รายงาน: สถาบันยุติธรรมแดนใต้ ค้นวิสัชชนาหาทางดับไฟใต้

ส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการพูดถึงกันมาก มีสาเหตุมาจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมจริงในสายตาของคนในพื้นที่ โดยกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ก่อให้คนบางกลุ่มจับอาวุธสู้ ในกระบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน
 
โดยล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะจัดตั้งสถาบันพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภาคใต้ขึ้น โดยหวังให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนพื้นที่ พร้อมปรับใช้กฎหมายอิสลามให้สอดรับรัฐธรรมนูญ
 
โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 กระทรวงยุติธรรมจัดสัมมนาโครงการสร้างความเข้าใจต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เป็นประธานเปิดงานนั้น
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า แผนยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมในพื้นที่ภาคใต้ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งเรื่องการอำนวยความยุติธรรมบนพื้นฐานนิติธรรม การใช้ยุติธรรมชุมชน และยุติธรรมทางเลือก แต่การสะสางคดีความต่างๆ ที่ผ่านมายังขาดความเป็นเอกภาพ จำเป็นต้องใช้วิธีการสร้างความเชื่อมั่นว่า ทุกคดีจะได้รับการดำเนินการตามกฎหมาย มีหลักนิติวิทยาศาสตร์อ้างอิงได้
 
พร้อมๆ กับการสร้างกระบวนการยุติธรรมชุมชนและยุติธรรมทางเลือก ซึ่งเป็นงานที่จำเป็นต้องเร่งรัดภายใน 4 – 5 ปี เนื่องจากขณะนี้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนยังขาดความเข้าใจ
 
"การแก้ปัญหาความไม่สงบจำเป็นต้องเน้นงานประชาสัมพันธ์ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อสิ่งที่รัฐกำลังทำ เช่น การจัดตั้งสถาบันพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภาคใต้ให้สอดรับกับวิถีชีวิตท้องถิ่น การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายอิสลามให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อาทิ กฎหมายครอบครัวและมรดก ในส่วนของคนนอกพื้นที่ก็จำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการคัดค้านต่อต้าน" นายกฯ ระบุ
 
ขณะที่นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 จะเริ่มนำร่องทดลองใช้กฎหมายเฉพาะถิ่นในชุมชนเล็กๆ จากนั้นจะเผยแพร่ให้คนในพื้นที่รับทราบถึงแผนยุทธศาสตร์การอำนวยความยุติธรรมควบคู่กับกฎหมายอิสลามที่ใช้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ไม่มีบังคับในกฎหมายอาญา
 
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ส่วนสถาบันพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภาคใต้จะจัดตั้งได้ในปีงบประมาณ 2554 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยงานชุมชนในพื้นที่ และนำมาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในชุมชน
 
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องให้เรื่องกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ได้มีขึ้นมาในช่วงตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบเมื่อปี 2547 เท่านั้น แต่มีมาก่อนหน้านั้นมาตั้งนานแล้ว เช่น ข้อเสนอของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่เรียกร้องให้แยกศาลศาสนาอิสลามออกจากศาลจังหวัด หรือข้อเรียกร้องให้มีการตั้งศาลชารีอะห์ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น มีการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เพื่อให้คำชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาอิสลามแก่ผู้พิพาษา แต่ก็ยังไม่มีอำนวจในการพิพากษาอย่างแท้จริง เป็นต้น
 
จนเมื่อรัฐบาลได้ฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อีกครั้ง และมีการตั้งสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้(สตต.) ชุดแรก(ปี2550 – 2551) ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความไม่สงบและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลชารีอะห์ขึ้นอีกครั้งด้วย
 
โดยนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) บอกว่า ประเด็นเรื่องการจัดตั้งศาลชารีอะห์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในข้อเสนอของ สสต. ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเห็นว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ครบองค์ประกอบของการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม เพราะดาโต๊ะยุติธรรม เป็นเพียงผู้ชี้ว่า ประเด็นใดเข้ากับกฎหมายอิสลามหรือไม่ ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาจริงๆ
 
เมื่อมีการพูดถึงกฎหมายอิสลาม คนทั่วไปจะนึกว่าต้องมีการออกกฎหมายใหม่ หรือนำกฎหมายใหม่มาใช้ คือ กฎหมายอิสลาม แต่กฎหมายอิลามในที่นี้ หมายถึงกฎหมายที่ว่าด้วย ครอบครัว มรดก และซากกาต(ทานบังคับสำหรับมุสลิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย
 
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อไม่มีคนนำประเด็นเสนอให้ดาโต๊ะยุติธรรมพิจารณา ศาลก็นำเข้าพิจารณาตามความในประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
สสต. จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างครบองค์ประกอบ โดยมีการศึกษาร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้งจึงได้กำหนดเป้าหมายในการทำงานออกเป็น 2 อย่าง คือ
 
1.การตั้งคณะศึกษาดูงงานใน 2 ประเทศ จำนวน 20 คน ศึกษาดูงานเรื่องศาลชารีอะห์และการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในประเทศศรีลังกา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม หรือชาวมุสลิม อยู่ประเมณ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลของประเทศศรีลังกายอมให้มีการบังคับใช้กฎหมายตามที่ชาวมุสลิมในประเทศต้องการได้ ในเรื่องที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดก
 
2.การศึกษาดูงานในประเทศอียิปต์ เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่ก้าวหน้าที่สุดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม ประกอบกับเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยอิสลามที่มีบทบาททางวิชาการอิสลามมากที่สุด
 
ผลจากการศึกษาดูงานทั้ง 2 ประเทศ คณะกรรมการได้มีการประมวลข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย โดยได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงยุติธรรม พิจารณาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม
 
นายไชยยงค์ บอกว่า เรื่องนี้ แม้รัฐยังขยับไม่มาก แต่หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ก็ให้ความสนใจที่จะนำเรื่องนี้ไปศึกษาเองแล้ว
 
แม้การขยับเรื่องนี้ดูจะยากอยู่พอสมควร แต่อย่างน้อยก็ส่งผลให้การพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับชายแดนภาคใต้ก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปที่ละน้อยแล้ว เหมือนกับค่อยๆ เรียนรู้และหาคำตอบให้กับการดับไฟใต้ต่อไปอย่างเข้าใจ
 
00000
 
ข้อมูลประกอบ
 
แนวทางขับเคลื่อน
ระบบศาลอิสลามในไทย
 
 
ต่อไปเป็นข้อมูลสรุปของสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) ถึงแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาระบบศาลอิสลามที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่ศอ.บต.ส่งให้นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
.................................
 
แนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาระบบศาสนาอิสลามที่เหมาะสมกับประเทศไทย
 
  1. ความเป็นมา
ประเทศไทยได้บังคับให้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฏหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา, และสตูล พ.ศ.2489 บังคับใช้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยมุสลิมเฉพาะถิ่น อย่างไรก็ตามเมื่อมีการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้แล้ว จะพบปัญหาในทางปฎิบัติและพบว่ามีหลักกฏหมายอิสลาม เรื่องครอบครัวและมรดกมีความแตกต่างจากประมวลกฏหมายพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเป็นอย่างมาก ซึ่งในที่นี้สามารถประมวลให้เห็นถึงความไม่ลงตัวระหว่างการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้ดังนี้
 
1.1   ในกระบวนการพิจาราณาคดีครอบและมรดกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฏหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา, และสตูล พ.ศ.2489 พบว่าในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมพิจารณาคดีพร้อมด้วยผู้พิพากษาโดยดะโต๊ะยุติธรรมทำหน้าที่วินิจฉัยในหลักของกฏหมายอิสลามส่วนข้อเท็จจริง หรือปัญหาข้อกฏหมายอื่นอำนาจการวินิจฉัยและการพิพากษาเป็นอำนาจของผู้พิพากษา
 
1.2    การนำหลักกฏหมายอิสลามมาวินิจฉัย เป็นการใช้กฏหมายอิสลามเฉพาะการตัดสินคดีในศาลไม่มีสภาพบังคับนอกศาล ขณะเดียวกันคู่กรณีสามารถเลือกใช้กฏหมายได้ทำให้เกิดความลักลั่นและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนมุสลิมและทำให้เกิดความแตกต่างในการบังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่
 
1.3   คำวินิจฉัยชี้ขาด ของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฏหมายอิสลามให้เป็นเด็ดขาดคดีนั้นไม่สามารถอุทธรณ์หรือฏีกาได้ ทำให้คู่กรณีเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะหากมีข้อผิดพลาดก็ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฏีกาได้
 
1.4   ปัญหาเรื่องอายุความในเรื่องมรดกยังมีความลักลั่นเพราะการบังคับมรดกใช้อายุความในเรื่องมรดก 1 ปี ความ ป.พ.พ. แพ่ง และพาณิชย์ไม่ตรงกับอายุความมรดกของหลักกฏหมายอิสลาม
 
1.5   ปัญหาเรื่องจำเลยที่เป็นชายไทยมุสลิมย้ายภูมิลำเนาออกนอกเขตพื้นที่ 4 จชต. ไม่สามารถนำกฏหมายอิสลามไปบังคับใช้ได้ เพราะเมื่อหากคู่กรณีหากย้ายออกนอกเขตการบังคับใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฏหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกล้วศาลไม่สามารถบังคับคู่กรณีออกนอกเขตอำนาจศาลได้
ดังนั้น เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงมีปัญหาในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก ทำให้มีเรื่องเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยนำเสนอว่ากฎหมายที่บังคับใช้ให้มีความสอดคล้องกับหลักตามกฎหมายอิสลาม แต่อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาแก้ไขจนถึงกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน
 
  1. การดำเนินงานที่ผ่านมาของ ศอ.บต.และสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.
 
2.1 สภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น ศอ.บต.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้จึงมอบให้ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินคดีครอบครัวและมรดกตามหลักศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550
 
ผลการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมเสนอให้กระทรวงยุติธรรมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาระบบการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม รวบรวมหลักกฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อยกร่างข้อกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2551 คณะกรรมการประจำสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ได้นำประเด็นความเป็นไปได้ในการตั้งศาลชารีอะฮฺ (ศาลศาสนาอิสลาม) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจะบังคับใช้ทั่วประเทศมาปรึกษาหารือกัน ซึ่งเมื่อนำเสนอต่อที่ประชุมของที่สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) พบว่า เรื่องดังกล่าวมีความจำเป็น และสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระบวนการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากหลายฝ่ายและผ่านความคิดเห็นและกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
 
ดังนั้นต่อมาสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเสนอให้มีการไปปรึกษาดูงานศาลศาสนาอิสลามในต่างประเทศ ซึ่งได้มีความเห็นว่าควรที่จะไปดูงานยังประเทศที่บังคับใช้กฎหมายอิสลาม ทั้งที่เป็นประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าควรไปศึกษาดูงานที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแต่ก็มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามเป็นการเฉพาะ
 
และประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมมีการพัฒนาศาลศาสนาอิสลามที่ทันสมัยตามระบบมาตรฐานสากล และยังมีการใช้กฎหมายศาสนาสำหรับผู้ที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ด้วย ซึ่งผลจากการไปศึกษาดูงานก็จะได้นำมาประมวลเสนอเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาระบบศาลศาสนาอิสลามในประเทศไทยต่อไป
 
ต่อมา ผอ.ศอ.บต.ได้อนุมัติเห็นชอบให้มีการนำสมาชิก สสต.และผู้บริหาร ศอ.บต.ไปศึกษาดุงานการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศศรีลังกาและกฎหมายชารีอะฮฺ ในประเทศอียิปต์เมื่อวันที่ 11-19 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า ประเทศศรีลังกามีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม แก่ผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย โดยจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการ Quazi (กอฎี) ดำเนินการเกี่ยวกับการสมรส การหย่า และอื่นๆ ในฐานะนายทะเบียนและแต่งตั้งศาล Quazi ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ไต่สวนและอนุมัติ การหย่า ตามกฎหมายอิสลาม และให้ความช่วยเหลือคู่สมรสในด้านอื่นๆ
 
นอกจากยังมีศาลอุทธรณ์พิเศษ เรียกว่าคณะกรรมการ Quazi เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คำคัดสินของ Quazi
 
สำหรับประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศใช้กฎหมายอิสลามบังคับใช้ทั่วทั้งประเทศ โดยมีองค์กรชี้ขาดศาสนาสูงสุด Fatwa Councils ตำแหน่งผู้วินิจฉัยชี้ขาดทางศาสนา เรียกว่า Mufti ซึ่งทำหน้าที่ตีความทางสาสนาประกอบด้วยหลายแผนก ขณะเดียวกันก็ให้หลักประกันความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศด้วย โดยมีกฎหมายครอบครัวและมรดกที่สอดคล้องกับวิถีความเชื่อของชุมชนนั้นๆ ซึ่งผลการศึกษาดูงานครั้งนั้น ได้รายงานให้รัฐบาลได้รับทราบ และทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องอย่างเป็นลำดับดังนี้
 
(1)สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเชิญ Dr. Gommaa ผู้วินิจฉัยชี้ขาดทางด้านศาสนาอิสลามและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ไปบรรยายพิเศษ เรื่องการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศอียิปต์แก้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาแนวทางบังคับใช้ ป.พ.พ.ว่าด้วยครอบครัวมรดกและ ป.พ.พ.อื่นกับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามแก่ผู้นับถือศาสนา นักวิชาการ และผู้ที่สนใจประมาณ 500 คน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ณ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้แสดงท่าที และสนับสนุนให้มีการพัฒนากฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกต่อรัฐบาล เพราะการดำเนินการดังกล่าวมีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการศรัทธาและการเคารพภักดีต่อองค์อัลลอฮฺ แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความจริงใจของภาครัฐในการนำหลักศาสนามาบังคับใช้แก่พี่น้องมุสลิม และประเทศอียิปต์พร้อมให้การช่วยเหลือด้านข้อมูลบุคคลากร และอื่นๆ ทางสาสนาหากได้รับการร้องขอไป
 
(2) ต่อมา ศอ.บต.ได้ร่วมกับ สสต.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 10-11 เมษายน 2552 โดยสาระสำคัญและเป้าหมายคือ การสร้างกระแสและต้องการระดมความคิดเห็นที่เป็นผลต่อเนื่องจากการนำเสนอความจำเป็นในการพัฒนาการบังคับใช้ ป.พ.พ.ว่าด้วยครอบครัวและมรดกให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายอิสลามซึ่งที่ประชุมมีการเสนอแนวทางดังนี้
2.1 การพัฒนา ป.พ.พ.ว่าด้วยครอบครัวและมรดกให้สอดคล้องกับหลักของกฎหมายอิสลามโดย
 
2.1.1 ปรับปรุงร่างกฎหมายอิสลามที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก และนำเอากฎหมายอิสลามจากต่างประเทศมาเปรียบเทียบ (เสนอเป็น พ.ร.บ.หรือจะเพิ่มเรื่องวากัฟ) (ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเป็นศาสนสมบัติ) หรือวาสียะส์ (พินัยกรรม) ก็ได้
 
2.1.2 วิธีพิจารณากฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกให้ใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหาและให้ยกร่างวิธีพิจารณาความขึ้น
 
2.1.3 ให้ยกระดับดะโต๊ะยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่เป็นกอฎี (ผู้พิพากษา) มีอำนาจในการพิจารณาอรรถคดีตามหลักกฎหมายอิสลามอย่างแท้จริง
 
2.1.4 จัดตั้งสถาบันพัฒนากอฎีขึ้น เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกอฎีการอบรมกอฎีและเรื่องวินัย
 
2.1.5 ขยายการบังคับใช้กฎหมายอิสลามนอกศาล และการขยายการบังคับใช้กับมุสลิมทั่วทุกคน
 
2.1.6 ให้สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หรืออย่างน้อยที่สุดให้มี 2 ชั้นศาล
ควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อรองรับข้อเสนอตามข้อ (2.1) โดยองค์ประกอบของคณะทำงานควรประกอบด้วย
1. นักวิชาการที่มีความรู้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะฮฺ)
2. ผู้แทนจากสำนักงานกฤษฎีกา
3. ผู้แทนนักกฎหมายมุสลิม (ชมรมนักกฎหมายมุสลิม)
4. ผู้แทนจากตุลาการ
5. ผู้แทนฝ่ายการเมือง (สส. สว.)
 
(3) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 สสต.ร่วมกับ ศอ.บต.ได้นำคณะเข้าปรึกษาหารือกับนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมและคณะ ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในประเด็นการพัฒนาแนวทางการใช้ ป.พ.พ.ว่าด้วยครอบครัวและมรดกให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายอิสลามรวมทั้งการหารูปแบบแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาระบบศาสนาอิสลามในประเทศไทยซึ่งผลการหารือสรุปได้ดังนี้
 
3.1 กระทรวงยุติธรรมเห็นด้วยในหลักการและเรื่องการพัฒนาแนวทางระบบศาลอิสลามในประเทศไทย โดยเบื้องต้นจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานพัฒนากฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี ฯพณฯนายการับมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบอำนาจให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแทน และปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ ทั้งนี้ความเห็นของที่ประชุมว่าไม่ควรแยกเป็นศาลต่างหาก แต่การอยู่ภายใต้สำนักศาลยุติธรรมเป็นแผนกคดี โดยใช้สำนักงานที่มีอยู่แล้ว
 
3.2 เห็นชอบที่ต้องสร้างและพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยเฉพาะการให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักศาสนา อย่างไรก็ตามเพื่อให้เรื่องกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (นอกอำนาจศาล) เดินควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบศาลอิสลามกระทรวงยุติธรรมได้รับข้อเสนอที่จะให้มีการจ้างบุคลากรที่เป็นผู้จบวิชาด้านกฎหมายอิสลามจากต่างประเทศ หรือผู้ที่มีคุณวุฒิกฎหมายอิสลามเข้ามาทำหน้าที่ด้านธุรการงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสำนักคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งอาจดำเนินการเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแห่งละ 3 คน โดยใช้งบประมาณบุคลากรจากกระทรวงยุติธรรม
 
3.3 สำหรับเรื่องการพัฒนาระบบดะโต๊ะยุติธรรมเพื่อก้าวไปสู่การเป็นกอฎี (ผู้พิพากษา) ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และใช้เป็นรูปแบบการไต่สวนแทนระบบการกล่าวหา ให้นำเรื่องนี้สู่การพิจารณาของคณะทำงานพัฒนากฎหมายอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
3.4 เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวบรรลุผลที่เป็นรูปธรรมกระบวนการพัฒนารูปแบบศาลอิสลามที่เหมาะสมและการพัฒนาระบบให้ดะโต๊ะยุติธรรมไปสู่การเป็นกอฎี กระทรวงยุติธรรมต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ระบบสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สนับสนุนช่วยเหลือและ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านข้อมูลระดับพื้นที่
 
  1. ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาระบบศาลอิสลามว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกไปสู่การบรรลุที่เป็นรูปธรรม
เพื่อให้กระบวนการขับเคลื่อนพัฒนาระบบศาลอิสลามว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก บรรลุสู่ผลที่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้และเป็นกระบวนการที่ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีข้อเสนอในการดำเนินการดังกล่าวต่อรัฐบาลดังนี้
 
1. กระบวนการขับเคลื่อนเบื้องต้นทั้งรูปแบบข้อเสนอการได้มาซึ่งรูปแบบของศาลยุติธรรมที่เหมาะสมกับสภาพการเมืองการปกครองของประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาระบบดะโต๊ะยุติธรรมไปสู่การเป็นกอฎี (ผู้พิพากษา) ตามบทบัญญัติในคำภีร์อัลกุรอาน ซึ่งนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรมที่มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ
 
2. กลไกตามข้อ 1 ต้องเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอรูปแบบศาลอิสลามที่เหมาะสม ให้รัฐบาลได้พิจารณาเพื่อจะตัดสินใจแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาระบบศาลอิสลาม (ครอบครัวและมรดก)
 
3. สำหรับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการะแสการตอบรับ สะท้อนความต้องการและสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ศอ.บต.ต้องเป็นหน่วยอำนวยการและดำเนินงานในพื้นที่พร้อมทั้งการสนับสนุนข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอ
 
4. กระบวนการวางกลไกการบริหารและวางระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กระทรวงยุติธรรมต้องเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการควบคู่กับกระบวนการพัฒนาและจัดตั้งศาลอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายละเอียดตามแผนเอกสารแนบท้าย
 
5. ให้สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขนำข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาระบบศาลอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกผ่าน ศอ.บต.นำเรียน ฯพณฯนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) รวมทั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) เพื่อสนับสนุนผลักดันให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท