให้เธอถูกกักขังอยู่จนถึงปัจจุบัน และมีโอกาสจะถูกกักตัวต่อไปอีกในคดีที่ นาย จอห์น เยตตอว์ อดีตทหารผ่านศึกอเมริกันว่ายน้ำข้ามทะเลสาบอินยาไปที่บ้านของเธอเมื่อต้น เดือนพฤษภาคม 2552

การต่อสู้อย่างกล้าหาญกับคณะทหารเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับพม่า ส่งผลให้อองซานซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 และเธอยังได้รับการยกย่องและสนับสนุนจากชุมชนนานาชาติที่ช่วยกันกดดันและ เรียกร้องให้คณะทหารพม่าโอนอำนาจซึ่งได้มาจากการชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2533 ให้แก่เธอ แต่คณะทหารก็ยังไม่ยอมโดยหาเหตุผลต่างๆนานา เช่นว่าเธอมีสามีเป็นต่างชาติ (ซึ่งบัดนี้เสียชีวิตแล้ว) บ้าง เธอไม่ได้เติบโตในพม่าบ้าง มีบุตรที่เกิดจากการสมรสกับต่างชาติบ้าง และถึงกับเขียนเงื่อนไขเหล่านี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เพียงเพื่อไม่ต้องการให้อองซานซูจีมีบทบาททางการเมือง ในพม่า หรือ อีกนัยหนึ่งไม่ต้องการให้เธอเป็นผู้นำของประเทศนี้นั่นเอง บางที่ SOAS น่าจะคิดถูกที่ไม่อยากให้อองซานซูจียุ่งกับการเมือง เพราะเธอคงไม่มีวันประสบความสำเร็จได้เลย

โลกยกย่องและให้ความสนใจอองซานซูจีอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงองค์ประกอบของฝ่ายค้านพม่าไม่ได้มีเฉพาะอองซานซูจีเท่านั้น หากแต่มีองค์ประกอบขององค์กรประชาธิปไตย และ กลุ่มบุคคลที่ซ่อนตัวรอคอยโอกาสที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของเธอเอง

ในทางหลักการแล้ว ระบอบพรรคเดียวของพม่าได้สิ้นสุดไปพร้อมกับระบอบเนวิน คณะทหารซึ่งหนึ่งในคณะนำตอนนั้นคือ ตัน ฉ่วย ที่ขึ้นมามีอำนาจแทนยอมรับให้มีการต่อตั้งพรรคการเมืองอย่างมากหมาย แต่ทว่าโอกาสที่พรรคการเมืองในพม่าจะเติบโตขึ้นนอกองคาพยพของทหารนั้นไม่มี เอาเสียเลย

หลังยุคเนวินใหม่ๆมีผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองหลายพรรค เช่น พรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (Democratic Party for a New Society) ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนแนวทางใหม่เมื่อบรรดาแกนนำของพรรคถูกไล่ล่าจนต้องพากันหนีมาสมทบกับพวกนักศึกษาที่ทำงานใต้ดินภายใต้องค์ที่ชื่อ All-Burma Students’ Democratic Front – ABSDF หรือเอบีเอสดีเอฟ ที่เคลื่อนไหวกันอยู่ตามแนวชายแดนไทยตั้งแต่ปี 2531 มาจนปัจจุบัน  พรรคของชนกลุ่มน้อยก็มี เช่น พรรคสันนิบาติแห่งชาติฉาน หรือ พรรคของชาวไทใหญ่ก็มี แต่ปัจจุบันผู้นำถูกกวาดจับไปจนสิ้น  จนกระทั่งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอะไรได้เลย

แต่พรรคเอ็นแอลดียังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้ต่อไป และต่อสู้อย่างจริงจังมากในการเลือกตั้งเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน มีการออกแผ่นพับใบปลิว รณรงค์ทางการเมืองกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเอกสารในการโฆษณาหลายอย่าง เช่นจดหมายข่าวก็ถูกทางฝ่ายคณะทหารหาว่าเป็นเอกสารเถื่อนที่ออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม ตัวอองซานซูจีเองได้เปิดฉากโจมตีความผิดพลาดของระบอบเนวินอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวหาว่านายพลชราได้พาความหายนะมาสู่ประเทศชาติย่างประมาณมิได้

20 กรกฎาคม 2532 ทหารจำนวนมากปิดล้อมถนนมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเขตบ้านพรรคของอองซานซูจี นักศึกษาที่ยังชุมนุมเคลื่อนไหวประท้วงกันอยู่ถูกจับเป็นจำนวนมาก อองซานซูจี ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้าน ตินอูประธานพรรคเอ็นแอลดีและแกนนำพรรคคนอื่นถูกพาตัวไปยังคุกอินเส่ง เจ้าหน้าที่ของพรรคนับพันๆคนทั่วๆ ประเทศถูกจับกุมและสำนักงานของพรรคถูกปิด สภาทหารแก้ตัวว่าพวกที่ถูกจับไปนั้นเป็นพวกคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาชักใยบงการ พรรคเอ็นแอลดี ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คอมมิวนิสต์ไม่ได้เคลื่อนไหวในกรุงย่างกุ้งมาหลายปีแล้ว

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง คือวันที่ 27 พฤษภาคม 2533 พรรคเอ็นแอลดีกลับประสบชัยชนะอย่างท่วมท้นกวาดที่นั่งได้ถึง 392 ที่นั่งจากทั้งหมด 485 ที่นั่งในสภา (ความจริงสภาทั้งหมด 492 ที่นั่งแต่ 7 เขตเลือกตั้งไม่มีการลงคะแนนด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย) จำนวนที่นั่งที่เหลือตกได้แก่พรรคของชนกลุ่มน้อยอย่าง สันนิบาตไทยใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan National League for Democracy – SNLD) ส่วนพรรคที่ทหารหนุนหลังคือ พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party) ซึ่งก็คือชื่อใหม่ของพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าของเนวินได้ที่นั่งเพียง 10 ที่นั่ง

ชัยชนะของเอ็นแอลดีได้รับการยกย่องว่าเป็นเพราะผลจากการทำงานเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปี (สิงหาคม 2531-กรกฎาคม 2532) ก่อนที่อองซานซูจี จะถูกกักบริเวณ และผู้ที่เจ็บปวดต่อชัยชนะดังกล่าวนั้นเห็นจะได้แก่คณะทหารซึ่งไม่ได้เตรียม การสำหรับความพ่ายแพ้ของตนเอาไว้เลย

เป็นเวลาถึง 3 เดือนกว่าที่คณะทหารจะคิดหาคำพูดใดมาพยุงอำนาจของตนได้อีกต่อไป ก่อนที่ขิ่นยุ้นต์เลขาธิการที่ 1 ของสภาทหารในเวลานั้น จะออกประกาศในวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 ว่าการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองกว่า 90 พรรคเข้าร่วมนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่การเลือกตั้งสมาชิกสภาแต่เป็นการลงประชามติรับรองเอา ประชาธิปไตยแบบใหม่แทนระบอบเนวิน ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมาทำหน้าที่นิติบัญญัติและบริหาร ประการสำคัญอย่าได้หวังว่าพรรคเอ็นแอลดีซึ่งได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นนั้นจะ ได้อำนาจในการปกครองประเทศ คณะทหาร จะทำหน้าที่ในการเป็นองค์อธิปัตย์แห่งรัฐสืบไป

เช้าวันรุ่งขึ้น บรรดาแกนนำของของพรรคเอ็นแอลดีมาประชุมกันที่หอประชุมคานธี ในกรุงย่างกุ้ง เพื่อกำหนดท่าที ที่สุดก็ได้ลงมติกันว่าจะยืนหยัดเรียกร้องให้คณะทหารมอบอำนาจให้กับพรรคการ เมืองที่ชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำการบริหารประเทศ คำประกาศที่หอประชุมคานธี เรียกร้องให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์เพื่อความปรองดองแห่งชาติ ขอให้ปล่อยตัวออง ซาน ซูจีและผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆของพรรคเอ็นแอลดี และก็อย่างเคย ไม่มีการตอบสนองจากคณะทหาร

คณะทหารพยายามอย่างยิ่งที่จะทำลายพรรคเอ็นแอลดี ด้วยเทคนิกและวิธีการต่างๆนานา เช่นการข่มขู่ จับกุม หรือ ทำร้ายครอบครัวของสมาชิกพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง หรือ หาทางถอดถอนสถานภาพของคนได้รับเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 2536 แต่ให้สัดส่วนของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภานี้เพียง 15.24% ที่เหลือก็คัดเอาจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารให้เข้าไปนั่งในสภา

สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีหลายคนก็ยินยอมเข้าไปนั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อที่จะรักษากิจกรรมทางการเมืองของพรรคให้ดำเนินสืบต่อไปได้  แต่เนื่องจากเงื่อนไขในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่สู้จะเปิดโอกาสให้สมาชิกที่ เป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปมีสิทธิมีเสียงมากนัก ในที่สุด พรรคเอ็นแอลดี ก็มีมติถอนตัวจากการร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 และสภาร่างรัฐธรรมนูญของพม่าก็ยุติลงในอีกไม่กี่เดือนหลังการถอนตัวของเอ็น แอลดี กลับมาทำการเริ่มต้นกันใหม่ในอีก 10 ปีถัดมา ตามแผน 7 ขั้นตอนสู่การปรองดองแห่งชาติและประชาธิปไตยของขิ่นยุ้นต์ และร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบโดยประชามติในปี 2551 ระหว่างที่ประเทศกำลังประสบปัญหายุ่งยากจากพายุไซโคลนนากีส  และที่สำคัญที่สุดคือ ครั้งหลังนี้ พรรคเอ็นแอลดี ไม่ได้เข้าร่วม

ปัจจุบันพรรคเอ็นแอลดีแทบจะไม่เหลืออะไรอยู่เลย สมาชิกจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่เคยได้รับเลือกตั้งในปี 2533 ถ้าไม่ถูกจับก็ถูกบีบให้ถอนตัวจากการเมืองหรือลดบทบาทลงไป จำนวนไม่น้อยก็หนีไปอยู่ต่างประเทศแล้ว การติดต่อประสานงานหรือทำงานในฐานะพรรคการเมืองทั่วๆ ไปจึงไม่มีเอาเสียเลย อาจจะกล่าวได้ว่านอกจากชื่อและตัวตนของอองซานซูจีที่ยังคงดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคสืบมาแล้ว พรรคนี้แทบไม่มีอะไรเลย

อันที่จริงพรรคนี้มีผู้นำพรรคคือ ติน อู แต่ไม่สู้จะมีคนกล่าวถึงเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ก็ถูกกักบริเวณเหมือนกับอองซานซูจี ตั้งแต่ปี 2536 เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ได้ทำงานอะไรให้กับพรรคอีกเช่นกัน

ในหลายโอกาสผู้ที่เฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคเอ็นแอลดีก็ถามถึงความ เป็นสถาบันและความมีประชาธิปไตยในพรรค เพราะเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีลักษณะเป็นวีรชนเอกชนจนเกินไป

อองซานซูจีไม่ได้ชูความเป็นองค์กรของพรรคเอ็นแอลดีมากเท่ากับบทบาทของตัวเอง สมาชิกจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะที่เป็นรุ่นหนุ่มก็บูชาอองซานซูจีมากจนเกินไปจนทำ ให้ลักษณะของการทำงานเป็นองค์กรไม่เกิดขึ้นตามแบบฉบับของพรรคการเมืองที่ดี ทั่วไป

ส่วนตัวอองซานซูจี อาจจะไม่มีหวังที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อีก แต่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือ พรรคเอ็นแอลดี จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เมื่อคณะทหารกำลังเดินหน้าตามแผนบันใด 7 ขั้น โดยจะจัดการเลือกตั้งในปี 2553 มันจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีนับแต่ชัยชนะของพรรค มันเป็นงานที่หนักมากกว่าครั้งก่อน เพราะหนนี้ ประตูแห่งชัยชนะถูกปิดตายตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น

........................................................

ที่มา : จาก "แม่โขงรีวิว"
http://www.indochinapublishing.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท