Skip to main content
sharethis
 
  
ไม่ว่าใครจะมอง “กองทุนพัฒนาชุมชนรองโรงไฟฟ้า” อย่างไร มันก็ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ปัจจุบันมีกองทุนที่ดำเนินการแล้วทั้งหมด 72 กองทุนทั่วประเทศ
  

กฟผ. เก็บเงินจากค่า Ft
 
ล้านบาท
หมายเหตุ
 
ก.ค.-ธ.ค.50  (6 เดือน)
 
887.60
 
ค่า Ft เฉลี่ย 0.017 บาท/หน่วย
 
ม.ค.-ธ.ค.51 (12 เดือน)
 
1,778.19
 
ค่า Ft เฉลี่ย 0.0126 บาท/หน่วย
 
ม.ค.-มี.ค.52 (3 เดือน)
 
425.26
 
ค่า Ft เฉลี่ย 0.0129 บาท/หน่วย
 
ก.ค.50-มี.ค.52 (21 เดือน)
 
3,091.06
 
ค่า Ft เฉลี่ย 0.0126 บาท/หน่วย
 
โอนเงินให้กองทุนที่จัดตั้งแล้วเสร็จ
 
 
2,497.23
 
2,497.26
 
เฉพาะเงินต้น
 
รวมดอกเบี้ย หักภาษี1%และค่าโอน
ที่มา: http://www.eppo.go.th/cdf/data_name_list.html  เมื่อเดือนกรกฎาคม2552
 
 
พูดง่ายๆ ว่า ยิ่งโรงไฟฟ้ามีขนาดใหญ่ ขายไฟให้ กฟผ.ได้เยอะ เงินในกองทุนก็ยิ่งมาก  
 
 
กรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงนับเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2,400 เมกกะวัตต์ และเป็นกองทุนฯ ที่มีเงินก้อนโตที่สุดเช่นกัน โดยเฉลี่ยแล้วมีเงินเข้ากองทุนถึงปีละราว 300 ล้านบาท
 
5 อันดับกองทุนฯ ที่ใหญ่ที่สุด ยอดเงินนำส่งในช่วงเดือน ก.ค.50 – มี.ค.52
 
ลำปาง
กองทุนฯ จังหวัดลำปาง
577,834,111.48
ระยอง
กองทุนฯ นิคมฯมาบตาพุด
   452,014,249.10
ราชบุรี 
กองทุนฯ บ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จก. และ บ. ราชบุรีเพาเวอร์ จก.
366,855,684.16
ฉะเชิงเทรา
กองทุนฯ บางปะกง
186,936,477.24
 อยุธยา 
กองทุนฯ วังน้อย
172,967,605.65
ที่มา: http://www.eppo.go.th/cdf/data_name_list.html  เมื่อเดือนกรกฎาคม2552
 
 
กองทุนฯ นี้เพิ่งก่อตั้งมาได้ปีกว่าๆ ขณะที่โรงไฟฟ้าก่อตั้งมาแล้ว 30 กว่าปี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ก่อนหน้าที่จะมีความพยายามประนีประนอมระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับโรงไฟฟ้าในรูปของเงินกองทุนมาบ้างแล้ว เช่น ราวปี 2541 หลังสิทธิของประชาชนและชุมชนได้รับการรองรับในรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ก่อตัวชัด ทำให้โรงไฟฟ้าต้องตอบสนองความต้องการดังกล่าวโดยตั้งกองทุนและให้เงินอุดหนุนปีละ 50 ล้านบาท ต่อมาปี 2548 ได้มีการเปลี่ยนเป็นสมาคมพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร
 
อนุพงษ์ สุริยวงศ์ ชาวบ้านที่นั่นเล่าว่า การใช้เงินในกองทุนค่อนข้างเป็นไปอย่างจับฉ่าย แม้จะเน้นที่การส่งเสริมอาชีพและให้ประชาชนกู้ปีต่อปี คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 เมื่อมีการแปรสภาพเป็นสมาคมก็ได้กำหนดให้ชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิก และเสียค่าบำรุงสมาคมรายปีอีก โดยที่กรรมการนั้นได้รับการเลือกตั้งเพียงปีแรกปีเดียวและต่อมาไม่มีการเลือกตั้งอีกเลย
 
ความยืดหยุ่นในการจัดโครงสร้าง-สรรหากรรมการกองทุน
 
อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2550 มีการตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีคณะกรรมการ 19 คน ตามระเบียบการจัดตั้งกองทุนกำหนดไว้ว่า กรรมการภาคประชาชนต้องมากกว่ากึ่งหนึ่ง ภาคประชาชนจึงมีกรรมการ 10 คน เป็นของอำเภอแม่เมาะ 7 คน อำเภอแม่ทะ 1 คน อำเภอเมือง 1 คน และที่เหลืออีก 10อำเภอคัดสรรกันมาอีก 1 คน
 
การได้มาของกรรมการภาคประชาชน 7 คนในอำเภอแม่เมาะนั้นได้มาจากการตั้งกรรมการสรรหาของแต่ละตำบล ซึ่งมีอยู่ 5 ตำบล โดยมีผู้นำชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบลนั้นๆ เป็นกรรมการสรรหา ส่วนวิธีการสรรหาก็ค่อนข้างยืดหยุ่นสูง แล้วแต่วิธีการของแต่ละพื้นที่ ส่วนที่เหลืออีก 2 คน คนหนึ่งมาจากกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอ เช่น กลุ่ม อสม. กลุ่มอาชีพ ตัวแทนทั้งหมดมาประชุมกันแล้วเลือกตัวแทนกลุ่มมา 1 คน อีกคนหนึ่งจะมาจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านของอำเภอ
 
ขณะที่คณะกรรมการภาครัฐ มีนายอำเภอ 1 คน ซึ่งได้รับเลือกเป็นเหรัญญิกด้วย ปลัดอำเภอ 1 คน พัฒนาการจังหวัด 1 คน พลังงานจังหวัด 1 คน ซึ่งเป็นเลขานุการด้วย ผู้แทน กฟผ.  1 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วย ที่เหลือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมาจากการสรรหาของคณะกรรมการภาคประชาชนนั่นเอง และทั้งหมดนี้คัดสรรประธานกันเองซึ่งก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
 
เสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอแม่เมาะระบุว่า เมื่อกระทรวงพลังงานให้งบประมาณลงมา ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนใหญ่ 70% หรือราว 200 ล้านบาทจะมาอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ อีก 30% หรือราว 100 ล้านบาทจะลงไปตามอำเภอต่างๆ รอบนอก
 
ในการจัดการกองทุนแม่เมาะ จะมีอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการและแผนงานของกองทุน โดยมีนายอำเภอเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการชุดนี้ เรียกว่าเป็น “ชุดใหญ่” ของระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ส่วนในระดับตำบลก็มีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของตำบล ในระดับหมู่บ้านก็ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการชุมชน ที่จะจัดทำประชาคมหมู่บ้าน แผนชุมชน เพื่อนำเสนอโครงการต่างๆ เข้าสู่คณะกรรมการตำบล และคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป
 
“ดังนั้น ของแม่เมาะนี้แบ่งเป็นหลายชั้น โครงการต่างๆ จึงมาจากระดับหมู่บ้านจริงๆ ทางราชการ หน่วยงานต่างๆ มีหน้าที่เพียงแค่ประคับประคองให้ดำเนินการกันไปตามระเบียบ วัตถุประสงค์ของกองทุนให้ได้ ส่วนการจัดการอยู่ที่หมู่บ้านทั้ง 42 แห่ง ซึ่งจะต้องจัดทำแผนโครงการขึ้นมา”
 
“เชื่อไหมว่างบเราแต่ละปีมีแค่ประมาณ 200 ล้าน แต่ช่วงจัดทำแผนแต่ละหมู่บ้านที่เสนอระดับตำบล แล้วเอาเข้าแผนรวมของอำเภอ งบประมาณรวม 2,000 กว่าล้าน ต้องคัดสรรให้เหลือ 200 ล้าน มันยากที่จะไปกระจายให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ผมคิดว่าไม่เกิน 5 ปีก็น่าจะลงตัว” นายอำเภอแม่เมาะกล่าว
 
สำหรับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีแรกที่มีกองทุน นายอำเภอระบุว่า มีลักษณะ “มั่ว” พอสมควร เพราะไม่มีแผน มีเพียงแนวทางกว้างๆ แล้วต่างคนก็ต่างเสนอมา
 
“แต่ประเมินแล้วก็เห็นว่าเป็นความต้องการของประชาชนจริงๆ จะถูกจะผิดยังไงก็แล้วแต่เขาจะบริหาร”
 
เสริมศักดิ์ระบุว่า ปีนี้ทางอำเภอมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอไว้ และได้ประสานกับคณะกรรมการกองทุน ให้ใช้แนวทางของแผนการนี้ในจัดการกองทุนมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการทำงานจะได้มีกรอบ ทิศทาง ที่ถูกต้อง โดยให้ประชุมประชาคม แล้วรวบรวมเป็นแผนงานเสียก่อน รวมทั้งทำการประมาณการคร่าวๆ งบประมาณเอาไว้
 
สารพันโครงการ 2,000 ล้าน คัดเหลือ 200 ล้าน
 
แผนดังกล่าวมีการกำหนดลักษณะโครงการที่จะดำเนินการไว้ว่า โครงการต้องสอดคล้องตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนฯ คือ ให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนในเรื่องดังต่อไปนี้
1)    สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ
2)    สนับสนุนการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา และดนตรี
3)    สนับสนุนการสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
4)    สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต
5)    บรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้า
6)    อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
 
“เราคำนวณว่าปีหนึ่งจะมีกองทุนตกมาที่อำเภอจริงๆ โดยประมาณ 200 ล้าน เราก็เอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง แล้วจัดสรรงบประมาณในพื้นที่อำเภอต่างๆ ให้เขานำเสนอแนวทาง เอาศักยภาพของหมู่บ้าน ปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้ง มาทำเป็นแผน แล้วนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ โดยเน้นในเรื่องของปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนยังขาด เช่น แหล่งน้ำ ถนน สุดท้ายดูปัญหาที่กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยที่เรียกร้องให้ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ” นายอำเภอแม่เมาะกล่าว
 
เขาบอกด้วยว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีการเร่งรัดการจัดทำแผนของชุมชนอยู่ก่อนแล้ว จึงโชคดีได้เอาแผนของชุมชนมารวมกัน โครงการไหนที่ดูล้าสมัยไปแล้วก็ประชุมประชาคมกันใหม่ ใช้เวลาเกือบ 3-4 เดือนจึงนำมารวมกันเป็นเล่มใหญ่ (ขนาดน้องๆ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542)
 
ถ้าดูสถิติปีที่แล้วจะเห็นว่าโครงการส่วนใหญ่มุ่งไปในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในปีนี้ก็เช่นกันนายอำเภอระบุว่าถึงอันดับโครงการยอดฮิตที่ถูกนำเสนอในแผนรวม 3 ปี ของอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ว่าคือ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากร การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาศักยภาพขององค์กรของรัฐ  การพัฒนาศักยภาพของประชาชน การแก้ปัญหายาเสพติด การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาศึกษา ฯลฯ
 
ที่เป็นเช่นนี้ นายอำเภอให้เหตุผลว่า ไม่ว่าอย่างไรเรื่องอาชีพ เรื่องเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่ยังขาดแคลนกันในหลายพื้นที่ และเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากที่สุด
 
“งบประมาณมันไม่เคยตกมาในพื้นที่หมู่บ้าน เช่น แม่สร้าง บ้านกลาง ถึงเวลาหน้าฝนทีเขาเข้าอำเภอไม่ได้ เขาก็อยากให้ทำที่มันจำเป็นเร่งด่วนก่อน งบประมาณอย่าว่าแต่ 200 ล้านเลยในระดับอำเภอ ต่อให้เป็นพันล้านก็ไม่พอ ปีสองปีที่จะถึงนี้ งบประมาณที่จะลงโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่า แหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ การขุดลอก การดูแลทรัพยากร ถนนหนทาง งบประมาณมีเท่าไรก็ไม่พอ เพราะมันขาดอีกเยอะเท่าที่ทำกันมา แต่ถ้าจะลงตรงนั้นไปหมด เรื่องอื่นๆ จะทำอย่างไร เช่น การศึกษา สาธารณสุข ดังนั้น เราก็ต้องลงพร้อมกันทุกด้าน แล้วจัดลำดับว่าแต่ละด้านอันไหนสำคัญกว่ากัน”
 
“ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้า แม่เมาะเป็นเมืองผลิตไฟฟ้าแต่จ่ายเงินเท่าคนอื่นทุกอย่าง เขาก็เรียกร้องว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่แหล่งผลิตไฟฟ้า ทำไมจ่ายเงินเท่าคนอื่น เราก็ต้องเอาเงินตรงนี้จัดสรรลงไปทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท” เขากล่าว

แผนปฏิบัติการปี 2552-2554 ที่ตำบลสบป้าดเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ
 
ลำดับ
ประเภทแผนงาน
จำนวนโครงการ
งบประมาณ 3 ปี / ล้านบาท
 
1
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
204
279.62
2
ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ
100
80.67
3
ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
96
73.22
4
ด้านการพัฒนาอาชีพ
192
67.02
5
ด้านศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี
80
48.47
6
ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรฯ
32
31.16
7
ด้านการศึกษา
90
23.18
8
ด้านสาธารณสุข
103
23.24
9
ด้านกีฬา และดนตรี
32
15.11
10
ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
15
6.14
11
ด้านอื่นๆ
18
4.24
12
ด้านบรรเทาสาธารณภัย
3
3.00
13
ด้านการเพิ่มศักยภาพองค์กรภาครัฐ
-
-
14
ด้านการเพิ่มศักยภาพองค์กรภาคประชาชน
-
-
15
ด้านการจัดทำผังเมืองรวมชุมชน
-
-
16
ด้านพลังงานหมุนเวียน
-
-
ที่มา: สรุปแผนปฏิบัติการปี 2552-2554 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจังหวัดลำปาง อำเภอแม่เมาะ
 
 
เมื่อถามว่า ทำไมการเยียวยาผู้ป่วย ผู้ได้รับผลกระทบจึงอยู่ลำดับท้ายๆ นายอำเภอแม่เมาะตอบว่า เรื่องนี้ต่างคนก็ต่างคิดเห็น หากถามกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก็มักได้คำท้วงติงเช่นนี้
 
“ถ้าถามคนส่วนใหญ่คนบ้านดง จางเหนือ นาสัก เขาบอกเขาคนแม่เมาะเหมือนกันก็มีสิทธิมีส่วนเหมือนกัน ในขณะที่เขาก็เรียกร้องอพยพ เขายังไม่ได้นะ ทำไมคนบางส่วนได้รับการอพยพแล้ว ต้องดูแลกันต่อเนื่องกันไม่รู้จักจบจักสิ้นหรืออย่างไร  เราหน่วยงานกลางก็ต้องกระจายให้เท่าเทียมกัน”
 
สำหรับความกังวลว่าจะซ้ำซ้อนกับบทบาทขององค์กรปกครองส่าวนท้องถิ่นนั้น นายอำเภอฟันธงว่า ตัดทิ้งไปได้ “ท้องถิ่นไม่มีตังค์เลย อบต.ลึกๆ ข้างใน ถนนยังไม่มีปัญญาสร้างเลย มีก็น้อย แล้วที่สำคัญคือ กองทุนฯ กับ อปท. ต้องเอาแผนทั้งหมดมารวมกัน แล้วแยกสัดส่วนกันไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน”
 
ในด้านการตรวจสอบ แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับที่นายอำเภอส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล  2.มีฝ่ายตรวจสอบภายใน โดยขอผู้มีความชำนาญจากภาครัฐมาช่วย 3.มีผู้ตรวจบัญชี โดยจ้างมืออาชีพเข้ามาตามมาตรฐาน ทั้งหมดเป็นหน่วยงานอิสระไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการกองทุน ส่วนการบริหารจัดการภายใน ซึ่งนายอำเภอยืนยันว่าได้ตั้งคณะทำงานควบคู่ขึ้นมาด้วย เป็นคณะทำงานกำกับดูแลติดตามและให้การสนับสนุนอนุกรรมการระดับตำบลด้วย โดยในปีนี้นายอำเภอจะออกมาเป็นฝ่ายตรวจสอบ กำกับดูแลอย่างชัดเจน ผิดจากปีที่แล้วซึ่งนายอำเภอลงไปทำงานร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาโครงการด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของกรรมการกองทุนคนหนึ่งที่เป็นภาครัฐ เขาได้ประเมินกองทุนไว้ว่า ในด้านของจุดแข็งคือเม็ดเงินที่เข้ามาเยอะพอสมควร และยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาบริหารจัดการอย่างสะดวก
 
ในขณะที่จุดอ่อน คือ การที่ระเบียบยังไม่ชัด ต่างคนก็ต่างมุ่งมากองทุนโดยไม่มองส่วนอื่นๆ เลย ยกตัวอย่าง เช่น ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะสะดวกกว่าภาคราชการเยอะ แต่ก็มีโอกาสที่ภาคประชาชนที่บริหารเงินกันเองจะพลาดได้ ทางอำเภอจึงแก้ไขโดยให้ใช้ระเบียบการพัสดุเพื่อความถูกต้อง โปร่งใส แม้จะได้รับเสียงโวยจากประชาชนว่า ราชการเข้ามาควบคุมอีกแล้ว!
 
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนในมุมมองของนายอำเภอแม่เมาะ คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ของการจัดทำแผนอย่างชัดเจน ในพื้นที่แม่เมาะเพิ่งเอาจุดอ่อนมาจัดทำแผนปีนี้ให้มีทิศทางการใช้งบประมาณมากขึ้น ส่วนการสรรหากรรมการอาจมีข้อบกพร่องบ้าง ตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกองทุนจึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการมาปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับของกองทุนให้ชัดเจนขึ้น โดยกำลังดำเนินการอยู่ เช่น เรื่องที่มาคณะกรรมการกองทุน จะให้เป็นอย่างไร ให้เป็นการเลือกตั้งทั้งหมดไหม หรือจะเป็นคณะกรรมการสรรหาแบบการสรรหาองค์กรอิสระ
 
ท้ายสุดคือ การประชาสัมพันธ์นี่อ่อนมากทั้งกับประชาชนในพื้นที่และกับสังคมโดยรวม
 
---------
 
ทั้งหมดนี้คือมุมมองของนายอำเภอแม่เมาะที่เข้าไปมีบทบาทในการจัดระบบเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างสำคัญ ในตอนหน้าเราจะมาฟังเสียงคนในพื้นที่แม่เมาะจากมุมต่างๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาการเข้าถึง รับรู้เรื่องราวของกองทุนที่แตกต่างกันไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net