รับน้องโหด: อำนาจเหตุผลของความรุนแรง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ทำไมการรับน้องโหดจึงมีให้เห็นอยู่ทุกต้นปีการศึกษา?
สังคมควรคิดกันมากกว่าเพียงคิดหาคนผิด หรือคิดว่าเป็นความผิดของสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น การดำเนินการกับคนทำผิดหรือความบกพร่องของสถาบันการศึกษาที่ปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นก็ต้องจัดการกันไปตามกฎหมาย
แต่อะไรคือมูลเหตุที่แท้จริงของการดำรงอยู่ของกิจกรรมรับน้องโหด เป็นเรื่องที่คนในแวดวงการศึกษายังตั้งคำถามกันน้อยไปหรือไม่?
ประเพณีรับน้องเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมานานในทุกสถาบันอุดมศึกษา (ปัจจุบันแม้จะมีการเลี่ยงใช้คำ “รับน้อง” แต่เหตุผลและเนื้อหาของกิจกรรมยังคงเดิมอยู่หรือไม่?) และวิธีการที่เน้นการใช้อำนาจ ความรุนแรงทางวาจา การกระทำ หรือรูปแบบกิจกรรมที่เน้นความมันส์ ความสะใจก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของนักศึกษาปัญญาชนที่ดำรงอยู่คู่กับประเพณีรับน้อง
ประเพณีหรือวัฒนธรรมใดก็ตามที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน มันย่อมมีเหตุผลค้ำยันการดำรงอยู่ โดยเฉพาะเหตุผลนั้นมันมี “อำนาจ” บางอย่างที่ทำให้คนซึ่งสังกัดหรือเข้ามาสู่ประเพณีหรือวัฒนธรรมนั้น เป็น “มนุษย์ที่เชื่อง” ไม่กล้าตั้งคำถามหรือวิพากษ์เหตุผลนั้นอย่างตรงไปตรงมา
ลองสำรวจเหตุผลของประเพณีรับน้องดู จะพบเหตุผลหลักๆ เช่น เพื่อสร้างความสามัคคี ความรักสถาบัน ความภาคภูมิใจ ความจงรักภักดีในสถาบัน ความรู้จักคุ้นเคยระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ความมีสัมมาคารวะที่รุ่นน้องพึงมีต่อรุ่นพี่ ฯลฯ 
จะเห็นว่าในเหตุผลหลักๆดังกล่าวมี “สถาบัน” กับ “รุ่นพี่” แต่ไม่มี “รุ่นน้อง” คืออ้างอิงความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน (ที่ต้องรัก ต้องภาคภูมิใจ ต้องภักดี) กับความสำคัญของรุ่นพี่ (ที่รุ่นน้องต้องมีสัมมาคารวะ) แต่ละเลยความสำคัญของรุ่นน้องในฐานะผู้คาดหวังจะได้รับการพัฒนาความรู้ สติปัญญา มโนสำนึกที่ดีงามผ่านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ที่อยู่บนพื้นฐานการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เราจึงไม่เคยเห็นรุ่นพี่ประกาศ “กฎเหล็ก” ในการรับน้องว่า กฎต่อไปนี้ 1,2,3 ...กำหนดขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้อง เป็น “กฎเหล็ก” ที่รุ่นพี่จะละเมิดมิได้
แต่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่รุ่นพี่จะประกาศ “กฎเหล็ก” เช่น “กฎข้อ 1 รุ่นพี่ทำอะไรไม่ผิด ข้อ 2 หากเห็นว่ารุ่นพี่ทำอะไรผิดให้ไปดูกฎข้อ 1” แม้จะดูเป็นคำประกาศที่กึ่งจริงกึ่งเล่น แต่ถ้าไม่มีการใช้กฎเหล็กทำนองนี้จริง การรับน้องด้วยวิธีรุนแรงคงไม่ตกเป็นข่าวทุกปี ยิ่งระยะหลังมานี้ความรุนแรงดังกล่าวแพร่ระบาดไปยังโรงเรียนอาชีวะและมัธยมศึกษากันแล้ว
เมื่อรุ่นพี่ใช้ความรุนแรงกับรุ่นน้องจนสะใจแล้ว (ตบหัว) ก็จะยัดเยียดเหตุผลให้รุ่นน้องตามสูตรสำเร็จ (ลูบหลัง) ว่า “ที่พี่ทำไปก็เพื่อตัวน้องทั้งนั้นเลย พี่ต้องการฝึกให้น้องมีความอดทน ถ้าน้องอดทนกับเรื่องแค่นี้ไม่ได้ น้องจะฝ่าฝันกับการเรียนหนักๆในมหาวิทยาลัยไปได้อย่างไร จะเรียนจบออกไปต่อสู้กับโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความยากลำบากได้อย่างไร ฯลฯ” (ขอให้สังเกตว่ารุ่นพี่ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของ “เหตุผลสูตรสำเร็จ” ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกำลังขึ้นปี 2,ปี 3 พูดราวกับว่าพวกตนคร่ำเคร่งกับการเรียนหนัก และเจนจัดโลกภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้วฉะนั้น)
เหตุผลต่างๆดังที่ยกตัวอย่างมานี้เองที่ไปสร้างความชอบธรรม หรือถูกใช้เป็นฐานอ้างอิงให้การรับน้องด้วยวิธีรุนแรงยังดำรงอยู่ ขอให้สังเกตว่าเหตุผลทำนองนี้มันมี “อำนาจ” อย่างน้อย 2 ความหมาย คือ
1) อำนาจทางศีลธรรม เช่น ความสามัคคี ความรัก ความภาภูมิใจ ความจงรักภักดีในสถาบัน ความเสียสละเพื่อสถาบัน ความเคารพอาวุโส เป็นความถูกต้องทางศีลธรรมที่คนซึ่งสังกัดในประเพณีวัฒนธรรมนั้น หรือผู้เพิ่งเข้าใหม่ ไม่เคยหรือไม่กล้าตั้งคำถาม (อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา)
2) อำนาจของผู้มีอำนาจ คือ อำนาจที่ทำให้เกิดความกลัวหรืออำนาจตำหนิลงโทษผู้ละเมิดอำนาจตามข้อ 1 เช่น ถ้ามีใครออกมาแฉการกระทำทีรุนแรงในการรับน้อง ก็จะถูกรุ่นพี่ (หรืออาจรวมถึงผู้มีอำนาจอื่นๆ) ตำหนิว่าไม่รักสถาบัน ทำเสียชื่อสถาบัน โดยรวมๆแล้วอำนาจดังกล่าวนี้มันทำให้แทบไม่มีใครกล้าเรียกร้องต่อสถาบันตรงๆแบบนี้ เช่น สถาบันบันการศึกษานั่นแหละควรรัก ควรเสียสละปกป้องนักศึกษา ควรให้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักศึกษา และให้หลักประกันคุณภาพการศึกษาให้คุ้มค่ากับการลงทุนทางการศึกษาของรัฐและผู้ปกครองนักศึกษาให้จริงจังขึ้น ฯลฯ
อำนาจทั้ง 2 ความหมายดังกล่าว มันอาจถูกนำไปใช้สนับสนุนความรุนแรงได้ทุกเมื่อในทุกระดับของสังคม แม้มันจะส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นข่าวให้คนวิจารณ์กันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ตัวอำนาจนั้นเองก็แทบไม่เคยสั่นคลอน เพราะมันมีฐานค้ำยันที่มั่นคงคือ “วัฒนธรรมอำนาจนิยม” ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาแสนนาน
ในยุคซึ่งข้อเรียกร้องการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ และสังคมไทยเรียกร้องมากขึ้นในเรื่องการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปการศึกษา แต่ความรุนแรงในสังคมโดยเฉพาะความรุนแรงที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับมีมากขึ้น และโดยเฉพาะยังมีอย่างต่อเนื่องในสถาบันอุดมศึกษา
คงไม่ใช่เพียงเพราะว่าการควบคุมกำกับดูแล หรือการบังคับใช้กฎหมายจัดการกับเรื่องดังกล่าวยังมีประสิทธิภาพไม่ดีพอเท่านั้น
มูลเหตุสำคัญกว่า คือ “อำนาจเหตุผลของความรุนแรง” มันยังดำรงอยู่และดำรงอยู่อย่างไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการใช้ปัญญาของสังคม โดยเฉพาะปัญญาของประชาคมมหาวิทยาลัยที่แทบไม่ใส่ใจวิพากษ์ “อำนาจเหตุผลของความรุนแรง” ที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคงใน “วัฒนธรรมคนมหาวิทยาลัย” กันเสียเลย !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท