Skip to main content
sharethis

 ‘ดา ตอร์ปิโด’ ชื่อนี้ห่างหายจากหน้าข่าวไปนาน หลังจากเธอโดนตั้งข้อกล่าวหาที่เรียกกันว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551และนอนอยู่ในเรือนจำนับแต่นั้นมา โดยไม่สามารถประกันตัวออกมาสู้คดีได้เหมือนกรณีทั่วไป แม้ว่าพฤติการณ์ของเธอนั้นจะเกิดขึ้นจากปัญหาทางการเมืองก็ตาม

ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ คดีของดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล จะขึ้นสู่การพิจาณาของศาลเป็นครั้งแรกเพื่อสืบพยานโจทก์และจำเลยแบบต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มสืบพยานในคดีอื่นอีก 2 คดีถัดจากนั้น คือ การนำมวลชนไปล้อมเอเอสทีวี และกรณีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร (รายละเอียดในล้อมกรอบ)

ความแตกแยกทางการเมืองยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นในสังคมไทย และข้อหาอันหนักหน่วงก็เป็นประเด็นการถกเถียงสำคัญในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ ‘ประชาไท’ จึงถือโอกาสนี้ สัมภาษณ์ ‘ประเวศ ประภานุกูล’ ทนายความของ ‘ดารณี’ ซึ่งให้ข้อมูล มุมมองที่น่าสนใจหลายประเด็น ทั้งเรื่องความลักลั่นของทัศนะทางการเมืองของทนายและลูกความ ความยากลำบากในการรับทำคดีพิเศษเช่นนี้ รวมไปถึงคำถามสำคัญบางอย่างที่เขาฝากบรรดาคนเสื้อแดง...

--------------------------

คำถามแรกคือ ทำไมถึงมารับทำคดีนี้ ?
จริงๆ เป็นคำถามที่คิดมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า ถ้าโดนถามจะตอบอย่างไร ที่จริงมีหลายเหตุผล ในแง่หนึ่ง มันก็แค่คดีๆ หนึ่งเท่านั้น คนที่สนิทกับผมจะรู้ว่า ผมเป็นคนค่อนข้างขวางโลก คิดไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน ฉะนั้นในสิ่งที่คนทั่วไปเขากลัว ผมเฉยๆ  แล้วอาชีพผมเป็นทนายความ มีคนมาจ้างให้ทำคดีก็ควรจะรับพิจารณา และค่าจ้างเขาเต็มใจให้ในจุดที่เขามีกำลังจ่ายโดยไม่เดือดร้อน และเป็นจุดที่ผมพอใจ ก็ถือว่าเป็นสัมมาอาชีวะ ถ้าพูดตามภาษาพุทธ

อีกข้อหนึ่ง คือตอนเขาติดต่อมา พร้อมกับบอกว่าไม่มีใครรับทำคดีนี้ เขาหาทนายไม่ได้ ถ้าพูดให้มันหรูหน่อยก็คือ โดยจรรยาบรรณนักกฎหมาย เมื่อมีคนที่มีคดีความมาก็ไม่ควรจะปฏิเสธ เพียงแต่อย่าทำโดยฝืนมโนธรรม เช่น พลิกดำเป็นขาว  มันถือเป็นสิทธิที่จำเลยคดีอาญาทุกคนมีสิทธิมีทนายความ ไม่ว่าจะเป็นมหาโจรที่โหดเหี้ยมหรือใครก็ตามแต่ การพิจารณาคดีในศาล ถ้าจำเลยไม่มีทนายความมันก็เสียความยุติธรรม แล้วโอกาสสู้คดีของเขาแทบจะไม่มี มันจึงถือเป็นหลักการอย่างหนึ่ง

อีกอย่างคือ เงื่อนไขในการรับคดีของผมนั้นชัดเจนว่าจะไม่พลิกดำเป็นขาว ฉะนั้น ถ้าหากว่าทำผิดอาญาแล้วจะมาสู้ให้หลุด คงไม่ใช่นิสัยผมที่จะทำให้ได้ แต่คดีนี้มันเป็นคดีการเมือง ไม่ใช่คดีอาญาแท้ๆ เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิด ข้อหานี้อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหมวดเดียวกับข้อหากบฏด้วย การเป็นกบฏวัดกันแค่ว่าแพ้หรือชนะ ถ้าก่อกบฏแล้วชนะ ก็กลายเป็นผู้ปฏิวัติ คณะปฏิวัติรัฐประหาร แต่ถ้าทำแล้วแพ้ก็เป็นคณะก่อการกบฏ

อีกจุดหนึ่งคือ ถ้ามาให้ทำคดีโดยอยู่ในเงื่อนไขให้ต้องชนะจะอึดอัดมาก คดีนี้ไม่มีเงื่อนไขว่าสู้คดีแล้วต้องชนะ ในความเห็นผม ทนายความเป็นแค่คนเสนอหลักฐานต่อศาล ไม่ใช่ผู้ตัดสินคดี ฉะนั้นไม่สามารถรับรองผลของคดีได้ ถ้าตั้งเป็นเงื่อนไขมาก็คงต้องให้หาทนายอื่น แต่เขาไม่ได้ตั้งมาแบบนี้

ในส่วนคุณดา ชัดเจนว่าเป็นคนเสื้อแดง มุมมองของคุณประเวศต่อเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเสื้อแดง เสื้อเหลืองนั้นเป็นอย่างไร และระหว่างจุดยืนการเมืองของทนายกับลูกความนั้นตรงกันไหม ถ้าไม่ตรงกันจะทำให้ทำงานยากไหม ?
ถ้าจุดยืนหรือทัศนะทางการเมืองของทนายกับตัวความแตกต่างกัน มันขึ้นอยู่กับทั้งคู่ว่าสามารถแยกแยะได้ไหม เพราะสองเรื่องระหว่างจุดยืนส่วนตัวกับการทำคดีมันไม่ได้เกี่ยวพันกันเลย คล้ายกับว่า คุณแยกเรื่องส่วนตัวกับงานได้ไหม ถ้าแยกได้ทั้งคู่ก็จะไม่มีความขัดแย้ง แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งยึดติดตรงนั้นแล้วแยกไม่ออกว่านี่คือเรื่องของคดีความก็จะเกิดความขัดแย้ง

ผมทำคดีให้เขา แม้ว่าจะเห็นไม่ตรงกันเรื่องทักษิณ เพราะเห็นว่าเราล้วนเป็นประชาชนคนหนึ่ง ผม นายประเวศ ที่เพื่อนเรียกไอ้เวศ ผมมีสิทธิที่จะเลือกชอบหรือไม่ชอบใคร แต่ตรงนี้ผมทำในฐานะทนายความ แล้วทนายความมีหน้าที่ทำตามวิชาชีพ และถึงแม้ดาจะมีทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกับผม แต่เขามีสิทธิแสดงออกในสิ่งที่เขาคิดเห็นว่าถูกต้อง ผมถึงทำคดีให้เขา

สำหรับทัศนะของผมเอง ระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ผมก็ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ เพราะผมไม่ชอบทักษิณ พูดง่ายๆ คือ อยู่ในกลุ่มต่อต้านและขับไล่ทักษิณตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ แล้วถ้าถามความรู้สึกช่วงหลังปฏิวัติรัฐประหาร ผมรู้สึกโล่งด้วยซ้ำไปว่าเรื่องนี้จะได้จบ ทั้งที่จริงๆ แล้วมองกลับไปตอนนี้ มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องก็ได้ มันทำให้พัฒนาการทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยสะดุด แต่ว่า ‘ดา’ เขาชัดเจนว่าเขาเชียร์ทักษิณ ถ้าถามว่า ผมเสื้อเหลืองไหม ผมก็เคยไปชุมนุมกับเขาเมื่อตอนก่อนปฏิวัติในฐานะชาวบ้านคนหนึ่ง แต่ว่าหลังจากนั้นมาก็ไม่เคยไปร่วมอีก ทุกวันนี้ผมคงไม่ใช่เสื้อเหลืองแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยชอบทักษิณ

ตรงนี้ทั้งทนายและดาเองสามารถเข้าใจในทัศนะที่แตกต่างกันได้ และไม่มีปัญหาความขัดแย้ง
ใช่ ผมบอกเขาตรงๆ ว่าผมไม่ชอบทักษิณ และเขาเองตอนที่คุยกันก็เถียงกันคุกแทบแตก เขาเน้นว่า มันเป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตย เหมือนทัศนะของเขานั้น การเลือกตั้งสำคัญที่สุด แต่ในทัศนะผม การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยเสมอไป มันเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่ง

ทุกวันนี้ในความรู้สึกของผม ถามว่าประชาธิปไตยในเมืองไทยมีไหม ผมลังเลที่จะบอกว่ามี การเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการขึ้นสู่อำนาจ เข้าไปกุมอำนาจรัฐ ซึ่งความจริงแล้วมีได้หลายทาง ท้ายที่สุด มันก็อยู่ที่ว่าคนกุมอำนาจรัฐจะใช้อำนาจรัฐในมือเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงหรือเปล่า แต่ที่เห็นทุกวันนี้ไม่ว่าจะรัฐบาลจากการยึดอำนาจรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง ล้วนใช้อำนาจไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่ม และอ้างว่าทำเพื่อประชาชน มีลักษณะ มือถือสากปากถือศีล และดูเหมือนระบาดไปทุกวงการ ไม่เฉพาะการเมือง

เอาเป็นว่าผมไม่ใช่ทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง และยังอยู่ในจุดยืนเดิมว่าไม่ได้ชอบทักษิณ รวมทั้งระบอบทักษิณด้วย เพียงแต่ว่าในความรู้สึก ณ ปัจจุบัน คือ ถึงไล่ระบอบทักษิณออกไปทั้งหมด มันก็มีคนอื่นหรือระบอบอื่นที่เข้ามาแทนที่ แล้วก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่อาจจะหน้าบางกว่า หรือมีการแสวงหาประโยชน์ด้วยวิธีการที่แนบเนียนกว่า สุดท้ายประชาชนก็ยังตกเป็นเหยื่อ ถูกขูดรีดอยู่ดี

ดูง่ายๆ ว่ายิ่งพัฒนาประเทศชาวบ้านยิ่งเป็นหนี้ ผมอยู่ตรงนี้แล้วเห็นชัดตั้งแต่ทำเรื่อง easy buy เมื่อปี 48 คนที่มีปัญหาหนี้สิ้นวิ่งเข้ามาหา เลยได้รับรู้ตรงนี้เยอะ แบงก์พยายามจะขายบัตรเครดิตมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่บัตรเครดิตเป็นของคนที่มีฐานะการเงินดี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ แล้วลองสำรวจดูจะพบว่า ทุกบ้านมีหนี้สินแบบนี้หมด แนวโน้มมันชวนให้เป็นหนี้กันง่ายมาก เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐควรจะมองเห็นปัญหาและควบคุม แต่ก็ไม่สนใจกับปัญหาเหล่านี้เลย ตรงกันข้าม รัฐมีแต่นโยบายที่ห่วงใยธนาคารพาณิชย์ กลัวจะเก็บเงินที่ปล่อยกู้คืนไม่ได้ กลัวธนาคารพาณิชย์จะกำไรน้อย ทุกวันนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากก็ต่างกันตั้ง 27% ต่อปี

ตอนนี้ผมพยายามปิดตัวเองเพื่อจะลดงานด้านนี้ลง เพราะไม่ไหว ตัวเขาเดือดร้อน มาถึงผม ผมก็คิดเงินเขาไม่ลง แล้วผมก็ไม่ได้ร่ำรวย

จากที่เคยทำคดีทางแพ่งเป็นหลัก คดีนี้เป็นคดีอาญา มันมีข้อจำกัด หรือแรงเสียดทานอะไรไหม โดยเฉพาะเมื่อเป็นคดีอาญาที่ค่อนข้างเป็นประเด็นอ่อนไหวมากในสังคมไทย?
ถามว่าหนักใจในการทำคดีอาญาไหม มันก็มีบ้าง แต่ในเมื่อไม่ได้ถูกจำกัด ตีกรอบว่าต้องได้รับผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็ทำคดีด้วยความสบายใจ แรงกดดันตรงนี้ก็น้อยลง

แต่ถ้าแรงเสียดทานจากคนรอบข้าง คนที่ผมรู้จักเกือบทุกคน เพิ่งมีวันนี้คนเดียวเท่านั้นเองที่บอกว่า เห็นด้วยกับการทำคดีนี้ นอกนั้นคอมเม้นต์ไปทางเดียวกันหมดว่าไม่ควรทำ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจนนัก อันที่จริงมักจะไม่ค่อยมีเหตุผลด้วยซ้ำ แต่ผมอาจจะไม่ได้ถามเองด้วย ถ้าสรุปก็คือ ห่วงเรื่องจะเสียภาพพจน์ของตัวผมเอง และภาพลักษณ์ส่วนตัวของดา ตอร์ปิโด เองก็ใช่ว่าจะดี

สิ่งที่ผมตัดสินใจลงไปแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนใจผม คงต้องมีเหตุผลที่ดีจริงๆ ไม่อยากจะบอกถึงขนาดว่า ได้คิดรอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจทำแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันก็เป็นอย่างนี้ ผมคิดถึงจุดนี้ก่อนแล้วว่าต้องมีแรงเสียดทาน ไม่เห็นด้วยแน่ แต่เมื่อตัดสินใจไปแล้วก็ต้องรับแรงกดดันนี้ให้ได้

อยากจะให้เล่าถึงคุณดาหน่อยว่าเท่าที่ได้พูดคุย เขาเป็นคนยังไง มีวิธีคิดประมาณไหน ?
เขาก็เป็นคนธรรมดา ปุถุชนคนหนึ่ง ทัศนะทางการเมืองของเขา เท่าที่ได้คุยกับเขาผ่านโทรศัพท์ในเรือนจำ เขาก็ยืนยันว่า เขาสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในความรู้สึกผมก็คือ ยังยึดติดกับการเลือกตั้ง และเป็นคนระดับปัญญาชน เข้าใจเรื่องการเมืองของเมืองไทยได้ดีพอสมควร ผมเชื่อว่า มันถึงจุดที่เขาสู้เพื่อประชาธิปไตย เขาไม่ได้อุทิศถวายหัวให้ทักษิณแน่ แต่เขาอาจยึดติดกับการเลือกตั้งมากไปหน่อย ผมคิดว่า ถ้าเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลทรราชย์ เราก็ควรมีเงื่อนไขขั้นตอนที่จะถอดถอนออกได้ ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแล้วจบ มีสิทธิแค่หย่อนบัตรแล้วจบ เพราะมันจะกลายเป็นเผด็จการของการซื้อเสียง

พูดง่ายๆ คำว่าประชาธิปไตยในทัศนะของผม หมายถึงการยอมรับว่ามีความแตกต่างทางความคิดเห็น และคนที่เห็นแตกต่างจากเราก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นของเขา นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด คนเห็นต่างๆ ไม่ใช่ศัตรู ทุกวันนี้มันกลายเป็นว่า เห็นต่างจากข้าไม่ได้ โจมตีกันอุตลุด เปรียบเทียบถึง มาตรา 112 แล้ว มันก็เหมือนจำกัดกรอบไว้เลยว่าห้ามแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบัน

ส่วนสภาพความเป็นอยู่ของเขาข้างใน ทีแรกผมไม่ได้สัมพันธ์กับคนที่อยู่ข้างในมาก่อน เคยทำคดีอาญามาบ้าง ไปเยี่ยมคนในคุกก็แค่ครั้งสองครั้ง แล้วก็ประกันตัวมาคุยกันข้างนอก มีเคสนี้เท่านั้นที่ต้องคุยกับเขาในนั้นตลอด สภาพความเป็นอยู่ของเขาข้างในค่อนข้างแย่ แต่ดูแล้วก็ไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติแตกต่างจากคนอื่นเท่าไหร่ มันแย่เหมือนกันหมด ถ้าจะปรับปรุงก็ควรปรับปรุงทั้งระบบเลย เพียงแต่เขาถูกจับตามองมากกว่าคนอื่นในฐานะคนดัง ทั้งชื่อเขาและข้อหาที่โดน เหมือนถูกเพ่งเล็งมากกว่า พูดถึงดา ตอร์ปิโด ข้างในเขารู้จักกันหมด แล้วตัวเขาเองโดยนิสัยก็แข็งกร้าว ตอบโต้อะไรรุนแรง บางทีกฎระเบียบในนั้นก็แข็งกร้าว ทะเลาะกันก็จะโดนลงโทษทั้งคู่ ไม่ต้องไต่สวนว่าใครถูกใครผิด ใครเริ่มก่อน เขาจึงโดนอะไรรุนแรงอยู่พอสมควร

ล่าสุด แกบอกว่าได้เลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ห้อง ผมก็ไม่ชัดเจน แต่ฟังดูคล้ายๆ กับหัวหน้าห้องนักเรียน แล้วแกจับคนขโมยของในห้องได้ แล้วโดนคนขโมยคนนั้นตีหัว มีเรื่องกัน ผู้คุมก็ลงโทษทั้งคู่ นี่ยังไม่รวมสภาพอื่นๆ อาหารก็แย่และน้อย อาบน้ำก็จำกัดมาก และบังคับกฎเกณฑ์กับชีวิตอย่างหนัก

ขอถามถึงมุมมองต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเป็นอย่างไร และมองการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างไร ?
เคสอื่นไม่ทราบ แต่เคสของดา พอโดนข้อหานี้ก็ไม่ได้รับการประกันตัวเลย เหตุผลหลักคือ กลัวหลบหนี ซึ่งจริงๆ แล้วหลักกฎหมายสากล ผู้ต้องหา จำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการประกันตัว เพราะโดยหลักการแล้วถือว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จะผิดก็ต่อเมื่อศาลตัดสินว่าผิด ดังนั้น การไม่ให้ประกันตัว คือการปฏิบัติต่อจำเลยเหมือนกับว่ากระทำความผิดแล้ว ลักษณะแบบนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นกับมาตรานี้มาตราเดียว อาจจะรวมถึงมาตราอื่นๆ ในหมวดเดียวกันนี้ด้วยก็ได้ แต่ผมเองยังไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นการดำเนินคดีในมาตราอื่นๆ เช่น กบฏต่อรัฐว่าเป็นยังไง

พูดง่ายๆ พอโดนข้อหานี้เข้าไป ถูกปฏิบัติเหมือนผิดแล้ว ขณะที่มาตราอื่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 หรือ 289 คือฆ่าคนตาย มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต กลับได้รับการประกันตัว ถามว่าข้อหานี้มันเป็นความผิดอาญาแท้ๆ ไหม ผมรู้สึกว่าไม่น่าจะใช่ ความผิดอาญาแท้ๆ มันเห็นโดยแท้ ทุกคนรู้สึกว่าทำแล้วเป็นความผิด อย่างฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ บางกรณีโดนตัดสินคดีจำคุกเป็นร้อยปีก็ยังได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี

ถ้าถามเลยเถิดไปถึงว่า ควรยกเลิกมาตรานี้ด้วยหรือไม่ ผมว่าน่าจะยกเลิกนะ เพราะถึงไม่มีมาตรานี้ก็มีเรื่องหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นมาตราทั่วไปอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แต่แตกต่างที่ถ้าหมิ่นประมาททั่วไปต้องมีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ แต่ข้อหานี้ ถ้าตำรวจรู้ว่ามีการกระทำเกิดขึ้นสามารถดำเนินคดีได้เองเลยโดยไม่ต้องมีใครแจ้งความ ซึ่งตรงนี้อยู่ที่วิธีคิด

อีกแง่หนึ่งคือ เป็นเพราะระบบการเมืองของเราเป็นหัวมังกุท้ายมังกร ยกย่องสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง ขณะเดียวกันกับบัญญัติว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สองอย่างนี้ขัดแย้งกัน เพราะประมุขของการปกครองระบอบประชาธิปไตยหนีไม่พ้นการเมือง และอาจนำสู่คำถามว่า ระบอบประชาธิปไตยผู้ปกครองประเทศถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้ไหม ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ก็ไม่ต้องมีมาตรานี้ หรือถึงแม้จะมีไว้ก็จะมี่การกระทำความผิดที่ต้องมาดำเนินคดีกัน

แล้วเคสนี้สำคัญต่อสังคมอย่างไร ?
ผมคงไม่กล้าพูดถึงขนาดนั้น ในความรู้สึกผม มันเป็นเรื่องของสิทธิทางการพูด แสดงความคิดเห็น มันอาจมีคำพูดที่ไม่เหมาะสมไปบ้าง เช่น เราอาจรู้สึกว่ามันเป็นคำหยาบ แต่ภาษามันก็แค่สื่อความหมาย คำหยาบในยุคหนึ่งอาจเป็นคำสุภาพในยุคหนึ่ง ขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม แต่มันเป็นสิทธิในการแสดงความเห็น และเรื่องนี้มีคนอื่นโดนหลายคดี สังเกตเห็นได้เลยว่า ลักษณะการไฮปาร์กซาลง พอโดนข้อหานี้แล้วจำคุกกันจริงๆ หนักด้วย อย่างต่ำ 3 ปี อย่างสูง 15 ปี เท่าที่ได้ยินมา บางคนขนาดรับสารภาพยังโดน 12 ปีลดเหลือกึ่งหนึ่ง มันเป็นโทษที่สูงกว่าฆ่าคนตายด้วยซ้ำ ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ศาลยังลงโทษน้อยกว่านี้ แล้วการไฮปาร์กของเสื้อแดงก็เบาลงไปมาก เรียกว่าปรามได้ผล ทั้งที่จริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้ชอบเสื้อแดงนะ

อีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ทำคดีนี้ ความรู้สึกของผมคือ เหมือนดาเขาถูกปล่อยเกาะ ก่อนหน้าที่เขาจะโดนจับคดีนี้ เขาเหมือนขุนพลคนหนึ่ง แม่ทัพนายกองคนหนึ่งของทักษิณ จากรูปที่ตำรวจถ่ายมาส่งให้อัยการ จะเห็นเลยว่าการไฮปาร์กของเขา เขาทำด้วยใจ แต่พอโดนคดีนี้ หนีหมด ทนายของเสื้อแดงก็ไม่กล้าทำคดี แล้วแรกๆ อาจมีคนไปเยี่ยมเขาบ้าง แต่ทุกวันนี้ไม่มีเลย มันสะท้อนให้เห็นว่า จริงๆ แล้วคุณรวมกลุ่มกันด้วยอุดมการณ์จริงหรือเปล่า คุณไม่ผิดที่ชอบทักษิณ แต่ว่าพอถึงจุดคับขัน คุณทิ้งเพื่อนหรือเปล่า นี่เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่อยากจะฝากไปถึงเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ของดาด้วย เพื่อนคนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐขนาดนี้ แต่ไม่มีกำลังใจจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์

ที่ผมหนักใจที่สุดในการทำคดีนี้ก็คือ ขึ้นศาลแล้วสิ่งที่ผมต้องต่อสู้ด้วยคือทัศนคติ ความคิดของคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้พิพากษา ผมไม่รู้ว่าผมจะต้องไปเจออะไรบ้าง แต่อย่างน้อย ถ้าหากว่ามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของดาไปให้กำลังใจ แน่นอนมันก็มีส่วนช่วยในด้านกำลังใจที่จะสู้ไปตามอุดมการณ์ที่คุณมี ที่คุณเชื่อ

ฝากบอกไปถึงพวกเขาอีกอย่างหนึ่งว่า คนที่ทำคดีนี้ให้เขาเป็นคนที่มีความเห็นทางการเมืองอาจจะเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับเขา แล้วคุณที่มีความเห็นทางการเมืองร่วมกันกับดา ทำไมคุณถึงยังอยู่เฉยๆ

มันก็เป็นเรื่องตลกอยู่พอสมควร เพราะผมเป็นคนที่ไล่ทักษิณ กลับมาทำคดีให้คนที่เชียร์ทักษิณ แล้วคนที่เชียร์ทักษิณด้วยกัน ทำไมคุณยังหลบอยู่ อย่างน้อยน่าจะออกมาดูการพิจารณาคดีที่ศาลอาญา รัชดา ซึ่งวันที่ 23-25 มิถุนายนนี้จะเป็นสืบพยานโจทก์ และวันที่ 26 กับ 30 มิถุนายนนี้เป็นสืบพยานจำเลย

 

 

ข้อมูลส่วนตัว:

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือฉายา ‘ดา ตอร์ปิโด’ อายุ 46 ปี ดารณี จบปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก เคยเป็นนักข่าวอาชีพที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และนิวสกายไทยแลนด์ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เธอเป็นดาวไฮด์ปาร์คที่โดดเด่นของสนามหลวง โดยได้ร่วมกับหลายกลุ่มกล่าวโจมตีการรัฐประหารดังกล่าว

ดารณีเป็นคนชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย เธอระบุว่า สิ่งที่เธอปราศรัยบนเวทีสนามหลวงล้วนนำมาจากการบรรยายของนักวิชาการในวง สัมมนาทางการเมือง และหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีอยู่ทั้งสิ้น อาทิ หนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล

ข้อมูลด้านคดีและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:


ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 จากกรณีที่เธอปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชนเมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 และในวันรุ่งขึ้น สนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำบางส่วนของคำปราศรัยดังกล่าวไปขยายผลที่เวทีพันธมิตรฯ

ตำรวจบุกจับกุมเธอที่บ้านพัก ก่อนส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางจนถึงปัจจุบัน ภายหลังการจับกุม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้ตำแหน่งอาจารย์ยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาตทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี

ดารณีปฏิเสธข้อกล่าวหาดูหมิ่นฯพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะนี้อยู่ระหว่างต่อสู้คดี โดยมีประเวศ ประภานุกูล เป็นทนายความ ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 23-30 มิถุนายน 2552

อย่างไรก็ตาม ดารณียังถูกตั้งข้อกล่าวหาในอีก 2 คดี คือคดีบุกเอเอสทีวี-หมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำของกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" และเจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ-เอเอสทีวี และคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร

ปัจจุบันพี่ชายของดารณีซึ่งอยู่ที่ภูเก็ตต้องเดินทางมาเยี่ยมเธอที่เรือนจำ ในกรุงเทพฯทุกสัปดาห์ ส่วนดารณีที่ถูกคุมขังและประสบปัญหาด้านสุขภาพได้เปิดเผยว่า กำลังเตรียมสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นโครงการที่เพิ่งมาเปิดในเรือนจำ

 อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่:

http://lmwatch.blogspot.com/2009/04/blog-post_5453.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net