ภาคประชาชนจี้ทบทวนแผนฟื้นเลสาบสงขลา รุดตั้งสภาลุ่มน้ำ–ชี้นโยบายรัฐแก้ปัญหาล้มเหลว

เวทีสภาลุ่มน้ำเลสาบสงขลา จี้รัฐทบทวนนโยบายและแผนฟื้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะเปิดคลองเชื่อมทะเลสาบ – อ่าวไทย รื้อเขื่อนกันคลื่นท่าเรือสงขลา กำหนดวาระประชาชนเสนอวุฒิสภา ผลักดันการแก้ปัญหา

 

 
นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ เลขาธิการสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เปิดเผยว่า ในการจัดเวทีเสวนา เรื่องวาระประชาชนกับการจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบและการจัดการองค์กรประชาชนกับการจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศาลาลำปำที่รัก หาดแสนสุขลำปำ จังหวัดพัทลุง มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน เป็นตัวแทนภาคประชาชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง 7 โซน มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงปัญหาต่างๆ ของแต่ละโซน ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน ป่าชุมชน การกำจัดขยะ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อกำหนดประเด็นที่จะจัดทำเป็นวาระประชาชนในที่ประชุมสภาลุ่มน้ำทะเลสาบในช่วงเดือนสิงหาคม 2552
 
นายนฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า ข้อสรุปที่ได้จากการเสวนา ซึ่งได้กำหนดเป็นวาระประชาชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีทั้งหมด 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ทบทวน นโยบาย แผนงานของภาครัฐในการพัฒนาที่เสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ การจัดการขยะ เป็นต้น
 
2.ให้ขุดลอกเปิดคลองเชื่อมทะเลสาบ - อ่าวไทย ให้รื้อรอหินท่าเรือน้ำลึก และขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา 3.ธรรมนูญการพัฒนาลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นการสำรวจ ศึกษาและประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบที่มีความเสี่ยงทั้งหมด เป็นพื้นที่ควบคุมและจัดทำแผนปฏิบัติ 4.เพิ่มมาตรการเพื่อป้องกัน และทำงานเชิงรุกในการดูแล เฝ้าระวัง การปล่อยมลพิษ การบุกรุกป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุมน้ำ ป่าพรุ และการทำประมงผิดกฎหมาย
 
5.ทบทวน ยุทธศาสตร์ มาตรการและการปฏิบัติการตามแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 6.สนับสนุนพลังภาคี ภาคส่วนต่างๆในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยเน้นให้ความสำคัญที่กลุ่มเด็ก เยาวชนในสถานศึกษาทุกระดับ และ 7.จัดตั้งองค์กรหรือสถาบันพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยทำงานคู่ขนานกับสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
 
นายนฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า ทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าว จะนำเข้าที่ประชุมสภาลุ่มน้ำทะเลสาบในช่วงเดือนสิงหาคม 2552 นี้เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ แล้วเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามแก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำทะเลสาบ วุฒิสภา ให้นำเข้าที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อผลักดันให้นำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาต่อไป
 
นายนฤทธิ์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของภาคคประชาชนที่พบปัญหาแล้วมารวมกลุ่ม ต่อมาในปี 2546 รัฐบาลต้องการที่จะพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงได้มีการรวมตัวกันของภาคประชาชนในโซนต่างๆ ทั้ง 7 โซน ประกอบด้วย โซนพรุควนเคร็ง โซนทะเลน้อย โซนทะเลสาบฝั่งตะวันตก โซนป่าต้นน้ำ โซนเมือง โซนทะเลสาบตอนล่าง และโซนคาบสมุทรสทิงพระ
 
อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนะนำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบ วุฒิสภา นำไปผลักดันการแก้ปัญหาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จนในที่สุดมีการจัดตั้งสภาลุ่มน้ำทะเลสาบขึ้นมาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เมษายน 2552
 
ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง นำโดยนายเริงชัย ตันสกุล เป็นประธานคณะทำงานสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นายขุนทอง บุญประวิทย์ เป็นรองประธาน ส่วนคณะทำงานประกอบด้วย ตัวแทนของทั้ง 7 โซน โดยมีนักวิชาการคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กลุ่มนักธุรกิจและสื่อมวลชนร่วมเป็นคณะทำงานด้วย โดยมีคณะทำงานของสำนักเลขาธิการสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทำหน้าที่ประสานงาน
 
นายนฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า ต่อไปจะมีการขับเคลื่อนโดยการตั้งเป้าหมายให้มีการขยายเครือข่ายในคณะการทำงาน จะมีการจัดประชุมสมัชชาของประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาตามเป้าหมายของแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พร้อมทั้งมีการทำงานภาคนโยบาย รวมถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การจัดกิจกรรม การสื่อสารของเครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น
 
ผศ.ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร อาจารย์คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ. เปิดเผยว่า สำหรับโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็น 1 ใน 7 ประเด็นดังกล่าว ประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการและวิชาการ คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำสาขา สำนักงานคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะทำงานด้านแผนปฏิบัติการและแผนบูรณาการ คณะทำงานลุ่มน้ำระดับจังหวัด คณะทำงานด้านจัดทำแผนการจัดสรรน้ำ คณะทำงานลุ่มน้ำสาขา คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม คณะทำงานลุ่มน้ำระดับอำเภอ และคณะทำงานลุ่มน้ำระดับตำบล และในขณะนี้เครือข่ายองค์กรลุ่มน้ำมีทั้งหมดประมาณ 170,000 คน
 
ผศ.ดร.ปาริชาติ กล่าวว่า สภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต้องมีการแก้ไขกันทั้งในเรื่องนโยบายที่ขาดความเป็นเอกภาพในการกำหนดนโยบาย เรื่ององค์กรที่มีความซ้ำซ้อน ขาดการประสานงานที่ดี ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เรื่องกฎหมายและระเบียบที่ล้าสมัย เพราะมองเป็นเรื่องเฉพาะด้านไม่ได้มองในภาพรวม และเรื่องระบบข้อมูลที่ไม่มีฐานข้อมูลรวมและระบบเครือข่ายที่ชัดเจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท