การต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดของคนงานเวิลด์เวลล์ การ์เมนท์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โรงงานเวิลด์เวลล์ การ์เมนท์ เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้า ที่รับผลิตเสื้อผ้าตามออเดอร์ของลูกค้าจากหลายบริษัท เช่น เสื้อผ้ายี่ห้อ ดิสนีย์ ฮาเลย์เดวิดสัน เครีน รีบ๊อค จ๊อกกี้ เอสแฟร์ ไทรอัมพ์ ฯลฯ มีบริษัทในเครืออีก 5 บริษัท คือ บริษัทเวิลด์คัพอินดัสตรี่ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่เขต บางบอน กรุงเทพฯ , บริษัทเอเชียเวิลด์บรา , บริษัท ไทยเวิลด์อิลาสติค, บริษัท ทรัพย์อรุณ ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (อาคารพาณิชย์) อยู่หน้าโรงงานเวิลด์เวลล์ การ์เมนท์ และบริษัท ธนาคม ซึ่งทำธุรกิจตลาด ที่บางแค โดยมีกรรมการผู้จัดการคือ นาย กิจจา จรุงผลพิพัฒน์

 
บริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เมนท์ ตั้งอยู่ที่อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 25 ล้านบาท เปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2537 บริษัทเวิลด์เวลล์การ์เมนท์ มีพนักงานทั้งหมด 41 คน เป็นหญิง 36 คน ชาย 5 คน พนักงานส่วนใหญ่อายุมาก มีอายุการทำงาน 10-15 ปี จำนวน 8 คน อายุการทำงาน 5-10 ปี จำนวน 4 คน อายุการทำงาน 1-4 ปี จำนวน 19 คน และมีพนักงานรายเดือนทั้งหมด 10 คน อายุงาน 11-15 ปี จำนวน 4 คน ส่วน 6 คน อายุงาน 3-4 ปี ตลอดเวลาที่คนงานเวิลด์เวลล์อยู่กับบริษัทฯ ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอดจนทำให้บริษัทฯ มีกำไรมากมาย มีออเดอร์เข้ามามากมาย เช่น ในช่วงปี พ.ศ. 2546 รับผลิตสินค้ายี่ห้อดิสนีย์ คนงานต้องทำงานอย่างหนัก โดยทำงานวันละ 12 ชั่งโมง แบ่งเป็นเวลาทำโอทีวันละ 4 ชั่วโมง โดยต้องทำโอทีตลอดปี นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2547-2549 โรงงานรับผลิตออเดอร์ของบริษัทวีเอฟ หลายยี่ห้อเยอะมาก เช่น ดิสนีย์ ฮาเลย์เดวิดสัน เครีน รีบ๊อค แอนติกั่ว ซึ่งแต่ละยี่ห้อมีจำนวนเยอะมาก ทำโอทีกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนทำให้บริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เมนท์ ต้องส่งงานออกไปให้ร้านซับคอนแทร็คทำที่ อ.แม่สอด ส่วนในปีพ.ศ. 2550 ผลิตยี่ห้อสคูล,คารีน่า,จ๊อกกี้,สโนว์แอนด์ซัน และเอสแฟร์ โดยคนงานยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม แต่จะได้ทำโอทีเป็นบางช่วงเพราะบริษัทฯ ส่งออกซับคอนแทรคเยอะมาก และในปีพ.ศ.2551 ผลิตยี่ห้อไทรอั้ม,สคูลแอฟพาเรีย,แดเนียล,แอลแอลบี และมามอส แต่บริษัทได้ลดที พนักงานทั้งหมด เนื่องจากริษัทฯได้นำออเดอร์ส่งออกไปตามบริษัทซับคอนแทรคเกือบทั้งหมดจนถึงปี พ.ศ.2552 และเมื่อวันที่ 1-15 มีนาคม 2552 บริษัทเริ่มหักเงินเดือนพนักงานรายเดือนประมาณ 20-25% และเมื่อวันที่ 16-31 มีนาคม 2552 และงวดวันที่ 1-15 เมษายน 2552 งวดวันที่ 16-30 เมษายน 2552 ไม่จ่ายเงินเดือนเลยทั้งหมด 3 งวด
 
และแล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ในท่ามกลางบรรยากาศที่กรรมกรทั่วประเทศจัดงานรำลึกวันกรรมกรสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของกรรมกรในอดีต บริษัทเวิลด์เวลล์การ์เมนท์กลับทิ้งระเบิดลูกใหญ่ใส่กรรมกรเวิลด์เวลล์การ์เมนท์ ด้วยการประกาศปิดกิจการโดยอ้างเหตุผลว่าบริษัทขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี โดยไม่จ่ายค่าชดเชย,ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่คนงานพึงได้รับตามกฎหมาย
 
ดังนั้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 คนงานจึงทำหนังสือขอความช่วยเหลือต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงมีมติรับแก้ไขปัญหาและตั้งผู้รับผิดชอบคนงานเวิลด์เวลล์ พร้อมกันนั้นในวันรุ่งขึ้น (4 พฤษภาคม 2552) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสวัสดิการแรงงาน โดยทางกรมได้ให้เจ้าหน้าที่คือ นายจักรทิพย์ กล่ำเสือ เจ้าหน้าที่เขตสมุทรสาคร ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายก่อนแล้วค่อยออกคำสั่งให้จ่ายค่าชดเชย พร้อมกับรับปากกับคนงานว่าเมื่อออกคำสั่งค่าชดเชยแล้ว หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งจะต้องนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายก่อน 60 วันตามระเบียบของเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการติดตามผลการร้องเรียนดังกล่าว คนงานเวิลด์เวล์การ์เมนท์ทุกคนจึงได้รวมตัวชุมนุมกันที่หน้าโรงงานเวิลด์เวลล์การ์เมนท์ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ต่อมาจึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง โดยรัฐมนตรีฯ รับปากจะแก้ไขปัญหาของคนงาน นอกจากนี้ยังได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมของวุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
และในวันที่ 27 พฤษภาคม พวกเขาก็ได้รับหนังสือจากพนักงานตรวจแรงงานว่าได้ออกคำสั่งให้บริษัทเวิลด์เวลล์จ่ายค่าชดเชยและสิทธิที่ควรได้รับ เช่น ค่าจ้างค้างจ่ายพนักงานรายเดือน สิทธิเงินค่าพักร้อน แต่จนถึงวันนี้พวกเขายังไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างแม้แต่บาทเดียว
 
นอกจากคนงานจะเรียกร้องกับหน่วยงานของรัฐแล้ว คนงานยังกดดันนายจ้างซึ่งได้แก่นายกิจจา จรุงผลพิพัฒน์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยได้เดินขบวนไปที่โรงงานเวิลด์คัพ เขตบางบอน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยได้รับความสนใจและกำลังใจจากประชาชนบริเวณใกล้เคียงและผู้สัญจรไปมา ตำรวจโดยผู้กำกับ สน.บางบอนได้เข้ามาเจรจากับนายจ้างและได้กลับออกมาด้วยท่าทีที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก โดยได้ข่มขู่คนงานว่านายจ้างขาดทุน และจะสลายกลุ่มคนงานหากไม่หยุดการชุมนุมประท้วง โดยจะส่งกองกำลังมาสลายการชุมนุม นอกจากการชุมนุมเรียกร้องกดดันและการเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐแล้ว คนงานเวิลด์เวลล์การ์เมนท์ยังใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อเรียกร้องในสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน แต่ศาลแรงงานเองแทนที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของแรงงานกลับพยายามไกล่เกลี่ยให้พวกเขารับข้อเสนอของนายจ้าง ซึ่งน้อยกว่าสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพวกเขา เช่น พนักงานรายเดือนที่ทำงานให้บริษัทมาเป็นระยะเวลา 7 ปี นายจ้างเสนอจ่ายค่าชดเชยให้เพียง 1เดือนครึ่ง และคนงานที่ทำงาน สร้างผลกำไรให้กับบริษัทมาเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี นายจ้างเสนอจ่ายค่าชดเชยให้เพียง 2 เดือน ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายพี่น้องของเราเหล่านี้ควรจะได้ค่าชดเชยถึง 300 วัน กล่าวคือ หากคิดตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับตามกฎหมายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 2,400,00 บาท แต่นายจ้างกลับเสนอจ่ายค่าชดเชยเพียง 538,900 บาท นี่คือสิ่งที่พวกเขาได้รับจากนายจ้างจากการทุ่มเททำงานอย่างหนักมาตลอดระยะเวลาหลายปี
 
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก ได้แวะไปเยี่ยมเยียมพี่น้องคนงานเวิลด์เวลล์การ์เมนท์ ซึ่งยังคงชุมนุมอยู่ที่หน้าโรงงาน เพื่อให้กำลังใจ และร่วมเรียนรู้ความทุกข์ยากของพี่น้องกรรมกรเหล่านั้น ก็ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่แท้จริงที่นายจ้างปิดโรงงานนั้นไม่ได้มาจากภาวะการขาดทุนแต่อย่างใดเพราะโรงงานอื่นๆ ที่อยู่ในเครือเดียวกันก็ยังคงทำการผลิตอยู่ รวมทั้งโรงงานที่แม่สอดก็ยังคงรับช่วงผลิตอยู่ นอกจากนี้โรงงานเวิลด์คัพซึ่งเป็นบริษัทแม่ก็ยังคงรับพนักงานอยู่ แต่สาเหตุที่นายจ้างปิดโรงงานเป็นเพราะนายจ้างไม่พอใจที่คนงานลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องถูกหักเงินเดือน พวกเขายังระบายความรู้สึกให้พวกเราฟังด้วยความคับแค้นใจว่า นายจ้างไม่ได้มีธุรกิจแค่ผลิตเสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีตลาด และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเพียงแค่นายจ้างจะขายตึกแค่ห้องเดียวก็จะสามารถนำมาจ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชยให้แก่พวกเขาได้แล้ว ทั้งนี้ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่ายของพนักงานรายเดือน ที่นายจ้างค้างจ่ายตั้งแต่เดือนมีนาคมนั้นมีมูลค่าเพียง 2,400,000 บาทเท่านั้น นี่มิได้มากมายอะไรเลย หากเทียบกับหยาดเหงื่อแรงงานที่พวกเขาทำการผลิตให้กับนายจ้างมาเป็นระยะเวลานับสิบปี
 
ในระหว่างที่พวกเรากำลังสอบถามข้อมูลจากพวกเขาอยู่นั้น โทรศัพท์ของหนึ่งในแกนนำคนงานที่นั่นก็ดังขึ้น เธอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู ด้วยสีหน้าประหลาดใจแต่กลับไม่ยอมรับโทรศัพท์ แล้วหันมาบอกเพื่อนๆ คนงานที่ร่วมต่อสู้อยู่ด้วยกันตรงนั้นว่า “เป็นไปได้อย่างไร มีโทรศัพท์จากบริษัทแม่เข้ามา” หลังจากเธอหารือกับเพื่อนๆ แล้ว เธอก็ตัดสินใจโทรกลับไป เสียงที่ตอบกลับมาจากอีกฝั่งกลับบอกว่า นายจ้างเหนื่อยแล้ว ไม่ไหวแล้ว และทนไม่ได้แล้วที่จะถูกพวกเธอต่อว่า จึงจะยอมจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ขอให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาล นี่ทำให้พวกเราสะท้อนใจว่า ใครกันแน่ที่เหนื่อย ใครกันแน่ที่ต้องมาลำบากตรากตรำต่อสู้ ต่อสู้และเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นควรจะได้รับอย่างชอบธรรมมิใช่หรือ และหากใช้กระบวนการทางศาลก็เห็นอยู่แล้วว่าศาลเองก็พยายามไกล่เกลี่ยให้พี่น้องของเรารับข้อเสนอของนายจ้าง หรือการต่อสู้เกือบหกสิบวันของคนงานผู้สร้างโลกเหล่านี้ จะได้มาเพียงแค่เศษเงินที่นายจ้างจะโยนมาให้ จากมูลค่าส่วนเกินที่เขาขูดรีดไปจากแรงงานเหล่านี้
 
สุธาสิณี แก้วเหล็กไหล อดีตผู้นำแรงงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยให้มารับผิดชอบคนงานเวิลด์เวลล์ที่ร่วมกินอยู่หลับนอนกับคนงานเวิลด์เวลล์เล่าให้พวกเราฟังว่า คนงานต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอยู่ในเต็นท์ที่เป็นที่ชุมนุมของพวกเขา กลางวันอากาศก็ร้อนมาก แต่วันไหนที่ฝนตกก็ใช่ว่าจะช่วยคลายความร้อนได้ เพราะเต็นท์ก็จะถูกพัดจนข้างของในเต็นท์ที่เป็นเครื่องยังชีพของพวกเขาพังเสียหาย มิพักต้องพูดถึงเนื้อตัวร่างกายของคนงานเหล่านั้นที่ต้องเปียกปอนกันทุกคน เวลาจะเข้าห้องน้ำต้องเดินข้ามถนนไปเข้าห้องน้ำในปั๊มน้ำมันฝั่งตรงข้าม และถึงแม้ว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการให้พี่น้องของเราไปฝึกอาชีพทำขนม โดยให้ค่าแรงวัน 120 บาทเป็นเวลา 10 วัน แต่สิ่งที่พวกเราสรุปกันก็คือ ขนมที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานฝึกให้พวกเขาทำกันนั้น เป็นขนมที่เสียง่าย หากขายไม่หมดภายในหนึ่งวัน วันรุ่งขึ้นก็จะบูดแล้ว นี่คงเป็นความหวังดีของหน่วยราชการที่ไม่ได้เข้าใจความทุกข์ยากของกรรมกรอย่างแท้จริง ระหว่างที่พวกเราเตรียมตัวกลับ ก็ได้ยินเสียงคนงานกำลังช่วยกันร่างหนังสือขอความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานไทยเรยอนที่ จ.อ่างทอง หรือในเวลานี้จะมีเพียงคนงานด้วยกันเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งให้แก่คนงานด้วยกัน นี่กระมังเป็นสาเหตุที่ทำให้วลาดิเมียร์ เลนิน นักปฏิวัติชาวรัสเซียกล่าวแก่คนงานว่า “Workers of the world unite!!!” “กรรมกรทั่วโลกจงสามัคคีกัน!!!” เพราะหากพวกเขาไม่สามัคคีกันแล้วก็คงไม่มีใครจะยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยหัวใจที่เข้าใจความทุกข์ยากของกรรมกรได้ดีกว่ากรรมกรด้วยกันเอง!!! และการรวมตัวของกรรมกรนี่เองที่เป็นเครื่องมืออันทรงพลังของพวกเขาที่มีแต่มือเปล่าเท่านั้นในการต่อสู้กับนายทุนที่กดขี่ขูดรีด
  

หมายเหตุ: เพื่อนมิตรท่านใดต้องการสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานเวิลด์เวลล์การ์เมนท์กรุณาติดต่อที่ คุณ สุพิน หมอพิมาย 081 559 5477
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท