Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2552 มีการอภิปรายเรื่อง “220 ปี การปฏิวัติฝรั่งเศส” ที่อาคารบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ผศ.สุวิมล รุ่งเจริญ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พิริยะดิศ มานิตย์ อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.จรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นผู้ร่วมอภิปราย มี ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
โดยเรื่อง “การปฏิวัติฝรั่งเศส” ที่นำมาอภิปรายในครั้งนี้มาจากเหตุการณ์ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1789 ในยุคนั้นของฝรั่งเศสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชน กรรมกร ชาวนายากจนกันถ้วนหน้า รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องการขึ้นภาษีกับนายทุนและคนจน ในขณะที่ตนเองเสพสุข นอกจากนี้รัฐบาลพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบการเมือง โดยมีสภาขุนนางและสภานักบวชในศาสนาคริสต์ ที่คอยกีดกันความต้องการของพลเมือง บรรดาเสนาบดีที่เสนอแนวคิดฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างถูกปลดออกจากตำแหน่ง
 
ความไม่พอใจจากการปกครองของพระเจ้าหลุยส์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการออกมาก่อจลาจลในวันที่ 12 กรกฎาคม 1789 มีการจัดตั้งคอมมูนปารีส (Paris Commune) ในวันที่ 13 กรกฎาคม จนกระทั่งถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ประชาชนจึงพากันลุกฮือขึ้นยึดคุกบาสตีย์ (Bastille) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจ การปกครองอย่างป่าเถื่อน และกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาลภายใต้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปีจึงได้กลายเป็นวันชาติฝรั่งเศส
 
สาเหตุที่มีการยึดคุกบาสตีย์ในปี 1789 ไม่ใช่เพื่อปล่อยนักโทษไม่กี่คนที่ยังติดคุกอยู่ แต่สาเหตุหลักคือ นอกจากเป็นคุกแล้วมันยังเป็นคลังอาวุธด้วย ประชาชนคนยากคนจนในปารีสได้เริ่มกระบวนการปฏิวัติฝรั่งเศส ด้วยการยึดอาวุธจากรัฐบาลกษัตริย์นั่นเอง
 
000
 
 
หนังสือต้องห้ามสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส
 
ผศ.สุวิมล รุ่งเจริญ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านและหนังสือต้องห้ามในสมัยที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส โดย ผศ.สุวิมล เริ่มต้นการอภิปรายโดยการกล่าวว่าโดยปกติหากพูกถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสเรามักจะนึกถึงกลุ่มผู้มีแนวคิดปรัชญาภูมิธรรม เช่น มองเตสกิเออ ผู้เขียน Spirit of Laws หรือวอลแตร์
 
ผศ.สุวิมล พูดถึงวอลแตร์ต่อว่า เขาเป็นนักเขียนแนวเสียดสี (Satire) ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเขียนจดหมายโต้ตอบกันระหว่างชาวอังกฤษกับชาวฝรั่งเศส ซึ่งชาวฝรั่งเศสในเรื่องเห็นว่าอังกฤษเป็นประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเนื่องจากมีการกำจัดกษัตริย์ออกไป ขณะเดียวกันชาวฝรั่งเศสในเรื่องก็ได้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของตัวเองให้ฟัง
 
ซึ่งขณะเดียวกัน ผศ.สุวิมล ก็กล่าวถึงวอลแตร์ในฐานะผู้มีแนวคิดแบบปรัชญาภูมิธรรมว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นผู้ที่สนับสนุนกษัตริย์ ต้องการให้บ้านเมืองมีกษัตริย์ที่ดี แต่กษัตริย์ในตอนนี้ไม่เป็นอย่างที่พวกเขาต้องการ แต่ก็มีแนวคิดว่าจะสามารถสั่งสอนกษัตริย์ให้เป็นคนดีขึ้นเองได้
 
หลังจากนั้น ผศ.สุวิมล ก็ได้ยกบทความของ Robert Darnton ที่เขียนในปี 1989 เรื่อง “The forbidden Books of Pre-Revolutionary France” (หนังสือต้องห้ามช่วงยุคก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส) ขึ้นมาอภิปราย
 
ผศ.สุวิมล กล่าวว่่า มีเรื่องที่ Darnton ได้ศึกษาเรื่องวรรณกรรมต้องห้ามของฝรั่งเศส ซึ่งเอารายชื่อหนังสือเหล่านี้มาจากทะเบียนหนังสือที่ถูกยึดของปารีส เช่น ที่มาจากการยึดของศุลกากร ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือลักลอบพิมพ์ (Pirated books) หมายถึงหนังสือที่ไม่ได้ใบอนุญาตพิมพ์ (License) และส่วนมากหนังสือเหล่านี้จะมาจากต่างประเทศ ขายได้มาก ราคาค่อนข้างถูก
 
ผศ.สุวิมล กล่าวถึงงานศึกษาของ Darnton ว่า ข้อมูลเรื่องหนังสือต้องห้ามอีกส่วนได้มาจากตำรวจ และจากแคตตาล็อก โดยระบุว่าบางส่วนก็เป็นแค่หนังสือที่ตีพิมพ์อย่างไม่ถูกต้อง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นหนังสือที่เป็นหนังสือต้องห้ามที่ถูกเรียกว่า Bad Books อย่างไรก็ตาม ผศ.สุวิมล บอกว่าในขณะเดียวกัน พวกกลุ่มที่สนับสนุนหนังสือเหล่านี้จะเรียกหนังสือต้องห้ามว่า Lives Philosophique ซึ่งมีการจำกัดความว่าเป็น “Nothing but highly illegal work” (เป็นเพียงผลงานที่ผิดกฏหมายมาก) เป็นหนังสือที่ไม่มีชื่อผู้แต่ง, โรงพิมพ์ และถึงขั้นไม่ระบุปีที่พิมพ์
 
“หนังสือพวกนี้ ไม่มีทางยอมให้ตีพิมพ์ เพราะมันถูกบอกว่าเสื่อมเสียต่อศีลธรรม” ผศ.สุวิมล กล่าว โดยขยายความคำว่าเสื่อมศีลธรรมในสมัยนั้นว่าถูกแบ่งออกเป็นสามแบบคือ ต่อต้านศาสนา (Irreligious), ทำลายความสงบ (Seditious) และหนังสือโป๊ (Pornographic)
 
ผศ.สุวิมลแจงถึงประเภทหนังสือต้องห้ามของยุคก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสว่ามีตั้งแต่แนวนิยายผจญภัย, เรื่องประวัติของคนอื่นในทางไม่ดี, เรื่องอื้อฉาว และหนังสือโป๊
 
“ถ้าถูกจับ สำนักพิมพ์หนังสือพวกนี้อาจจะเจ๊งไปเลย” ผศ.สุวิมลกล่าว โดยบอกวิธีซ่อนหนังสือเหล่านี้ว่าบางครั้งก็มีการพิมพ์แบบสอดไส้ เช่นใช้หน้าปกเป็นไบเบิลแต่เนื้อในก็แอบซ่อนๆ เอาไว้
 
ผศ.สุวิมล พูดถึงประเด็นเดียวกันต่อด้วยว่า แต่บางครั้งก็มีตำรวจดีๆ ที่มาเตือนให้เจ้าของร้านหนังสือ หรือบริษัทเย็บเล่มหนังสือให้เก็บหนังสือก่อนมีการมาตรวจค้น “บางคนถึงขั้นบอกให้เอาไปซ่อนไว้ที่บ้านตำรวจเองเลยก็มี เพราะคงไม่มีใครคิดไปค้นบ้านตำรวจด้วยกัน”
 
โดย ผศ.สุวิมล พูดถึงเรื่องนี้ต่อว่าพวกสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ว่าจะไม่ค่อยถูกจับ ขณะที่ร้านค้ารายย่อยหรือส่งหนังสือตัวเล็กๆ จะเป็นพวกที่ถูกจับมากกว่า “บางทีก็มีการเผาหนังสือ ทำให้หมดอาชีพ หมดทุนรอนกัน แต่ถ้าเป็นร้านใหญ่ๆ จะยังอยู่ได้” ผศ. สุวิมล กล่าว
 
จากนั้นอาจารย์ผู้อภิปรายเรื่องหนังสือต้องห้ามก็เริ่มพูดถึงหนังสือต้องห้ามที่ขายดีจนถือเป็น Best seller โดยเริ่มบอกว่าหนังสือต้องห้ามในยุคก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นประเภทที่ขายดีที่สุด ซึ่งพบได้แม้แต่ในห้องสมุดและร้านหนังสือเก่ามาจนถึงปัจจุบัน
 
ผศ.สุวิมล กล่าวถึงผลงานของ Le Marquis D’Argens เรื่อง Theres Philosophique (1784) ว่า “ชื่อมันฟังดูเหมือนเป็นหนังสือปรัชญา” ก่อนให้ข้อมูลของหนังสือเล่มนี้ “หน้าปกหนังสือเขียนไว้ว่าเป็น Memoir (บันทึกความทรงจำ) ของมาดมัวแชลคนหนึ่ง แต่จริงๆ เป็นเรื่องของหญิงที่ชื่อ Theres”
 
ผศ.สุวิมล นำเสนอเรื่อง Theres Philosophique ต่อว่า Theres เป็นหญิงที่อยู่ในซ่อง และเจ้าตัวก็เล่าประสบการณ์ที่ได้พบเจอกับเหล่าขุนนาง ซึ่งปรัชญาหรือ Philosophique ของเธอนั้นคือการที่มีความสุขได้โดยไม่มีลูก
 
“การคลอดลูกในสมัยก่อนเป็นอันตรายมาก จนกระทั่งถึง ศตวรรษที่ 19” ผศ.สุวิมล กล่าวและว่า “Theres เองก็เคยเห็นคนที่ได้รับอันตรายจากการคลอดลูก”
 
จากนั้น ผศ.สุวิมล จึงได้ยกตัวอย่างหนังสือเล่มต่อมาคือ Anecdotes Suu Mmr. Du Bare ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของมาดามดูบารี ซึ่งไม่ตรงกับประวัติที่เขียนโดยทางการ ผศ. สุวิมล เล่าว่า ในประวัติแบบของทางการจะเล่าเรื่องของมาดามดูบารีในลักษณะของการเป็นชนชั้นสูง ขณะที่ประวัติของเธอในหนังสือต้องห้ามเล่มนี้จะเล่าถึงเธอในแง่ของการเป็นคนที่เคยอยู่ในซ่องมาก่อน เป็นสามัญชนไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ แล้วถึงมีหนทางเข้าสู่ราชวงศ์ ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 โดยในหนังสือเล่มนี้ยังได้พูดถึงเรื่องเชิงซุบซิบในราชวงศ์ เช่นเรื่อง การเสื่อมสมรรถภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จนมาดามดูบารีเริ่มไม่สนใจพระองค์ จนต้องนำเด็กคนใหม่มาปรนนิบัติ และมีการลือกันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ ซึ่งติดมาจากเด็กสาวคนใหม่
 
“เชื่อได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้” ผศ.สุวิมลกล่าว และได้บอกอีกว่า แต่ในแง่หนึ่งมันเป็นการบ่อนทำลายสถาบัน จากเดิมที่สถาบันดูจับต้องไม่ได้ ในที่นี้จึงเป็นการนำสถาบันมาพูดถึงในแง่ของความเป็นสามัญชนทั่วไป “เรียกว่าทำให้ราชวงศ์ Decadent (เสื่อม) ... เป็นประวัติศาสตร์ในแบบของชาวบ้าน”
 
นักเขียนฝรั่งเศสคนสุดท้ายที่ ผศ.สุวิมล นำมากล่าวถึงคือ Louis-Sebastien Mercier โดยอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์บอกว่าเป็นนักเขียนเบสท์เซลเลอร์อันดับหนึ่ง ผู้เขียนเรื่อง L’An 2440 ซึ่งตีพิมพ์ใหม่หลายครั้งมากและในการตีพิมพ์ครั้งต่อๆ มาก็มีการเพิ่มเติมเนื้อเรื่องเข้าไปด้วย ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งคือ Tableau de paris ได้รับการแปลเป็นภาษายุโรปอีกหลายภาษา
 
ผศ.สุวิมล เล่าต่อว่างานเรื่อง L’An 2440 ถูกเขียนขึ้นในปี 1770 เล่าถึงปารีสในอนาคตอีกราว 700 ปีข้างหน้าคือในปี ค.ศ. 2440 โดยใช้ตัวละครเป็นชายคนหนึ่งซึ่งหลับไปราว 700 ปี และตื่นขึ้นมาพบปารีสในอนาคต เห็นว่าเป็นเมืองที่สะอาด บ้านเมืองสวยงาม มีอนุสาวรีย์ที่เป็นของนักเขียนนิยาย ไม่ใช่ของกษัตริย์ ผู้คนไม่ได้นับถือศาสนา แต่ก็มีศีลธรรม เป็นคนที่ปฏิบัติต่อกันดี
 
“คนดีในความหมายของเรื่องนี้คือคนที่ทำงานเก่ง” ผศ. สุวิมลกล่าวถึงนิยามในงานดังกล่าว และกล่าวอีกว่าในเรื่องนี้จะมีการให้รางวัลกับคนดีและไม่ใช่คนดีตามความหมายของแนวคิดเชิงอนุรักษ์ “…แต่ไม่ใช่คนดีที่หมายถึงผู้ที่ไปรบเพื่อชาติ หรือคนที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
 
ผศ.สุวิมล เล่าต่อว่าตัวเอกของเรื่องดังกล่าวเดินไปจนถึงพระราชวังแวร์ซายส์ ซึ่งกลายเป็นพระราชวังเก่าๆ ไม่มีอะไรเลยนอกจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่แก่มากแล้วนั่งอยู่ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ในเรื่องนี้พูดออกมาว่าเขาเสียดายที่ในสมัยที่เขาปกครองอยู่ไม่ได้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
 
โดย ผศ.สุวิมล กล่าวว่า หนังสือต้องห้ามเหล่านี้เป็นหนังสือที่เข้าถึงประชาชนเป็นจำนวนมากในช่วง 10 ปี ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส เนื่องจากในช่วง 20 ปีก่อนการปฏิวัติฯ ประชาชนมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นมาก
 
“หนังสือ illegal (ผิดกฏหมาย) พวกนี้ยังช่วยสะท้อนว่า ยังไงคนก็อยากอ่านเรื่องแบบนี้เพิ่มขึ้นมาก” ผศ.สุวิมล กล่าว
 
000
 
 
La Marseillaise แนวจิตวิเคราะห์
 
ต่อมา ดร.พิริยะดิศ มานิตย์ อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอเกี่ยวกับเพลงชาติของฝรั่งเศส “La Marseillaise” โดยอาศัยหลักจิตวิเคราะห์ ดร.พิริยะดิศ นำเสนอว่าแต่เดิมเพลงนี้เป็นเพลงมาร์ชของทหารฝรั่งเศส ก่อนที่ต่อมาเพลงนี้จะได้รับความนิยมจากมวลชน จนกลุ่มปฏิวัติฝรั่งเศสนำมาใช้ในการต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราช แล้วกลายเป็นเพลงชาติฝรั่งเศสมาจนถึงทุกวันนี้
 
 
เนื้อเพลงชาติฝรั่งเศสที่แปลโดย ดร.พิริยะดิศ มานิตย์
 
ลุกขึ้น ! ลูกๆ ของมาตุภูมิ
วันแห่งเกียรติยศมาถึงแล้ว
ตรงข้ามกับเรานั้น คือ ธงศึกเปื้อนเลือดที่พวกทรราชชูขึ้น
และท่านได้ยินไหมว่า ตามท้องทุ่ง
พวกทหารใจโฉดกำลังกู่ก้องคำราม
พวกมันจะบุกมาเชือดคอทั้งลูกเมีย
ทั้งที่พวกเขายังอยู่ในอ้อมอกของท่าน
 
จงจับอาวุธเถิด ราษฎรทั้งหลาย
จงตั้งกองทัพขึ้นมา
เดินหน้า เดินหน้า
เพื่อว่าเลือดอันมีมลทิน
จักต้องหลั่งชโลมไปตามรอยไถ
 
ไอ้วพกทาส พวกทรยศ และพวกเจ้าเหล่านี้ มันต้องการอะไรน่ะหรือ
ก็โซ่ตรวนบัดซบเหล่านี้มีไว้ใช้กับใครกันเล่า
ก็กับพวกเราน่ะซี ชาวฝรั่งเศสทั้งหลาย
มันน่าแค้นนัก
พวกเรานั่นเอง ที่มันบังอาจคิดจะกดหัวไว้เป็นทาสดังสมัยโบราณ
 
อะไรกัน ! ไอ้พวกกองทหารต่างชาตินี่หรือ
ที่จะมาวางกฏ วางเกณฑ์ในบ้านของเรา
อะไรกัน ! ไอ้พวกกองทัพรับจ้างนี่หรือ
ที่จะมาล้มนักรบผู้องอาจของเรา
เจ้าข้าเอ้ย ! นี่เราต้องก้มหัวให้มันกดขี่
มือตีนถูกล่าม มีพวกทรราชระยำเป็นเจ้าชีวิต
 
จงสั่นสะท้านเถิด พวกทรราช พวกปลิ้นปล้อนทั้งหลาย
ความอัปยศของคนทุกหมู่เหล่า จงสั่นสะท้านเถิด
แผนทำลายชาติของพวกเอ็ง สุดท้ายจะต้องรับผลกรรม
ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกนำมาใช้เพื่อประหัดประหารกับพวกเอ็ง
และถ้าวีรบุรุษหนุ่มน้อยของเราจะล้มตายไปบ้าง
แผ่นดินก็จักสร้างวีรบุรุษขึ้นมาใหม่
ซึ่งพร้อมที่จะสู้กับพวกเอ็ง
 
ชนฝรังเศส นักรบผู้เกรียงไกร
ขอจงทั้งใช้ และรั้งอาวุธของท่าน
จงไว้ชีวิตเหยื่อที่น่าสมเพช
ซึ่งมิได้เต็มใจห้ำหั่นกับเราเลย
แต่อย่าไว้ พวกกดขี่จอมกระหายเลือด
แต่อย่าไว้ พวกที่สมรู้ร่วมคิดกับนายพลบูเย่ 1
เพราะพวกนี้ มันคือเสือที่ฉีกกระชากทรวงอกแม่ของมันอย่างไร้ความปราณี
 
ความรักอันศักดิ์สิทธิ์ต่อมาตุภูมิเอ๋ย
ขอจงนำและประคองแขนของเราผู้มุ่งล้างแค้นด้วยเถิด
เสรีภาพเอ๋ย เสรีภาพที่รัก
 
ขอจงร่วมสู้กับผู้ที่ปกป้องเธอเถิด
ภายใต้ธงของเรา ชัยชนะเอ๋ย
ขอจงรีบมา ให้สง่างามสมชายชาตรีแบบเจ้า
ขอศัตรูที่กำลังจะสิ้นใจ
จงประจักษ์ ความมีชัยของเจ้า และเกียรติภูมิของเรา
 
หากพี่เราตาย เราก็รับช่วงต่อ
เถ้าธุลีของพี่ คือร่องรอยแห่งคุณธรรม
เราไม่ได้อยากจะอายุยืนกว่าพี่เลย
แต่อยากจะไปนอนร่วมในโลงศพของพวกเขามากกว่า
เพราะเรามีความหยิ่งทะนงที่สูงส่ง
ในการล้างแค้นให้และตามพวกเราไป
 
 
1 หมายถึง - นายพลบูเย่ เป็นผู้ที่เตรียมการหลบหนีให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16
 
 
ดร.พิริยะดิศ ชี้ว่าเพลงนี้มีเนื้อหารุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มีองค์ประกอบที่แฝงเรื่องของการที่ลูกชายลุกขึ้นมาต่อสู้กับพ่อ เพราะมีความรักต่อแม่อยู่ ซึ่งตรงจุดนี้โยงได้กับเรื่องของปมโอดิปุส (Oedipus Complex)
 
ปมโอดิปุสคือปมที่เกิดขึ้นในเด็กผู้ชายช่วงอายุ 3-5 ปี ซึ่งซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยา อธิบายว่าเป็นช่วงที่เด็กผู้ชายจะติดแม่มาก มีความต้องการครอบครองแม่แต่เพียงคนเดียว และต้องการร่วมรักกับแม่ แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าแม่และพ่อรักกัน และก็รู้ดีว่าตนด้อยกว่าพ่อทุกอย่าง ทั้งด้านกำลังและอำนาจ รวมถึงมีความรักและกลัวพ่อ ทำให้เด็กเก็บกดความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของแม่ และหันมาเลียนแบบพ่อโดยการทำตัวให้เหมือน “ผู้ชาย” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
 
โดย ดร.พิริยะดิศ ได้ชี้ให้เห็นว่าในเนื้อเพลงมีองค์ประกอบความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับแม่ คือระหว่างประชาชนกับมาตุภูมิ ผู้อภิปรายได้บอกอีกว่านอกจากในเนื้อเพลงจะมีเรื่องของการสร้างความเป็นพวกเดียวกันแล้วยังมีเรื่องของความเป็นชายในวลีเช่น “นักรบผู้เกรียงไกร” แต่ขณะเดียวกันก็มีประโยคที่ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นลูก ความเป็น “กองทัพของลูกชาย”
 
ทางด้านเกี่ยวกับ “แม่” ดร.พิริยะดิศ บรรยายว่า ในเพลงนี้ทำให้แผ่นดินกับบุพการีเป็นเรื่องเดียวกัน โดยอธิบายคำว่า La Patrie ในเพลงจะหมายถึงแผ่นดินพ่อหรือแม่ก็ได้ แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะเป็นมารดา เนื่องจากมีเนื้อร้องที่บอกว่า “แผ่นดินก็จักสร้างวีรบุรุษขึ้นมาใหม่” ซึ่งหมายถึงความสามารถในการสร้างชีวิตใหม่ และมีการกล่าวถึง “ทุ่งหญ้า” ที่สื่อได้ถึง บ้าน ความอบอุ่น ความสงบ และทั้งหมดก็ล้วนสื่อไปถึงครรภ์มารดาได้ โดยผู้อภิปรายบอกว่าเพลงนี้ได้แสดงถึงความผูกพันธ์ลึกซึ้งของลูกชายที่มีต่อมาตุภูมิ
 
ดร.พิริยะดิศ ยังได้กล่าวถึง “ธง” ในเพลงในแง่ของการแทนความเป็นชายชาติทหาร และการครอบครองธงก็เป็นการแสดงความเป็นชายต่อหน้าแม่
 
ขณะเดียวกันในมุมมองของ ดร.พิริยะดิศ เพลงนี้ยังได้สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกอยู่ด้วย โดยอธิบายตามหลักจิตวิเคราะห์ว่าลูกจะรักและหวงแหนแม่แต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวันก็รู้สึกว่าพ่อเป็นตัวเกะกะระราน ซึ่ง “พ่อ” ในเพลงนี้เป็นผู้ครอบครอง “แม่” คือแผ่นดิน และเป็นศัตรูของ “ลูก” คือประชาชน
 
ดร.พิริยะดิศ ได้อธิบายต่อว่าความขัดแย้งระหว่าง “พ่อ” กับ “ลูก” เช่นนี้ทำให้ พ่อพยายามข่มขู่ลูกด้วยการตอน (Castration) ด้วยวิธีการหยามเหยียดความเป็นชาย เช่นในวลี “ธงศึกเปื้อนเลือดที่พวกทรราชชูขึ้น” เป็นการแสดงความหมายในเชิงคุกคามความเป็นชายของฝ่ายลูกหรือประชาชนอย่างชัดเจน
 
“พ่อใช้วิธีทำให้ลูกชายกลัวเพื่อให้ละทิ้งความปรารถนาในตัวแม่” ดร.พิริยะดิศ กล่าว “เพลงชาติแสดงความคัดข้องใจจากการถูกปกครองโดยพ่อ พ่อก็ต้องข่มขู่ลิดรอนเสรีภาพ”
 
ดร.พิริยะดิศ กล่าวโดยรวมว่า ความล้มเหลวของรัฐทำให้เกิดความอยากทำปิตุฆาต คือ ความเกลียดและอยากทำลายพ่อ
 
“เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพลงปลุกใจที่หล่อเลี้ยงความปรารถนาในการโค่นทรราช ขณะเดียวกันก็แฝงความสุขในการได้ทำปิตุฆาตด้วย” อ.พิริยะดิศ กล่าว
 
 
 
ข้อมูลประกอบ
http://en.wikipedia.org/wiki/Louis-S%C3%A9bastien_Mercier (เข้าดูเมื่อ 22 กรกฎาคม 2552)
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1267 (เข้าดูเมื่อ 22 กรกฎาคม 2552)
http://www.workers-voice.org/adtusite/article06/frenchrev.html (เข้าดูเมื่อ 22 กรกฎาคม 2552)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net