Skip to main content
sharethis

วิทิต มันตาภรณ์ ระบุ เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้อาจมาถึงจุดแตกหัก ชี้ประชาชนจะขาดความมั่นใจในรัฐมากยิ่งขึ้นหากไม่สามารถปกป้องคุมครองความปลอดภัยของประชาชน และถือเป็นสัญญาณอันตราย

ศ.วิทิต มันตาภรณ์

ศ.วิทิต มันตาภรณ์

วิทิต มันตาภรณ์ ระบุ เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้อาจมาถึงจุดแตกหัก ชี้ประชาชนจะขาดความมั่นใจในรัฐมากยิ่งขึ้นหากไม่สามารถปกป้องคุมครองความปลอดภัยของประชาชน และถือเป็นสัญญาณอันตราย
 
“เหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดมีความน่ากลัว บั่นทอนจิตใจประชาชน ถามว่ารัฐตอบสนองได้มากน้อยเพียงใด รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ถ้าตอบสนองไม่ได้ ประชาชนจะขาดความมั่นใจในรัฐมากยิ่งขึ้น ถือเป็นสัญญาณอันตราย”
 
เป็นความห่วงใยที่มีต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ของ ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลยูเนสโกเพื่อการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2547 และติดตามปัญหาในดินแดนด้ามขวานมาเนิ่นนาน
 
เหตุการณ์กราดยิง 10 ศพที่มัสยิดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. หรือล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือเหตุการณ์ยิงพระที่ จ.ยะลา แทบไม่ต้องบรรยายรายละเอียดให้มากความ แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
 
“มันทารุณมาก และก่อให้เกิดความรู้สึกมากขึ้นไปอีก นายกฯบอกว่าเป็นเหตุการณ์ไม่ธรรมดา แปลกขึ้น ใหญ่ขึ้น แต่เหตุพวกนี้เกิดหลังกรณีตากใบ คำถามคือความรับผิดชอบที่น่าจะมีในกรณีตากใบเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร และเป็นความรับผิดชอบของใคร3-4 เหตุการณ์หลังสุด มีผลกระทบต่อจิตใจทั้งของประชาชนทั่วไปและคนในพื้นที่”เนื่องจากคดีดังกล่าว ตลอดจนเหตุการณ์ร้ายๆ
 
ทั้งหมดนี้ ศ.วิทิต สรุปสั้นๆ ง่ายๆ แต่น่าตกใจว่า กำลังทำให้เกิดภาวะ “แตกร้าว แตกแยก และแตกหัก” 
 
อย่างไรก็ดี การจะดับไฟใต้ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายมากไปกว่านี้ ต้องเริ่มมาจากขุดค้นต้นตอของปัญหา สภาพปัญหา ก่อนจะวิเคราะห์ถึงแนวทางแก้ไข 
 
ศ.วิทิต เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม 5 คำถามเกี่ยวกับปัญหาไฟใต้ ได้แก่
1.มีอะไรดีขึ้นบ้างไหม
2.มีอะไรแย่ลงบ้างไหม
3.การแสวงหาความเป็นธรรมและความยุติธรรม เป็นจริงหรือไม่
4.ความอยุติธรรมเพิ่มพูนขึ้นหรือเปล่า และ
5.แนวโน้มที่ควรจะเสริมสร้างต่อไปเพื่อการแก้ไขปัญหาในนามรัฐบาลพลเรือน
 
เริ่มจากคำถามแรก มีอะไรดีขึ้นบ้างในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศ.วิทิต แจกแจงเอาไว้ 5 ข้อ กล่าวคือ 1.ฝ่ายความมั่นคงใช้คำพูดที่อ้างถึงสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมมากขึ้น ทั้งนี้เป็นการพิจารณาจากคำพูด ส่วนเนื้อหาต้องติดตามดูกันต่อไป
 
2.จำนวนคนที่ถูกกักตัวอยู่ในค่ายทหารหรือฐานปฏิบัติการณ์ของหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ลดลง และระยะเวลาการถูกกักตัวสั้นลง ผู้ต้องสงสัยได้รับการโอนย้ายไปสู่เรือนจำเร็วขึ้น (หมายถึงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติเร็วขึ้น) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถลดโอกาสและศักยภาพของการซ้อมทรมานซึ่งมักเกิดในสัปดาห์แรกหลังการจับกุม
 
3.เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติการโดยมิชอบหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน มีแนวโน้มถูกลงโทษทางวินัยมากขึ้น
 
4.ภาคประชาสังคมทำงานได้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น หนาแน่นขึ้น ดูแลเหยื่อความรุนแรงได้มากขึ้น
 
5.สถิติการก่อเหตุรุนแรงลดลง
 
จากคำถามแรก นำไปสู่คำถามที่ 2 คือมีอะไรแย่ลงบ้าง ศ.วิทิต แจกแจงเอาไว้ 5 ข้อเช่นกัน คือ
 
1.การโจมตีไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนก็ตาม เห็นชัดว่ารุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์ยิง 10 ศพที่มัสยิด เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
 
2.ผู้ก่อสถานการณ์ยังคงนิรนาม แม้ผ่านมาหลายเหตุการณ์ หลายปีแล้ว ซึ่งผลกระทบจะยิ่งกว้างขวางมากขึ้น เพราะเหตุเกิดมานาน แต่ยังไม่รู้ว่าใครทำ สุดท้ายต่างประเทศจะตั้งคำถาม รวมถึงโอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) ด้วย
 
3.ยังไม่มีการตอบสนองอย่างเปิดเผยต่อข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งสรุปรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้เอาไว้จากผลการศึกษาอย่างรอบด้านเมื่อหลายปีก่อน เพราะเป็นข้อเสนอที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งรัฐต้องตอบสนอง
 
4.แม้ในมิติหนึ่ง เหตุการณ์แนวลบ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการใช้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นในค่ายทหารน้อยลง แต่ปัจจุบันกลับมีข่าวว่าเหตุการณ์ลักษณะนั้นได้เกิดขึ้นในท้องถิ่นมากขึ้นในระหว่างการติดตามตัวผู้ต้องสงสัย ผลกระทบที่เกิดตามมาจึงใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้นไปอีก
 
5.การพยายามตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนายังอยู่ในกรอบการควบคุมของทหาร จึงประสบผลสำเร็จค่อนข้างยาก ทั้งๆ ที่น่าจะมุ่งไปในวิถีของพลเรือนมากขึ้น
 
ทั้งนี้ ประเด็นต่างประเทศ เป็นประเด็นที่ ศ.วิทิต มองว่าอ่อนไหวอย่างยิ่ง เพราะตัวอาจารย์เองก็เป็นที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรต่างๆ ใต้ร่มยูเอ็น
 
“คำถามคือเราจะตอบโอไอซีอย่างไร เพราะเขาเพิ่งชะลอการบรรจุประเด็นภาคใต้ในการประชุมใหญ่ของโอไอซีเมื่อปลายเดือนที่แล้ว จากนั้นก็มาเกิดคดีตากใบ ซึ่งมีคำถามว่าตอบสนองความต้องการของประชาชนในเรื่องความยุติธรรมได้หรือไม่ เพราะความยุติธรรมนั้นแค่ทำอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้เห็นด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า justice must be seen to be done” 
 
กับคำถามที่ 3 และ 4 คือวิถีแห่งความเป็นธรรมและความยุติธรรม ศ.วิทิต มีมุมมองว่า เราทราบดีกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอของ จ.สงขลา อยู่ในกรอบของกฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากที่สุดมาจากกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิ และไม่ให้หลักประกันเรื่องเสรีภาพในหลายส่วน
 
เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจกักตัวผู้ต้องสงสัย 30 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาและไม่จำเป็นต้องสนใจกระบวนการนำคนที่ถูกกักไปสู่ศาล (หมายถึงว่าคุมตัวครบ 30 วันก็สามารถปล่อยตัวได้โดยไม่ต้องฟ้อง เท่ากับให้อำนาจควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีความผิด หรือไม่ปรากฏความผิดชัด) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความอยุติธรรมได้ง่าย
 
“ส่วนตัวผมแม้จะไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายพิเศษ แต่ก็แฟร์พอที่จะบอกว่าถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ควรใช้อย่างมีสมดุลมากขึ้น ยึดหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานมากขึ้น ต้องให้ผู้ถูกจับกุมหรือเชิญตัวเข้าสู่กระบวนการศาลโดยเร็วหรือโดยพลัน และเข้าถึงครอบครัว ทนายความได้มากขึ้น และอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้น ที่สำคัญต้องมีกระบวนการเยียวยาหากถูกละเมิด” 
 
อีกประเด็นหนึ่งที่ ศ.วิทิต ให้น้ำหนักเป็นพิเศษในมิติความยุติธรรม ก็คือผลของคดีตากใบ (ศาลเพิ่งมีคำสั่งในคำร้องไต่สวนการตายเมื่อปลายเดือน พ.ค.) โดยตั้งคำถามว่ามีความพยายามที่จะปิดช่องหรือต่อต้านการลอยนวลของคนกระทำผิดมากน้อยเพียงใด
 
 “อย่างที่ผมบอกคือความยุติธรรมนั้น แค่ทำอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องให้ประชาชนเห็นว่ายุติธรรมด้วย อย่างการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาในอดีตหลายชุด ทั้งกรณีตากใบและกรือเซะ เมื่อผลลัพธ์ออกมาแล้ว ได้นำมาสู่การปฏิบัติจริงอย่างเต็มที่หรือไม่ ตรงนี้ก็สำคัญ เพราะเมื่อมีการตรวจสอบ ก็ต้องมีขั้นตอนที่นำไปสู่การลงโทษและการรับผิดทางกฎหมายด้วย ไม่ใช่แค่ถูกโยกย้ายแล้วกลายเป็นการลอยนวล”
 
ส่วนแนวโน้มของรัฐบาลที่จะนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาใช้ในพื้นที่ เพราะเป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้นำผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมแทนการดำเนินคดีอาญาได้นั้น ศ.วิทิต ตั้งคำถามเช่นกันว่า จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้จริงหรือจะก่อความหวาดระแวงมากขึ้น
 
“ช่องทางตามกฎหมายความมั่นคงคือวิธีบำบัดทางกฎหมาย ซึ่งอันที่จริงแล้ววิธีที่ดีกว่าคือการบำบัดทางการเมืองและเศรษฐกิจ”
 
คำถามสุดท้ายคือแนวโน้มที่รัฐบาลพลเรือนอย่างพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการเพื่อคลี่คลายปัญหาก่อนบานปลายไปยิ่งกว่านี้ ศ.วิทิต ให้ข้อคิดเอาไว้ 5 ประการ คือ
 
1.การเยียวยาทางทหารไม่ได้ทดแทนการเยียวยาทางพลเรือนและการเมืองได้ ซึ่งการเยียวทางพลเรือนและการเมืองนั้น คือทางออกที่แท้จริง แต่ปัจจุบันยังไม่เกิด
 
 2.รัฐต้องตอบสนองประชาชนด้วยการเยียวทางความรู้สึก ซึ่งคนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และเกิดการลอยนวลของผู้ที่ควรจะต้องรับผิดชอบในหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา
 
3.ใช้การกระจายอำนาจ สมานฉันท์ และเข้าถึงเหยื่อความรุนแรง โดยเฉพาะในระดับครอบครัว เด็ก และสตรีให้มากขึ้น ซึ่งการเข้าถึงนั้น ใช้เงินอย่างเดียวไม่พอ
 
4.การป้องกันปัญหาความรุนแรงต้องใช้มาตรการทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ดี ให้ผู้นำชุมชนต่างๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และขยายไปยังประชาชน ทั้งนี้วิธีการที่เริ่มจากเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ดีและไม่ควรละเลย
 
5.ต้องมียุทธศาสตร์เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็คือประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด เพราะรัฐบาลกำลังเจอภาวะที่เรียกว่า “รัฐพึ่งไม่ได้” และ “ไม่ต้องการพึ่งแล้ว” ซึ่งยุทธศาสตร์การเยียวยาเช่นนี้จะไม่ได้รับการตอบสนองเลย หากไม่มีกลไกทางพลเรือนเข้าไปทำงาน โดยร่วมแรงร่วมใจกับคนในท้องถิ่นเอง 
 
เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทิ้งให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องตอบ!
 
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้สรุปจากงานสัมมนา "5 ปีตากใบ 5 ปีไฟใต้ 5 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2552 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 มิ.ย.2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net