สัมภาษณ์ ‘ชลิดา ทาเจริญศักดิ์’ มูลนิธิศักยภาพชุมชน: ว่าด้วย “สิทธิมนุษยชนของอาเซียน”

หากไม่มีอะไรพลิกผัน องค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน กำลังจะได้รับการจัดตั้งขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ นั่นหมายความว่า ประชาชนอาเซียนจะมีกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีกองค์กรหนึ่ง

แต่ก่อนจะถึงกาลพิสูจน์ว่า องค์กรนี้จะมีความหมายแค่ไหนในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือเป็นแค่เสือกระดาษ ที่ได้แต่สร้างภาพอาเซียนอารยะ วันนี้เราไปทำความรู้จักกับองค์กรนี้ ในมุมของผู้ที่ทำงานติดตามและตรวจสอบกระบวนการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (ASEAN Human Rights Body) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนจากหลายประเทศ เธอคือ ‘ชลิดา ทาเจริญศักดิ์’ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation)

 

‘ชลิดา ทาเจริญศักดิ์’ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation)

เรื่องกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนมีที่มาที่ไปอย่างไร?

กลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ซึ่งภาครัฐยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะใช้ชื่ออะไร เกิดจากการผลักดันร่วมกันมาอย่างยาวนานของภาคประชาสังคมในหลายประเทศ และเป็นผลสำเร็จเมื่ออาเซียนบรรจุเรื่องการจัดตั้งกลไกที่จะทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้ในกฏบัตรอาเซียน ที่ได้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551

หลายๆ ภูมิภาคทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรป อเมริกาหรือแม้กระทั่งอาฟริกา มีกลไกที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคหมดแล้ว เหลือแต่ในภูมิภาคเอเชียซึ่งอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งในภูมิภาคนี้ แค่มองในบริบทของอาเซียนวันนี้ กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและผลกระทบมีความซับซ้อนมากขึ้น หลายปัญหามีลักษณะข้ามพรมแดนซึ่งประเทศเดียวโดยลำพังไม่สามารถจัดการได้ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติ อย่างกรณีของมนุษย์เรือโรฮิงยา เป็นต้น จึงถือว่าน่าจะถึงเวลาซะที

อาเซียนเองได้เริ่มพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคมานานแล้ว ถ้าเรากลับไปดูเอกสารสำคัญจากการประชุมของอาเซียน จะเห็นแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) จากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ในปี 2536 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอาเซียนยินดีรับฉันทามติของนานาชาติที่บรรลุระหว่างการประชุมโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย) ...และยืนยันบทบาทหน้าที่อาเซียนที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” รวมทั้ง “อาเซียนควรพิจารณาจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคที่เหมาะสมขึ้น”

ขณะนี้ ขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว?

กฎบัตรอาเซียนมาตรา 14 ระบุว่า “…. ให้จัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น” และในวรรคสอง “…ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน” ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนของแต่ละประเทศขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่าคณะทำงานสูงสุด (High Level Panel) เพื่อทำหน้าที่ยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference - TOR) ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนบนหลักการที่ให้กลไกนี้ทำหน้าที่สนับสนุน ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

จนถึงปัจจุบันนี้ ร่างฉบับแรกของ TOR ได้นำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่หัวหินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ไปเรียบร้อยแล้ว และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีความเห็นให้เพิ่มอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในยกร่าง TOR ฉบับดังกล่าว เพราะในร่างฉบับแรก กลไกนี้มีเพียงอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองและปกป้อง

คาดว่าร่างของ TOR ฉบับสุดท้ายจะถูกเสนอให้กับที่ประชุมรัฐมนตรีของอาเซียนรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน (AMM) ช่วงระหว่างวันที่ 16-23 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่ภาครัฐวางไว้ ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม 2552 นี้ จะมีการประกาศจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้น

ต้องถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะมีองค์กรสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค?

ถือเป็นเรื่องดี แต่ยังไงก็ตาม มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ที่เราเป็นห่วงมาก เรื่องแรกคือกระบวนการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา ยังขาดความโปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

ถ้าใครได้ติดตามกระบวนการของอาเซียนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาเซียนพูดเอาไว้มาก ว่าจะปฏิรูปตัวเอง โดยเฉพาะอยากทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง อันนี้ถูกเขียนไว้หลายที่ในเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะในตัวกฏบัตรอาเซียน สิ่งที่เราสังเกตเห็นก็คือ ภายหลังจากกฏบัตรประกาศใช้ มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนกลไกต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมจริง อันนี้ต้องยกความชอบให้กับอาเซียน ยังไงก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในบรรดาคนที่กำลังตรวจสอบติดตาม เราเห็นตรงกันว่ากระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วเกินไป ภาคประชาชนเองยังไม่ได้ตั้งตัว อย่างในเรื่องของกลไกสิทธิมนุษยชน มีคนที่รู้เรื่องจริงๆ น้อยมาก ส่วนนึงอาจเป็นเพราะรัฐบาลที่เป็นเจ้าภาพต้องการสร้างผลงานภายในช่วงที่ตนเป็นประธานอาเซียน กระบวนการเลยเกิดขึ้นเร็วมาก อีกส่วนนึงต้องโทษพวกเราเอง เพราะที่ผ่านมา อาเซียนไม่ค่อยมีผลกระทบกับตัวเรา เราเลยไม่สนใจ แต่หลังจากมีกฏบัตร เราต้องจับตากระบวนการที่เกิดจากภาครัฐของอาเซียนมากขึ้น เพราะโครงสร้างหลายอย่างกำลังจะเกิดขึ้นภายใต้ข้อผูกมัดและเงื่อนเวลาที่ชัดเจน ซึ่งนโยบายบางอย่างจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน

ประเด็นที่สองคือ หาก TOR ไม่ได้บรรจุเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเอาไว้ กลไกนี้ก็เป็นเพียงกลไกที่ไม่มีเขี้ยวเล็บจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนได้ เป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้

เครือข่ายที่ติดตามตรวจสอบต้องการเรียกร้องอะไร?

เราจับตาดูตั้งแต่เริ่มกระบวนการ ตั้งแต่การแต่งตั้งคณะทำงานสูงสุดซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากแต่ละประเทศ เราก็แสดงความเห็นผ่านกลไกของรัฐบาลไทยไปว่าคณะทำงานที่ยกร่าง TOR นี้ไม่ควรจะเป็นข้าราชการทั้งหมด ควรมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นอิสระด้วย เพราะบุคคลกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำงานโดยหลุดจากกรอบของผลประโยชน์แต่ละประเทศได้

แล้วก็เป็นจริงตามที่เราคาด จากการติดตามผลการประชุมแต่ละครั้งของคณะทำงานสูงสุด ปรากฏว่า TOR มีลักษณะเป็นเอกสารทางการเมืองสูงมาก นั่นคือ กลายเป็นว่าโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของกลไกสิทธิฯ เกิดจากการต่อรองของแต่ละประเทศ และร่างของ TOR ก็ถูกเก็บเป็นเอกสารลับของทางราชการมาตลอด

เราเรียกร้องอย่างต่อเนื่องใน 3 เรื่อง ข้อแรกคือ เราพยายามเรียกร้องให้มีการเปิดเผย TOR ต่อสาธารณะ แต่ก็มักจะได้รับคำตอบว่าเปิดเผยไม่ได้ เป็นเอกสารราชการ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเลย ข้อที่สอง เนื่องจากอาเซียนมีความหลากหลายทางการเมืองมาก บางประเทศที่มีประวัติไม่ดีด้านสิทธิมนุษยชนก็กังวลว่าองค์กรนี้จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของตัวเอง ร่างที่ออกมาเลยค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้จริง มีแต่หน้าที่ในการส่งเสริมและให้ความรู้เท่านั้น เราจึงเรียกร้องว่ากลไกสิทธิมนุษยชนที่จะเกิดขึ้น ต้องมีอำนาจหน้าที่ทั้งด้านส่งเสริมและคุ้มครองปกป้อง ข้อสุดท้าย เราคิดว่าองค์กรที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่มีอิสระเลย ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก เราพยายามร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในอีก 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์และองค์กรพม่าที่อยู่บริเวณชายแดน หารือกับประชาชน รับฟังความคิดเห็น ซึ่งเสียงสะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกคนต้องการกลไกที่เป็นอิสระและเข้มแข็ง คือปกป้องคุ้มครองได้ ต้องรับเรื่องร้องเรียนและสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิฯ ได้

ถ้ามองจากความเป็นจริงแล้ว ถือว่าคาดหวังสูงไปไหม?

ตัวแทนของรัฐบาลก็มักจะบอกกับพวกเราอย่างนี้เสมอ ให้มองความเป็นจริง อย่าคาดหวังสูง แต่เรากลับมองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน มันมีมาตรฐานสากลอยู่แล้ว ทำไมคนในอาเซียนถึงถูกปฏิบัติต่างจากคนในทวีปอื่น ตรงนี้เราไม่เข้าใจ

พูดถึงเรื่องความคาดหวัง ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาต้องการถึงขั้นให้มีมีศาลสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ เรารู้ว่ายากกว่าจะได้มา ประสบการณ์ในยุโรปและอัฟริกาใช้เวลานานถึง ๕๐ ปีกว่าจะเกิดศาลสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่พิจารณากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การมีศาลสิทธิมนุษยชนเป็นคล้ายตัวชี้วัดว่าสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนั้นอยู่ในระดับไหน เปิดกว้างไหม ส่งเสริมจริงไหม ทราบว่าการให้ได้มาซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ง่าย เราจึงขอเพียงให้กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่จะเกิดขึ้นทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ให้คำแนะนำไว้ โดยให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนโดยให้คณะกรรมการสามารถเดินทางเยี่ยมประเทศเพื่อสำรวจข้อเท็จจริงได้ สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ อยากให้คนไทยช่วยกันติดตามตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ของอาเซียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

แล้วประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเราทำอะไรได้บ้าง?

อาจต้องช่วยกันส่งเสียงให้ดังๆ ให้ดังไปถึงที่ทำงานของเลขานุการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา

แต่ก่อนหน้านั้น คงต้องขอให้พวกเราเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทางมูลนิธิเองก็พยายามสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้มแข็ง ประเด็นเร่งด่วนคือต้องทำให้ประชาชนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คณะทำงานสูงสุดทำอะไรอยู่ เกิดอะไรกับกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่จะเกิดขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญของภูมิภาค

อย่างที่บอกไปแล้วว่าขั้นตอนเกิดขึ้นเร็วมาก ถ้านับจากวันนี้ เราเหลือเวลาอีกแค่ประมาณหนึ่งเดือนเท่านั้นที่จะเรียกร้อง ก่อนหน้านี้ มีข่าวจากเพื่อนในบางประเทศว่าอาจจะมีการตัดสินใจชะลอกระบวนการร่าง TOR จากภายในคณะทำงานสูงสุดเอง เรามองว่า อันนี้เป็นผลของความพยายามที่มูลนิธิศักยภาพชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการหารือและรวบรวมความเห็นของภาคประชาชนเสนอไปยังอาเซียน โดยผ่านกระทรวงต่างประเทศ หรือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่กับเครือข่าย คือรณรงค์เรียกร้องไปยังคณะทำงานสูงสุดและรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยผ่านโปสการ์ดและการล่ารายชื่อ เพื่อบอกให้คณะบุคคลเหล่านี้ทราบว่าประชาชนอาเซียนต้องการกลไกสิทธิมนุษยชนแบบไหน

คนที่เห็นด้วยกับเรา ขอให้เข้าไปลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่เรียกร้องว่าพวกเราต้องการ TOR ขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระ จะต้องให้อำนาจหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งครอบคลุมถึงหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสามารถดำเนินการไต่สวน นอกเหนือจากหน้าที่ในการส่งเสริมและให้ความรู้

จดหมายเปิดผนึกนี้จะถูกส่งให้กับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนภายในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฏาคมนี้ อยากให้ช่วยกันลงชื่อให้มากๆ เพื่อแสดงพลังของประชาชนอาเซียน ขอบคุณมากค่ะ


http://www.petitiononline.com/ahrb/petition.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท