Skip to main content
sharethis

รัฐบาลชั่วคราวเมินเส้นตาย 3 วัน ด้านเลขาธิการ OAS และคณะเตรียมเข้าฮอนดูรัสศุกร์นี้เพื่อเจรจา สหรัฐยกเลิกความร่วมมือทางทหาร ส่วนฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ชิลี โคลัมเบียเรียกทูตกลับบ้าน ด้านรัฐมนตรีคลังของเซลายายืนกรานทำหน้าที่อยู่ชิลี ส่วนทูตฮอนดูรัสที่ UN ยันฟังแต่คำสั่งเซลายา ขณะที่ทีวีฮอนดูรัสทำแต่ข่าวม็อบหนุนรัฐบาลชั่วคราว เมินทำข่าวม็อบต้านรัฐประหาร

 
 
ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเซลายาที่ถูกรัฐประหาร ออกมาชุมนุมประท้วงคณะรัฐประหารหน้ารัฐสภาของฮอนดูรัส ในกรุงเตกูซิกัลปา เมื่อ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ในป้ายเขียนว่า “ฟาสซิสต์ เรนาโจ อัลวาเรซ หยุดสื่อผู้ก่อการร้าย” อันเป็นการวิจารณ์การทำงานของผู้สื่อข่าวฮอนดูรัส (ที่มา: Daylife.com/Reuters)
 
ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเซลายา ออกมาชุมนุมเมื่อ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Daylife.com/Reuters)
 
 
รัฐบาลชั่วคราวฮอนดูรัสเมินเส้นตาย OAS เตรียมเข้าไปเจรจาศุกร์นี้
ในวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ออกมากำหนดเส้นตายถึงวันเสาร์ที่ 4 ก.ค. นี้ ให้รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสนำประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ผู้ถูกทำรัฐประหารกลับคืนสู่ตำแหน่ง แต่ทางรัฐบาลรักษาการของฮอนดูรัสออกมาปฏิเสธ
 
โดยโรเบอร์โต มิเชลเลตตี ผู้นำชั่วคราวที่ขึ้นดำรงตำแหน่งทันทีหลังการรัฐประหาร กล่าวเมื่อ 2 ก.ค. ว่า ทางฮอนดูรัสได้จัดตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแล้วและจะไม่ยอมให้มีการกดดันไม่ว่าจากใครก็ตาม เพราะฮอนดูรัสเป็นประเทศที่มีอธิปไตยของตนเอง
 
ล่าสุดนายโฮเซ่ มิเกล อินซุลซา เลขาธิการองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) กล่าวที่เกียอานาวานนี้ (2 ก.ค.) ว่า เขาและคณะจะเดินทางไปฮอนดูรัสศุกร์นี้ (3 ก.ค.) เพื่อเจรจากับรัฐบาลเฉพาะกาลฮอนดูรัส โดยคาดว่าการเดินทางไปฮอนดูรัสของเลขาธิการ OAS ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสแรกๆ ในการเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองของภูมิภาคอเมริกากลางที่วิกฤตที่สุดในรอบ 20 ปี
 
 
สภาฮอนดูรัสประกาศเคอร์ฟิว รัฐมนตรีคลังฝ่ายเซลายายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ชิลี
ขณะที่ทางรัฐสภาฮอนดูรัสยอมรับว่ามีการออกมาตรการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ละเมิดกฎเคอร์ฟิวตอนกลางคืน โดยมาตรการนี้อนุญาตให้ผู้รักษาความสงบควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้มากกว่า 24 ชั่วโมง มาตรการนี้ยังห้ามประชาชนพบปะชุมนุมกันในยามวิกาลซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึงตี 5 ของอีกวันด้วย
 
นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประธานาธิบดีเซลายา นางรีเบกา ซานโตส (Rebeca Santos) กล่าวเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ว่า เธอจะยังคงทำงานในตำแหน่งพร้อมกับประธานาธิบดีเซลายา นอกจากนี้เธอยังเข้าร่วมการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของทวีปอเมริกาที่ชิลี ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วย
 
 
สหรัฐยกเลิกความร่วมมือทางทหาร หลายประเทศเรียกทูตกลับ
นอกจากนี้ในวันที่ 1 ก.ค. รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ยกเลิกการให้ความร่วมมือทางการทหารแก่ฮอนดูรัส ขณะที่ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ชิลี และ โคลัมเบีย ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศในวันเดียวกันด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ฮอนดูรัสในการปราบปรามยาเสพติดเป็นหลัก โดยมีทหารอเมริกันประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศทางตอนเหนือของฮอนดูรัส 800 นาย
 
ขณะที่ทางผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสก็ออกมาตอบโต้การวิพากษ์ของนานาชาติโดยการกล่าวหา ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ว่า เป็นผู้ทำให้ปัญหาของฮอนดูรัสบานปลาย ด้วยการเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์
 
 
ทูตฮอนดูรัสที่สหประชาชาติไม่ฟังคำสั่งรัฐบาลชั่วคราว
ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่เกิดรัฐประหาร (28 มิ.ย.) มิเชลเลตตีเคยกล่าวไว้ว่าต้นตอหลักของปัญหาคือการที่เซลายาสนับสนุนชาเวซ และในทางกลับกันคือชาเวซก็สนับสนุนเซลายา ในตอนนั้นมิเชลเลตตียังได้กล่าวไว้ด้วยว่าเขายอมให้เซลายากลับประเทศในฐานะพลเมืองธรรมดา และมีเงื่อนไขคือ "ไม่ได้รับการสนับสนุนจากฮูโก ชาเวซ"
 
รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสยังได้มีการเรียกตัวเอกอัครราชทูตที่ไปประจำยังประเทศที่สนับสนุนเซลายากลับประเทศด้วย
 
โดยจอร์จ อาร์ตุโร เรย์นา เอกอัครราชทูตฮอนดูรัสประจำสหประชาชาติ ปฏิเสธการเรียกตัวกลับ โดยบอกว่าเขาจะฟังคำสั่งจากเซลายาเท่านั้น ขณะที่โรเบอร์โต ฟลอเรส เบอร์มูเดซ เอกอัครราชทูตฮอนดูรัสประจำสหรัฐฯ กลับประเทศหลังถูกเรียกตัว โดยระบุว่าเขายอมรับในรัฐบาลของมิเชลเลตตี และยังบอกอีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่รัฐประหาร แต่เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย
 
 
ฝ่ายหนุน-ต้านเซลายาชุมนุมแยกคนละเมือง
ขณะที่สำนักข่าว AP รายงานสถานการณ์การชุมนุมในวันที่ 1 ก.ค. ว่า มีชาวฮอนดูรัสหลายพันคนออกมาชุมนุมทั้งฝ่ายที่สนับสนุนเซลายาและฝ่ายที่สนับสนุนมิเชลเลตตี ฝ่ายที่สนับสนุนเซลายาที่มาเป็นกลุ่มใหญ่นั้นพากันเดินขบวนในเขตเมืองหลวงของฮอนดูรัส และฝ่ายที่สนับสนุนมิเชลเลตตีนั้นชุมนุมกันอยู่ที่เมืองอื่น ยังไม่รายงานความรุนแรงเกิดขึ้น
 
โดยผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนเซลายาออกมาบอกว่าทางการฮอนดูรัสพยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้สนับสนุนเซลายาชุมนุมในกรุงเตกูซิกาลปาซึ่งเป็นเมืองหลวงของฮอนดูรัส นาตาลี โอ'ฮารา เล่าว่ากลุ่มคาราวานของเธอต้องหยุดตามจุดตรวจของทหารถึงห้าจุดขณะเดินทางร่วมกันเพื่อมาประท้วงในเตกูซิกาลปา ซึ่งเธอเล่าอีกว่าที่ทหารยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่านมาได้เพราะพวกเขาได้ซ่อนป้ายและบอกว่าจะมาชุมนุมสนับสนุนมิเชลเลตตี
 
ผู้ประท้วงมารวมตัวกันนอกร้านเบอร์เบอร์คิงที่ถูกทุบทำลายไปเมื่อไม่กี่วันก่อนเนื่องจากเจ้าของแฟรนไชล์เป็นผู้สนับสนุนมิเชลเลตตี บางคนนั่งกินแฮมเบอร์เกอร์และเฟรนซ์ฟรายด์บนบานหน้าต่างที่กระจกถูกทุบแตกไปแล้ว
 
มีกองกำลังทหารและตำรวจตรวจตราอยู่หนาแน่นภายในเมืองใหญ่ ๆ รวมถึงตามถนนทางหลวง สถานพยาบาลและโรงเรียนหลายแห่งปิดทำการเนื่องจากกลุ่มครูอาจารย์และคนทำงานด้านสาธาณสุขที่สนับสนุนเซลายาต่างพากันหยุดงานประท้วง
 
 
ทีวีฮอนดูรัสเสนอแต่ข่าวฝ่ายหนุนรัฐบาลชั่วคราว
ขณะที่ทีวีของรัฐบาลฮอนดูรัส นำเสนอเฉพาะการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีเซลายา ผู้ชุมนุมหลายคนสวมเสื้อสีธงชาติคือสีน้ำเงินและสีขาว ซึ่งพวกเขาชุมนุมอยู่ที่ซาน เปรโตร ซูลา (San Pedro Sula) เมืองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
 
นอกจากนี้ยังไม่มีการนำเสนอข่าวผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเซลายาชุมนุมประท้วงในเมืองหลวง ซึ่งมีปริมาณผู้ร่วมชุมนุมพอๆ กับฝ่ายต้านเซลายา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้สนับสนุนเซลายาไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในประเทศของตนเป็นอย่างมาก โดยป้ายแผ่นหนึ่งของการประท้วงเขียนว่า ว่า “ฟาสซิสต์ เรนาโจ อัลวาเรซ หยุดสื่อผู้ก่อการร้าย” อันเป็นการวิจารณ์สื่อฮอนดูรัส
 
ขณะที่ฟากผู้ต่อต้านเซลายา มีป้ายผืนหนึ่งเขียนว่า “OAS พวกเราต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่ชาเวซ” ทั้งนี้เซลายาถูกต่อต้านจากสายอนุรักษ์นิยมที่มีฐานะ ขณะที่พันธมิตรของเซลายาคือประธานาธิบดีหัวสังคมนิยมอย่างฮูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net