ชุมชนและท้องถิ่นกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนได้รับเกียรติจากมูลนิธิไชยยงค์ ชูชาติ เชิญไปเป็นวิทยากรร่วมเสวนา เรื่อง “บทบาทการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ณ ห้องกำพล อดุลย์วิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี ชั้น 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

ข้อมูลของโครงการประชุมเสวนาดังกล่าว อ้างว่าในช่วงระยะเวลา 34 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นำวิธีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ดินที่ทำกินให้แก่เกษตรกร ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และจัดตั้งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้มีหน้าที่ดำเนินการดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ข้อมูลนี้ ยังอ้างอีกว่า ปัจจุบันได้มีตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในท้องที่ 3,221 ตำบล 679 อำเภอ 69 จังหวัดและจัดที่ดินให้เกษตรกรไปแล้ว 1.95 ล้านครอบครัว คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 31 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในการดูแลของ ส.ป.ก.จังหวัดที่จัดตั้งขึ้น 69 จังหวัด และมีเจ้าหน้าที่ให้บริการและอำนายความสะดวกจำนวน 1,248 คน เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว เจ้าหน้าหนึ่งคนจะต้องรับผิดชอบดูแลเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1,500 ครอบครัวคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ ทำให้ ส.ป.ก.ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

ผู้เขียนเห็นว่า นอกจากความล้มเหลวเชิงกลไกการทำงานของ ส.ป.ก.แล้ว กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการปฏิรูปที่ดินร่วมกับรัฐ และการจัดที่ดินให้กับรายบุคคลดูแลก็คือปัญหาสำคัญเช่นกัน

ดังนั้น วิกฤตการจัดการที่ดินที่เกิดขึ้นทุกหน่วยงาน จึงถึงเวลาแล้วที่สังคมโดยส่วนรวมจะได้ร่วมกับหาทางออก เพื่อสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับประเทศ ปลดปล่อยพลังการผลิตภาคเกษตรที่แท้จริงแม้ประเทศจะเกิดวิกฤต แต่ผู้เขียนก็เห็นโอกาสทองของการปฏิรูปที่ดินครั้งใหม่นี้อยู่ 3 ประการ คือ

1.รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่บัญญัติให้สิทธิกับชุมชนในการจัดการทรัพยากรไว้หลายมาตรา เช่น
- มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมฯ

- มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองฯ

- มาตรา 83 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

- มาตรา 85 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) ว่าด้วยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร

2.นโยบายของคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภา ตามมาตรา 75 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดที่ 5 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 นโยบายเศรษฐกิจว่าด้วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเกษตร ข้อที่ 4.2.1.8 ระบุว่า

“คุ้มครองและรักษาพื้นที่ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตร ในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจน และชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร” นั้น

3.การตื่นตัวขององค์กรภาคประชาชนที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์บทเรียนการรณรงค์ต่อสู้เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ดินมาอย่างยาวนาน ทั้งเครือข่ายองค์กรชาวบ้านระดับพื้นที่ องค์กรชุมชนในท้องท้องถิ่น หรือการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนระดับชาติ เช่นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยทุกฝ่ายก็ต้องการรัฐนำที่ดินที่มาปฏิรูปจัดให้คนจน โดยเบื้องต้นหลายส่วนเห็นว่า

3.1 ความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่ผ่านมา เกิดจากนโยบายของรัฐที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมในสังคม แต่มุ่งเน้นการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้กับเอกชนและเกษตรกร จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนไร้ที่ดินได้

3.2 นโยบายการจัดการที่ดินของรัฐที่ไม่มีมาตรการจำกัดการถือครองที่ดิน ไม่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ไม่มีการเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและมีการทำประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่ ป้องกันการผูกขาดที่ดินรวมทั้งนโยบายเกษตรกระแสหลัก คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ที่ดินคนจนต้องสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินทำกิน

3.3 ความผิดพลาดของนโยบายการปฏิรูปที่ดินของรัฐที่ผ่านมา เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปี 2518 ที่ต้องการให้รัฐใช้อำนาจและมาตรการต่างๆ นำที่ดินที่ถือครองโดยเอกชนมากระจายให้กับคนจนไร้ที่ดิน แต่รัฐบาลหลายคณะที่ผ่านมากลับบิดเบือนการปฏิรูปที่ดินโดยการเอาการจัดสรรเอาที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อจัดให้กับเอกชนที่เป็นพวกพ้องบริวารของตน

3.4 ประการสำคัญ การจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง กระบวนการจัดการที่ดินที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยคนจนไร้ที่ดินและไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีช่องทางในการกำหนดนโยบายและไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการบริการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรมได้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินก็ยังผูกขาดรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาครัฐ ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น ขาดการตรวจสอบ และกรณีพิพาทความขัดแย้งเรื่องที่ดินจำนวนมาก

ซึ่งการดำเนินการการปฏิรูปที่ดินจะสำเร็จได้อย่างแท้จริง จะต้องแสวงหากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จะสัมฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติโดยเร็วตามแนวทางดังกล่าวนั้น จะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ทั้งการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลกลาง องค์กรปกครองส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ แหล่งทุนภาคสังคม และองค์กรประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งจะต้องนำนโยบายรัฐบาลด้านอื่นๆ มาสนับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น การสร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในระดับฐานราก โดยการจัดตั้ง “กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง” และจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินที่เคยจัดสรรให้เดิม เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรรวม เป็นต้น

ซึ่งนอกจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินแล้ว ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากรที่ดินเช่นกัน

รัฐธรรมนูญ ปี2550 มาตรา 290 บัญญัติว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ย่อมมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(1) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่
(2) การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน
(3) การมีส่วนร่วมในการพิจารณา เพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่
(4) การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

ดังนั้น ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเป็นแกนหลักในแก้ไขปัญหาที่ดินในระดับชุมชนอย่างทั่วถึง สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างแท้จริง โดยผู้เขียนมีข้อเสนอเบื้องต้น ดังนี้

ประการแรก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องทำตัวเป็นคลังข้อมูลระดับชุมชน โดยต้องสำรวจว่าท้องถิ่นมีประชากรเท่าไหร่ มีที่ดินในท้องที่ที่ดูแลอยู่กี่ประเภท มีสถานะของที่ดินเป็นอย่างไร เช่น ที่ดินป่าไม้ ที่ราชพัสดุ,ที่ของทหาร, นส.3, สปก., นสล. หรืออื่นๆ และขนาดของการถือครองเป็นอย่างไร มีการทำผลิตอะไรบ้าง ใช้เทคโนโลยีเครื่องมือในการทำผลิตการเกษตรแบบไหน

รวมทั้งต้องสำรวจว่า ที่ดินในท้องถิ่นที่ดูแลมีการปล่อยให้ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ หรือที่ดินแปลงไหนติดจำนำจำนองอยู่ในธนาคารเท่าไหร่ มีนายทุนจากข้างนอกมากว้านซื้อถือครองมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้เพราะการสำรวจดังกล่าวจะทำให้ท้องถิ่นรู้ข้อมูลของชุมชนว่า มีที่ดินปริมาณเท่าไหร่ หากต้องนำมาปฏิรูปให้ชุมชน สามารถจัดลำดับความสำคัญในการใช้ประโยชน์ในที่ดินในระดับท้องถิ่นได้

ประการที่สอง ท้องถิ่นและชุมชน ต้องสำรวจข้อมูลพื้นฐานของประชากรในชุมชน เช่น ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจของชุมชน รายได้ รายจ่ายระดับครัวเรือนเป็นอย่างไร แต่ละครอบครัวมีหนี้สินเท่าไหร่ สำรวจข้อมูลด้านการศึกษาและสุขภาพของชุมชน การพัฒนาสาธารณูปโภคและการให้บริการด้านอื่นๆ การสำรวจประการนี้จะทำให้ทราบถึงจำนวนความต้องการ โอกาสและข้อจำกัดในการจัดการ

ประการที่สาม ต้องศึกษาวิถีการผลิตและวิเคราะห์วัฒนธรรมของชุมชนทั้งระบบ เพื่อจะได้ทราบถึงศักยภาพของชุมชนและสามารถออกแบบการพัฒนาการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ประการที่สี่ ต้องสำรวจว่าชุมชนมีการร่วมกลุ่มในลักษณะใดบ้าง เช่น กลุ่มสาขาอาชีพ กลุ่มสหกรณ์ หรือองค์กรชาวบ้านที่รวมกุล่มกดดันแบบต่างๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องตรวจสอบว่าองค์กรของรัฐที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น สปก. พัฒนาที่ดิน เกษตรตำบล ทำอะไรบ้าง การสำรวจประการนี้เพื่อจะได้ทราบว่าชุมชนมีทุนทางสังคมแค่ไหน มีการสนับสนุนอย่างไรบ้าง

ประการที่ห้า อปท.ก็ต้องมีการประชุมร่วมกับจังหวัดเพื่อจัดทำแผนพัฒนาภายในจังหวัด การประชุมดังกล่าวท้องถิ่นสามารถกำหนดทิศทางการสนับสนุนให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งจะได้ทราบว่าน้ำหนักของนโยบายและงบประมาณเน้นไปทางไหน ตรงกับความต้องการของชุมชนหรือไม่ หากไม่ตรงกับความต้องการก็ต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

ประการที่หก ชุมชนและท้องถิ่นต้องแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรภายนอก ต้องมองไปให้ไกลกว่ากลไกของรัฐที่มีอยู่ เพื่อหาแนวร่วมทำงานสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายความต้องการของชุมชน ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศ หรือองค์กรของรัฐส่วนอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือทั้งคำปรึกษาและงบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าหลายองค์กร เช่น พอช. สสส. สปรส. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอื่นๆ

การสำรวจข้อมูลในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้ทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยให้ชุมชนและท้องถิ่นมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน และจะทำให้รู้ว่าการจัดที่ดินของรัฐ เช่น การแจก สปก.ให้รายบุคคล ชุมชนมีความมั่นคงหรือไม่ มีการซื้อขายเปลี่ยนมือจากเงื่อนไขอะไร ควรจะจัดแบบไหนให้เหมาะสมสอดคล้อง

ประการสำคัญ ชุมชนและท้องถิ่น ต้องไม่ปล่อยทุนนอกระบบเป็นตัวล่อซื้อหรือบีบบังคับให้ชาวบ้านต้องเสียที่ดินโดยความจำยอม หรือจำใจ เพราะเงื่อนไขการบิดเบือนทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจต่อสู้ได้

ขณะเดียวกัน ชุมชนและท้องถิ่น ต้องรวบรวมปัญหาการจัดการที่ดินในระดับชุมชนเพื่อนำเสนอกับรัฐว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชาวบ้านมีความมั่นคงยั่งยืน

เช่น ข้อเสนอเกี่ยวกับ “โฉนดชุมชน” เพื่อคนจน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนโฉนดชุมชนเป็นทุนได้สามารถนำไปจำนองได้โดยต้องมีระเบียบบังคับให้ที่ดินต้องไม่หลุดมือจากชุมชนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะต้องมีองค์กรอย่าง “ธนาคารที่ดิน” มารองรับการจัดการดังกล่าว มีมาตรฐานในการเก็บภาษีในที่ดินที่ไม่ทำประโยชน์ในอัตราก้าวหน้าเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ

ชุมชนและท้องถิ่น ก็ต้องคุยกันแล้วว่า หากยังมีการจัดการที่ดินแบบปัจเจกชนเป็นรายย่อย ย่อมแพ้รายใหญ่ จำเป็นจะต้องรวมกันเป็น “โฉนดชุมชนรายใหญ่” อันเป็นการสร้างอำนาจต่อรองที่มากยิ่งขึ้น

ประการสำคัญ การทำข้อมูลคลังชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จะทำให้ชุมชนเกิดองค์ความรู้ใหม่ในการจัดการชุมชนใหม่ เกิดการคิดค้นในการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม และยอมรับนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมของชุมชนท้องถิ่นได้

ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐไทย ไม่มีรูปธรรมในการพัฒนาที่ดิน การจัดการที่ดินที่ชุมชนมีส่วนร่วมทั้งการรักษาพืชพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ รักษาราคาผลิตที่เป็นธรรม ทั้งๆ เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องเข้ามาดูแลวิถีการผลิตของเกษตรกรทั้งระบบไม่ใช่ทำในแปลงสาธิตแบบเกษตรทดลองที่พวกเกษตรทำกันอยู่ในปัจจุบัน

หน้าที่อีกประการหนึ่งของรัฐ คือต้องให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิต หรือต้องจัดสรรงบประมาณให้ชุมชนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพื่อการปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างเต็มที่

เพราะหากเกษตรกรในท้องถิ่น ได้รับการชี้แนะ หรือการมีโอกาสใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่นก็สามารถสร้างผลผลิตต่อไร่ได้ในจำนวนสูงเช่นกัน รัฐก็ไม่ต้องมาประกันราคาสินค้าเกษตรมาก

โดยรัฐต้องสร้างระบบตลาดและการค้าระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ที่ชาวบ้านมีส่วนกำหนด เช่น ระบบสหกรณ์ที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่มีช่องทางพ่อค้าคนกลางเป็นช่องทางเดียวในระบบตลาดเหมือนที่เป็นอยู่ซึ่งไม่ใช่เป็นการปฏิเสธระบบของนายทุน แต่จะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถส่งออกสินค้าได้โดยตรงโดยการสนับสนุนของรัฐ ระบบสหกรณ์จะตอบคำถามความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของชุมชนได้

ที่สำคัญ ท้องถิ่นและชุมชน ต้องส่งเสริมให้ชุมชนสร้างอัตตะลักษณ์ทางการเกษตรที่ยืนบนฐานการพึ่งตนเอง สร้างเป็นย่านการเกษตรกรรมบนกลิ่นอายของเกษตรแบบดั้งเดิมแทนสิ่งที่หายไปในชุมชน

เช่น การสร้างความเป็นเมล็ดท้องถิ่นสู่การสร้างแบรนด์เนมระดับโลก ตัวเอย่างเช่น ข้าวสังข์หยดเมืองลุง เงาะนาสาร ทุเรียนเมืองนนท์ เพื่อให้พืชและเมล็ดเหล่ามีพื้นที่ทางการตลาด ไม่ใช่แค่ยี่ห้อข้าวของบริษัทอุตสาหกรรมส่งออก หรือผลไม้กระป๋องของนายทุนตามที่โฆษณาอยู่ในกระแสหลักเพียงอย่างเดียว

ซึ่งแม้พื้นที่เหล่านี้ แม้รัฐจะมีการจดลิขสิทธิ์เมล็ดและวิถีการผลิตไว้เป็นสมบัติของชาติอยู่แล้ว แต่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์เหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เอื้อให้นายทุนด้านเดียว

ข้อเสนอเหล่านี้ จะต้องระเบิดจากข้างใน เพื่อกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติของภาคประชาชน โดยที่ทุกชุมชนและท้องถิ่น จะต้องเป็นเจ้าภาพในการนำเสนอจัดทำแผนแม่บทระดับระดับชุมชนท้องถิ่นเอง

เบื้องต้นต้องทำให้ชุมชนระดับครอบครัวมีความเชื่อมั่นในอาชีพเกษตรกรรมว่า สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้ มีอำนาจในการต่อรอง มีเกียรติยศศักดิ์ศรีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม

ชุมชนและท้องถิ่นต้องกล้าประสานเพื่อเรียกร้องกับส่วนภาคีต่างๆ ที่จะต้องลงมาสนับสนุน เช่น สถาบันการศึกษา นักศึกษาเยาวชนให้ลงมาเรียนรู้และร่วมกันพัฒนาชุมชนด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

นี่คือ ข้อเรียกร้องเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรมและที่อยู่อาศัย ต่อชุมชนและท้องถิ่นที่จะต้องเคลื่อนไหวรณรงค์ไปให้ไกลกว่าเศษกระดาษ หรือรวมตัวกันชั่วคราว เพื่อให้ได้มติคณะรัฐมนตรีและการแต่งตั้งคณะกรรมการ แต่ต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐนำไปจัดทำเป็นแผนแม่บททั้งระดับชาติภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างชัดเจน โดยมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท