สัมภาษณ์ ‘โถ่เรบอ’ นักเขียนเรื่องสั้นปวาเก่อญอ : วิถีชนเผ่า ความฝัน เอ็นจีโอ ครูดอย และ ‘เชวาตัวสุดท้าย’

‘โถ่เรบอ’ นักเขียนเรื่องสั้นปวาเก่อญอ เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียนปี 2550 กับมุมมองความคิดของเขาที่สนทนาว่าด้วยเรื่องวิถีชนเผ่า ความฝัน เอ็นจีโอ ครูดอย และ ‘เชวาตัวสุดท้าย’ 

 

 
 
“ยุคนี้ มันเหมือนกับว่าเราจะต้องมีความรู้อีกด้านหนึ่ง คือความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณ
การเป็นอยู่ การใช้ชีวิต กลายเป็นเรื่องสำคัญ
ณ วันนี้ แม้แต่ตัวผมก็ยังทำไม่ได้เลย
คือเหมือนเราต้องตามให้เท่าทันโลกของทุนนิยม
 
“ผมชัดเจนในการเมืองของประชาชน...
คือเริ่มเห็นความสำคัญแล้วว่า การเมืองมันต้องมาจากประชาชน โดยประชาชนจริงๆ
 
“คือความคิดของผม มองว่า...คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเอ็นจีโอ
คือเป็นอะไรก็ได้ คืออย่างเราอยู่แบบชาวบ้าน
เราจะต้องทันโลก ทันใครก็ได้ที่เข้ามา
ถ้าจะเข้ามาเอาเปรียบ เราจะต้องทัน
 
“เรื่องเป่าปี่เขาควาย ตอนเด็กช่วงหน้าหนาวก่อนจะเกี่ยวข้าว
แล้วในลายที่เขาควายแต่ละเสียง คนจะเป่าต้องฝึก
เป็นการบอกโมงยาม บอกเวลา บอกทิศทาง ซึ่ง ณ วันนี้มันไม่มีแล้ว
แต่ละคนก็โหยหา เนื่องจากว่า ณ วันนี้ไปไร่ไปนา ไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์กันแล้ว
 
 

 
...ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่ารูปแบบวรรณกรรมได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และวันเวลาที่แปรเปลี่ยน รวมถึงสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงก็นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมที่แสดงถึงความเป็นท้องถิ่นมีความเป็นสากลมากขึ้น และถูกรับใช้โดยเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ที่อยู่ในสังคมนั้น โดยปัจจุบันรูปแบบที่จะพบเห็นมากที่สุดคือ “เรื่องสั้น” (Short story)ซึ่งเป็นรูปแบบวรรณกรรมทางตะวันตกที่ได้รับการปรุงแต่งอย่างพอเหมาะจากนักเขียน ในการสื่อเรื่องราวในสังคมของตนให้คนนอกสังคมได้เข้าถึงและเข้าใจมากยิ่งขึ้น
 
“นกกระเต็นสีเหลือง”หรือ“โถ่เรบอ” เป็นนามปากกาของ ‘สมศักดิ์ สุริยมณฑล’ นักเขียนสายเลือด ปวาเก่อญอ ผู้มีผลงานผ่านตาตามหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์มานานพอควร แต่ ‘เชวาตัวสุดท้าย’ เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของนักเขียนหนุ่มผู้นี้ ‘โถ่เรบอ’ ได้ใช้ ‘เรื่องสั้น’ ในการสื่อสะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวปวาเก่อญอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของคนภูเขาที่คนพื้นราบเข้าใจผิดในหลากหลายเรื่องนั้น แท้จริงเป็นเช่นไร โดยผ่าน 10 เรื่องสั้น และอีก 1 ความรู้สึกของนักเขียนรุ่นใหญ่ “แสงดาว ศรัทธามั่น” ผู้เป็นแรงบันดาลใจของ “นกกระเต็นสีเหลือง” ที่ทำให้มือที่เคยจับจอบเสียมเปลี่ยนมาจับปากกาเขียนเรื่องราวชีวิตของตนให้สังคมโลกได้รู้จัก และเข้าใจวิถีชีวิตของชาวปวาเก่อญอมากขึ้น           
 
ในความเป็นเรื่องสั้นนั้น แต่ละเรื่องล้วนมีความเป็นอิสระในตัวเอง แต่ในหนังสือ ‘เชวาตัวสุดท้าย’ได้ร้อยเรียงแต่ละเรื่องสั้นให้ผู้อ่านค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมที่มีกระบวนการเป็นตัวของตัวเอง และมีลักษณะเป็นนามธรรมของชาวปกาเก่อญออย่างแท้จริงซึ่งเป็นแนวคิด (Theme) หลักของรวมเรื่องสั้นชุดนี้…
 
 
                                                                                                                      ‘พิณประภา ขันธวุธ’
 
บางตอนจาก รายงาน : "เชวาตัวสุดท้าย" ความขมขื่นอันรื่นรมย์ในความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริง
                                                  http://www.prachatai.com/journal/2008/01/15366
 
 
 
 
 
 
‘โถ่เรบอ’
 
 
 
 
 
-๑-
 
เด็กดอยกับความฝันเล็กๆ
 
เมื่อย้อนกลับไปดูฉากชีวิตของคุณในวัยเด็ก เหมือนกับเด็กดอยอีกหลายคนมั้ย กับความฝันอยากบินออกจากป่ามาอยู่ในเมือง?
ความใฝ่ฝันของผมจริง ๆ นี่มันออกอาการมาตั้งแต่ตอนเรียนหนังสืออยู่บนดอยแล้ว วิชาที่ผมชอบคือวิชาสังคมศึกษา ก็คิดดู เด็กบนดอย พอจบม.3 มาแบบช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไม่มีใครแนะนำ ตอนนั้น แม่ซื้อรถถีบให้คันหนึ่ง ผมก็รื้อออกมาซ่อม เดี๋ยวก็แกะ เดี๋ยวก็เสีย พี่เขาเห็นอาการแปลกๆ แบบนี้ก็เลยส่งไปเรียนช่างในเมืองเชียงใหม่
           
เรียนจบชั้นไหนเหรอ แล้วเคว้งกี่ปีถึงไปเรียนต่อ
จบ ปวส.แต่จบแล้วความมั่นใจมันไม่มีเลย ไม่รู้ว่าจะซ่อมรถ ซ่อมอะไร คือพอจบปุ๊บก็ไปสมัครทำงานเป็นช่างซ่อมรถอยู่ตามบริษัท แต่ก็มาคิดว่า เอ๊ะผมก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร แกะรถเสียเป็นคันๆ ซ่อมไม่ได้ ช่วงฝึกงานนี่บางทีก็อยู่บนดอย ความมั่นใจมันมีน้อยกว่าคนข้างล่างอยู่แล้ว ก็กลัวซ่อมรถเขาเสีย จะเอาเงินที่ไหนไปใช้คืนเขา ก็เลยไปสอบเรียนต่อที่ราชภัฎอุตรดิตถ์
 
ตอนนั้นคิดอยากจะเป็นครูเหรอ ?
ไม่ได้คิดอะไรนะ ก็เรียนตามแม่บอก เพราะแม่อยากให้เรียน ความคิดผู้ใหญ่อาจจะดี หวังดีกับลูก ก็เลยเรียน เรียนให้มันจบ
           
เรียนจบแล้วกลับมาเชียงใหม่เลย ?          
จบแล้วผมไปสกลนคร ไปเที่ยว แต่ช่วงที่ผมอยู่อุตรดิตถ์นี่ก็ดีนะ ได้เริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ก็อ่านมั่ว ยังไม่รู้ว่าอ่านยังไง ไปฝึกสอนอยู่ จ.น่าน ไปแถวบ่อเกลือ เสาร์อาทิตย์ก็ขี่รถเครื่องเที่ยวไป ก็ไม่รู้ ถ้ามองย้อนไปช่วงนั้น ปี 2535 ผมอาจจะตายช่วงพฤษภาทมิฬก็เป็นได้ เพราะจำได้ว่าผมเกือบนั่งรถไฟไปร่วมชุมนุมกับเขาเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่เชียงใหม่กลับมาเชียงใหม่แล้ว ไปเป็นเด็กอู่ซ่อมรถอยู่แถวสถานีรถไฟ
           
 
 
-๒-
 
เอ็นจีโอ-ชนเผ่า-เอ็นจีโอ-ชนเผ่า
 
           
แล้วมาเข้าทำงานกับเอ็นจีโอได้ยังไง ?
เริ่มตั้งแต่ไปเจอคนรู้จักกันชื่อบุญเพิ่ม ฤทัยกริ่ม เขาเคยทำงานร่วมกับอาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติในสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะนั้น แต่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ความคิดนี้ก็เริ่มมีมานิดๆ พอมาที่บ้านก็เริ่มมีปัญหาเรื่องป่าสนวัดจันทร์
           
ช่วงปัญหา ออป.จะตัดโค่นป่าสนวัดจันทร์นั้นคุณอยู่ที่ไหน ?
ผมอยู่เชียงใหม่แล้ว แต่ก็รับรู้เรื่องป่าสนวัดจันทร์มาตั้งแต่ยังเด็กแล้ว ตั้งแต่ถนนเข้ามาถึง ชาวบ้านเริ่มประชุมกันแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นฟังคำไทย ภาษาไทยรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ไปล้อมวงฟังชาวบ้าน เด็กๆไปกันหมด แต่รุ่นคนเฒ่าคนแก่ในยุคนั้นนี่สู้กันดุเดือด พูดไทยก็ไม่ได้ พูดคำเมืองก็ไม่ได้ ถกเถียงกันอย่างเครียดเลยแหละ
 
ตอนนั้นเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาข่มขู่ด้วยหรือเปล่า?
ข่มขู่สิ จำได้ตอนเป็นเด็ก ที่โบสถ์บ้านหนองเจ็ดหน่วย มีการเถียงกันไปเถียงกันมา ไม่รู้จะลงเอยยังไง ชาวบ้านจึงพากันปิดถนน เพราะถนนก็เพิ่งมีมาถึง ก็ไม่ให้ตัดไม้สน ตัดทำไม ไม่ให้ทำ ก็ปิดถนน ปิดโรงเรียน พ่อเฒ่าคนหนึ่งก็บอกปิดก็ปิดสิ
           
การเข้ามาอยู่ในเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ตอนนั้นได้ทำอะไร เคลื่อนไหวอะไรบ้าง ?
ก็มีประสบการณ์เพียบเลย ที่จริงที่ผมย้ายมาอยู่ คกน.ช่วงที่ไปเป็นอาสาสมัครอยู่กับพี่สมบัติ (บุญคำเยือง) ได้อะไรหลายอย่างเลยนะ อัดความคิดให้แต่ละอย่างนี่หลายคนรับไม่ได้ก็เป๋ไปเหมือนกัน แต่เรากลับชอบความคิดแบบนี้ เหมือนที่เราใฝ่ฝันมานาน สิ่งที่เคยคิดที่เคยอัดอั้นอยู่ในสมอง พอไปอยู่กับเขาได้วิเคราะห์สังคม วิเคราะห์แต่ละอย่าง และหนังสือแต่ละเล่มที่แกให้อ่าน หนังสือมันก็พูดถูกอย่างที่เราเคยคิดไว้ เคยรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้ หนังสือก็พูดถูก ก็เลยคิดว่าน่าจะมาทำงานร่วมกับ คกน. แล้วก็อาจจะเป็นเพราะจังหวะเหมาะด้วย จังหวะสถานการณ์ชาวบ้านกำลังเคลื่อนไหว
 
ชาวบ้านเคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรหรือ ?
อพยพไง รัฐจะอพยพคนออกจากป่า จะไล่คนออกจากป่า ชาวบ้านจึงเริ่มมีการเคลื่อนไหว ครั้งแรก น่าจะประมาณ ปี 2537 ตอนนั้นยังเรียนอยู่ พอกลับมาตื่นเต้นมาก ถามตัวเองว่าทำไมชาวบ้านถึงมากันเยอะขนาดนี้ แต่ไม่แน่ใจนะ ก็เลยขี่รถไปหาพี่สาว พี่สาวก็บอกว่า “มึงนี่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ชาวบ้านเขาเดือดร้อนจะตายกันแล้ว” มันก็เหมือนมีเชื้อไฟอยู่ข้างในอยู่แล้วนิดๆ ก็ตัดสินใจไปอยู่ร่วมกับ คกน.(เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ) อยู่ คกน. ตอนนั้น สนุกนะ มีการทำงานรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ คือทำเหมือนกับเป็นกิจกรรมเลย 
 
แสดงว่าตอนนั้น ความคิดเรื่องสังคม การเมืองเริ่มชัดแล้ว ?
ชัดเจน ผมชัดเจนในการเมืองของประชาชน เพราะระบบมันไม่ได้อิงพรรค เข้าใจ คือพรรคการเมืองมันก็อีกอย่างหนึ่ง ก็เลยชัดเจน คือเริ่มเห็นความสำคัญแล้วว่า การเมืองมันต้องมาจากประชาชน โดยประชาชนจริงๆ ซึ่งในการที่ผมเข้าไปทำงานเคลื่อนไหวตรงนี้ ผมมองกลุ่มคนที่ทำงานกับชาวบ้าน เป็นความคาดหวัง ผมเข้าใจว่า กลุ่มนี้เป็นคนที่ปฏิวัติสังคม สามารถสู้เพื่อชาวบ้าน คนทุกข์คนยาก ผมเลยโดดเข้าไปทำเต็มที่เลย
 
ช่วงนั้น มองปัญหาความเลื่อมล้ำระหว่างชาติพันธ์กับสังคมไทยอย่างไรบ้าง ?
คือมันก็สะสมมาตั้งแต่เรียน คือศักดิ์ศรีของเรา ความจริงก็ไม่อยากใช้คำว่าศักดิ์ศรีหรอกนะ แต่ความเสมอภาคมันน่าจะมีในความเป็นคน ในเมื่อเราอยู่ในกลุ่มคน
 
พอมาอยู่ช่วงหลังๆ คุณมองเห็นภาพเอ็นจีโอเป็นยังไงบ้าง ?
ขัดแย้งสิ คือช่วงที่ผมไปอยู่ คกน.มันเหมือนกับเป็นช่วงที่กำลังจะขยับ คือในรุ่นผมเนี่ย คนที่เรียนหนังสือมันก็จะมีผมคนเดียวไง แล้วโดยวุฒิบัตรจะมีพร้อม มีหนังสือรับรอง ก็ขยับทำงานเป็นเอ็นจีโอเต็มตัว แต่พอมองเอ็นจีโอ ให้เป็นเอ็นจีโอ มันก็เริ่มรู้สึกไม่สนุกแล้ว
 
หมายความว่า เริ่มเห็นภาพความขัดแย้งกันเองอย่างนั้นใช่ไหม ว่าบ้างครั้งมันเข้าไปไม่ถึง ?
มันเป็นเรื่องของสำนึกไง สำนึกแบบถ้าจะเป็นเอ็นจีโอก็จะเหมือนกับเรา จะต้องลอยตัวออกไปจากชาวบ้านไปแล้ว ความเป็นอยู่วิถีชีวิตก็จะต้องเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง
 
กำลังจะบอกว่า ถ้าเป็นเอ็นจีโอจริง ต้องมาคลุกกับชาวบ้าน ไม่ใช่แยกส่วนแบบนี้เหรอ ?
คือความคิดของผม มองว่า วิถีชีวิตสองด้าน คือคุณไม่จำเป็นต้องเป็นเอ็นจีโอ คือเป็นอะไรก็ได้ คืออย่างเราอยู่แบบชาวบ้าน เราจะต้องทันโลก ทันใครก็ได้ที่เข้ามา ถ้าจะเข้ามาเอาเปรียบ เราจะต้องทัน
 
ความจริงช่วงนั้น ผมมีความคิดว่า ไม่จำเป็น ถ้าเกิดว่ามีกรณีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ไม่จำเป็นว่าชาวบ้านหรือว่าใครจะต้องไปแถลงข่าว คือทุกคนที่อยู่ในหมู่บ้านสามารถที่จะมีกำลังเพียงพอที่จะทำอะไรด้วยตัวของตัวเองก็ได้ อย่างเกิดเรื่องไม่เป็นธรรมอะไรขึ้นมา ก็สามารถรวมตัวกันขึ้นมา ต่อรอง ติดต่อ ประสานงาน จะแถลงข่าวสามารถติดต่อนักข่าวได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยนักวิชาการ เอ็นจีโอ มาออกนอกหน้า แล้วเอาชาวบ้านมายืนข้างหลัง ซึ่งชาวบ้านเราสามารถแม้แต่จะพบนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านสามารถบอกปัญหาด้วยตัวเองได้
 
เมื่อก่อนนี้ ผมก็เป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งเหมือนกันนะ อยู่บ้านก็จัดงาน เอานู้นเอานี่มาทำ คิดอีกที ผมเหนื่อยแทบตาย คนที่ได้นี่คือคนที่ขายของ เป้าหมายที่เราทำที่มันเหลือนี่ เราได้นิดเดียว เราเหนื่อย ดีไม่ดีคนที่ค้าขายนี่ค้านเราเสียด้วยซ้ำ ค้านแนวคิดเรา
 
อย่างการระดมพล ระดมชาวบ้าน ผมก็เลยคิดว่า การจะชุมนุมนี่ ผมก็มาแล้วนะ ชุมนุมในศาลากลางจังหวัด คนบนดอย อยู่บนดอยนี่ก็ทุกข์ยาก ลำบากกันอยู่แล้ว ใครลงมาก็พกตังค์มาคนละร้อยสองร้อย มองในแง่เศรษฐกิจต้องเอามาละลาย หลายครั้งแล้วที่ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม การเอาชาวบ้านมาชุมนุม สงสารชาวบ้านที่รวบรวมเงินกันลงมา บางทีความคิดผมแบบนี้ ก็สวนทาง คุยกับใครไม่ค่อยได้(สีหน้าเคร่งเครียด)
 
จุดนี้เลยทำให้เบื่อใช่มั้ย ?
มันก็เบื่อ หรืออะไรไม่รู้ ก็ดูแล้วมันไม่เป็นดั่งใจนะ
 
ก็เลยออกจากเอ็นจีโอ ?
ก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็คิดว่าอยู่ไปก็ไม่มีความสุข กลับไปบ้านดีกว่า ที่นาก็มีอยู่ห้าหกไร่ ไม่มีใครทำหลายปีแล้ว
           
 
-๓-
 
เมื่อนกป่าหวนคืนสู่ป่า กลับไปเป็นครูดอย
 
 
แล้วคิดยังไงถึงตัดสินไปเป็นครูดอย มีแรงบันดาลใจอะไร ?
ก็ไม่มีอะไร ก็ถ้าจะเป็นเอ็นจีโอ ก็ขี้เกียจ(หัวเราะ) คือผมมองว่าการศึกษาระบบ กศน.ที่ไปอยู่ในหมู่บ้านเนี่ย เรื่องหลักสูตรเรื่องอะไรพวกนี้จะกลายเป็นเรื่องรองไปเลยนะ แต่ตัวครูที่ไปอยู่นี่จะสำคัญกว่า คือชาวบ้านจะได้รับผล ได้มากได้น้อย ก็ขึ้นอยู่กับครู เพราะครูจะเป็นตัวกระตุ้น
           
หลักสูตรที่ใช้สอนเด็กบนดอยมันสอดคล้องกันไหม ยังอิงกับหลักสูตรส่วนกลางบ้างมั้ย ?
เป็นหลักสูตรที่ปรับปรุงแล้วนะ คือความยืดหยุ่นมันสูงไง จะอิงเฉพาะหลักสูตรมันไม่ได้ คือ กศน. อย่างที่ผมอยู่ในเขตพื้นที่ อ.แม่แจ่ม บางหมู่บ้านที่มันจะต้องดูแลเด็ก ผมอยู่กับเด็ก มันไม่สนุก ยังไงไม่รู้ คือมันไม่มีศูนย์เด็กเล็กไง ก็ต้องอยู่กับเด็กเล็ก ทิ้งก็ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องอยู่ แล้วงาน กศน.มันมีเยอะด้วยบางทีก็ลงไปข้างล่าง บางทีก็ขึ้นมา บางครั้งถ้าความรับผิดชอบของเรามันไม่มี มันก็จะโต๋เต๋ๆ
           
เคยมองไหมว่า การศึกษาที่เราเข้าไปส่งเสริม ไปสอนให้กับชุมชนบนดอยนั้น มันอาจกลายเป็นตัวเร่ง ตัวฉุดวิถีชีวิตของชาวบ้านให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ?
สังคมมันไปไวไง แม้แต่บนดอย ชาวบ้านคลื่นมือถือมีที่ไหน เขาก็รู้ มันโยงเป็นระบบเลย ที่ผมดูๆ นะ แล้วการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจ แล้วก็ในสังคมชุมชนระหว่างเมืองกับบนดอยมันเคลื่อนตัวไว แล้วถ้ามองเรื่องการศึกษา มันก็เหมือนกับว่า ชาวบ้านในเมื่อได้รับบทเรียนแล้วจะต้องย้อนกลับมาที่เก่าอีกครั้ง เหมือนละทิ้งสิ่งเก่าๆ ดั้งเดิม ละทิ้งวัฒนธรรมบางอย่าง คือเหมือนตามกระแสทุนนิยมอะไรที่เข้าไปซักพักหนึ่ง แต่ในที่สุด เมื่อเขาเห็นปัญหาแล้ว พวกเขาถึงจะกลับมา
           
ตอนนี้กระแสเริ่มกลับมาหรือยัง
มันก็ไม่เชิง แต่มันก็วน ๆ อยู่แถวนั้น อย่างเราเห็นป่าถูกทำลาย ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไง ยกตัวอย่างชาวบ้านทำไร่ปลูกมันสำปะหลัง คือสิ่งหนึ่งในฐานะที่เราเป็นครู เราเห็น เรารู้ แต่เราพูดโดยตรงไม่ได้ แต่ผมก็จะพยายามบอกกับชาวบ้านว่า...พ่อลุง พื้นที่ตรงนี้ ปีที่แล้วปลูกมันสำปะหลังขายได้เท่าไร ถ้าเขาบอกว่าขายมันสำปะหลังได้ หนึ่งหมื่นบาท ผมก็จะบอกเขาบอกค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาว่า ซื้อปุ๋ยเท่าไร ยาเท่าไร จดๆ มาให้หมด ค่าแรงที่จ้างไปเท่าไหร่ สรุปแล้วลงทุนไปเกือบห้าหมื่น ปีหนึ่งไม่ได้อะไรซักอย่าง
 
คือด้านหนึ่ง เราก็พูดไป แต่ด้านหนึ่งเรากำลังอยากบอกชาวบ้านว่า สิ่งที่คุณทำไร่มันสำปะหลัง เหมือนคุณทำฟรีๆ ให้กับบริษัท คนที่ได้นี่ชาวบ้านไม่ได้หรอก นี่เป็นบทสรุป อีกอย่างคุณสูญเสียพื้นที่ป่า อีกอย่างสุขภาพตัวเองยังต้องโดนยาพิษ โดนสารเคมี โดนอะไรอีก ผมก็พยายามเสนอแนวคิดไป
 
หมายความว่า จะให้ความรู้เพียงแค่ในหลักสูตรนั้นไม่ก็ไม่พอแล้ว ?
ใช่ เรื่องหลักสูตรนี่ผมว่าไม่พอ เพราะนี่เป็นเรื่องของนโยบายรัฐ หลักสูตรนี่ผมว่าถึงเราจะสอน เราก็ต้องสอนเน้นในเรื่องจิตสำนึก
           
ทำอย่างไรเราถึงจะให้ชาวบ้านรู้เท่าทันทุนนิยม เท่าทันสังคม และเทคโนโลยีที่มันกำลังพุ่งขึ้นไปบนดอย?
มันเป็นอย่างนี้ คือเราไม่ใช่ว่าเราจะผลักภาระให้ครูอย่างเดียว ไม่ใช่เฉพาะครู กศน.แม้แต่ในมหาวิทยาลัยมันก็ไม่ได้สอนในเรื่องเหล่านี้ คือใครจบเกษตรมา ส่วนใหญ่ ก็เหมือนผลิตคนไปให้บริษัทยักษ์ใหญ่เลย มีแต่ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ พวกนี้มันคุมระบบไปหมดเลย
           
ยุคนี้ มันเหมือนกับว่าเราจะต้องมีความรู้อีกด้านหนึ่ง คือความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณ การเป็นอยู่ การใช้ชีวิต กลายเป็นเรื่องสำคัญ ณ วันนี้ แม้แต่ตัวผมก็ยังทำไม่ได้เลย คือเหมือนเราต้องตามให้เท่าทันโลกของทุนนิยม อย่างมือถือเดี๋ยวนี้โปรโมชั่นเยอะ เดือนละสามร้อย โทรฟรี แต่โทรไปโทรมาไม่ฟรีซักหน่อย คือเขาคิดในเรื่องของเศรษฐศาสตร์หรือในเรื่องของกำไร เรื่องพวกนี้เขาพร้อมอยู่แล้ว คุมเราไว้หมดแล้ว เหมือนเราไม่ใช่ว่าเราอวดตัวเองว่าเราฉลาดมาขนาดนี้ หรือว่าเรารู้มาขนาดแล้วเนี่ย เรายังตกเป็นเบี้ยล่างของมันเลย
 
 
 
 
รวมเรื่องสั้น ‘เชวาตัวสุดท้าย’ ประพันธ์โดย ‘โถ่เรบอ’
สำนักพิมพ์สานใจคนรักป่า จัดพิมพ์
 
 
 
 
-๔-
 
โถ่เรบอ กับงานเรื่องสั้นชุด ‘เชวาตัวสุดท้าย’
 
ในฐานะที่คุณเป็นนักเขียนเรื่องสั้นปวาเก่อญอคนแรกและเล่มแรกในชีวิต พอจะบอกได้มั้ยว่าเนื้อหาเรื่องสั้นเล่มนี้ มีเค้าโครง ความคิด ส่วนใหญ่มันมาจากเรื่องจริง ?
ใช่ จากชีวิตจริงที่ผมประสบมาทั้งหมด
 
แล้วมีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องสั้นเรื่องนี้
รู้สึกแบบไหนเหรอ ก็รู้สึกดีใจที่ได้เผยแพร่ออกมา คือผมต้องการสื่อชีวิตที่มันล่มสลายไปของคนปวาเก่อญอ
 
คุณพูดเหมือนกับว่า วิถีมันเปลี่ยนไปถึงขั้นทำให้เห็นภาพการล่มสลาย ภาพของโศกนาฏกรรมอย่างนั้นเลยหรือ ?
ผมว่าทุกเรื่องเลยที่ผ่านตา ผ่านชีวิตผมมาเป็นเช่นนั้น
 
ลองเล่าเรื่อง ‘เชวาตัวสุดท้าย’ที่เป็นชื่อปกให้พอเข้าใจหน่อยได้มั้ย ?
เรื่อง ‘เชวาตัวสุดท้าย’ นะครับ ที่ผมต้องการสื่อคือ ผมมองว่าในสังคมปวาเก่อญอเองนั้น เรื่องการกดขี่สิทธิสตรี มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่บังคับผู้หญิงอย่างมาก ลองคิดดูอย่างเรื่องการมีคู่ครองมันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าผู้หญิงปวาเก่อญอยังไม่ได้แต่งงานก็จะต้องอยู่กับเสื้อเชวาสีขาวตัวนี้ไปจนตาย ลองนึกดูเหมือนในสังคมปวาเก่อญอต้องตราอยู่แล้ว แต่ละสังคมจะต้องฝังอะไรบางอย่าง ทั้งๆ ที่สังคมปวาเก่อญอนี่ให้เกียรติผู้หญิงนะ ถ้าในความเป็นครอบครัวผู้หญิงจะเป็นใหญ่ในบ้านเลยนะ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีครอบครัวนี่ เธอยังจำต้องเป็นนางสาวจนตายนี่ ผมว่า ชีวิตเธออนาถานะ
           
แล้วมีทางออกยังไงบ้าง
ไม่รู้สิ นอกจากสังคมมันจะเปลี่ยนไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าทางออกมันจะเปลี่ยนไปยังไงนะ แต่ถ้าพูดถึงในยุคสมัยนี้ ก็เริ่มจะมีคนได้เรียนหนังสือ บางทีผู้หญิงไม่แต่งงาน ก็สามารถขออยู่ด้วยตัวเองก็ได้ เสื้อผ้ากูไม่ใส่ก็ได้  
           
หรือว่าความจริงแล้ว จารีตแบบนี้ คนเฒ่าคนแก่เขาสืบทอดมา อาจต้องการสื่อให้เห็นว่าผู้หญิง ปวาเก่อญอคนนั้นมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เขาต้องให้เห็นตรงนี้ก็ได้ ?
ผมไม่แน่ใจนะ แต่ในตำนานบอกว่าหญิงบริสุทธิ์กลายเป็นเหล้าเป็นบุหรี่เลยนะ คือผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน หลังจากนั้น มันก็จะเหมือนอาจจะโดนสังคมเพ่งมอง ถึงไม่ได้พูด แต่ก็มองด้วยสายตาที่เหยียดหยาม คนนี้ที่ตายไปก็แช่ง ก็ขอให้กลายเป็นเหล้าหรือยาสูบ ใครๆ ที่จะสูบก็จะต้องติด ใครๆ ที่กินเหล้าก็จะต้องเมา
           
ในตำนานมีการพูดถึงเรื่องผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานแบบนี้เลยเหรอ ?
ใช่ เหมือนเธอแค้นไง ก็กลายเป็นยาสูบกับเหล้า พอให้คนกิน คนก็ติด คนสูบ คนก็ติด ใครๆ เห็น ก็ต้องรัก รัก...เมาหัวปรักหัวปรำ เลยเหล้าเบียร์นี้
           
แล้วภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ล่ะ
คือโดยภาพรวม ก็อยากจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตที่ผมเคยเห็นตอนเด็ก ๆ เรื่องเป่าปี่เขาควายตอนเด็กช่วงหน้าหนาวก่อนจะเกี่ยวข้าว แล้วในลายที่เขาควายแต่ละเสียง คนจะเป่าต้องฝึก แล้วก็เป็นการบอกโมงยาม บอกเวลา บอกทิศทาง ซึ่ง ณ วันนี้มันไม่มีแล้ว แต่ละคนก็โหยหา เนื่องจากว่า ณ วันนี้ไปไร่ไปนาไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์กันแล้ว
           
ก็มีเสียงปี่เขาควาย มีเสียงเตหน่า เตหน่านี่ก็เกือบจะหายในวงสังคมคนปวาเก่อญอเลยนะ ถ้าไม่มี ‘ตือโพ’ไว้สักคน ตือโพนี่สามารถพลิกฟื้น เหมือนคืนชีพเตหน่า ให้ได้คืนมา ผมยอมรับในอัจฉริยะในตัวเขาเหมือนกัน
           
เรื่องส่วนใหญ่เหมือนกับกำลังจะสื่อว่า จริงๆ แล้วชนเผ่าปวาเก่อญอ มันมีรากเหง้า ?
คือในกลุ่มมันก็จะมีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรม มีประเพณี มีจารีตอะไรเอาไว้ตรงนั้น แต่ว่าการดำรงชีวิตในสังคมเดี๋ยว มันต้องเจอกับหลายสิ่งหลายอย่างจากสังคมภายนอกที่มันเริ่มตีเข้ามา เหมือนกับการพยายามที่จะยื้อเพื่อที่จะให้ดำรงอยู่ของชนเผ่า ยิ่งถ้าเป็นในแง่ของมุมมองทัศนะก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเครื่องดนตรีนี่ก็เกือบอยู่ไม่ได้เหมือนอย่างที่ผมเขียนเรื่อง ‘อพยพ’ ชอบ ที่จริงพะตี่พาตอพะ ก็เสียไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นอีกตัวละครหนึ่ง
 
แล้วทุกวันนี้ คิดจะเขียนอีกไหม เขียนในมุมของความเปลี่ยน นั่งอยู่นิ่งๆ แล้วเห็นตัวละครผ่านไป วันๆ ?
อยากเขียน ก็อยากเขียนอยู่ แต่บางครั้งก็เหมือนกับว่า ที่ผมไม่กล้าเขียน ก็เพราะผมตีโจทย์ของความเปลี่ยนของสังคมปวาเก่อญอไม่ได้ไง ก็เลยไม่กล้าเขียน ผมกลัวถ้าตีโจทย์ไม่แตก สื่อไปแล้วมันผิดพลาดความเข้าใจของคนที่จะอ่าน เพราะทุกวันนี้ ผมมองว่าคนที่เขียนเรื่องเขียนอะไร ไม่มีข้อมูลในเชิงลึกอยู่แล้วเขียนแค่ผ่าน มันไม่ได้ การเขียนต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบตรงนี้มันต้องมีไง
           
นี่หมายความรวมถึงการเขียนเรื่องสั้นด้วยใช่ไหม ?
ใช่
 
จะจินตนาการมั่วๆ ก็ไม่ได้ยังงั้นหรือ ?
ผมเขียนเฉพาะเรื่องเชวาตัวสุดท้ายเรื่องเดียวผมใช้เวลาคิดสามปีกว่า เฉพาะคิดอย่างเดียวถามข้อมูลไปเรื่อยๆ ผมไม่ได้ถามหมู่บ้านเดียว เพราะว่าข้อมูลเฉพาะที่ผมเติบโตในหมู่บ้านนี่ที่ผมเห็นกับอีกหมู่บ้านอื่นที่ไกล ๆ มันเป็นอย่างนี้จริงไหมมันต้องเช็คข้อมูล
 
แล้วต้องการสื่อให้คนข้างนอกได้รับรู้ ?
ที่การเขียนหนังสือของผมต้องการสื่ออยู่แล้ว อย่างน้อยก็ต่อไปอีกซักสิบปี ยี่สิบปี เมื่อเด็กๆ ปวาเก่อญอใหม่มาอ่าน มาเจอ
 
บางที...อาจจะไม่มี หาไม่เจอแล้ว เชวาตัวสุดท้าย?
ใช่ น้อยมากที่จะเหลือ แม้แต่อย่างเพลงเตหน่าที่ผมเขียนไม่มีให้เห็นแล้วนะ ที่แต่ละปีที่จะมีคนเฒ่ามาเล่านิทานในหมู่บ้านเหมือนงานประจำปี งานรื่นเริงก็กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง กลายเป็นงานบุญ งานมีเวที ดีไม่ดีก็มีการเต้นจ้ำบ๊ะ โคโยตี้ มีหมดละ อบต.บนดอยจัดงานที ก็เอาวงอิเล็คโทนมาซักตัว นักร้องซักคน นักเต้นอีกสี่ห้าคน พ่อหลวงกำนันนี่สนุก อบต.นี่สนุกสนาน(หัวเราะหึๆ)
 
ในหนังสือมีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งกับรัฐด้วยใช่ไหม เรื่องอพยพ มาถึงตอนนี้ปัญหานี้ก็ยังไม่จบ ยังคาราคาซังอยู่ คุณมองยังไง ?
ในเชิงสังคมเหมือนกับว่าจะคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง แต่ในแง่ของกฎหมายนี่ เมื่อวันก่อนผมพูดกับพี่ที่บ้าน ในเรื่องกฎหมายป่าไม้ ผมไม่แน่ใจ คือตอนนี้บนดอย ถ้าใครอยากได้ที่เหมือนต้องเคลียร์ทิ้ง ทั้งๆ ที่เราเสียดายต้นไม้ เราจะล้อมรั้วแบบไม่ตัดต้นไม้ไม่ได้หรือ มันก็เลยเหมือนกับบังคับว่า คุณต้องเอาที่ต้องเอาไม้ ถ้าเอาไม้คุณไม่สามารถจับจองที่ตรงนี้ได้ ไม่สามารถไปสร้างบ้านได้ ต้องเคลียร์ทิ้งให้มันโล่ง
 
แต่จริงๆ แล้วชาวบ้านชุมชนก็อยู่ของเขามาก่อน ?
จริงๆ แล้วเขาก็อยู่มาก่อน แต่ว่ามันกลายเป็นเรื่องอันตราย กับการเข้าไปจัดการจัดระบบตรงนี้ กระแสทุนนิยมขึ้นไปบนดอยมันเชี่ยวเกินไป อย่างที่ดินแถวบ้านผม สองไร่ราคาเกือบล้าน ไม่มีใบอะไรซักอย่าง ทำให้ผมมองว่า หรือว่าชุมชนที่ปายมันจะล่มสลายเหรอ การท่องเที่ยวที่ อ.ปายมันใกล้จะล่ม แล้วก็จะแห่กันขึ้นไปที่วัดจันทร์ แล้วนายหน้าหรือนายทุนต้องขึ้นไปปั่นราคาไว้ก่อนไง ที่ไหมเหมาะ ทำเลดีดี คือริมแม่น้ำแม่แจ่มซึ่งต้นน้ำแม่แจ่มโดยชื่อ ‘มูเส่คี’ มันดังอยู่แล้วไง
           
แล้วตอนนี้นายทุนเข้าไปจับจองหรือยัง หรือว่าปั่นทิ้งไว้ ?
ถึงขั้นขายก็มี เริ่มเข้าไปทีละน้อยๆ แล้วละ
                       
มีความสุขไหมกับการเขียนหนังสือ การเป็นนักเขียน
ผมว่ามันสนุกนะ การเขียนหนังสือ
 
สุดท้ายแล้ว เชื่อมั้ยว่า นักเขียนนั้นแยกไม่ออกกับสังคมการมือง?
มันก็ใช่ สังคมมันก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนเป็นสังคมใหญ่มากขึ้นทุกที
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท