ใจ อึ๊งภากรณ์ : 24 มิ.ย. 2475 นิยายและความจริง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวันที 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร์ นำโดย ปรีดี พนมยงค์   พระยาพหลฯ และหลวงพิบูลย์ (ภายหลังได้เป็นจอมพล ป.) ได้ปฏิวัติยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนั้นปกครองประเทศโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่การปฏิวัติที่ล้มระบบศักดินาเพื่อไปสู่ระบบทุนนิยม เพราะระบบศักดินาไทยถูกล้มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่เป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตย
 

สี่นิยายเรื่อง 2475
1. การปฏิวัติ 2475 เป็น “การชิงสุกก่อนห่าม”


แนวคิดนี้เริ่มต้นจากความเชื่อว่าประชาชนธรรมดาในเมืองไทยไร้การศึกษาและโง่

และเรามักจะได้ยินคำกล่าวหาจากอำมาตย์ในยุคนี้ ว่าคนจนโง่ในการเลือกไทยรักไทย แต่แท้ที่จริงและการศึกษากับความฉลาดไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เวลาประชาชนไทยลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย ชนชั้นปกครองไทยที่อ้างว่าประชาชนไม่พร้อมมักจะให้คำตอบด้วยกระสุนปืน ดังนั้นข้ออ้างที่เสนอว่าประชาชน “ไม่พร้อม” ที่จะปกครองตนเอง เป็นข้ออ้างประจำของเผด็จการในทุกสังคม

สำนักความคิดที่เสนอว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม ยังตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มว่า การปฏิวัติครั้งนั้นเป็นสาเหตุที่เราตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหารหลายปี [1] เพราะไม่มีใครควบคุมอำนาจทหารได้ [2] แต่ระบบเผด็จการก็ร้ายเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือเผด็จการทหาร และอำนาจที่จะจัดการกับเผด็จการทหารที่ไปอ้างอิงความชอบธรรมและจับมือกับวัง...คือประชาชน

แทนที่จะยังไม่ถึงยุคสุกงอมในเมืองไทยสมัย 2475 ต้องถือว่าไทยล้าหลังประเทศอื่นพอสมควร เพราะแม้แต่ประเทศจีนก็ปฏิวัติยกเลิกระบบจักรพรรดิไปแล้วในปี 1911 ตั้งแต่ พ.ศ. 2427 ก็ได้มีการขอรัฐธรรมนูญ และในปี 2454 นายทหารหนุ่มบางคนก็พยายามก่อกบฏล้มรัชกาลที่    รท. จรูญ ณ บางช้าง หนึ่งในกบฏครั้งนั้นเคยกล่าวว่า “กษัตริย์หาง่าย บ้านเมืองหายาก” [3]

ในประเด็นความไม่พร้อมของประชาชน คณะราษฎร์เองในคำประกาศฉบับที่ 1 มีความเห็นว่า “รัฐบาลของกษัตริย์ ....กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้เจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังตน”

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้เสนอข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดที่มองว่า กระแสและจิตสำนึกในส่วนสำคัญๆ ของเหล่าประชาชนไทยในยุคนั้น เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะก่อนหน้านั้นมีการตีพิมพ์บทความและเสนอฎีกาความเห็นจากประชาชนคนสามัญมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในสมัยนั้นและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลกษัตริย์ในการแก้วิกฤตดังกล่าว[4]

กระแสความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งที่มาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุคนั้น ราคาข้าวในตลาดที่ชาวนาไทยได้รับลดต่ำลงอย่างน่ากลัวถึง 60%  ค่าจ้างเฉลี่ยในชนบทถูกลด 50% ในเมืองค่าแรงถูกกดลง 20% และรัฐบาลได้ประกาศลดเงินเดือนและจำนวนข้าราชการ ร้ายกว่านั้น รัฐบาลได้ประกาศขึ้นภาษีกับสามัญชน ในขณะที่เจ้าที่ดินและนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลไม่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

2. ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร์ “เอา ความคิดฝรั่ง ที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้”
นิยายนี้เสนอว่า พวกคณะราษฎร์เป็นพวก “จบนอก” ที่เอาความคิดฝรั่งมาสวมสังคมไทยที่มีประเพณีการเคารพบูชากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ข้อเสนอนี้คล้ายๆ กับความคิดของพันธมิตรฯในยุคนี้

กระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ไปเรียนต่างประเทศอย่าง ปรีดี พนมยงค์ เพราะความจริงผู้นำส่วนใหญ่ของคณะราษฎร์ไม่ได้จบจากนอกแต่อย่างใด [5] และปรีดีเองได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยปี 2470 ชนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยไปต่างประเทศ มีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

นอกจากนี้กระแสการเคารพพระเจ้าแผ่นดินในไทยเป็นกระแสที่ขึ้นลงตามยุคสมัย ไม่ใช่กระแสที่คงที่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนา ซึ่งคงไม่ต่างอะไรเลยจากความเชื่ออื่นๆ ในสังคม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังจากที่ผู้แทนของคณะราษฎร์ได้อ่านแถลงการณ์ในการยึดอำนาจตามจุดต่างๆ ของถนนราชดำเนิน ปรากฏว่าประชาชนที่มายืนฟังแถลงการณ์พากันร้องตะโกน “ไชโย! ไชโย! ไชโย!” ด้วยความชื่นชม (น.ส.พ. ศรีกรุง) 

นักวิชาการหลายคน เช่น Girling ได้เสนอว่า ที่จริงแล้ว ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของกษัตริย์ไทยในชนบทเกือบจะไม่มีเลย [6] และ Bowie รายงานว่า นักมานุษวิทยาคนหนึ่งเคยพบว่า ในปี 2497  61% ของคนไทยที่อยู่ในชนบทห่างไกล ไม่เข้าใจความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ [7] อย่างไรก็ตาม พอเข้ายุครัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการฟื้นฟูค่านิยมและประเพณีในพระเจ้าแผ่นดินใหม่ เพื่อหวังสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ [8]

3. การปฏิวัติ ๒๔๗๕ “เป็นการกระทำของกลุ่มชั้นนำโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม”
นิยายที่ 3 นี้ ถือว่ามีกำเนิดมาจากสำนักคิดที่มองคนชั้นล่างในเมืองไทยเสมือนควายที่ไร้ความสามารถที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง เจ้าสำนักใหญ่ในด้านวิชาการ คือนักวิชาการฝ่ายขวาจากตะวันตกเช่น Wilson กับ Fred Riggs และมีผู้สนับสนุนในรุ่นต่อมามากมาย เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช ฯลฯ สำนักนี้เป็นแนวร่วมของสำนักนิยายที่ 1 และที่ 2 เพราะเสนอว่า การปฏิวัติ 2475 ไม่ตรงกับกระแสความคิดของมวลประชาชนไทยในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่า ในหมู่ประชาชนมีกระแสความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสูง และมีหลักฐานว่าประชาชนชั้นล่างมีส่วนร่วมในการปฏิวัติพอสมควร ตัวอย่างที่ดีคือ “คณะกรรมกร” ของ ถวัติ ฤทธิเดช ที่สนับสนุนคนงานรถรางและที่มีหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” คณะกรรมกรถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2463 และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าในปี 2475 และในปราบกบฏบวรเดชปี 2476 [9]

4. รัชกาลที่ 7 “เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตยไทย”
กระแสที่เสนอว่ารัชกาลที่ 7 “เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตย” เป็นกระแสที่ได้รับการสนับสนุนในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุคหลังเหตุการณ์รุนแรง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการสร้างรูปปั้นรัชกาลที่ 7 ไว้หน้ารัฐสภาไทยในสมัยนั้น

ถ้าเปรียบเทียบกับรูปปั้น Oliver Cromwell ผู้ประหารชีวิตกษัตริย์อังกฤษในการปฏิวัติ ซึ่งตั้งไว้หน้ารัฐสภาอังกฤษ จะเห็นว่ากรณีไทยค่อนข้างจะแปลกประหลาด เพราะเชิดชูผู้ปกครองระบบเก่าที่ต้องถูกล้มไปเพื่อให้มีประชาธิปไตย การล้างจิตสำนึกของประชาชนไทยมีหลายรูปแบบ อีกตัวอย่าง คือการไม่ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์การปฏิวัติ 2475 ที่เป็นหมุดโลหะซึ่งตั้งไว้บนถนนใกล้ๆ พระรูปทรงม้า และอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงชัยชนะของคณะราษฎร์ในการปราบกบฏบวรเดชที่สี่แยกหลักสี่

ในบันทึกของ จิตตะเสน ปัญจะ ผู้เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติ [10] มีการเสนอว่า “พระปกเกล้าฯ สั่งประหารชีวิตผู้ก่อการฯ คณะราษฎร์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2476 อันเป็นวันครบปี (แห่งการปฏิวัติ)” แต่โชคดีที่แผนไม่สำเร็จ

นอกจากรัชกาลที่ 7 จะขัดขวางประชาธิปไตยแล้ว ยังขัดขวางความพยายามของ ปรีดี พนมยงศ์ ที่จะสร้างรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมทางสังคม ที่เสนอขึ้นใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ปี 2475 อีกด้วย


สรุป

การปฏิวัติ 2475 เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและมีประโยชน์กับฝ่ายประชาชนชั้นล่างเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มวลชนธรรมดาในยุคนั้น เข้าใจสิ่งนี้ดี จึงมีส่วนร่วมในการปฏิวัติ 2475 แต่ในยุคปัจจุบัน ชนชั้นปกครองไทยต้องการที่จะลดความสำคัญของเหตุการณ์นี้ลงไป เพื่อให้ความชอบธรรมกับอำมาตย์

 

......................................................................

หนังสือและเอกสารอ้างอิง

จิตตะเสน ปัญจะ (๒๕๔๒) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสั่งประหารคณะผู้ก่อการ ๒๔๗๕ ปาจารยสาร ฉบับที่ 1 ปีที่ 26 กรกฎาคม-ตุลาคม หน้า 78

ชวลิต ยงใจยุทธ (๒๕๓๔) “การสร้างประชาธิปไตยเพื่อประชาชน” เทปคาสเส็ทจากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคความหวังใหม่ครั้งที่ 1/34 ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัลพลาซ่ากรุงเทพฯ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๔

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (๒๕๓๘) “๑๐๐ปีแนวการปฏิรูประบบราชการ วิวัฒนาการของอำนาจรัฐ และอำนาจการเมือง” สถาบันนโยบายศึกษา

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (๒๕๒๖) “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๓๓) “ความคิดความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕” สถาบันสยามศึกษาและสมาคมสังคมศาสตร์แห่ง ประเทศไทย

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๐) “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕” สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ

ศรีบูรพา (๒๕๒๑) “จนกว่าเราจะพบกันอีก เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕” สำนักพิมพ์ต้นมะขาม

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ - บรรณาธิการ (๒๕๓๖) “๖๐ปีประชาธิปไตยไทย” คณะกรรมการ ๖๐ ปีประชาธิปไตยไทย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างถึง น.ส.พ. ศรีกรุง ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ กับผู้เขียนเป็นส่วนตัว

Bowie, K. A. (1997) Rituals of national loyalty. Columbia University Press, U.S.A.

Girling, J.L.S. (1981) Thailand. Society and politics. Cornell University Press.

Hewison, K. & Brown, A. (1994) Labour and unions in an industrialising Thailand. Journal of Contemporary Asia, 24(4), 483.

Kanchada Poonpanich (1988) The beginnings of the labour movement in Thailand 1900-1930. Asian Review (Chulalongkorn University) 2, 24.

Morell, D. & Chai-anan Samudavanija (1981) Political conflict in Thailand: reform, reaction and revolution. Oelgeschlager, Gunn & Hain.

Riggs, F. (1966) Thailand. The modernisation of a Bureaucratic Polity. East West Press. U.S.A.

Wilson, D. A. (1962) Politics in Thailand. Cornell University Press.


เชิงอรรถ

[1] ชวลิต ๒๕๓๔

[2] ชัยอนันต์ ๒๕๓๘

[3] สุธาชัย ๒๕๓๖ หน้า 15

[4] นครินทร์ ๒๕๓๓ หน้า 125 และ นครินทร์ ๒๕๔๐ หน้า 119

[5] นครินทร์ ๒๕๓๓ หน้า 212

[6] Girling 1981 p.140

[7] Bowie 1997 p.87

[8] ทักษ์ ๒๕๒๖ หน้า 412

[9] Kanchada 1988; Hewison & Brown 1994

[10] จิตตะเสน ๒๕๔๒


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท