Skip to main content
sharethis

วันนี้ (16 ก.ค.2552) ที่อาคารรัฐสภา 3 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) พร้อมเครือข่ายสื่อภาคประชาชนในท้องถิ่น นัดเข้ามอบเอกสารที่มาของการจัดสรรคลื่นให้กับภาคประชาชน 20% ตาม ก.ม.คลื่นความถี่ ปี 2543 ให้กับประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ….

สืบเนื่องจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …. ของคณะกรรมาธิการวิสามัญในขณะนี้ อยู่ในวาระพิจารณาแนวทางว่าด้วยการจัดทำแผนแม่บท ในหมวด 3 ซึ่งภาคประชาชนได้เรียกร้องให้คงสาระในบทบัญญัติเดิมตามมาตรา 26 ของกฎหมายฉบับปี 2543 ซึ่งกำหนดว่าการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับภาคประชาชนได้ใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ และต้องจัดให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัดและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในท้องถิ่น รวมถึงการอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต้องครอบคลุมเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

นายสุเทพ  วิไลเลิศ เลขาธิการ  คปส. กล่าวว่า “เอกสารที่ยื่นให้กับกรรมาธิการวิสามัญ คือ แผนพัฒนาสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคม เพื่อการพัฒนาคนและสังคม จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดให้องค์กรอิสระต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบในกฎหมายปี 2543  และรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้เพียงแต่การยุบรวมองค์กรอิสระ ดังนั้น กมธ.จึงต้องยืนยันหลักประกันในสิทธิการสื่อสารของประชาชน โดยต้องกำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบเช่นเดิม”

ทั้งนี้ ระหว่างการยื่นหนังสือ ตัวแทนจากเครือข่ายสื่อภาคประชาชนได้เตรียมมอบหน้ากากอนามัยระบุข้อความ “คลื่นความถี่ของประชาชน 20% ต้องคงอยู่” ให้แก่ประธาน กมธ.วิสามัญฯ เพื่อแจกให้กับคณะกรรมาธิการและเจ้าหน้าที่สภาสวมระหว่างการประชุม เนื่องจากเห็นว่าสื่อของรัฐและเอกชนในขณะนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้กับประชาชนได้รับรู้และสามารถป้องกันตนเองได้ จึงเกรงว่ากรรมาธิการจะเจ็บป่วยเนื่องจากติดเชื้อโรคชนิดดังกล่าว

ด้านนายพรพิพัฒน์  วัดอักษร ตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชน จากชุมชนบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “สื่อของรัฐและสื่อของเอกชนในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองประชาชนในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้ เช่นกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 สื่อของรัฐไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเพียงพอ และเอกชนที่ได้สัมปทานวิทยุโทรทัศน์ก็เอาเวลาไปมุ่งหากำไรมากกว่า ประชาชนจึงไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องไว้ป้องกันตัวเองจากโรคระบาด”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net