Skip to main content
sharethis
รัฐมนตรีสาธารณสุขระบุแจกคู่มือป้องกันหวัด 2009 แล้วแต่คนส่วนใหญ่ไม่อ่านรายละเอียด ทำให้ไม่มีความรู้ป้องกันโรค เช่นเดียวกับแพทย์ที่รับคู่มือแนวทางรักษาไปแล้วแต่ไม่อ่านให้เข้าใจ ห่วงจ่ายยาต้านไวรัสให้เด็กไม่ถูกต้องทำให้เชื้อดื้อ ย้ำถ้าเป็นเด็กให้ส่งต่อโรงพยาบาลทันที หวั่นกลายเป็นประเทศดื้อยารายแรกๆ ของโลก จี้คลินิกต้องรับผิดชอบสังคมด้วย

 

 
 
มติชนออนไลน์ รายงานวานนี้ (3 ส.ค.) ว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระหว่างเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเวชกรรมสังคม ที่โรงแรมมารวย โดยมีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ที่ปฏิบัติงานด้านเวชกรรมสังคมในโรงพยาบาลทั่วไปกว่า 300 คนเข้าร่วมว่า เป็นสิ่งที่ท้าทายงานเวชกรรมสังคม เนื่องจากขณะนี้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว แต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจกคู่มือป้องกันโรคให้ประชาชน แต่พบว่าส่วนใหญ่กลับไม่อ่านรายละเอียด จึงทำให้ไม่มีความรู้วิธีป้องกันโรคที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับแพทย์ที่รับคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ 2009 ไปแล้วก็ไม่อ่านให้เข้าใจ
 
“มีแพทย์เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นอ่านคู่มือ ซึ่งตามธรรมชาติของคนไทยชอบที่จะสื่อสารแบบปากต่อปากมากกว่าการอ่านด้วยตนเอง จึงฝากให้เจ้าหน้าที่เวชกรรมสังคม ซึ่งต้องลงพื้นที่พบประชาชนเป็นประจำอยู่แล้วทำหน้าที่สื่อสารด้วย” นายวิทยา กล่าว
 
นายวิทยา ยังกล่าวถึงกรณีคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะขณะนี้เป็นเพียงเริ่มต้นโครงการและอยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับบุคลากร ทางการแพทย์
 
"เข้าใจว่าสาเหตุที่คลินิกไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะกลัวจะเพิ่มภาระการทำงาน ถือเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะจะมุ่งทำงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ เป็นเพียงการขอความร่วมมือ หากคลินิกใดไม่พร้อม และไม่สมัครใจ จะไม่มีการบังคับ แต่สำหรับคลินิกในกรุงเทพฯ ที่สมัครเข้าโครงการเริ่มจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแล้ว" นายวิทยากล่าวและว่า สำหรับคลินิกในต่างจังหวัด เริ่มมีสมัครเข้าโครงการบ้างแล้ว และพบว่าบางจังหวัดมีคลินิกเข้าร่วมโครงการถึงร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาล และแพทย์ประจำคลินิกส่วนใหญ่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐด้วย จึงมีความเข้าใจแนวทางการรักษาดี วันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินความพร้อมของคลินิกในต่างจังหวัดหากพื้นที่ใดพร้อมก็จะกระจายยาทันที รวมถึงหารือเรื่องการจ่ายยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยเด็กด้วย
 
“ขอความร่วมมือคลินิกทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการรุนแรง ให้แนะนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งหากคลินิกส่วนใหญ่เข้าใจแนวทางนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมียาสำรอง เพราะเป้าหมายหลักคือ ต้องการลดการเสียชีวิต ประชาชนเข้าถึงยาให้ได้มากที่สุด ” นายวิทยากล่าวและว่า ได้ขอความร่วมมือคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ให้ขึ้นป้ายประกาศหน้าคลินิกแจ้งให้ประชาชนทราบ และมอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ออกแบบจัดทำป้ายสติ๊กเกอร์แจกคลินิกทั่วประเทศในสัปดาห์หน้า
 
ต่อมานายวิทยา เดินไปทางเยี่ยมผู้ป่วยอาการหนัก 3 คน ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งมีหญิงตั้งครรภ์ด้วย พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ป่วยทั้ง 3 คน เป็นไข้หวัดแม้ยังไม่รู้ผลตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการ แต่แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทั้ง 3 คน โดยรายที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ สันนิษฐานว่าจะติดเชื้อจากบิดา ซึ่งป่วยอยู่ก่อนแล้ว และไปรักษาตั้งแต่เริ่มป่วย ขณะนี้กินยาต้านไวรัสครบชุดรักษาแล้ว ไม่มีไข้ แต่ยังไอเล็กน้อย มั่นใจว่าผู้ป่วยรายนี้จะหายเป็นปกติ และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายอายุประมาณ 50 ปี ไข้สูง ปอดบวม และผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นหญิง อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรคไปพบแพทย์ด้วยอาการป่วยของโรคประจำตัว
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net