พัฒนาการของภาคประชาสังคมในประเทศจีน: กรณีศึกษาจากนายกั๊ว เบ่าฟง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่าน พื้นที่ข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในประเทศจีนดูเหมือนจะถูกยึดกุมโดยข่าวการก่อจลาจลของบรรดาผู้ใช้แรงงานจากโรงงานถลุงเหล็กในเมืองธงฮั้ว (Tonghua) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ การก่อจลาจลดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม และดำเนินไปอย่างรุนแรง ผู้จัดการของโรงงานถูกบรรดาลูกจ้างตามล่า และรุมทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตด้วยความทรมาน ขณะที่ผู้ใช้แรงงานประมาณสามหมื่นคนได้ร่วมกันบุกยึดโรงงาน และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่าร้อยคน ข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสื่อระดับโลกหลายสำนัก เพราะการก่อจลาจลที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนเครื่องยืนยันถึงความล้มเหลวของรัฐบาลจีนในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้างที่นับวันมีแต่จะยิ่งทวีความร้ายแรง ทั้งที่เมื่อเดือนมกราคมของปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเพิ่งจะประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการจ้างงานฉบับใหม่ ซึ่งทางรัฐบาลเชื่อว่า มันจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานที่เป็นธรรม และลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้างลง [1] อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการก่อจราจลในเมืองธงฮั้วแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน คือ การเคลื่อนไหวกดดันให้ทางการจีนปล่อยตัวนายกั๊ว เบ่าฟง (Guo Bofeng) ที่แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อระดับโลกเทียบเท่ากับการก่อจราจลในเมืองธงฮั้ว แต่ก็มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญไม่แพ้กัน

สำหรับบรรดาชาวจีน และชาวต่างชาติที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือนายกั๊วได้กลายเป็นประเด็นสนทนายอดนิยมที่สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจ และความหวังเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศจีนให้แก่พวกเขาได้ไม่มากก็น้อย [2] ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี ค.ศ. 2008 นายกั๊ว และเพื่อนของเขาอีกจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเปิดโปงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในมณฑลฟูเจี้ยน (Fujian) ที่พยายามอำพราง และบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนางสาวเหยียน เสี่ยวหลิง (Yan Xiaoling) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ด้วยการสรุปผลการสอบสวนว่า เธอเสียชีวิตลงเนื่องจากการตกเลือดอันเป็นผลของการตั้งครรภ์นอกมดลูก อย่างไรก็ดี สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ตลอดจนชาวบ้านที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ พวกเขากลับมั่นใจว่า ในความเป็นจริง นาวสาวเหยียนเสียชีวิต เพราะถูกฆ่ารุมโทรมโดยชายกลุ่มหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของมณฑลฟูเจี้ยน ซึ่งส่งผลให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบิดเบือนผลการสอบสวน
เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามอำพรางรูปคดี และไม่อาจพึ่งพาได้ นายกั๊ว และเพื่อนๆ ซึ่งรู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้หันไปเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการสอบสวนคดีดังกล่าวเอง พร้อมกับเผยแพร่เรื่องราวของนางสาวเหยียน และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในมณฑลฟูเจี้ยนผ่านทางอินเตอร์เนต จนในที่สุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจของมณฑลฟูเจี้ยนก็ได้เข้าจับกุมนายกั๊ว และพรรคพวกอีกอย่างน้อยหกคน ด้วยข้อหาใส่ร้ายป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ และพยายามขัดขวางการรักษาความลับของทางราชการ
หลังจากที่นายกั๊วถูกจับกุมเพียงไม่กี่ชั่วโมง ชะตากรรมของเขาก็มาถึงจุดพลิกผันเมื่อเขาสามารถส่งข้อความขอความช่วยเหลือผ่านทางทวิตเตอร์ (Twitter) ว่า “ผมได้ถูกจับกุมตัวโดยตำรวจ [เขต] หม่าเว่ย, SOS” (“i have been arrested by Mawei police, SOS”) ต่อมาอีกไม่นานนักเขาก็ส่งข้อความที่สองตามมาว่า “กรุณาช่วยผมด้วย, ผมคว้าโทรศัพท์ขณะที่ตำรวจหลับ” (“Pls help me, I grasp the phone during police sleep”) ข้อความทั้งสองที่นายกั๊วแอบส่งผ่านทางมือถือมายังเว็บเพจของเขาในทวิตเตอร์ได้ถูกอ่าน และถูกส่งต่อไปยังผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ทราบเรื่องราวของนายกั๊ว และหันมาติดตามชะตากรรมของเขาด้วยความเห็นใจ จนท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อกดดันให้ทางการจีนปล่อยตัวนายกั๊ว
การเคลื่อนไหวปรากฎขึ้นในรูปของการร่วมกันส่งไปรษณียบัตรไปให้นายกั้วถึงยังห้องขังของเขา [3] โดยไปรษณียบัตรแต่ละใบจะถูกเขียนข้อความเป็นภาษาจีนว่า “กั๊ว เบ่าฟง, แม่คุณกำลังเรียกให้คุณกลับบ้านไปทานข้าวเย็น!” (“郭宝峰,你妈妈喊你回家吃饭!”) อันเป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ที่ถูกดัดแปลงมาจากประโยคยอดนิยมที่ผู้ใช้อินเตอร์เนตชาวจีนส่วนใหญ่คุ้นหูกันดี โดยข้อความดังกล่าวได้แฝงความหมายว่า ทางการจีนควรจะปล่อยให้นายกั๊วกลับบ้านได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้อยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีใครทราบถึงต้นกำเนิด หรือคนต้นคิดของการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด และสามารถกล่าวได้ว่า อยู่ดีๆ การเคลื่อนไหวก็ถูกจุดประกายขึ้นโดยไม่มีการจัดตั้งสั่งการ และไม่มีแกนนำการเคลื่อนไหว ขณะที่การรณรงค์ให้ร่วมกันเคลื่อนไหวส่งไปรษณียบัตรในระยะเริ่มต้นก็มีลักษณะแบบปากต่อปากเป็นหลัก
ตัวอย่างไปรษณียบัตรที่ถูกส่งไปให้นายกั๊วจากชาวจีนภายในประเทศคนหนึ่ง
 
 ตัวอย่างไปรษณียบัตรระหว่างประเทศที่ถูกส่งไปให้นายกั๊วจากชาวจีนคนหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร
 
ในเบื้องต้น การเคลื่อนไหวส่งไปรษณียบัตรได้รับความนิยม และจำกัดอยู่ในหมู่ชาวจีนภายในประเทศที่เห็นใจนายกั๊ว แต่หลังจากนั้นไม่นานชาวจีนภายนอกประเทศก็เริ่มทราบข่าว และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวด้วยการส่งไปรษณียบัตรจากต่างประเทศ จนในวันที่ 31 กรกฎาคม การเคลื่อนไหวส่งไปรษณียบัตรก็ประสบผลสำเร็จเมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตัดสินใจปล่อยตัวนายกั๊วในวันดังกล่าว และหลังจากถูกปล่อยตัวได้ไม่นาน นายกั๊วก็กลับคืนสู่ชุมชนชาวทวิตเตอร์อีกครั้ง
การปล่อยตัวนายกั๊วถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาสำหรับทางการจีน เพราะถ้าจะคาดการณ์โดยเอาชะตากรรมของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรายอื่นๆ ในประเทศจีนมาเป็นข้อมูลประกอบ การปล่อยตัวนายกั๊วต้องถือเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายพอสมควร ทางการจีนสามารถ และมักคุมขังนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นระยะเวลายาวนาน นักเคลื่อนไหวหลายรายถูกคุมขังเป็นปีๆ บางรายไม่ได้รับแม้แต่การแจ้งข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ ขณะที่บางรายก็ถูกคุมขังเดี่ยวเป็นปี จนกลายสภาพเป็นผู้ที่มีจิตบกพร่อง [4] แต่สำหรับกรณีของนายกั๊ว ทางการจีนกลับยอมปล่อยตัวเขาอย่างรวดเร็วผิดปกติ ซึ่งกล่าวได้ว่า มีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวกดดันด้วยการส่งไปรษณียบัตรเป็นสำคัญ โดยแม้ว่าเราจะไม่อาจทราบได้อย่างแน่นอนถึงจำนวนผู้ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว หรือจำนวนไปรษณียบัตรที่ถูกส่ง แต่ก็ชัดเจนว่า ไปรษณียบัตรที่ถูกส่งต้องมีจำนวนมากพอที่จะกดดันให้ทางการจีนตัดสินใจปล่อยตัวนายกั๊ว อย่างไรก็ดี แม้ว่านายกั๊วจะได้รับการปล่อยตัว แต่พรรคพวกของเขาคนอื่นๆ ก็ยังคงอยู่ภายใต้การคุมขัง เหตุเพราะการเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ให้ความสำคัญแก่นายกั๊วเพียงคนเดียวเป็นหลัก ซึ่งก็เนื่องมาจากการที่นายกั๊วเป็นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถส่งข้อความขอความช่วยเหลือ ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่พรรคพวกของเขาคนอื่นๆ กลับถูกหลงลืม และไม่ได้อยู่ในกระแสเท่ากับนายกั๊ว
หากจะวิเคราะห์ต่อไปว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือนายกั๊วมีนัยยะสำคัญต่อการเมืองภาคประชาชนในประเทศจีนอย่างไร สำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้สังเกตการณ์ที่ติดตามพัฒนาการของภาคประชาสังคมในประเทศจีนมาเป็นระยะเวลาพอสมควร การเคลื่อนไหวดังกล่าวน่าจะมีนัยยะที่สำคัญต่อการเมืองภาคประชาชนในประเทศจีนอย่างน้อยสองประการด้วยกัน
นัยยะสำคัญประการแรกอยู่ที่พัฒนาการของภาคประชาสังคมในประเทศจีนในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อินเตอร์เนต และคิดค้นกลยุทธใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหว เพื่อต่อกรกับภาครัฐภายใต้สภาวการณ์ที่ภาครัฐมีอำนาจเหนือกว่าเป็นล้นพ้น การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือนายกั๊วมีอินเตอร์เนตเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ การจุดกระแสความเห็นใจ การเผยแพร่เรื่องราวของนายกั๊ว และการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวล้วนเกิดขึ้นบนพื้นที่อินเตอร์เนตเป็นหลัก หากปราศจากอินเตอร์เนตแล้ว การเคลื่อนไหวทั้งหมดก็คงจะไม่ทางเกิดขึ้น และเรื่องราวของนายกั๊วก็คงไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เพราะเรื่องราวดังกล่าวย่อมไม่มีวันถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อกระแสหลักในประเทศจีนอย่างโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของกรมประชาสัมพันธ์กลาง
นอกจากนี้การเคลื่อนไหวกดดันด้วยการส่งไปรษณียบัตรยังเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง เพราะผู้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวได้อย่างง่ายดาย และเสียค่าใช้จ่ายต่ำมาก ในขณะเดียวกันแม้ว่าผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวหลายคนจะเปิดเผยชื่อเรียงนาม และประกาศผ่านทางทวิตเตอร์อย่างกล้าหาญว่า ตนเข้าร่วมการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังมีผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ ซึ่งการใช้ไปรษณียบัตรก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ สามารถเข้าร่วมด้วยความสะดวกใจ เพราะการสืบหาตัวผู้ส่งไปรษณียบัตรเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับภาครัฐ กลยุทธการใช้ไปรษณียบัตรจึงสะดวกต่อบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการความปลอดภัยในการเข้าร่วมการเคลื่อนไหว
ท้ายที่สุดยังอาจตั้งข้อถกเถียงได้อีกว่า กลยุทธการเคลื่อนไหวด้วยการส่งไปรษณียบัตรอาจเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่พึงปรารถนาสำหรับทางการจีน เมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมบนท้องถนน การนัดหยุดงาน การออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล หรือการก่อจราจล เพราะการส่งไปรษณียบัตรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถคัดค้าน หรือกดดันภาครัฐ โดยที่ภาครัฐไม่เสียหน้ามากนัก การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้กลายเป็นข่าวใหญ่โตระหว่างประเทศ ขณะที่จำนวนของไปรษณียบัตรที่ถูกส่งก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัด การส่งไปรษณียบัตรจึงมีลักษณะเป็นการต่อรองระหว่างภาคประชาชน กับภาครัฐที่ค่อนข้างมิดชิด ไม่โฉ่งฉ่าง ทำให้ทางการจีนสามารถยอมอ่อนข้อ โดยไม่ถูกฉายภาพจนเกินไปว่า เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือยอมจำนนต่อภาคประชาสังคม
นัยยะสำคัญประการที่สองอยู่ที่พัฒนาการของภาคประชาสังคมในด้านความตื่นตัวทางการเมือง นับตั้งแต่สิ้นสุดเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ. 1989 ภาคประชาสังคมในประเทศจีนได้อ่อนแอลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศจีนเข้าสู่ยุคทองทางเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาล และผลักดันให้ประชาชนชาวจีนหมกมุ่นแต่กับการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มากกว่าการแสวงหาสิทธิเสรีภาพ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนชาวจีนโดยทั่วไปมักไม่ค่อยตื่นตัวที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ขณะที่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาผลประโยชน์เฉพาะของตนเป็นสำคัญ เช่น การประท้วงขอขึ้นค่าจ้างของผู้ใช้แรงงาน การประท้วงของบรรดาชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน ตลอดจนการประท้วงของชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียงที่เพิ่งเกิดขึ้นไปไม่นาน แม้ว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ดี และมีความชอบธรรมไม่มากก็น้อย แต่ก็มีลักษณะที่คับแคบ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกจัดตั้งผลักดันโดยกลุ่มคนที่เสียประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบ ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวจึงใส่ใจแต่กับการปกป้องผลประโยชน์เฉพาะของตนเท่านั้น อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีของนายกั๊ว ผู้คนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่เสียประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบโดยตรง หากแต่เป็นผู้ที่ไม่พอใจกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือนายกั๊วจึงเป็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่มีลักษณะของการแสดงความเห็นใจร่วมต่อชะตากรรมของผู้อื่น ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่หาได้ยากในประเทศจีน และมักจะมีขนาดเล็กจนขาดศักยภาพในการเคลื่อนไหว
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นน่าจะอยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่า การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือนายกั๊วถูกริเริ่มจากภายในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ แทนที่จะเป็นจากภายนอกประเทศ ซึ่งนับว่า เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจไม่น้อย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนมองการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเสมือนการตั้งต้นของภาคประชาสังคมในประเทศจีน เพราะโดยปกติ การเคลื่อนไหวภาคประชาชนของประเทศจีนจะมีลักษณะเป็นการส่งแรงสะเทือนจากภายนอกประเทศเข้าสู่ภายในประเทศ กล่าวคือ ชาวจีน หรือชาวต่างชาติที่อยู่นอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่จะเป็นหัวขบวนริเริ่มการเคลื่อนไหวแล้วพยายามรณรงค์ชักจูงให้ชาวจีนภายในประเทศเข้าร่วมตาม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกประเทศจึงเป็นแกนนำหลักในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือนายกั๊วกลับเป็นการเคลื่อนไหวที่ชาวจีนภายในประเทศเป็นผู้ริเริ่มกันเอง ชาวจีนกลุ่มหนึ่งภายในประเทศได้จุดกระแสการเคลื่อนไหวส่งโปสการ์ดแล้วทำให้กระแสดังกล่าวแผ่ขยายออกไปยังนอกประเทศ ดังนั้นแล้ว กรณีของนายกั๊วจึงมีลักษณะที่กลับตาลบัตรจากการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนโดยทั่วไป ซึ่งช่วยยืนยันในระดับหนึ่งว่า ชาวจีนภายในประเทศก็มีความพร้อมที่จะเป็นหัวขบวนนำในการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ขณะที่นักเคลื่อนไหวภายนอกประเทศคอยก้าวตาม จึงไม่แปลกที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยจะพิจารณาปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความตื่นตาตื่นใจ และเริ่มหันมามองภาคประชาสังคมในประเทศจีนอย่างมีความหวังมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความหวังดังกล่าวก็ยังเป็นความหวังที่ริบหรี่อยู่ไม่น้อย เพราะบทบาทของภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือนายกั๊วอาจจะเป็นเพียงกรณีพิเศษที่ไม่มีความยืนยั่ง ขณะที่ภาคประชาสังคมในประเทศจีนโดยรวมก็ยังมีความบอบบางอยู่มาก และต้องถูกพัฒนาอีกยาวไกลก่อนที่จะก้าวไปถึงจุดที่มันจะสามารถแสดงบทบาทถ่วงดุลทัดทานการใช้อำนาจอันไร้ขอบเขตของรัฐบาลเผด็จการจีนได้
 ……………………………..
[1] ผู้สนใจข่าวการก่อจราจลในเมืองธงฮั้ว และนโยบายแรงงานในประเทศจีนสมควรอ่านบทวิเคราะห์เรื่อง “Murder bares worker anger over China’s industrial reform” จาก The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 2009 และ “China's labour laws: Arbitration needed” จาก The Economist ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2009
[2] ความสนใจที่บรรดานักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมีต่อการเคลื่อนไหวช่วยเหลือนายกั๊วสามารถสังเกตได้จากคลิปวีดีโอเกี่ยวกับนายกั๊วที่มีเนื้อหาเสียดสีการเมือง โปรดดู http://www.worldsgreatestbusinessmind.com/20090716-GuoBaoFeng-Go%20home%20for%20dinner-create.html
[3] ไปรษณียบัตรแต่ละใบจะถูกจ่ายหน้าไปยัง Cell 205, No. 2 Detention House, Cangshan district, Fuzhou, Fujian, China 350018 อันเป็นห้องขังของนายกั๊ว
[4] ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนที่ถูกกุมขังโดยภาครัฐ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากชื่อของนักเคลื่อนไหวอย่าง Hu Jia, Gao Zhisheng, Chen Guangcheng และ Liu Xiaobo

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท