Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: ไปเมืองลาวเมื่อ พ.ศ.2530 กับ อ.ทวี หมื่นนิกร-เศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ “การเมือง” หรือ “22 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก”

อ.ทวี หมื่นนิกร (2473-2533 หรือ 1930-1990) นัก “เศรษฐศาสตร์การเมือง” กับ อ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม และผมจากธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปเยือนคอมมิวนิสต์-สังคมนิยม สปป.ลาว ด้วยกันเป็นเวลา 9 วัน ระหว่างวันที่ 6-14 เมษายน 2530 (1987) ช่วงนั้นยุคปลาย 80s เป็นระยะที่แม้ว่า “สงครามเย็น” กำลังจะสิ้นสุดลง กำแพงเบอร์ลินกำลังจะถูกพังทลาย เศรษฐกิจสังคมนิยมทั้งในสหภาพโซเวียต จีน และอินโดจีน กำลังจะกลายเป็น “เศรษฐกิจการตลาด” (หรือ “ทุนนิยม”)

ยุคนั้น เป็นยุคสมัยของคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของการเมืองโลก อย่างคำในภาษารัสเซียว่า “เปเรสทรอยก้า/perestroika และ กลาสนอสต์/glasnost” หรือคำในภาษาเวียดนามว่า “โด๋เหม่ย” Doi Moi หรือคำในภาษาลาวว่า “จินตกานใหม่/จินตนาการใหม่” นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงในโลกคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม

และนั่น ก็เป็นสถานการณ์ที่โลก “เสรีประชาธิปไตย” กำลังจะฟื้นตัวจาก “ฝันร้าย” และความกลัวต่อ “ผีคอมมิวนิสต์” และปรับตัวปรับใจให้ยอมรับในชัยชนะของฝ่ายสังคมนิยมเมื่อกลางทศวรรษ 70s ปี 2518 หรือ 1975 ที่สหรัฐฯ (รวมทั้งพันธมิตรอย่างไทย) ได้พ่ายแพ้การสงครามและการสู้รบในอินโดจีนอย่างราบคาบ ทั้งไซง่อน พนมเปญ และเวียงจันแตกญะญ่ายพ่ายกะแจ (17 และ 30 เมษายน กับ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518/1975 ตามลำดับ) สิบปีผ่านไปทำให้รัฐบาลไทยกับลาว อยากจะคืนดีกัน

แต่สถานการณ์ตอนนั้น ก็ยังเรียกได้ว่า “ลูกผีลูกคน” เพราะยังมีการเผชิญหน้ากันอยู่ด้วยกำลังทหารในกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับ “เขตชายแดน” กรณี “3 หมู่บ้าน” (บ้านใหม่ บ้านกลาง บ้านสว่าง ที่ฝ่ายลาวว่าอยู่ในแขวงไซยะบูลี แต่ฝ่ายไทยว่าอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์) ซึ่งเกิดขึ้นในปลายปี 2530 ต่อต้นปี 2531 จนกระทั่งต่อมามีการทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2531

เราสามคนเสมือนถูกอุปโหลกจาก “ฝ่ายนกพิราบ” ให้เป็น “ทูตสันถวไมตรี” ทางวิชาการเพื่อ “สมานฉันท์” เพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ แต่ “ผีคอมมิวนิสต์” ที่ถูกปลุกปล้ำมาเป็นเวลานาน ก็ยังเป็นภาพหลอนที่น่าสพึงกลัวอยู่

เราไปลาวตามคำเชิญของ “องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์” และกระทรวงศึกษาของลาว แต่ก็ได้รับการทักท้วง และแสดงความไม่ค่อยจะเห็นด้วยจากข้าราชการระดับสูงของ กต. (ไทย-ฝ่ายเหยี่ยวที่ยังทรงอิทธิพลอยู่ถึงทุกวันนี้) ที่พยายามวิ่งเต้นให้เราระงับการเดินทาง แต่เราก็ “ดันทุรังไป” และดีใจที่ได้ไป ได้เห็นเวียงจัน ได้เห็นดินแดนของ “นักปฏิวัติ” ของลาวทั้งแถบหัวพัน-ซำเหนือและเวียงไซ ทั้งได้เห็นเมืองหลวงเก่าหลวงพระบาง ที่ยังหลับใหลและงดงามอยู่กับลำน้ำโขง (ยังไม่ได้เป็นเมืองมรดกโลกของ “ยูเนสโก” ที่คึกคักและน่าเป็นห่วงนับตั้งแต่ปี 2538/1995 หรือ 8 ปีให้หลัง)

เราได้รับการต้อนรับอย่างดี มีรถเก๋งเป็นขบวน มีรอง รมต.ศึกษานามท่านคำผอง พันวงสา เป็นผู้ดูแลตลอดทั้ง 9 วัน เราไปเชียงขวาง ทุ่งไหหิน ไปซำเหนือ ไปดูถ้ำของนักปฏิวัติที่เวียงไซย เรานั่งเฮลิคอปเตอร์รัสเซียไปกับท่านอุดม ขัตทิยะ ผู้ใหญ่ในโปลิตบูโล (ซึ่งสู้รบและพิชิตนายพลวังปาว ขุนพลของลาวฝ่ายขวาและซีไอเอ) เราได้รับความเมตตากรุณาอย่างยิ่งยวดจากท่านไมสุข ชัยสมแพง ประธานแขวงหัวพัน และท้ายสุดเราได้เข้าเยี่ยมคำนับรักษาการประธานประเทศ คือ ท่านภูมี วงศ์วิจิตร ที่หอคำหรือทำเนียบประธานประเทศ

เมื่อกลับมา ผมได้เขียนประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นตอนๆ แล้วลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “แพรว” แล้วก็นำมาพิมพ์รวมเล่มถึงสามครั้งสามคราด้วยกันในนาม “9 วันในลาว” สองครั้งแรกตีพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้าเมื่อปี 2530 และ 2532 และครั้งหลังสุดปี 2544 โดยสำนักพิมพ์ภัคทรรศ ในชื่อว่า “หอมกลิ่นจำปา เบิกฟ้าเมืองลาว” และทุกครั้งมี “คำนำ” ว่าด้วยความเป็นสังคมนิยมของลาว

ผมจำไม่ได้ว่ารู้จัก อ.ทวีตั้งแต่เมื่อไร และว่าไปด้วยวิชาการที่ อ.ทวีเป็นสายเศรษฐศาสตร์ ผมเป็นสายประวัติศาสตร์ ซึ่งโดยปกติก็ไม่น่าจะได้พบปะหรือคุ้นเคยกัน แต่ความที่ “ธรรมศาสตร์” สมัยที่ยังอยู่ท่าพระจันทร์มีความพยายามที่จะ “บูรณาการ” และ/หรือ “ข้ามคณะ” กัน และเป็นยุคสมัยของ “ขบวนตุลาคม” เราก็มาพบกันและคุ้นเคยกันโดยไม่ได้นัดหมาย

ผมจำได้ว่าเมื่อผมเริ่มสอนหนังสือใน มธ. เมื่อต้นปี 2516 ก่อน “มหาเหตุการณ์ 14 ตุลา” หรือ “วันมหาปิติ” ไม่เท่าไร ผมก็เริ่มคุ้นกับชื่อของ อ.ทวี และวารสารวิชาการฉบับสำคัญ “ชาวบ้าน” แล้ว นอกจากจะมีบริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมกันแล้ว เรายังมีปูชนียบุคคลที่เราเคารพรักร่วมกัน คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์นั่นเอง และเราต้องไม่ลืมว่า อ.ทวี เป็น “1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ” 14 ตุลา 2516 ที่ถูกจับกุมคุมขังโดย “ระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์”

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519”  เพื่อฟื้นฟู “ระบอบอำนาจนิยม” (ที่มักถูกเรียกผิดๆว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” หรือ “การเมืองแบบพ่อปกครองลูก”) และเมื่อ อ.ป๋วยของเรา ต้องพลัดพราก “ลี้ภัย” ไปอังกฤษ กลายเป็น “แต่คนดี เมืองไทยไม่ต้องการ” แบบ อ.ปรีดี พนมยงค์เช่นกันนั้น  อ.ทวี กับผม เราทั้งสองก็ “กระเด็น” ไปลี้ภัยอยู่ที่เมืองหลวงเก่า “เกียวโต” โดยที่มิได้นัดหมาย และที่นั่น เราก็พบปะกันเป็นครั้งคราว ในขณะที่มีผู้คนวนเวียนแวะกันเข้ามา อย่างไตรรงค์ สุวรรณคีรี นรนิติ เศรษฐบุตร และสัญชัย สุวังบุตร

ผมนั้น ดื่มด่ำกับสิ่งใหม่ในอารยธรรมอันงดงามของเมืองหลวงเก่าเกียวโต กับสร้างมิตรใหม่ๆ ทางด้านอุษาคเนย์ศึกษา (อย่างโยเนโอะ อิชิอิ และกลุ่มก้อนที่จะรวมตัวกันจัดตั้งมูลนิธิโตโยต้าญี่ปุ่น) เรามีมิตรร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายซ้ายญี่ปุ่นและ/หรือฝรั่งที่อยู่ที่นั่น (เกียวโตเป็นเมืองที่ฝ่ายสังคมนิยม มักจะชนะการเลือกตั้งเป็นประจำ) และเมื่อ “รัฐบาลหอย” ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม 2519 – 19 ตุลาคม 2520) ที่ถูกทหารสถาปนาขึ้นมาด้วยการรัฐประหาร ต้องถูกรัฐประหารตกจากอำนาจไปโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เราทั้งสองก็ได้ “กลับบ้าน” และนี่ก็อาจจะเป็นที่มาที่ทำให้เมื่อ “ไทยกับลาว” จะคืนดีกัน เราก็เลยถูกเชิญไปลาวในขบวนเดียวกัน

9 วันในลาวครั้งนั้น ทำให้ผมรู้จัก อ.ทวี มากเสียกว่าตอนอยู่ มธ.ท่าพระจันทร์ หรืออยู่เกียวโตด้วยกันด้วยซ้ำไป ผมจำได้ว่า อ.ทวี แสนจะมีทัศนคติที่เป็น “บวกและบวก” ต่อ สปป.ลาว ทั้งในเรื่องของชาติพันธุ์ ชนชาติ ความเป็น “ลาว” และต่อระบอบเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยมอย่างยิ่งยวด ต่างกับ อ. เกริกเกียรติและผม ที่ยังกลัวๆ กล้าๆ และสงวนท่าสงวนทีอยู่ ผมจำได้ว่าเมื่อเกิดถกเถียงกันเรื่อง “ลาวๆ-ไทยๆ” ระหว่าง อ.ทวี กับ อ.เกริกเกียรติ ที่ต่างก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันทั้งคู่ มาจากสำนักเดียวกันนั้น  เรื่องมักจะจบลงด้วยผมต้องเข้าไปนั่งแทรกตรงกลาง ให้ อ.ทวี อยู่ทางซ้าย และ อ.เกริกเกียรติ อยู่ทางขวา

ในเรื่องของสังคมนิยมนั้น ผมพอจะเข้าใจได้จากความเป็น “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ของ อ.ทวี แต่เรื่อง “ลาวๆ” ที่ในที่สุดผมจะถึง “บางอ้อ” ได้ก็ต่อเมื่อทราบว่า อ.ทวีเป็น “คนพวน” มาจากลพบุรี เมื่อเราอยู่ สปป.ลาวนั้น อ.ทวีดูจะภาคภูมิใจในความเป็น “พวน” ยิ่ง และเราไปถึงเชียงขวาง ไปถึงทุ่งไหหิน อ.ทวีก็เปรยกับผมว่า “ไม่ทราบว่าตระกูลของตน “อพยพ” ไปจากแถบนี้ตั้งแต่เมื่อไร” คือไปจาก “เมืองพวน” ที่เราได้ไปเยือนอย่างตื่นเต้นและสนุกสนาน

คนพวนเป็นคนแปลกประหลาด คือ อยู่เมืองลาว ถูกเรียกว่าเป็น “ไทพวน” แต่อยู่เมืองไทยกลับถูกเรียกว่าเป็น “ลาวพวน” พอทราบข้อมูลทางชาติพันธุ์ผมก็ใช้วิชา “ประวัติศาสตร์การเมือง” กระเซ้า อ.ทวีว่า ตระกูลของ อ. ไม่ได้ “อพยพ” มาหรอก แต่ถูก “กวาดต้อน” และ/หรือไม่ก็ถูก “เทครัว” มาจากเมืองลาวมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือสมัยสงคราม “เจ้าอนุวงศ์” เป็นแม่นมั่น อ.ทวี พยักหน้าอย่างผู้ใหญ่ใจดี ทำท่าเหมือนกับว่าเข้าใจและยอมรับการตีความทาง “ประวัติศาสตร์การเมือง” ของผม

ครับ แล้วนี่ก็เป็นภาพการเยือนลาวของ อ.ทวี และของเราเมื่อ 22 ปีที่ผ่านมา

อ.ทวี หมื่นนิกร อ.เกริกเกียรติ และผม กลับจาก สปป.ลาว พร้อมด้วยความรู้สึกใหม่ๆ ของ “เศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์การเมือง” เมื่อ 14 เมษายน 2530 อ.ทวี มีส่วนที่ “สอนให้ผมรักและเข้าใจเพื่อนบ้านอย่างลาว” เราประทับใจ ติดตา ตรึงใจ เราดื่มด่ำ

ลาวที่เราเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสธารของกาลเวลา หลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้เห็น ก็ค่อยๆ ละลายหายไป แต่เราก็รักษาความสัมพันธ์อันดีกับมิตรใหม่ ติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ

อีก 3 ปีกับ 9 วันต่อมา อ.ทวี ก็จากเราไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2533 ด้วยโรคหัวใจบนรถไฟ ขณะเดินทางไปสอนหนังสือในโครงการธุรกิจสู่ชนบทของคณะพาณิชย์ฯ มธ.ที่อำเภอพรหมพิราม พิษณุโลก สิริรวมอายุได้  60 ปี

ผมนึกไม่ออกว่าหาก อ.ทวีมีชีวิตยืนยาวมาถึงทุกวันนี้ ในขณะที่บ้านเมืองลาวก็เปลี่ยนแปลงไปจนเกือบจำไม่ได้ (สำหรับผม) และที่ร้ายก็คือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสยามประเทศไทยของเรานั้น อ.ทวีจะพูดกับเราว่าอย่างไร ครับ อดีตเมื่อ 2530 ของเราช่างเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “The past is a foreign country, they do things different there.”

ครับ


พฤษภ        ผกาสร
อีกกุญชร        อันปลดปลง
โททนต์        เสน่งคง
สำคัญหมาย    ในกายมี
นรชาติ        วางวาย
มลายสิ้น        ทั้งอินทรีย์
สถิตทั่ว        แต่ชั่วดี
ประดับไว้        ในโลกา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net