รายงาน : นิยายชีวิตของคนพัทลุง เมื่อมหาวิทยาลัยฯไม่รู้จักพอ

 
  
 
 เยื้อน ทองหนูนุ้ย และ แปลก หนูบูรณ์
 

ทันทีที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ย้ายไปสร้างในที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุงแทน ชาวบ้านไสกลิ้ง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ต่างหวังว่าจะได้ผืนดินทำกินกลับคืนมา

ทว่า เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมากลางใจ เมื่อมหาวิทยาลัยทักษิณหวนกลับมาใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งสระ ตำบลพนางตุงอีกครั้ง เพื่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน พร้อมๆ กับที่ทางจังหวัดพัทลุง ขอเจียดที่ดินจากมหาวิทยาลัยทักษิณ สร้างพุทธมณฑล

นางแปลก หนูบูรณ์ หรือป้าแปลก ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของมหาวิทยาลัยทักษิณ เล่าที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องที่ทำมาหากินอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสระ บ้านไสกลิ้งว่า ปี 2528 กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือสำคัญที่หลวง เนื้อที่ 9,355 ไร่

ต่อมา ปี 2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ได้ขอใช้พื้นที่ 1,450 ไร่ เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่ในส่วนฟากถนนด้านตะวันออกประมาณ 400 – 500 ไร่ ไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้ เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เหลือที่ใช้ได้ทางด้านฝั่งตะวันตกประมาณ 900 กว่าไร่

“พอมหาวิทยาลัยทักษิณไปสร้างที่ป่าพะยอม เราก็ไม่คิดว่ามหาวิทยาลัยจะกลับมาที่นี่อีก”

ปี 2548 มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้กลับมาสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ที่ตำบลพนางตุง และวางแผนจะสร้างพุทธมณฑล ในปี 2550 ชาวบ้านก็ออกมาคัดค้าน และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่เป็นผล ซ้ำร้าย ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้คนงานปักป้าย ห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำมาหากินในผืนดินที่สืบทอดกันมากว่าร้อยปี

ปี 2551 อำเภอควนขนุน แจ้งให้ชาวบ้านที่ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งสระ รื้อถอนทรัพย์สินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินภายใน 90 วัน

จากนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ขุดที่ดิน เพื่อทำแนวเขต และทำลายรางลำเลียงน้ำเพื่อการเกษตร ที่สูบขึ้นมาจากคลองธรรมชาติ ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถทำนาและเลี้ยงสัตว์ได้

คำบอกเล่าของลุงเลี่ยง สุกใส ระบุว่า  เสียภาษีบำรุงท้องที่มาตั้งแต่ ปี 2501 จนปี 2532 ทางอำเภอควนขนุนให้หยุดเสียภาษี

ตอนนั้น ลุงเลี่ยง สุกใส ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ในทุ่งสระ ร่วมกับเพื่อนบ้านประมาณ 53 ครอบครัว

“ทำไมทางอำเภอ จึงส่งหนังสือมาขับไล่ผม และน้องชายออกจากที่ทำกินบรรพบุรุษของผมทำกินมาก่อนจะจะประกาศให้ทุ่งสระ เป็นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อปี 2475 เสียอีก” ลุงเลี่ยง สุกใส ชายชราวัย 78 ปี บอกเล่าด้วยน้ำเสียงแสดงความน้อยอกน้อยใจ

ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ ที่ขุดคันดินกั้นอาณาเขต ยังพอมีถนนดินแดงให้ชาวบ้านสัญจรไปอีกฟากของทุ่งสระ

บางจุดที่ห่างจากตัวอาคารหลังคาสีแดงที่กำลังก่อสร้าง ยังพอเห็นฝูงวัวแทะเล็มหญ้าอยู่บ้าง แต่ก็ต้องระมัดระวัง ชาวบ้านเชื่อว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ เดินรั้วลวดหนามปล่อยกระแสไฟฟ้า ไม่ให้สัตว์และคนเข้าไปใกล้ตัวอาคาร

ห่างออกไปจากกลุ่มอาคารหลังคาสีแดงไม่ไกลนัก กระโจมหลังคาสีเขียว ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ สร้างจำลองเป็นท่าเรือ ตั้งอยู่ริมคลองที่ขุดขึ้นมา พร้อมๆ กับทำลายคลองชลประทาน ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2525  จุดนี้เป็นจุดเดียวกับที่หมีควาย ออกมากัดคนตาย และได้รับบาดเจ็บเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552

เมื่อย้อนกลับไปอีกด้าน มีบ้านลุงสมบูรณ์ หนูบูรณ์ เพียงหลังเดียว ที่ยังอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยฯ

ลุงสมบูรณ์ หนูบูรณ์ ในวัยเลย 70 ปี ยืนยันว่า จะไม่ย้ายออกไปไหน เพราะอยู่ตรงนี้มานานแล้ว อีกอย่างถ้าออกไปก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน

ทางมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องเว้นช่วงการขุดคูทำอาณาเขต เมื่อขุดมาถึงเขตบ้านพักของลุงสมบูรณ์ หนูบูรณ์ ที่มีเนื้อที่เพียง 4 ไร่

ป้าแปลก หนูบูรณ์ พูดเหมือนรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมพวกหาผลประโยชน์ว่า ที่สาธารณประโยชน์มีตั้ง 9,000 กว่าไร่ ทำไมต้องมาเอาที่ที่ชาวบ้านทำกินอยู่ก่อนแล้วพันกว่าไร่ ทำไมไม่เอาตรงจุดอื่น เพราะยังเหลือที่ดินสาธารณประโยชน์อีกหลายพันไร่

ถึงลำบากต้องปรับที่ใหม่ยังไง มหาวิทยาลัยฯ ก็จัดการได้ เพราะมีงบประมาณเยอะอยู่แล้ว เป็นความเห็นของป้าแปลก หนูบูรณ์

“ล่าสุด เรายอมถอยขอที่ดินทำกินแค่ 300 ไร่ แต่เขาจะให้เราแค่ 200 กว่าไร่ ที่ดินอีก 600 กว่า มหาวิทยาลัยฯ จะเอาไปใช้ทั้งหมด แถมยังไม่เคยพูดถึงเรื่องการดูแลชาวบ้านเลย ให้ค่าผลอาสินเฉพาะที่มีต้นไม้ ขณะที่คนส่วนใหญ่อาชีพทำนา ไม่ได้อะไรเลย”

นี่คือ ชะตาชีวิตชาวพัทลุง ในอุ้งมือมหาวิทยาลัย

ถึงแม้มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง จะเปิดเรียนมาแล้วหลายปี แต่ปัญหามหาวิทยาลัยฯ รุกที่ดินทำกินของชาวบ้านก็ยังไม่จบ เช่นเดียวกับที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสระ บ้านไสกลิ้ง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

สถานการณ์ล่าสุด ยังคงมีผู้อาศัยทำกินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เคยเข้ามารังวัดเตรียมจะออกเอกสาร สปก. 4 – 01 ให้แล้ว เมื่อตอนต้นปี 2537

ทว่า ช่วงปลายปี 2537 มหาวิทยาลัยทักษิณ ก็เข้ามาประกาศอาณาเขตของมหาวิทยาลัยฯ ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม เลยไปทับเอาที่ดินของชาวบ้าน 27 ราย รวมเนื้อที่ 300 ไร่ ที่กำลังจะได้ สปก. 4 – 01 ไปด้วย

ลุงเยื้อน ทองหนูนุ้ย เล่าให้ฟังว่า ที่ดินผืนนี้ เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะเต่าคลองเรียน ที่ทางกรมป่าไม้เพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นำมาปฏิรูปให้ชาวบ้านทำกิน

ปัญหาเกิดขึ้น ตั้งแต่ตอนสำรวจพื้นที่ เพราะทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งต้องการพื้นที่ 3,500 ไร่ ยึดถนนศรีไสวด้านหลังของมหาวิทยาลัยฯ เป็นแนวเขต ส่งผลให้ครอบคลุมไปทับที่ดินในเขต สปก. กินพื้นที่ของชาวบ้านไป 300 ไร

ขณะที่ที่ดินในพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ซึ่งก่อนหน้าที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จะเข้ามายึด มีชาวบ้านทำกินอยู่ก่อนแล้ว จนบัดนี้ยังคงมีชาวบ้านบางส่วนเข้าไปทำประโยชน์อยู่

ทว่า เกือบทั้งหมดยอมถอย หลังจากต่อสู้ยืดเยื้อ กระทั่งมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายอยู่ระยะหนึ่ง

มหาวิทยาลัยทักษิณยินยอมจ่ายค่าผลอาสิน เฉพาะที่เป็นไม้ยืนต้น พร้อมกับสร้างหมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนา บนที่ดินที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ยึดมาจากชาวบ้านให้อยู่อาศัย ผู้ที่ได้รับสิทธินี้ จะต้องมีบ้านเลขที่ อยู่ในที่ดินที่ทางมหาวิทยาลัยทักษิณยึดมา โดยจัดสรรที่ดินให้หลังละ 2 ไร่

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยทักษิณ มีผู้อยู่ในเกณฑ์จะได้รับจัดสรรที่ดินในหมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนาประมาณ 90 ครอบครัว

เป็นครอบครัว ที่อยู่อาศัยในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย 60 กว่าครอบครัว และชาวบ้านในที่ดิน สปก. อีก 27 ครอบครัว

ขณะที่ชาวบ้านในเขต สปก. ไม่ยอมรับเงื่อนไขของทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ก็ยอมจำนน

ปัญหาใหม่ที่สอดแทรกเข้ามาในช่วงนี้ ก็คือ ที่ดินที่จะนำมาพัฒนาเป็น “หมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนา” นั้น ส่วนหนึ่งติดอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ที่บัดนี้ตกเป็นของมหาวิทยาลัยทักษิณไปแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่ติดอยู่ในที่ดิน สปก. ที่ชาวบ้านกำลังยืนยันสิทธิ์นี้อยู่

ส่งผลให้พื้นที่หมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนา ในส่วนที่ติดในเขต สปก. มีชาวบ้านเพียงรายเดียว ที่ถูกไล่มาจากที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ยินยอมใช้สิทธิรับเอาที่ดิน 2 ไร่ จากมหาวิทยาลัยฯ และบัดนี้นำไปขายต่อให้กับบุคคลภายนอกไปแล้ว ตอนนี้ผู้ซื้อที่ดินแปลงนี้ สร้างบ้านพักหลังงามบนพื้นที่นี้แล้ว

นั่นหมายถึงว่า ปัญหาใหม่กำลังจะเกิดตามมา เมื่อถึงคราวที่เจ้าของเดิมนำที่ดินแปลงนี้ ไปออกเอกสาร สปก. 4 – 01 ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ ภายหลังกระทรวงมหาดไทยออกหนังสือสำคัญที่หลวง ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย โดยแยกที่ดิน สปก. ออกจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ให้ชัดเจน ในเร็วๆ นี้

ด้วยความสับสนวุ่นวายดังกล่าว จึงแทบจะกล่าวได้ว่า บัดนี้มีผู้ใช้สิทธิ์รับที่ดิน 2 ไร่ ในพื้นที่หมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนา เฉพาะในฟากที่อยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งลานโยประมาณ 30 ราย เท่านั้น

ขณะที่อีก 30 กว่าราย ไม่กล้าใช้สิทธิ์รับที่ดิน 2 ไร่ ในฝั่งที่ทับซ้อนกันอยู่กับที่ดิน สปก.

มิพักพูดถึงผู้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ สปก. 27 ราย ที่ไม่ใช้สิทธิ์นี้อยู่แล้ว

ชายหนุ่ม ผู้ยอมรื้อถอนบ้าน มาใช้สิทธิ์รับที่ดิน 2 ไร่ ในหมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนาบอกว่า หลังจากย้ายเข้ามา ทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ไม่ได้เข้ามาดูแลอะไรเลย เส้นทางสัญจร มีแต่ถนนดินแดง ถึงหน้าฝนทีก็เละเป็นโคลน พอฝนหยุดตกฝุ่นก็ฟุ้งกระจาย คนที่เข้าไปทำงานในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นได้แค่ลูกจ้าง ในตำแหน่งแม่บ้าน คนสวน และยาม
 

จากสภาพดังกล่าว ส่งผลให้ล่าสุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยุติการก่อสร้างใด ๆ ทั้งในพื้นที่ตำบลพนางตุง และตำบลบ้านพร้าว จนกว่าจะขอใช้พื้นที่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ให้มหาวิทยาลัยฯ ก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ในตำบลพนางตุง เฉพาะพื้นที่ที่ก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลตำบลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสระต่อไป และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตำบลบ้านพร้าวให้กับราษฎร ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน พร้อมทั้งชดเชยค่าเสียสิทธิประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ตามระยะเวลาที่ไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ จริงตามความเหมาะสม ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

พร้อมกับให้กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบระเบียบและแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยทักษิณมีสถานะเป็นทบวงการเมือง ตามมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ เพื่อกำหนดขั้นตอนที่ถูกต้องในการขอใช้ประโยชน์จากที่ดินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

ชะตากรรมของชาวบ้านทั้ง 2 พื้นที่ จึงยังคงต้องรอดูผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท