Skip to main content
sharethis

วานนี้ (5 ส.ค.52) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (The Asian Human Rights Commission (AHRC)) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรื่อง “ประเทศไทย: การให้ความคุ้มครอง เด็กชายพล (เด็กชายอับดุลลา) รวมถึงเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย จากพ่อแม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผัน ให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ” ลงวันที่ 3 ส.ค. ซึ่งจัดทำโดย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกับ โครงการบางกอกคลินิกเพื่อการให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล (บางกอกคลินิก) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ส่งถึงนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม เด็กชายพลอายุ 3 ขวบ บุตรของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเกิดในราชอาณาจักร ทั้งที่พ่อแม่ที่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานแล้ว โดยกล่าวโทษว่า เด็กชายพล มีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และเด็กชายพลถูกส่งไปกักตัวที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู

แม้ต่อมาเด็กชายคนดังกล่าวจะถูกปล่อยตัวและได้กลับคืนสู่ครอบครัวแล้ว แต่หน่วยงานผู้ยื่นจดหมายดังกล่าวยังมีความเป็นห่วงว่า หน่วยงานรัฐหลายแห่ง ยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ต่อประเด็นข้อกฎหมาย หรือสถานะบุคคล ตามกฎหมาย ของเด็กชายพล รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ในสังคมอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับเด็กชายพล อันนำไปสู่การจับ การควบคุมตัว และผลักดัน เด็กกลุ่มนี้ออกนอกราชอาณาจักร

จดหมายได้ระบุถึงข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันปัญหา กล่าวคือ 1. แม้ประเทศไทยจะยังไม่พิจารณาให้สัญชาติแก่เด็ก แต่รัฐบาลสามารถดำเนินการเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็กได้ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ดำเนินการจับกุมและผลักดันเด็กออกนอกราชอาณาจักร 2.ในเบื้องต้น รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อคุ้มครองไม่ให้เด็กกลายเป็นเด็กไร้รัฐ โดยรับรองสิทธิอาศัย และฐานะการอยู่ และสามารถดำเนินการได้ทันที โดยบันทึกชื่อและรายการบุคคลของเด็กในทะเบียนประวัติ

ทั้งนี้ อาจดำเนินการได้ โดย (1) ตีความมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ขยายให้ผู้ติดตามแรงงานฯ สามารถมีสิทธิอาศัย และฐานะการอยู่ เช่นเดียวกับแรงงานที่ขึ้นทะเบียน (2) ดำเนินการให้มีมติคณะรัฐมนตรี ที่รับรองสิทธิอาศัยและฐานะการอยู่ของผู้ติดตาม ดังที่เคยปฏิบัติมา อาทิ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  18 ธันวาคม 2550 (3) ผลักดันให้มีการออกกฎกระทรวง ตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติฯ เพื่อรับรองว่าจะไม่มีการดำเนินการส่งเด็กออกนอกราชอาณาจักร กำหนดสถานะบุคคล และฐานะการอยู่ ที่สอดคล้องสถานะบุคคล และฐานะการอยู่ของบิดา-มารดา

3. ก่อน ในระหว่าง และภายหลัง การดำเนินการข้างต้น ภายใต้พันธกรณี ในฐานะรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย สิทธิทางพลเมืองและการเมือง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ย่อมผูกพันให้ประเทศไทย ต้องดำเนินการใดๆ เพื่อคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิ ของเด็กอย่างน้อย ตามหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก หลักการปกป้องคุ้มครองเด็ก และสิทธิในการมีชีวิตและได้รับการพัฒนา

จดหมายระบุด้วยว่า เด็กทุกคนจึงควรได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ อาทิ สิทธิในการได้รับเอกสารแสดงการเกิด (สูติบัตร) ใช้เป็นหลักฐานสำหรับการพิสูจน์สถานะบุคคล/สัญชาติของเด็กต่อไป สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิที่จะเรียนหนังสือ ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานด้านงานคุ้มครองสิทธิ อาทิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็กและสถาบันครอบครัวกลาง ฯลฯ เข้ามามีบทบาท ต่อการคุ้มครองสิทธิเด็กทุกคนในประเทศไทย
 

 

 
ที่ พิเศษ  1/2552
วันที่ 3 สิงหาคม 2552      
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
เรื่อง นำส่ง ความเห็นและข้อเสนอทางกฎหมาย ในการให้ความคุ้มครอง เด็กชายพล (เด็กชายอับดุลลา) รวมถึงเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย จากพ่อแม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผัน ให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (เด็กเกิดไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค  1 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535)
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย ความเห็นและข้อเสนอทางกฎหมาย ในการให้ความคุ้มครอง เด็กชายพล (เด็กชายอับดุลลา) รวมถึงเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย จากพ่อแม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผัน ให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว เป็นกรณีพิเศษ (เด็กเกิดไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค  1 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535)
 
สืบเนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม เด็กชายพล หรือเด็กชายอับดุลลา อายุ 3 ขวบ ซึ่งเกิดในราชอาณาจักร เป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติ ที่ขึ้นทะเบียนแรงงาน ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ และทำงานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 ขณะที่แม่ของ เด็กชายพล กำลังขายโรตี ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่ง ใน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เด็กชายพลถูกส่งไปกักตัวที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู โดยมีความเป็นไปได้ว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งเด็กชายพลออกไปนอกราชอาณาจักรภายในเวลา 22.00 น. ของคืน วันที่ 27 กรกฎาคม โดยกล่าวโทษว่า เด็กชายพล มีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
 
ต่อมา เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ประสานมายัง โครงการบางกอกคลินิกเพื่อการให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล (บางกอกคลินิก) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) อันนำไปสู่การประสานงานกับสภาทนายความ ดำเนินการออกจดหมายเสนอแนะให้ ตม.ระงับการส่งกลับ และขอให้ปล่อยตัวเด็กกลับคืนสู่ครอบครัว โดยทันที (จดหมายสภาทนายความ สสม. 367/2552 ลว.27 กรกฎาคม 2552) จนกระทั่ง เด็กชายพลได้รับการปล่อยตัวแล้ว เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และทางองค์กรฯ ต้องขอแสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่ ตม.ที่ได้ปล่อยตัวเด็กชาย ตามข้อเสนอแนะดังกล่าว
 
แม้ว่า เด็กชายพลจะได้รับการปล่อยตัว และได้กลับคืนสู่ครอบครัวแล้ว ทาง สถาบันฯ, มสพ.และโครงการบางกอกคลินิคฯ มีความเห็นว่า หน่วยงานรัฐหลายแห่ง ยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ต่อประเด็นข้อกฎหมาย หรือสถานะบุคคล ตามกฎหมาย ของเด็กชายพล รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ในสังคมอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับเด็กชายพล อันนำไปสู่การจับ การควบคุมตัว และผลักดัน เด็กกลุ่มนี้ออกนอกราชอาณาจักร
 
เพื่อเป็นการป้องกัน มิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวซ้ำอีก และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่เพียงแค่กรณีของเด็กชายพล หากแต่หมายถึงเด็กทุกคน ที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับเด็กชายพล ทางองค์กรฯ จึงเรียนมาเพื่อขอให้ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พิจารณา ความเห็นและข้อเสนอทางกฎหมาย ในการให้ความคุ้มครองเด็กชายพล (เด็กชายอับดุลลา) รวมถึงเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย จากพ่อแม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (เด็กเกิดไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค  1 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535) ซึ่งเป็นงานวิชาการ ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันฯ, มสพ.และโครงการบางกอกคลินิกฯ ร่วมกับองค์กรเครือข่าย
 
ทางองค์กรฯ ขอยืนยันว่า เด็กที่เกิดในประเทศไทย จากบิดาและมารดา ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผัน ให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ เฉพาะราย ชั่วคราว ตามมาตรา 7 ทวิ วรรค  1 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 นั้น ย่อมไม่สามารถมีความผิด และรับโทษฐานเข้าเมือง โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องเพราะเด็กกลุ่มนี้มิได้เข้าเมืองมา การดำเนินการจับกุม การควบคุมตัว และส่งออกไปยังนอกราชอาณาจักร จึงเป็นการละเมิดต่อ หลักกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีอาญา คือ จะลงโทษการกระทำที่บุคคลไม่ได้กระทำ มิได้ (nullum crimen, nulla poena sine lege) ทั้งยังละเมิดต่อสิทธิใน ชีวิตและร่างกายของบุคคล หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักความเสมอภาค ซึ่งได้รับการประกันไว้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (มาตรา 32, มาตรา 4 และมาตรา 30)
 
ทางองค์กรขอเรียน เพื่อให้ท่านโปรดพิจารณาถึง ข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันปัญหา ที่ปรากฏตาม ข้อ 4 (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติม ในเอกสารความเห็นและข้อเสนอแนะทางกฎหมายฯ สิ่งที่ส่งมาด้วย) กล่าวคือ
 
4. ข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันปัญหา
4. 1 แม้ประเทศไทย จะยังไม่พิจารณาให้สัญชาติแก่เด็ก แต่สิ่งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการ ได้เพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก ก็คือ ประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ดำเนินการจับกุม และผลักดันเด็กคนใด ออกนอกราชอาณาจักร
 
4.2 ในเบื้องต้น รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อคุ้มครอง มิให้เด็กกลายเป็นเด็กไร้รัฐ โดยรับรองสิทธิอาศัย และฐานะการอยู่ และสามารถดำเนินการได้ทันที โดยบันทึกชื่อและรายการบุคคลของเด็ก ในทะเบียนประวัติ ประเภท ท.ร.38 ก., ท.ร. 38/ 1 (ขึ้นกับข้อเท็จจริงของบุคคล) คือ บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ ยังมีประโยชน์ต่อไป ในแง่ของข้อมูลเพื่อการจัดการประชากรต่างด้าว สำหรับประเทศไทย อีกด้วย) โดยอาจดำเนินการได้ ดังต่อไปนี้
 
( 1) ตีความ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ขยายให้ผู้ติดตามแรงงานฯ สามารถมีสิทธิอาศัย และฐานะการอยู่ เช่นเดียวกับแรงงานที่ขึ้นทะเบียน
 
(2) ดำเนินการ ให้มีมติคณะรัฐมนตรี ที่รับรองสิทธิอาศัยและฐานะการอยู่ของผู้ติดตาม ดังที่เคยปฏิบัติมา (อาทิ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  18 ธันวาคม 2550)
 
(3) ผลักดัน ให้มีการออกกฎกระทรวง ตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติฯ เพื่อรับรองว่า จะไม่มีการดำเนินการ ส่งเด็กออกนอกราชอาณาจักร กำหนดสถานะบุคคล และฐานะการอยู่ ที่สอดคล้องสถานะบุคคล และฐานะการอยู่ของบิดา-มารดา
 
4.3 ก่อน ในระหว่าง และภายหลัง การดำเนินการข้างต้น ภายใต้พันธกรณี ในฐานะรัฐภาคี แห่งกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย สิทธิทางพลเมืองและการเมือง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ย่อมผูกพันให้ประเทศไทย ต้องดำเนินการใดๆ เพื่อคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิ ของเด็กอย่างน้อย ตามหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก หลักการปกป้องคุ้มครองเด็ก และสิทธิในการมีชีวิตและได้รับการพัฒนา ซึ่งพันธกรณีดังกล่าว ได้รับการรับรอง โดยมาตรา 4 และมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พันธกรณีตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ได้รับการอนุวัติการ โดยกฎหมายภายในของประเทศไทย แล้ว คือ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งมีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับพันธกรณีข้างต้นอย่างชัดเจน อาทิ การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (มาตรา 22 ประกอบ กฎกระทรวง กำหนดแนวทางการพิจารณาว่า การกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็ก พ.ศ.2549)”
 
เด็กทุกคนจึงควรได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ อาทิ สิทธิในการได้รับเอกสารแสดงการเกิด (สูติบัตร) ใช้เป็นหลักฐานสำหรับการพิสูจน์สถานะบุคคล/สัญชาติของเด็กต่อไป สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิที่จะเรียนหนังสือ ทางองค์กรฯ ขอเสนอแนะ ให้หน่วยงานด้านงานคุ้มครองสิทธิ อาทิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็กและสถาบันครอบครัวกลาง ฯลฯ เข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ ต่อการคุ้มครองสิทธิเด็กทุกคนในประเทศไทย
 
ทางองค์กรฯ และองค์กรเครือข่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านในฐานะผู้บังคับบัญชา และกำกับดูแล การดำเนินงานของฝ่ายบริหาร จะสามารถผลักดัน ให้เกิดกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีประสิทธิภาพและยุติธรรม เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐาน หรือบรรทัดฐานใหม่ ในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของเด็ก และขอขอบพระคุณมาล่วงหน้า ต่อความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาที่เด็กกำลังเผชิญ
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และดำเนินการให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับเด็ก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
 
สำเนาถึง
1) อัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด
2) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
3) ประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
4) ประธานสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5) ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
7) ประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.)
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net