ประชาชนกว่า 15,000 คนเรียกร้องผู้นำภูมิภาคปกป้องแม่น้ำโขง

ประชาชนกว่าหมื่นห้าพันคนในลุ่มแม่น้ำโขงและนานาชาติ ใช้เวลาสามเดือนเต็มที่ผ่านมา ร่วมกันลงนามในโปสการ์ด “เพื่อปกป้องแม่น้ำโขง” (Save the Mekong postcard) แสดงความวิตกกังวลร่วมกันต่อการรุกคืบอย่างรวดเร็วของแผนการสร้างเขื่อน 11 เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง เส้นเลือดใหญ่ของผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคเอเชียและของโลกผ่านทางโปสการ์ด
ประชาชนกว่าหมื่นสองพันคนจาก 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงและอีกสามพันห้าร้อยคนจากทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงทบทวนแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา ซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 3 พันล้านเหรียญต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้ของประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในลุ่มน้ำนี้โดยตรง ทั้งนี้ ข้อความในโปสการ์ดยังเรียกร้องให้รัฐบาลแสวงหาทางเลือกในการตอบสนองความต้องการด้านไฟฟ้าที่ยั่งยืนกว่าการสร้างเขื่อนไฟฟ้าอีกด้วย
ในวันพฤหัสที่ 18 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ตัวแทนจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะร่วมกันส่งมอบสำเนาโปสการ์ดจำนวนดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีของไทย นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รัฐสภา และหลังจากนี้ สำเนาและข้อเรียกร้องจะถูกส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา สปป.ลาว ไทยและเวียดนามในรูปแบบต่าง ๆ กันไป
แม้จะเหลือเวลาอีกเพียงสองวัน แต่การลงนามในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ในเว็บไซด์ของกลุ่มพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ที่ www.savethemekong.org ก็ยังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป และมีความเป็นไปได้ว่าก่อนการเข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งถือเป็นวาระปิดรับการลงนามอย่างเป็นทางการ ยอดการลงนามอาจพุ่งสูงถึง 20,000 คน  
ทั้งนี้ ประชาชนหลายกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ต่างลงความเห็นต่าง ๆ ในโปสการ์ด อาทิเช่น  
“ฝากชีวิตของชุมชนไว้กับสายน้ำโขงกับท่านนายก ช่วยปกป้องสายน้ำโขงเพื่อชีวิตคนทั้งโลกด้วยครับ”
นาย ไสว จันมา จังหวัดเลย
 
“รู้สึกว่าคนไทยกับแม่น้ำโขงมีความผูกพันกัน จนรู้สึกมีสำนึกในการที่เราจะต้องปกป้องแม่น้ำของเราให้อยู่รอด คนของเรา ปลาของเรา ให้อยู่รอด”
ปกรณ์ ลัม (โดม) กรุงเทพ  
 
“I love my country. I don’t want to see some people destroy my home country by greedy. So I would like to do my best to protect our Mekong !”
Sneampay, Vientiane , Laos  
 
“The planned dams will greatly affect tourism to the region. Tourists love the Mekong River but the dams make river trips difficult and change the beautiful environment. Please respect the people fishing along the river and don't build the dams”
Margie Law, Hobart , Australia
 
“ Mekong River is the Asia ’s treasure. We need to help protecting the Mekong”
Sayoko Inuma, Japan  
จำนวนผู้ลงนามที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบของกลุ่มพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มภาคประชาชนต่าง ๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงในแต่ละประเทศ องค์การพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ศิลปิน และประชาชนทั่วไปในทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงและนานาชาติ อาทิเช่นในการจัดนิทรรศการภาพถ่าย “สี่พันดอน...เมื่อประมงแม่น้ำโขงถูกคุกคาม” โดยสุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพระดับโลก ที่แสดงวิถีชีวิตอันน่าตื่นเต้นของชุมชนคนหาปลาในพื้นที่สีพันดอน ทางตอนใต้ของลาว พื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง หนึ่งในเขื่อนน้ำโขงสายหลัก ดึงดูดให้มีประชาชนถึง 1,500 คน ร่วมลงนามในโปสการ์ดเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง เช่นเดียวกับที่เมื่อนิทรรศการเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดอุบลราชธานี มีประชาชนถึง 4,000 ร่วมลงนามแสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะเกี่ยวกับพื้นที่เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนไทย-ลาวบนแม่นำโขงสายหลัก ที่บริษัทอิตาเลียนไทยกำลังทำการสำรวจ  
ที่ประเทศกัมพูชา หลังจากรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 2,500 รายชื่อ ในวันนี้ (ที่ 16 มิถุนายน) จะมีการประชุมที่กรุงพนมเปญ เกี่ยวกับผลกระทบการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงของลาว ที่จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพื้นที่ทะเลสาบเขมรของประเทศกัมพูชา เพื่อให้ทั้งรัฐบาล นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชนของกัมพูชามีโอกาสพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งประเด็นสำคัญที่ว่า จากประสบการณ์ทั่วโลก เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแล้วว่า ยังไม่มีวิธีการหรือมาตรการใด ๆ ที่จะบรรเทาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ต่อการประมงได้  
ในการพบกับนายกรัฐมนตรีไทย นอกจากจะมีตัวแทนภูมิภาคเป็นผู้ส่งผ่านสารที่เป็นสากลต่อนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว ตัวแทนจากประเทศไทย ยังคาดหวังจะกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากเขื่อนพรมแดน ทั้งเรื่องการลดลงของพันธ์ปลา ตลิ่งพังทลาย และความผันผวนของระดับน้ำหลังการสร้างเขื่อนในประเทศจีน พร้อมทั้งจะสอบถามถึงจุดยืนและบทบาทของไทย ทั้งในฐานะผู้สร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน และผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค  
สำเนาโปสการ์ดที่รวบรวมได้ทั้งหมดนี้ ยังจะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ด้วย โดยเป็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากการที่เอ็มอาร์ซียังคงเมินเฉยต่อการเรียกร้องของภาคประชาชน ให้เปิดเผยผลการประเมินผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก มิหนำซ้ำ เอ็มอาร์ซียังกำลังมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับนักสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยละเลยประเด็นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการที่ตนเองมีบทบาทอยู่โดยเกือบจะสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีฐานะเป็นสถาบันที่รัฐบาลแม่น้ำโขงตอนล่างก่อตั้งร่วมกันมาก็ตาม  
ตัวแทนจากกลุ่มประชาสังคมจากประเทศแม่น้ำโขงจะเข้าพบ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เพื่อส่งมอบสำเนาโปสการ์ดปกป้องแม่น้ำโขงในวันที่ 18 มิถุนายน 2552 เวลา 8.00 น. ที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ และในวันเดียวกัน เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป จะมีการแถลงข่าวร่วมกันที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เพลินจิต และต่อด้วยการเดินทางไปยังพื้นที่เขื่อนบ้านกุ่ม ทั้งนี้ ขอเชิญคณะผู้สื่อข่าวเข้าร่วมด้วยในทุกกิจกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท