Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในทศวรรษ 2480 รัฐบาลไทยได้สร้าง “ประเทศไทยใหม่” ขึ้นมา อย่างที่คนในรุ่นก่อนแทบจะไม่สามารถจินตนาการถึงได้ การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของรัฐอย่างพลิกแผ่นดินนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการถ่ายโอนอำนาจการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น แต่รัฐยังต้องเข้าไปสถาปนาสัญลักษณ์ใหม่ ความหมายใหม่และอำนาจใหม่ที่เป็นตัวแทนของสามัญชนและความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย [1] ผ่านปฏิบัติการที่หลากหลายอีกด้วย

ประเทศไทยใหม่ไม่ได้มีจุดหมายเพียงแค่การเป็นเอกราชเท่านั้น แต่ยังมีความมุ่งหวังสูงสุดก็คือ การสร้างตนจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ โดยช่องทางความเป็นมหาอำนาจนั้นรัฐได้ใช้มาตรการทางวัฒนธรรมในการสร้างมโนทัศน์ที่ทำให้สังคมรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ รัฐได้ใช้วิทยาการ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นฐานสำคัญในการสร้างชาติให้ก้าวสู่ความเป็นอารยะ-มหาอำนาจอีกด้วย
 
หลักวิชาทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้ผสมผสานกับแนวคิดวัฒนธรรมแห่งชาติ ผ่านเรือนร่างและความสัมพันธ์ทางเพศ ตลอดจนพื้นที่ครัวเรือนได้อย่างน่าสนใจ และยังนำไปสู่นวัตกรรมที่สร้างความหมายใหม่ในที่นี้จะนำไปสู่เรื่องของ “วันแม่” ที่รัฐได้ให้ความสำคัญขึ้นมาพร้อมๆ กับปฏิบัติการทางสังคมในบริบทดังกล่าว
 
ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่รัฐไทยสมัยนั้นเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการจะเป็นมหาอำนาจนั่นก็คือ การส่งเสริมการเพิ่มประชากรทั้งปริมาณกล่าวกันว่าจอมพล ป. คาดว่าเมืองไทยต้องมีพลเมืองกว่า 40 ล้านคนถึงจะเป็นอำนาจ [2] และในอีกด้านหนึ่งก็คือ คุณภาพของประชากร ซึ่งสอดคล้องกับวาทกรรมยูจีนิกส์ (Eugenics) [3] หรือ “หลักการบำรุงเผ่าพันธุ์มนุษย์” โดยมีความเชื่อว่าเด็กที่สมบูรณ์จะต้องเกิดมาจากบิดาและมารดาที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ วาทกรรมดังกล่าวยังสัมพันธ์กับเรื่องเพศ ที่ครอบคลุมถึงการสมรส การสืบพันธุ์ และการให้กำเนิดบุตร ฯลฯ [4]
 
 
เรือนร่างในอุดมคติ
ภารกิจแห่งชาติในการที่ไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวมิใช่จะลุล่วงด้วยความพยายามของรัฐแต่เพียงอย่าง
เดียว
 
แต่ยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเรือนร่างบุคคล และความสัมพันธ์ทางเพศที่มีคุณภาพ ซึ่งนำไปสู่ความคิดเรื่องรูปร่างสัดส่วนและทรวดทรงของผู้ชาย-ผู้หญิงอีกด้วย รัฐได้ให้นิยามเกี่ยวกับความงามของทรวดทรวงของผู้ชาย-ผู้หญิงที่เปลี่ยนไป ความงามอย่างพระเอก-นางเอกลิเกถูกปฏิเสธ เรือนร่างที่สูงระหง เอวคอด ผิวเนื้อขาวเหลือง ไม่ได้เป็นจริตความงามของรัฐอีกต่อไป ร่างกายที่กำยำ ล่ำสัน อกผายไหล่ผึ่ง ทำงานได้ทั้งหนักและเบา ร้อนและหนาว แดดและฝนต่างหาก ที่เป็นนิยามของความงามแบบใหม่ [5] สิ่งเหล่านี้ได้ฉายสะท้อนให้เห็นในพื้นที่สาธารณะด้วยการจัดประกวดชายฉกรรจ์ ในวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน 2483 ณ ท้องสนามหลวง ผู้มีสิทธิ์เข้าประกวดต้องมีสัญชาติไทยอายุ 20 ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวไทยในการบริหารร่างกายให้มีสุขภาพดีและทำให้งานปีใหม่ครึกครื้น และยังปรากฏว่ามีการจัดประกวดแบบนี้ในงานต่างๆ เช่น งานวัด ตลาดนัด และใช้เกณฑ์พิจารณาในการตัดสินเดียวกันแสดงถึงความนิยมและแพร่หลายในระดับหนึ่งอีกด้วย [6] ในทำนองเดียวกันกับเรือนร่างสตรีเพศที่ไม่ใช่คนเอวบางร่างน้อย แต่เปลี่ยนมุมมองไปสู่ความต้องการ “คนงามแข็งแรงที่มีสุขภาพมั่นคง” ได้มีการวางเกณฑ์และมาตรฐานเรือนร่างในการประกวดนางงามดังนี้ [7]
 
1. มีความสูงอย่างน้อย 156 เซนติเมตร (5 ฟุต1 1/2 นิ้ว) ขึ้นไป (วัดโดยไม่สวมรองเท้า)
2. มีน้ำหนักประมาณ 50-53 กิโลกรัม
3. ขนาดรอบอกกว้าง 81 เซนติเมตร รอบเอว 63 เซนติเมตร รอบสะโพก 84 เซนติเมตร รอบคอ 32 เซนติเมตร รอบน่อง 32 เซนติเมตร นอกจากมาตรฐานตัวอย่างซึ่งคำนวณให้ได้ส่วนตามความสูง 156 เซนติเมตร ดังกล่าว หากสตรีใดมีความสูงกว่า 156 เซนติเมตร สัดส่วนก็ควรเพิ่มขึ้นตามลำดับ
4.เมื่อได้มาตรฐานสัดส่วนของร่างกายแล้วก็คงต้องพิจารณาถึงหลักสุขภาพต่อไป เช่นจะต้องดูว่า ทรวงทรงผิดปกติ หลังโกง ไหล่ห่อแข้งขาคดประการใดบ้าง วิธีดูว่าแข้งคดหรือไม่นั้น ให้ยืนตรงส้นเท้าและนิ้วหัวแม่เท้าทั้งสองชิดกัน ให้มองดูว่ามีช่องโหว่ระหว่างแข้งทั้งสองมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่มีหมายความว่าแข้งไม่คด ถ้ามีมากคดมาก ถ้ามีน้อยคดน้อย ผู้ที่ไม่คดมากก็ไม่ควรได้รับการพิจารณา [น่าจะเป็นว่า “ผู้ที่คดมาก็ไม่ควรได้รับพิจารณา”มากกว่า-ผู้เขียน]
5.อ้าปากและตรวจฟันว่าเป็นระเบียบเรียบร้อยตามธรรมชาติหรือไม่ ผุ เหยเก ตัดหรือเปล่า ควรพิจารณาว่านางงามต้องมีฟันสมบูรณ์ตามธรรมชาติ (ไม่ใช่ใส่ฟัน เลี่ยมฟัน หรือมีฟันห่าง)
6. ผิวพรรณและผม ขอให้พิจารณาโดยละเอียดว่ามีโรคเกี่ยวแก่ผิวหนังหรือไม่
7. เมื่อผ่านหลักสุขภาพมาได้แล้ว จึงควรพิจารณาในแง่ความงามตามศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมต่อไป
 
น่าคิดเช่นกันว่า ภายใต้มาตรฐานดังกล่าว จะทำให้สาวๆในปัจจุบันจะเห็นเป็นเช่นไร ในเมื่ออุดมคติ
เกี่ยวกับความงามได้เปลี่ยนแล้ว
 
 
การสมรส การมุ้งภายใต้การสอดส่องของรัฐ
การสมรสและสร้างครอบครัวนั้น มองโดยผิวเผินแล้วจะเห็นว่าเป็นความพึงพอใจระหว่างครอบครัวฝ่ายชาย-หญิง หรือบนพื้นฐานความรักแบบปัจเจกชนระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น รัฐได้แทรกแซงความสัมพันธ์ดังกล่าวเข้ามาโดยที่ไม่รู้ตัว ในฐานะผู้ปรารถนาดี รัฐได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำการแต่งงานสร้างครอบครัว พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายในเชิงวัฒนธรรมโดยการตั้งข้อสังเกตเรื่องสินสอดทองหมั้นว่า ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่สูงส่งของชาติเรา อย่าให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าเป็นการซื้อขายลูกสาว ซึ่งสอดคล้องแนวทางของรัฐบาลที่เรียกร้องให้ฝ่ายหญิงเรียกสินสอดทองหมั้นแต่น้อยเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อชายโสดในการทำการสมรส [8]
 
หนังสือ ประตูทองสู่ชีวิตวิวาห์ เป็นหนังสือที่นำเสนอแนวทางการดำเนินชีวิตสมรสและแนวทางในการแก้ปัญหาชีวิตสมรส แสดงให้เห็นว่าชีวิตสมรสมีส่วนที่ทำให้บุคคลมีความก้าวหน้าหรือเสื่อมลง เป็นทั้งการสร้างชาติในการเพาะพลเมือง [9] รวมไปถึงการที่รัฐออกประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเรื่อง “วัธนธัมผัวเมีย” ที่ชี้ให้เห็นชีวิตคู่มีความสำคัญที่สุด และสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันครอบครัวและประชากรทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณอันจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของชาติ [10] หลังจากตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นในปี 2485 รัฐก็ได้ทำการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการสมรสขึ้นในกระทรวงเพื่อความสะดวกในการสมรส อันคำนึงถึงความประหยัด ให้ชี้แนะเกี่ยวกับการตรวจร่างกายก่อนสมรส รวมไปถึงการกำหนดพิธีสมรสมากคู่ในคราวเดียวซึ่งจะกล่าวต่อไป [11] รัฐยังได้จัดหาลู่ทางให้ชายและหญิงได้พบปะกันโดยการจัดตั้งสำนักงานสื่อสมรส ภารกิจดังกล่าวจึงไม่แตกต่างไปกับ “มาลัยเสี่ยงรัก” ที่จับคู่ให้หญิงสาวชายหนุ่มได้มีโอกาสพบรักกัน แต่สำนักงานสื่อสมรสงอกเงยด้วยคติพจน์ที่ว่า ทุกคนมีหน้าที่สร้างชาติ การสมรสเป็นการสร้างชาติ สมรสเมื่อวัยหนุ่มสาว ทำให้ชาติเจริญ การสมรสที่มีหลักฐาน สร้างความมั่นคงแก่ชาติ และคู่สมรสที่มีสุขภาพดีทำให้ชาติแข็งแรง [12]
 
ไม่เพียงแต่มาตรการจูงใจเท่านั้น รัฐบาลยังได้ออกมาตรการเชิงบังคับเพื่อจัดการผูกมัดให้หนุ่มโสดทั้งหลายต้องรีบแต่งงาน ด้วยการออกพระราชบัญญัติภาษีคนโสด พ.ศ.2487 จัดเก็บที่อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ภาษีนี้อยู่นอกเหนือจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งชายโสดต้องเสียเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แต่ยกเว้นเก็บภาษีหญิงโสด [13]
 
นอกเหนือไปจากความสุขในหน่วยการผลิตที่เรียกว่าครอบครัวแล้ว ยังพบว่ารัฐได้ให้คำแนะนำในการเลือกคู่ครองผ่านความคิดเกี่ยวกับเรือนร่าง พันธุกรรม และความมีสุขภาพที่แข็งแรงมั่นคงว่า “หากเห็นความสำคัญของกรรมพันธุ์แล้ว ก็ควรจะเห็นความสำคัญของการเลือกคู่แต่งงานด้วย ไม่ควรจะแต่งกับบุคคลที่เป็นโรคด้วยความสงสาร หรือชอบพอในคุณสมบัติอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยพิบัติและจะเป็นผลร้าย น่าจะคำนึงถึงประเทศชาติ เพื่อความร่วมมือในการสร้างชาติต่อไป” [14] ดังนั้นบุคคลผู้มีโรคพันธุกรรมหรือพิการแต่กำเนิดจึงไม่ควรสืบพันธุ์ต่อไปในสายตาของรัฐ [15] ไม่เพียงเท่านั้นรัฐยังให้ความสำคัญกับโรคที่เป็นอันตรายต่อคู่สมรส และคุกคามต่อความสมบูรณ์ของเรือนร่าง โดยเฉพาะ กามโรค เนื่องจากพบว่าโรคดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ และเด็กที่ติดเชื้อนั้นหากไม่แท้ง ก็คลอดมาตาย หรือไม่ก็ทุพพลภาพ หรือปัญญาทราม [16] เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับช่วงอายุที่เหมาะสมในการแต่งงานที่จะมีผลต่อการให้กำเนิดบุตรของชายอยู่ที่ 20-30 ปี ในเพศหญิงอยู่ที่ 18-25 ปี [17] และสิ่งที่สะท้อนความห่วงใยของรัฐก็คือการจัดทำ คู่มือสมรส เผยแพร่แนะนำข้อปฏิบัติก่อนการสมรส ราวๆปี 2486 [18]
 
ไม่เพียงเท่านั้นการควบคุมและแทรกแซงของรัฐทำให้เราได้พบว่ามีความพยายามที่จะตรากฎหมายเพื่อบังคับให้คู่สมรสรับการตรวจทางการแพทย์ และได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนจึงทำการสมรสได้ ในการตรวจร่างกายนั้นแพทย์จะต้องทำการตรวจโรคทางพันธุกรรมที่อาจเป็นอันตราย ถ้าเป็นโรคที่บำบัดให้หายได้ก็ให้ระงับการสมรสไว้ชั่วระยะเวลาที่ใช้ในการบำบัด หากไม่สามารถบำบัดให้หายได้ก็มิอาจสมรสได้ [19]
 
 
ผู้หญิงกับความคาดหวังในการเป็น “แม่พันธุ์” แห่งชาติ
ในวัยเจริญพันธุ์แม้จะกล่าวได้ว่าทั้งชายและหญิงต่างก็ถูกคาดหวังที่จะเป็นหน่วยการผลิตพลเมืองไทยที่มีคุณภาพ ในสังคมไทยที่ชายมักเป็นใหญ่และให้คุณค่ากับพื้นที่ของผู้หญิงจำกัดอยู่ในครัวเรือนยิ่งทำให้ความคิดดังกล่าวลงรอยกันกับการบำรุงเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มุ่งให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และผู้หญิงก็นับเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลิตพลเมือง สิ่งที่สะท้อนความคิดดังกล่าวมีการบันทึกไว้ถึงความคิดของนายเอื้อง แก้วภักดี พลเมืองจังหวัดนครปฐมที่เห็นว่าผู้หญิงเป็น “แหล่งผลิตพลเมือง” โดยยกตัวอย่างว่าแม้มีชายสิบคน หญิงหนึ่งคนก็สามารถจะเพิ่มพลเมืองได้คนเดียวในหนึ่งปี ผิดกับหญิงสิบคน ชายหนึ่งคนก็อาจเพิ่มพลเมืองได้ถึงสิบคนในหนึ่งปี นายเอื้องยกเหตุผลมาโต้เถียงในกรณีที่รัฐมีนโยบายที่จะเอาทหารหญิงออกรบ ซึ่งจะส่งผลกระเทือนต่อการ “สร้างชาติ” และอาจทำให้ถูกกลืนชาติโดยง่าย [20] ในอีกความเห็นหนึ่งยิ่งไปกันใหญ่ นายบุรี ลักสนพรหม พลเมืองจังหวัดพระนครแสดงความเห็นว่า จากผลการสำรวจสำมะโนครัวปี พ.ศ.2480 หญิงมีจำนวนมากกว่าชาย ซึ่งมีหญิงมิได้สมรสมีจำนวนมาก เขาเห็นว่าทำให้ไม่มีโอกาส "ช่วยชาติบ้านเมือง" ขณะที่กล่าวหาหญิงที่ไม่ได้สมรสว่าบางรายยังเสียคนและเป็นภัยสังคมเพราะขาดผู้อุปการะดูแล จึงควรยอมให้ชายสมรสกับหญิงได้หลายคน โดยพิจารณาจากรายได้ว่าสามารถจะสมรสได้กี่คน [21]
 
 
การสมรสของชาติ
องค์การส่งเสริมการสมรสได้จัดให้มีงานประกอบพิธีสมรสของชาติครั้งแรก ณ ทำเนียบสามัคคีชัย 29 มีนาคม 2486 มีคู่บ่าวสาวเข้าร่วมพิธี 72 คู่ ครั้งที่ 2 ได้มีพิธีสมรสหมู่ขึ้นทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2487 [22] ไม่เพียงรัฐจะอำนวยความสะดวกในพิธีสมรส รัฐยังได้แจกโปรโมชั่นสวัสดิการทางสังคมให้กับคู่สมรสด้วย เช่น สามารถกู้เงินเกินเงินฝากร้อยละ 50 รัฐจะยกเงินค่าเล่าเรียนให้ลูกคนแรกของคู่สมรสทุกคู่ที่ได้ประกอบพิธีให้ ให้เข้าเรียนจนถึงชั้น ม.6 บริษัทสหสินิมา จำกัด อนุญาตให้คู่สมรสทุกคู่ดูหนังที่อยู่ในเครือฟรีๆ ทุกๆโปรแกรม โปรแกรมละ 1 ครั้งเป็นเวลา 30 วันตั้งแต่ลงทะเบียนสมรส สตรีมีครรภ์ยังได้สิทธิพิเศษลดค่าโดยสารรถไฟและรถประจำทางของเทศบาล ฯลฯ [23] ในทางกลับกันความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด ถูกรัฐปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากรรม รัฐพยายามที่จะปิดพื้นที่ไม่ให้เป็นอุปสรรคแก่การขยายจำนวนประชากร ถึงขนาดมีการควบคุมไว้เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ กล่าวคือการสั่งซ้อต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน และการนำไปใช้ต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์สั่งจ่ายเป็นรายๆ ไป [24]
 
 
ลูกไทย ลูกแห่งชาติ
ต่อเนื่องจากการสมรส ก็คือ การยกประเด็น “ลูกไทย” ขึ้นมา รัฐได้ทำการรณรงค์เรื่อง “อุปการะลูกไทย” สร้างโมเดลเด็กตัวอย่างในอุปการะของชาติ โดยกำหนดไปที่เด็กสัญชาติไทยโดยที่ทั้งบิดาและมารดามีสัญชาติไทย ต้องเป็นเด็กที่เกิดในวันที่ 1 มกราคม 2486 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอุปการะลูกไทยขึ้น เพื่อที่จะสำรวจและทำบัญชีเด็กที่เกิดวันที่ 1 มกราคม 2486 ทั่วประเทศ รัฐมีความตั้งใจที่จะดูแลเด็กรุ่นนี้ให้อยู่ดีกินดี ดูแลให้เรียนดี และอุปการะตามสมควร รัฐบาลได้รณรงค์และให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการแต่งบทกล่อมขวัญเมื่อมีอายุได้ครบ 1 เดือน [25] เมื่อเด็กมีอายุครบ 1 ปี รัฐเห็นว่าเด็กควรจะมีชื่อรอง และหวังที่จะอุปการะการศึกษาถึงขั้นมัธยม หรือโรงเรียนอาชีพ [26]
 
แน่นอนว่า “ลูกไทย” ได้เกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่อุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐไทยที่มุ่งจะสร้างมหาอาณาจักรไทย ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้อย่างดีก็คือ เมื่อกองทัพไทยสามารถยึดเชียงตุงได้ หลังจากลูกไทยเกิดได้ 14 วัน ก็ถือว่าได้ตื่นมาเห็น “แสงเงินแสงทองจากชัยชนะของกองทัพไทย” [27]รัฐบาลไทยและญี่ปุ่น ได้มีการเรียกชื่อเด็กเหล่านั้นว่า “ทารกของเอเชียตะวันออกอันยิ่งใหญ่” รัฐบาลทั้งสองถือว่าทารกที่เกิดวันนี้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ รัฐบาลทั้งสองยังได้จัดตั้ง “สมาคมมารดาแห่งเอเชียอันยิ่งใหญ่” อีกด้วย โดยมีท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามเป็นที่ปรึกษาสมาคม [28]
 
 
วันแม่ ความหมายและความเปลี่ยนแปร
การให้ความสำคัญกับวันสำคัญของรัฐกับวันแม่นั้น ในช่วงแรกไม่อาจกล่าวได้ว่ารัฐให้ความสำคัญจนถึงกับประกาศเป็นวันหยุดราชการ แม้มีหลักฐานว่าได้มีการประกาศให้วันที่ 10 มีนาคม 2486 เป็น “วันแม่” ซึ่งตรงกับวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข [29] และเป็นกระทรวงสาธารณสุขที่ได้จัดวันแม่ขึ้นเพื่อให้คนไทยรู้ถึงความสำคัญของวันแม่ ที่เปิดโอกาสให้บรรดาหญิงที่เป็นแม่มาประชุมพบปะกัน อันจะเกิดความสามัคคีและได้ความรู้ในการสงเคราะห์แม่และเด็ก กำหนดให้วันที่ 10 มีนาคม อันเป็นวันที่ก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขเป็นวันแม่ ครั้งแรกมีการจัดงานที่สวนอัมพรในวันที่ 10 มีนาคม 2486 มีการแจกของเล่นเด็ก แจกคู่มือสมรสให้หญิงที่บรรลุนิติภาวะแล้ว [30] ดังนั้นการยกความสำคัญของแม่นั้นจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็น “แม่ของประชาชาติไทย” อันหมายถึงความสำคัญของพลเมืองไทยที่จะมีต่อชาติไทย ต่อประชาชาติไทย ที่ประหนึ่งว่าผู้หญิงมีภารกิจสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสร้างชาติด้วยการให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร อย่างไรก็ตามมีอีกข้อมูลหนึ่งแห่งที่ยังต้องรอการตรวจสอบกล่าวว่า การจัดงานวันแม่ยังไม่ได้เป็นการระบุวันที่แน่นอนได้มีการปรับเปลี่ยนไปมาอยู่ และรัฐบาลได้รับรองให้เป็นวันที่ 15 เมษายนในปี 2493 [31]
 
เราไม่พบว่ารัฐบาลยกความสำคัญของวันแม่ขึ้นมาบรรจุในปฏิทินวันหยุดราชการของชาติเลย แต่ปรากฏในปี 2495 ที่มีการบรรจุ “วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินี (Queen’s Birthday) วันที่ 12 สิงหาคม” ถือว่าเป็นครั้งแรกซึ่งแม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่มี [32] ในที่สุดปี 2499 รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 15 เมษายน 2499 เป็น “วันแม่” และ วันจันทร์สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมเป็น “วันเด็ก” [33] ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าเป็นแนวความคิดที่พยายามจะเชื่อมโยงกับความคิดเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาโดยมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นผู้นำ ในช่วงทศวรรษ 2490 นี้เอง แต่หลังจากที่รัฐบาลถูกโค่นล้มด้วยอำนาจรัฐประหารในปี 2500 ก็ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่รัฐบาลเก่าได้ทำไว้เดิมขึ้นใหม่หลายประการ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ยกขึ้นมานี้ก็คือ การลบทิ้งความสำคัญของวันแม่ออกจากปฏิทินวันหยุดราชการ ในเดือนตุลาคม 2500 หลังจากผ่านไปแค่ 1 ปีเท่านั้น [34]
 
อย่างไรก็ตามความสำคัญของงานวันแม่ ดูเหมือนว่ายังไม่ได้ถูกผนวกรวมไปไว้กับวันเฉลิมพระชนมพรรษา เนื่องจากยังปรากฏว่าในปี 2515 สมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งอาจจะเป็นเพียงงานที่จัดกันในวงไม่กว้างนัก จนกระทั่งในปี 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอนโดยถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ [35] การผนวกรวมครั้งนี้จึงกลายเป็นการสร้างความหมายใหม่ของวันแม่ขึ้นมาท่ามกลางสภาพการเมืองแบบชาตินิยมอีกรูปแบบหนึ่ง [36] ในปลายทศวรรษ 2510 ต่อทศวรรษ 2520 ที่นำไปสู่สถานการณ์การเมืองอันแหลมคมในสังคมไทย.
 
 
เชิงอรรถ
* บทความนี้อุทิศแด่แม่ผู้ทำงานหนักทุกท่านในโลกใบนี้ แรงบันดาลใจของบทความชิ้นนี้ได้มาจากการอ่านงาน ก้องสกล กวินรวีกุล. การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2487 วิทยานิพนธ์หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545 จึงขอกล่าวระลึกถึงไว้ ณ ที่นี้ด้วย
[1] ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ : มติชน), 2547, น.299
[2] ก้องสกล กวินรวีกุล. เรื่องเดียวกัน, น.25
[3] เรื่องเดียวกัน, น.31-33
[4] เรื่องเดียวกัน, น.32
[5] เรื่องเดียวกัน, น.34
[6] เรื่องเดียวกัน, น.111
[7] ดูรายละเอียดมาตรฐานหญิงงามได้ใน เรื่องเดียวกัน, น.112-115
[8] เรื่องเดียวกัน, น.44-45
[9] เรื่องเดียวกัน, น.45-46
[10] เรื่องเดียวกัน, น.46
[11] เรื่องเดียวกัน, น.42
[12] เรื่องเดียวกัน, น.42-43
[13] เรื่องเดียวกัน, น.46
[14] ประชาชาติ (13 ตุลาคม 2481) อ้างใน ก้องสกล กวินรวีกุล. เรื่องเดียวกัน, น.33
[15] ก้องสกล กวินรวีกุล. เรื่องเดียวกัน, น.35
[16] เรื่องเดียวกัน, น.36
[17] เรื่องเดียวกัน, น.38
[18] เรื่องเดียวกัน, น.35-36
[19] อย่างไรก็ตามก้องสกลได้อธิบายไว้อย่างคลุมเครือว่ามาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้จริงหรือไม่ ด้วยกฎหมายใด เนื่องจากเพียงทำการยกตัวอย่างจากเยอรมันที่ได้ทำการใช้มาตั้งแต่ปี 1935/2478 ดูใน เรื่องเดียวกัน, น.35
[20] กจช.สร. 0201.25/919 ความเห็นนายเอื้อง แก้วภักดี เรื่องการเพิ่มพลเมือง พ.ศ.2485 อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น.39-40
[21] กจช.สร. 0201.25/1034 บุรี ลักสนพรหม เรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศ พ.ศ.2486 อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น.40
[22] เรื่องเดียวกัน, 2545, น.43
[23] เรื่องเดียวกัน, 2545, น.43
[24] เรื่องเดียวกัน, น.54
[25] เรื่องเดียวกัน, น.53
[26] เรื่องเดียวกัน, น.53-54
[27] เรื่องเดียวกัน, น.55
[28] เรื่องเดียวกัน, น.56
[29] เรื่องเดียวกัน, น.49 อย่างไรก็ตามมีการเปลี่ยนแปลงวันสถาปนา ให้ย้อนกับไปอ้างอิงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งตามประวัติได้การตั้ง “กรมสาธารณสุข” ในปี 2461 การเปลี่ยนแปลงนี้กระทำขึ้นในปี 2509 เมื่อความคิดแบบกษัตริย์นิยมได้สถาปนาอย่างมั่นคง จึงกลายเป็นว่าการตั้งกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นผลงานของคณะราษฎรและจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับกลายเป็นผลพวงจากพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 6 ไปเสีย ดู กระทรวงสาธารณสุข.ประวัติกระทรวงสาธารณสุข [ระบบอ้างอิงออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.moph.go.th/about/history/prav.htm (11 สิงหาคม 2552)
[30] ก้องสกล กวินรวีกุล. เรื่องเดียวกัน, น.26
[31] วิกิพีเดีย. "วันแม่แห่งชาติ (ประเทศไทย)"[ระบบออนไลน์].แหล่งอ้างอิง. http://th.wikipedia.org/wiki/วันแม่แห่งชาติ_(ประเทศไทย) (27 กรกฎาคม 2552)
[32] “เรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2495” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 56, 9 กันยายน 2495, น.2921 อย่างไรก็ตามสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยชี้ประเด็นนี้ไว้แล้วใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา” ใน ฟ้าเดียวกัน 2, 2(เมษายน – มิถุนายน 2547): 112
[33] “เรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2499” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73, ตอนที่ 34, 24 เมษายน 2499, น.1300
[34] “เรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2500” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 88, 15 ตุลาคม 2500, น.2466-2467
[35] วิกิพีเดีย. "วันแม่แห่งชาติ (ประเทศไทย)"[ระบบออนไลน์].แหล่งอ้างอิง. http://th.wikipedia.org/wiki/วันแม่แห่งชาติ_(ประเทศไทย) (27 กรกฎาคม 2552)
[36] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน เกษียร เตชะพีระ. "การเมืองไทยจาก 14 - 6 ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน" [ระบบออนไลน์].แหล่งอ้างอิง. http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999486.html (21 ธันวาคม 2550)
 
 
รายการอ้างอิง
ก้องสกล กวินรวีกุล. การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2487 วิทยานิพนธ์หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.
ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547,
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 56, 9 กันยายน 2495.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73,ตอนที่ 34, 24 เมษายน 2499.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 88, 15 ตุลาคม 2500.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา” ใน ฟ้าเดียวกัน 2, 2 (เมษายน – มิถุนายน 2547)
กระทรวงสาธารณสุข.ประวัติกระทรวงสาธารณสุข [ระบบอ้างอิงออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.moph.go.th/about/history/prav.htm (11 สิงหาคม 2552)
เกษียร เตชะพีระ."การเมืองไทยจาก 14 - 6 ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน" [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง. http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999486.html (21 ธันวาคม 2550)
วิกิพีเดีย. "วันแม่แห่งชาติ (ประเทศไทย)"[ระบบออนไลน์].แหล่งอ้างอิง. http://th.wikipedia.org/wiki/วันแม่แห่งชาติ_(ประเทศไทย) (27 กรกฎาคม 2552)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net