SIU: เส้นทางสู่แผน 11 - ความท้าทายของสภาพัฒน์

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่รู้จักกันในนาม “สภาพัฒน์” ได้จัดงานประชุมประจำปี 2552 โดยหัวข้อประจำปีนี้คือ “จากวิสัยทัศน์ 2570 สู่แผนฯ 11” (เว็บไซต์งานประชุม) ซึ่งเป็นการระดมสมองจากหลายภาคส่วนเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นการวางแผนระหว่าง พ.ศ. 2555-2559

งานในภาคเช้าเป็นปาฐกถาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จากนั้นตามด้วยการอภิปรายในหัวข้อ “แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศไทย ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” ซึ่งเป็นการนำเสนอ “เค้าโครงแผน” ที่ร่างโดยสภาพัฒน์ และขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่เชื้อเชิญมานั่นเอง

 

cover

 

ผู้นำเสนอเค้าโครงแผนคือ ดร. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการของสภาพัฒน์ (ตำแหน่งเทียบได้กับผู้อำนวยการ) ส่วนแขกที่เชิญมาให้ความเห็นได้แก่ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาในฐานะประธานมูลนิธิหัวใจอาสา และเป็นตัวแทนของภาคสังคม, รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาในฐานะราชบัณฑิต และประธานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นตัวแทนผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ และ ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร หรือ OKMD) และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ โดยมี ดร. พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ประธานบอร์ดของสภาพัฒน์) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

หมายเหตุ: ดาวน์โหลดเอกสารนำเสนอของผู้ร่วมอภิปรายบางท่าน ได้จากเว็บไซต์ของสภาพัฒน์

นำเสนอแนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดย ดร. อำพน กิตติอำพน

ดร. อำพนเริ่มนำเสนอที่มาของการประชุมว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นั้นมีระยะเวลารับฟังความเห็นน้อยเพียง 1 ปี ดังนั้นในแผนฉบับที่ 11 จึงเริ่มต้นให้เร็วกว่านั้นอีก 1 ปี งานประชุมในวันนี้เป็นการระดมความเห็นเพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์สำหรับจัดทำ แผน 11 ซึ่งจะเปิดรับฟังความเห็นอีก 1 ปี ก่อนจะเริ่มร่างตัวแผนจริงๆ และรับฟังความเห็นอีก 1 ปีก่อนประกาศใช้

รากฐานของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เกิดจากกรอบการทำงานระยะยาว “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2570″ ซึ่งสภาพัฒน์ได้จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พ.ศ. 2551 โดยมีรากฐานมาจากแนวคิดในแผนฉบับที่ 10 และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อได้กรอบการทำงานระยะยาว “วิสัยทัศน์ 2570″ แล้ว จึงจะนำมาจัดทำแผนระยะกลาง 5 ปี ซึ่งก็คือแผนฉบับที่ 11 นั่นเอง

plan11 basis

ดร. อำพน กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแผนที่ 10 ประกาศใช้ (พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา) ว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น

  • โลกาภิวัฒน์เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น ในส่วนของภูมิภาค อาเซียได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียน
  • เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ตัวอย่างเช่น นาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้น และคนไทยได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่างๆ มากขึ้น
  • ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  • การคมนาคม สร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่สาม และสร้างทางรถไฟไปเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การรถไฟไทย
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ราคาน้ำมันในตลาดโลกแกว่งตัวมาก เช่นเดียวกับราคาข้าวที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายหลักของโลก

แนวคิดหลักของแผนฉบับที่ 10 คือการสร้างดุลยภาพของต้นทุนของประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ทุนทางเศรษฐกิจ, ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากร ที่ผ่านมา ประเทศไทยที่เคยได้บทเรียนจากวิกฤต 40 มีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกค่อนข้างดี ส่วนด้านทรัพยากรก็มีปัญหาบ้างเป็นจุดๆ ไป เช่น ที่มาบตาพุด แต่ด้านสังคมกลับอ่อนแอมาก การเมืองมีปัญหาอย่างหนัก ในขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองก็เกิดปัญหาสังคมในชนบทสูง

แนวคิดในแผน 11 จะเตรียมพร้อมสู่ความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังอุบัติขึ้นโดยแยกเป็น 5 ส่วนย่อย

1. มองหาโอกาสของประเทศไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก

economy crisis

สภาพัฒน์ประเมินภูมิทัศน์ของโลกหลังวิกฤตเศรษฐกิจไว้ดังนี้

  • การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกหลังฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จะไม่มากเท่ากับการขยายตัวในช่วงก่อนวิกฤต (ช่วงก่อนแผนฉบับที่ 10)
  • ภาคการเงินจะบังคับใช้หลักธรรมาภิบาลเข้มข้นมากขึ้น กฎระเบียบทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะกลายมาเป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ
  • สกุลเงินใหม่ๆ เช่น เงินหยวนของจีน จะเริ่มมีบทบาทในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโลกมากขึ้น แทนที่จะเป็นสกุลดอลลาร์และยูโรอย่างที่เป็นอยู่
  • โลกจะประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
  • วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้จะทำให้โลกเปลี่ยนจากทุนนิยม 100% มาเป็น “ทุนนิยมเชิงสร้างสรรค์” หรือ Creative Capitalism ซึ่งมีแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างเช่น CSR มากขึ้น

ในแผน 11 ประเทศไทยจะต้องรักษาอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงจากความผันผวน ของเศรษฐกิจโลกให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

2. มองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy ที่กำลังถูกพูดถึงกันมากในช่วงนี้ เป็นคำนิยามถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์เป็นหลัก เช่น งานศิลปกรรม หัตถกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันมีตัวอย่างประเทศที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จนกลายเป็น สินค้าและบริการหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศได้มากมาย เช่น อังกฤษและเกาหลีใต้

เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่บ้างแล้ว สภาพัฒน์เสนอให้ประเทศไทยมองเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นโอกาสสร้างสินค้าและ บริการใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดโลก โดยมีนโยบาย 3 ข้อดังนี้

  • พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ไปคู่กับเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy)
  • กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และบูรณาการวิธีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศ ที่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น โครงข่ายด้านไอที มาตรการด้านกฎหมายและการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา

ดร. อำพน ย้อนถึงต้นทุนของประเทศ 3 ชนิดในแผนฉบับที่ 10 ว่า ส่วนของทุนด้านสังคม ในแผน 11 อาจต้องแยกออกมาเป็นทุนทางกายภาพที่จับต้องได้ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ และทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องเป็นชิ้นเป็นอันลำบากแต่ก็มีมูลค่าในตัวมันอยู่ มาก

3. เตรียมรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

global warming

สภาพัฒน์เสนอให้ประเทศไทยซึ่งยังต้องพึ่งพิงภาคเกษตรอยู่มาก ให้ปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ยั่งยืนในการผลิตและการบริโภค ปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมถึงมองหาโอกาสจากกระแสโลกร้อน เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต และรวมตัวกันกับภูมิภาคอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง

4. สถาปัตยกรรมทางสังคม เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงภาคสังคม

social architecture

ดร. อำพนเสนอว่าการพัฒนาภาคสังคมไทยนั้นไม่สมดุล ทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ดังนั้นต้องปรับปรุงในด้านทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข การศึกษา ทักษะแรงงาน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ออกแบบสังคมที่มีคุณภาพและมีความสมานฉันท์ (social cohesion) ไปพร้อมๆ กัน

5. สร้างความมีส่วนร่วมด้วยสัญญาประชาคมใหม่

social contract

ดัชนีความสงบสุข (Peace Index) ของไทยอยู่ในระดับต่ำ (118 จากทั้งหมด 140 ประเทศ) ในอาเซียนมีเพียงพม่าเท่านั้นที่มีอันดับต่ำกว่าไทย ด้านภาพลักษณ์การบริหารจัดการที่ดีก็มีแนวโน้มลดลงในสายตาของต่างชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มี สาเหตุหลากหลาย

แนวทางที่เสนอเพื่อใช้แก้ปัญหาเหล่านี้คือพัฒนา “สัญญาประชาคมใหม่” หรือค่านิยมของสังคมที่เหมาะสมกับยุคสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคม โดยกลไกในการพัฒนาจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

หมายเหตุ: ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุม ซึ่งเป็นร่างข้อเสนอของแผน 11 ได้จากเว็บไซต์ของสภาพัฒน์

ความคิดเห็นโดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

นายไพบูลย์กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ที่ผ่านมาทำมาทั้งหมด 10 แผน ครอบคลุมช่วงเวลา 51 ปี มีการ “อภิวัฒน์” หรือการปรับปรุงแผนครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือแผนฉบับที่ 2 ซึ่งเพิ่มเรื่องสังคมเข้ามา จากเดิมที่มีเรื่องเศรษฐกิจเพียงเรื่องเดียว และแผนฉบับที่ 8 ที่เริ่มใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น

นายไพบูลย์เสนอให้ “อภิวัฒน์” อีกครั้งในช่วงแผนฉบับที่ 11 โดยพิจารณาเพิ่มเรื่องการเมืองเข้ามาด้วย เพราะถ้าการเมืองไม่นิ่ง ก็ไม่สามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยนายไพบูลย์เสนอให้เปลี่ยนชื่อจาก “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” มาเป็น “แผนพัฒนาประเทศ” หรือ “แผนพัฒนา”

paiboon

(ภาพจาก บล็อกของนายไพบูลย์ บน Gotoknow)

นอกจากนี้นายไพบูลย์ยังมีข้อเสนออีก 4 ข้อ ดังนี้

1. สร้างดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินแผนงาน และวิเคราะห์หาปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนา

ตัวชี้วัดที่ควรสร้างขึ้นต้องแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ตัวชี้ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น, ตัวชี้ระดับองค์กร, ตัวชี้วัดในประเด็นสำคัญที่รัฐและประชาชนเห็นร่วมกัน (เช่น เรื่องโลกร้อน) และตัวชี้วัดระดับประเทศ ที่ผ่านมา สภาพัฒน์เคยสร้างแต่ตัวชี้วัดระดับประเทศ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ระดับการปกครองท้องถิ่นและระดับองค์กร ซึ่งเป็นที่ๆ คนไทยสังกัดอยู่มากที่สุด

ตัวชี้วัดจะต้องสามารถวัดปัจจัยหลักของการพัฒนาทั้งสามเรื่อง คือ ความมีสุขภาวะ, ความดี และความสามารถได้

2. ประชาชนต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา และต้องสร้างโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนเป็นผู้พัฒนา

รัฐต้องโอนอำนาจให้การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมานานมากแล้วแต่ยังทำไม่สำเร็จ ประเทศไทยควรมี อบจ. หรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับ กทม. ให้มากขึ้น เช่น ตามจังหวัดใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่หรือภูเก็ต ในอีกทาง ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องลดบทบาทลงให้เหลือเพียงสำนักงานขนาดเล็ก ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับประชาชนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้รัฐไม่จำเป็นต้องมีภาคราชการส่วนภูมิภาคมากอย่างที่เป็นอยู่

3. กระบวนการวางแผนต้องเป็นของประชาชน โดยรัฐมีบทบาทแค่มีส่วนร่วมและสนับสนุนเท่านั้น

ซึ่งจะกลับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่รัฐและข้าราชการเป็นผู้วางแผน ส่วนประชาชนมีส่วนร่วมและสันบสนุน นายไพบูลย์มองว่าการ “รับฟังความเห็น” ของสภาพัฒน์นั้นไม่เพียงพอ ควรยกระดับเป็นการ “สานเสวนา” (Citizen Dialogue) ในระดับต่างๆ ทุกภาคส่วนของประเทศ ส่วนรัฐเป็นแค่ผู้สนับสนุนทางนโยบายและงบประมาณเท่านั้น

4. เปลี่ยนระยะเวลาของแผนให้เป็น “แผนเคลื่อนที่” (moving plan) ตามสูตร 2+6+12

การวางแผนล่วงหน้ามีโอกาสผิดพลาดสูง ถ้าสมมติฐานที่สภาพัฒน์เคยวางไว้นั้นผิดเมื่อเวลานั้นมาถึงจริงๆ ตัวอย่างก่อนหน้านี้คือ แผน 8 ที่พูดเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่เมื่อเจอวิกฤต 40 เข้าไปทำให้ต้องไปสนใจเรื่องกู้เศรษฐกิจ ส่วนแผน 10 พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็เจอกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

นายไพบูลย์เสนอให้สร้างแผนระยะสั้น 2 ปี ตามด้วยแผนระยะกลาง 6 ปี และแผนระยะยาว 12 ปี รวมกันเป็น 20 ปี แผนระยะสั้นเริ่มนับจากปัจจุบัน มีจุดประสงค์เพื่อหา “จุดคานงัด” ของประเทศเพื่อเข้าสู่แผนระยะกลาง ส่วนแผนระยะกลางเน้นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างที่เป็นอยู่ และแผนระยะยาวเน้นจุดมุ่งหมายในบั้นปลาย

p47

p48

ตัวอย่างแผนระยะสั้นที่ควรจัดทำ ได้แก่

  • การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤตเศรษฐกิจ
  • ฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ รอบคอบ มองการณ์ไกล
  • สร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง โดยดึงเอานักสันติวิธีเข้ามา
  • ความสงบสุขในชายแดนภาคใต้ โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของปัญหา

ข้อมูลเพิ่มเติม: อ่านได้จากบล็อกของนายไพบูลย์ ที่เขียนถึงการพูด ณ วันนี้ แนวคิด ทิศทาง ในการวางแผนพัฒนาประเทศ

ความคิดเห็นโดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี

ขอมาเล่าเหตุการณ์สำคัญของโลกในอดีตเพื่อเทียบให้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สถานการณ์โลกในช่วงปี 1989-2008 นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 1989 ซึ่งจะเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรบ้าง และจะบอกว่าโลกในยุคถัดจากนี้ไปก็จะคล้ายๆ กัน คือ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญในปี 2008

เหตุการณ์สำคัญในปี 1989

  • สหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เป็นจุดเปลี่ยนทางนโยบายของโซเวียด ส่วนอัฟกานิสถานก็กลายมาเป็นดินแดนสำคัญของผู้ก่อการร้าย
  • มีการประดิษฐ์ World Wide Web ส่งผลให้เกิด “รัฐทางไซเบอร์” (cyber state) ซึ่งทำให้ความสำคัญของ “รัฐชาติ” (nation state) ลดลง
  • เหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ทำให้จีนต้องหันเหความสนใจจากชาวโลกจากด้านการเมืองเป็นด้านเศรษฐกิจ และส่งผลให้จีนกลายเป็นโรงงานการผลิตสำคัญของโลก
  • เวียดนามถอนทหารจากกัมพูชา ทำให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
  • กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ยุติสงครามเย็น ประเทศสังคมนิยมหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ทำให้โลกกลายเป็นขั้วเดียวคือขั้วโลกเสรี

ผลกระทบต่อเนื่องในปี 1989-2008

ระดับโลก

  • เศรษฐกิจโลกพึ่งการผลิตจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อส่งออกในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว และใช้บริการภาคการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว
  • สหรัฐอเมริกาและยุโรปมีอิทธิพลมากที่สุด
  • กลุ่มประเทศเอเชีย ตะวันออกกลาง และ BRIC (Brazil Russia India China) กลายเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศโลกที่สาม
  • พฤติกรรมการผลิตและการบริโภคเกินขนาด ส่งผลให้โลกร้อน ราคาน้ำมันสูง ราคาโภคภัณฑ์และอาหารพุ่งสูง
  • การบริโภคเกินฐานะของคนอเมริกัน และระบบการเงินเสรี ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008

ผลกระทบต่อประเทศไทย

  • ประเทศไทยผูกโยงเข้ากับห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่
  • ปี 1989 ตรงกับแผนพัฒนาฉบับที่ 6 (1987-1991)
  • ไทยเปิดเสรีทางการเงินในปี 1991 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปัญญารชุน
  • แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ในปี 1997 เราเจอกับวิกฤตทางการเงิน ส่วนปี 2008 เจอกับวิกฤตในการส่งออกที่พึ่งตลาดตะวันตกมากเกินไป เราพอเพียงกันแต่ปากแต่เอาเข้าใจแล้วก็ตามกระแสโลก

เหตุการณ์สำคัญในปี 2008

2008 event

  • การล่มสลายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐ เกิดวิกฤตครั้งใหญ่และเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก
  • บารัค โอบามาที่มีนโยบายสมานฉันท์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ
  • จุดที่จะเป็นปัญหาในแวดวงการเมืองโลก ได้แก่ ยิว-ปาเลสไตน์, อิหร่าน-อิรัก, อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน, พม่า, เกาหลีเหนือ

โลกหลังปี 2008

  • ประชาธิปไตยหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องตามแนวทางของตะวันตกทั้งหมด
  • เศรษฐกิจจะไม่ใช่การค้าเสรีอย่างเต็มที่เหมือนสมัยประธานาธิบดีเรแกนอีกแล้ว มีการกำกับดูแลทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
  • กลุ่มภูมิภาคจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่นำโดยสหรัฐและยุโรป
  • โลกมุสลิมจะมีอิทธิพลมากขึ้น

ข้อเสนอต่อประเทศไทย

thailand2008

  • ด้านการเมืองโลก ต้องปรับตัวจากเดิมที่เรามี “ความสัมพันธ์พิเศษ” กับสหรัฐ มาคบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ มากขึ้น เช่น อาเซียน, เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ (BIMST - EC), เอเชียกลาง (Shanghai Cooperation Organisation), สหภาพยุโรป, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
  • ด้านเศรษฐกิจ ในระยะสั้นต้องเอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ลดดอกเบี้ยให้ต่ำ สร้างสภาพคล่องสูง เงินบาทต้องเสถียร การคลังต้องไม่ขึ้นภาษี หลังจากนั้นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต และมองไปถึงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในระยะยาว
  • ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาการลงทุนในสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว, เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์, สินค้าและบริการที่อิงศิลปะวัฒนธรรม ตั้งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นหน่วยงานอิสระและคล่องตัว ต่างไปจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
  • ลดการพึ่งพิงชาติตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว สร้างวิธีการเชื่อมสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันตก และสมานฉันท์กับโลกมุสลิม

ความคิดเห็นจาก รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร

การเมืองเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอด สมัยแผนฉบับที่ 1 ก็เกิดจากจอมพลสฤษดิ์มีความมั่นคงทางการเมือง เลยมาวางแผนเศรษฐกิจ การเมืองแบ่งเป็นภายนอกประเทศที่เราควบคุมไม่ได้ ส่วนการเมืองภายในเราก็หวังว่าจะควบคุมได้

เดิมทีวิธีการจัดทำแผนพัฒนาเป็นแบบ top-down มาโดยตลอด ถึงวันนี้ไม่มีทางที่จะไม่ฟังเสียงประชาชนได้แล้ว ยังไงสภาพัฒน์ต้องสร้างวิธีที่เป็น bottom-up

ปัญหาของประเทศทั่วไปในทางรัฐศาสตร์ แบ่งออกเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ อย่างแรกคือ ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติได้อย่างไร และประเด็นที่สองคือ จะกระจายทรัพยากรหรือสิ่งที่ทรงคุณค่า เช่น บริการทางสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการ ให้เท่าเทียมได้อย่างไร

ในเอกสารของสภาพัฒน์ เขียนคำว่า “ต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” เอาไว้ การสร้างวัฒนธรรมต้องใช้เวลานานมาก เรามีประชาธิปไตยมา 77 ปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา

  • ควรจัดทำแผนหลายแบบไปพร้อมๆ กัน เพื่อเปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละแผน แล้วเลือกส่วนที่ดีที่สุดมาใช้
  • สภาพัฒน์ควรมองถึงเรื่องการเมืองด้วย ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ไม่กล้าแตะเรื่องการเมือง (ดร. พนัส ประธานสภาพัฒน์ตอบว่า มีสภาพัฒนาการเมืองอยู่แล้ว ไม่ควรไปก้าวก่าย)
  • แผนพัฒนาฯ มีบทบาทในการนำไปปฏิบัติจริงแค่ไหน (ดร. อำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ตอบว่า นโยบายของรัฐบาลทุกสมัยต้องอิงกับแผนพัฒนาในช่วงนั้นๆ)

บทวิเคราะห์ SIU

บรรยากาศและความคิดเห็นในงานประชุมประจำปี 2552 ของสภาพัฒน์ เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าทั้งแผนพัฒนาฯ และสภาพัฒน์เอง กำลัง “ถูกท้าทาย”

ประเด็นแรก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเริ่มถูกตั้งคำถามมาได้หลายปีแล้วว่า ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนฉบับหลังๆ (ประมาณฉบับที่ 7 เป็นต้นมา) ที่ไม่สามารถเป็นหลักพาสังคมไทยก้าวหน้าสู่อนาคตได้อย่างแผนฉบับแรกๆ เป้าหมายของแผนช่วงหลังไม่ว่าจะเป็นการกระจายรายได้ (แผน 7) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (แผน 8 ) เศรษฐกิจพอเพียง (แผน 9) และสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (แผน 10) ล้วนแต่เป็นเพียงคำพูดสวยหรูในหน้ากระดาษ แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในทางปฏิบัติ

ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ จุดอ่อนเรื่องนี้ยิ่งกระจ่างชัด เมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีทีมที่ปรึกษาของตัวเอง นำโดยนายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานเหนือกว่าสภาพัฒน์มาก ทีมที่ปรึกษาชุดพันศักดิ์ได้เสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายประการ เช่น เศรษฐกิจแบบดูอัลแทร็ก หรือแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ทีมของพันศักดิ์มีบทบาทในการก่อตั้ง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ตั้งแต่ปี 2546 และดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาตั้งแต่ช่วงนั้น ในขณะที่สภาพัฒน์เพิ่งเริ่มสนใจเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เมื่อไม่นานนี้

ดังนั้นก่อนจะถามว่า แผนพัฒนาฉบับที่ 11 ควรเสนอเรื่องใดเป็นธีมหลัก ควรถามก่อนว่า เรายังจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาฯ อยู่หรือไม่?

ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่ SIU เห็นตรงกันกับผู้ร่วมเสวนาหลายคน ก็คือ บทบาทของสภาพัฒน์ที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ไม่สามารถรวมประเด็นด้านการเมือง การปกครอง การกระจายอำนาจมาไว้ในกรอบการวิเคราะห์ได้ ทำให้วิเคราะห์ผิดพลาด และเป็นผลให้แผนพัฒนาฯ พลาดอย่างรุนแรง ดังเช่นที่นายไพบูลย์ได้ยกตัวอย่างมา คำตอบของ ดร. พนัส สิมะเสถียร ประธานบอร์ดสภาพัฒน์ที่ว่า “มีสภาพัฒนาการเมืองอยู่แล้ว ไม่ควรก้าวก่าย” นั้นเป็นแค่การหนีปัญหา สภาพัฒน์ต้องรีบทบทวนบทบาทของตัวเองตั้งแต่วันนี้ว่า หน้าที่รับผิดชอบของสภาพัฒน์มีเรื่องอะไรบ้าง และเรื่องเหล่านั้นเหมาะสมกับยุคสมัยหรือไม่? ก่อนที่สภาพัฒน์จะถูกกระแสโลกอันเชี่ยวกราก ลดบทบาทจากเดิมที่เคยเป็นผู้ชี้นำสังคมไทย ลงมาเหลือแค่เทคโนแครตหรือข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทาง เศรษฐกิจตามที่รัฐบาลสั่งเท่านั้น

ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับวิธีการทำงานของสภาพัฒน์เอง  ตามที่ รศ. นรนิติ เศรษฐบุตร ให้ข้อมูลไว้ว่า นับตั้งแต่ตั้งสภาพัฒน์มา การทำงานของสภาพัฒน์คือใช้ข้าราชการประจำที่มีการศึกษาในด้านเศรษฐศาสตร์ วางแผนเศรษฐกิจให้กับประเทศมาโดยตลอด เป็นการทำงานแบบ top down ที่เริ่มเห็นแล้วว่าล้าสมัย ยิ่งในยุคที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง รักษาสิทธิ์และเข้ามาถ่วงดุลการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ วิธีการทำงานแบบ top-down นั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว SIU ขอเสนอให้สภาพัฒน์ปฏิรูปวิธีการทำงานอย่างเร่งด่วน และนำเทคนิคการวิเคราะห์และวางแผนแบบใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การวางแผนแบบ scenario ที่แบ่งความเป็นไปได้ในอนาคตออกเป็นหลายแบบ และวางแผนรองรับมือเหตุการณ์แต่ละแบบไว้ หรือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างแผน เช่น อาจจะรับร่างแผนพัฒนาฯ ของประชาชนมาพิจารณา หรือ ให้หน่วยงานต่างๆ อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จัดทำและเสนอร่างแผนพัฒนาฯ เข้ามาให้สภาพัฒน์เลือก เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท